ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (รางวัล และ ความภาคภูมิใจ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

รางวัล และ ความภาคภูมิใจ

        การทำงานของคนเราเหมือนกับที่ปัดน้ำฝน ที่ปัดน้ำฝนมันไม่รู้จะปัดตรงไหน มันก็ปัดไปเรื่อย ๆ แต่การทำงานของคนเรา ถ้าอยากจะรู้ว่า เราจะทำอะไร เราต้องรู้จักตัวเอง จุดที่ปัดน้ำฝน จุดที่จะตั้งให้แน่วแน่ว่าจะไปทางไหน

        เมื่อผมกลับมาจากต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2506 ผมมาทำห้องแล็บไวรัสที่เล่าไปข้างต้น กว่าจะทำงานได้ก็  พ.ศ. 2509 ขอนู้น ขอนี่ ขอของจากเขา เพื่อที่จะมาทำงานในห้องแล็บ การเริ่มทำงานแรก ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร จนมาทำเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ที่เริ่มในปี พ.ศ. 2510 ในปีเดียวกันนี้ก็มี โรคหัดเยอรมันระบาด และ โรคตาแดงระบาด เพราะฉะนั้นเมื่อผมตีพิมพ์รายงานออกไป เมื่อ พ.ศ. 2515 เริ่มทำงาน เริ่มตีพิมพ์งานวิจัย เริ่มมีคนรู้จัก ผมก็ได้รับเกียรติบัตรจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สำหรับครูแพทย์ดีเด่น คือ รางวัลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อ พ.ศ. 2515 ขออนุญาตขยายความสักเล็กน้อย เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการและท่านเป็นผู้สอนวิชา “จรรยาแพทย์” ที่ศิริราชฯ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี หรือ หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล ท่านเป็นผู้ติดตามและดูแลรัชกาลที่ 6 เมื่อพระองค์ทรงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ท่านจึงมีความรู้เรื่องการจัดการศึกษาอย่างไรบ้าง ท่านจึงกลับมาจัดการศึกษา รวมทั้งการศึกษาแพทย์ในเมืองไทย ท่านมีเงินทุนอยู่จำนวนหนึ่ง เรียกเงินทุนนี้ว่า ทุนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี โดยมอบให้สำหรับแพทย์ ที่ทำงานและรักษาจรรยาแพทย์ได้เป็นอย่างดี ให้ท่านละ 10,000 บาท ด้วยเหตุที่ผมได้รับเกียรติบัตรอันนี้ ได้รับเงินทุนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ก็เพราะว่าผมทำวิจัย และประคองเนื้อประคองตัวไม่ผิดสัญญา จึงได้เกียรติบัตร ก็ทำให้เรารู้ตัวว่า เข็มทิศเราจะไปทางไหน ทำให้เรารู้ตัวเอง ว่าจะเดินไปยังไง ทำให้เราตั้งต้นชีวิตเราถูกทาง นับเป็นรางวัลแรกและเป็นรางวัลที่ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองจะเดินไปทางไหน

    ครั้งหนึ่งตอนผมทำงานมีโรคโปลิโอระบาดในกรุงเทพฯ ผมได้เข้าไปช่วยกิจการต่าง ๆ หรือเมื่อมีโรคระบาดอะไรมา ผมก็เข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ เขาจัดการทำวัคซีน จัดการตรวจอุจจาระของผู้ป่วย ผมก็ได้เข้าไปช่วยเขา ผมได้ผ่านมาหลายอย่าง จนกระทั่ง เมื่อ พ.ศ. 2534 ผมได้รับเหรียญรางวัลหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยจะมีผู้ที่ได้รับจำนวนไม่มากนัก รวมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านก็ได้รับเหรียญรางวัลนี้ นั่นก็คือ “เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา” ซึ่งเป็นเหรียญบำเหน็จสูงสุดทางราชการ ที่มอบให้แก่ข้าราชการพลเรือน เวลาไปรับเหรียญหรือเวลาเราไปรับสายสะพาย แม้จะเป็นสายสะพายสูงสุดก็ตาม เราต้องไปนั่งรอรับเป็นร้อยคนที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แต่เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา มีคนได้รับปีละไม่กี่คน ในปีผม มีผู้ได้รับทั้งหมด 3 คน คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสงค์ ตู้จินดา ซึ่งเป็นครูของผม ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเคยเป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ที่โรงพยาบาลศิริราช อีกท่านหนึ่ง คือ ร้อยโทจำลอง เพ็งคล้าย คุณจำลองเป็นนักวิชาการเกษตร ที่รวบรวม จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ให้เป็นหมวดหมู่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ โดยรวมรวมเมล็ดพันธุ์พืชทุกอย่างในประเทศไทย ซึ่งเหรียญรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจสำหรับผมเป็นอย่างมาก เพราะน้อยคนนักที่ได้รับรางวัลนี้

     ต่อมาใน พ.ศ. 2539 ผมได้รับแต่งตั้งเป็น “ราชบัณฑิต” จากราชบัณฑิตยสถาน ผมยังคงทำงานอยู่เสมอ ไม่ได้หยุดทำงาน เมื่อโอกาสครบ 100 ปี กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2561 ผู้ที่ตั้ง กรมสาธารณสุข คนแรกขึ้นในประเทศไทย จนกระทั่งขยายขึ้นเป็นกระทรวง ผู้ที่ตั้งกรมขึ้นมาท่านแรก คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร พระยศในขณะนั้น ต่อมาพระองค์ท่านก็เป็น กรมขุน กรมพระยา และ ท่านเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขท่านแรก (กรมสาธารณสุข ตั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2485) และท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ที่นี้ด้วย ลูกหลานของท่านได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมา ชื่อว่า “มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร” ดังนั้น เมื่อครบรอบ 100 ปีกระทรวงสาธารณสุข ผมได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2560 นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทวิชาการ จากมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โดยเข้าเฝ้าฯ และ รับพระราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

        ต่อมากระทรวงสาธารณสุข มีการจัด การประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย ระหว่างวันที่ 18 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ในฐานะที่ผมได้เข้าไปช่วยงานการป้องกันและควบคุมโรคระบาด และโรคต่าง ๆ ในประเทศ ผมได้รับรางวัลอีกรางวัลหนึ่ง คือ เหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2561 จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขุนประเมินฯ ท่านเป็นคนแรกที่ทำการควบคุมป้องกันโรคต่าง ๆ ในประเทศไทย

        และในปลายปี 2561 เนื่องในโอกาสที่แพทยสภาครบรอบ 50 ปี ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561 แพทยสภาได้มีการสรรหาและคัดเลือกแพทย์ต้นแบบ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่แพทย์รุ่นใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาสรรหาของทางแพทยสภา ที่คัดสรรหาจากแพทย์กว่า 4,000 กว่าคน คัดเลือกและประกาศรายนามแพทย์ต้นแบบของแพทยสภาจำนวน 25 ท่าน ให้เป็นแพทย์ต้นแบบ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งใน 25 คน และยังเลือกมาอีก 4 คน ให้เป็นแพทย์ดีเด่น ผมก็ได้รับแพทย์ดีเด่นนี้ด้วย จากรางวัลต่าง ๆ ที่ผมได้รับมานี้ แสดงว่าผม “...ไม่ได้แก่เพราะกินข้าว ไม่ได้เฒ่าเพราะอยู่นาน...”


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346