นายแพทย์เสถียร ตรีทิพย์วณิชย์ (จากการวิ่งเพื่อสุขภาพ สู่การวิ่งเพื่อการแข่งขัน)

เรืออากาศตรี นายแพทย์เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ กองศัลยกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

จากการวิ่งเพื่อสุขภาพ สู่การวิ่งเพื่อการแข่งขัน

        ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์นั้น กีฬาวิ่งเพื่อสุขภาพยังไม่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หาคนที่ชอบวิ่งได้น้อยมาก หลังเลิกเรียนผมเคยลองชักชวนเพื่อนฝูงมาวิ่งด้วยกันก็ไม่ค่อยสำเร็จ ซึ่งผมมองว่ากิจกรรมอะไรก็ตาม หากต้องทำคนเดียวในระยะเวลานานย่อมจะทำให้เรารู้สึกเบื่อ เพื่อแก้ปัญหานี้ผมก็เลยตัดสินใจลงสมัครงานแข่งวิ่ง ซึ่งสมัยนั้นมักจะเป็นงานวิ่งการกุศล จัดแข่งขันโดยหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชนเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ จากที่ต้องวิ่งเหงา ๆ คนเดียวหลังเลิกเรียน เมื่อไปงานวิ่งก็ทำให้ได้รู้จักนักวิ่งใหม่ ๆ มากมายหลายคน ได้รู้จักสังคมวิ่งที่สนุกสนาน นับว่าเป็นการแก้ปัญหาการวิ่งของผมได้ตรงจุดมากเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วพอไปแข่งวิ่งรายการแรก ผมได้รับรางวัลเลย ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการวิ่งเพื่อการแข่งขันมากขึ้นไปอีก กลายเป็นจุดเปลี่ยนจากการวิ่งเพื่อสุขภาพ กลายเป็นวิ่งเพื่อการแข่งขัน

        หลังจากเรียนจบแพทย์เฉพาะทางจึงมีเวลาส่วนตัวหลังเลิกงานมากขึ้น ผมก็เลยคิดว่าจะลองพัฒนาฝีมือด้านวิ่งอีกสักครั้งหนึ่ง ตอนที่จบแพทย์เฉพาะทาง พ.ศ. 2557 เป็นช่วงกลางปีพอดี มีเวลา 6 เดือน เพื่อจะไปแข่งรายการใหญ่ระดับประเทศ นั่นคือ รายการ “กรุงเทพมาราธอน” ผมจึงปักธงไว้ที่กรุงเทพมาราธอนว่า “...เออ เราจะเอาถ้วยรางวัลรายการนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต...” ณ ตอนนั้นผมอายุ 31 ปี ซึ่งในวงการกีฬานั้นนับว่าเข้าสู่ช่วงปลายอาชีพนักกีฬาแล้ว วางแผนว่าใช้เวลาฝึกซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง 6 เดือน เสร็จงานกรุงเทพมาราธอนแล้วจะหยุดวิ่งเพื่อความเป็นเลิศ เนื่องจากอายุมากแล้ว ตอนนั้นผมทำงานที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตกเย็นหลังเลิกงานผมก็มาซ้อมวิ่งที่สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และตอนนั้นเป็นจังหวะโชคดีที่ผมได้พบนักวิ่งระดับฝีเท้าจัดจ้านคนหนึ่ง มาวิ่งอยู่ที่สนามฟุตบอลเดียวกัน นักวิ่งท่านนี้ชื่อ Jared Mokua ชาวเคนยา เป็นครูสอนหนังสือเด็กชั้นประถมศึกษาอยู่แถว ๆ มหาวิทยาลัยมหิดล และอย่างที่เรารู้กันดีว่านักวิ่งชาวเคนยาเป็นนักวิ่งแถวหน้าของวงการวิ่งโลก ผมเห็นเขาวิ่งเร็วมาก ผมจึงเข้าไปคุยกับเขา และขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ คุณ Jared ก็สอนผมวิ่งโดยที่ไม่คิดเงินค่าเรียนค่าสอนใด ๆ การที่ผมซ้อมวิ่งกับเขาทุกวัน เหนื่อยมากทุกวัน ร่างกายก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งก่อนแข่งรายการกรุงเทพมาราธอน คุณ Jared Mokua ก็ถามผมว่า “...เป้าหมายของคุณในกรุงเทพมาราธอนคืออะไร...” เนื่องจากกรุงเทพมาราธอนเป็นรายการใหญ่ นักวิ่งฝีเท้าเขี้ยวรากดินมาจากทั่วประเทศ เพื่อมาแข่งขันกันในรายการนี้ การจะหวังติดอันดับได้ถ้วยรางวัลถือเป็นความฝันที่ท้าทายมากสำหรับผม ผมจึงตอบว่า “...รายการนี้แจกถ้วยรางวัล 5 อันดับ ผมฝันว่าอยากจะได้ถ้วยรางวัลรายการนี้สักครั้ง...” คุณ Jared พูดมาคำหนึ่งว่า “...ถ้าเป้าหมายแค่ถ้วยรางวัล คุณได้อยู่แล้ว...” ผมได้ยินก็ตกใจครับ เพราะสำหรับผมแล้วการจะได้ถ้วยรางวัลในรายการนี้ยากเหลือเกิน สุดท้ายแล้ว หลังจากแข่งเสร็จ ผมก็กลับมาพร้อมถ้วยรางวัลจริง ๆ ครับ แล้วที่แปลกใจไปยิ่งกว่านั้น คือ ผมได้ถ้วยรางวัลชนะเลิศเลยครับ

        จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะซ้อมวิ่งจริงจังแค่ 6 เดือนเสร็จแล้วจะปิดโครงการวิ่ง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแผน เมื่อได้รางวัลชนะเลิศรายการกรุงเทพมาราธอน การวิ่งชนะเลิศในครั้งนั้นเป็นพลังเสริมด้านบวก ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการวิ่งมากยิ่งขึ้น ผมจึงตัดสินใจทำเรื่องวิ่งต่อไป และเริ่มวางเป้าหมายในด้านการวิ่งต่อไปอีกสามปี โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

        เมื่อพูดถึงการตั้งเป้าหมายการวิ่งที่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องขออนุญาตเล่าถึงเพื่อนแพทย์ของผมคนหนึ่งชื่อ นพ.อินธพร บูรณกานนท์ ซึ่งเป็นรูมเมทสมัยใช้ทุนที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกด้วยกัน หลังจากที่ผมไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ต่างคนก็มีภาระงานจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้ติดต่อกันสักเท่าไร เย็นวันหนึ่งหลังจบกรุงเทพมาราธอนไม่นาน ผมได้มีโอกาสไปทานข้าวเย็นกับอินธพร เราก็พูดคุยกันสนุกสนานตามประสาเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน

        อินธพร เป็นคนที่รู้กว้าง ชอบอ่านหนังสือหลากหลายประเภท อินธพรเล่าหลักการเรื่อง “Big Goal” ให้ผมฟังว่า บางช่วงเวลาของชีวิตคนเราก็ควรจะมีเป้าหมายที่ใหญ่ ๆ ในชีวิตกันบ้าง เพื่อที่เราจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราให้ดีขึ้น หากเราทำงานโดยไม่มีเป้าหมาย เช่น เราตื่นเช้ามาทำงานประจำวัน หรือ ทำงานรูทีน (Routine) อย่างผมเป็นศัลยแพทย์ ตื่นมาเป้าหมายก็คือ รักษาผู้ป่วยให้หาย ผ่าตัดให้สำเร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ตามแผนการรักษา อันนี้เป็นเป้าหมายที่เราควรจะต้องมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายวันต่อวัน เปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นไม่ได้ ถ้าเรามีจุดหมายบางอย่างในชีวิต อาจเป็นเป้าหมายที่ใหญ่และยากจะสำเร็จ แต่หากว่าเราลองทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน และเป็นระยะเวลาที่ไม่สั้นเกินไป เช่น อาจใช้เวลา 2 ปี หรือ 3 ปี เราอาจเจอจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ครับ

        พูดคุยกันมาถึงตอนนี้ ผมก็เล่าเรื่องแผนการจะหยุดวิ่งเพื่อความเป็นเลิศ เนื่องจากผมเป็นแพทย์เฉพาะทางจบใหม่ ทั้งทำงานและขึ้นเวรก็เหนื่อยมากแล้ว การที่ต้องเอาเวลาตอนเย็นหลังเลิกงานมาซ้อมวิ่งนั้นฟังดูพิลึกพิลั่นเกินไปสำหรับแพทย์เฉพาะทางจบใหม่อย่างผม และด้วยความที่ตอนนั้น ผมอายุ 31 ปี ในวงการกีฬาก็นับว่าอายุมากแล้ว ยากมากที่ผมจะบรรลุเป้าหมายในการวิ่ง อินธพรตอบมาว่า “...เฮ้ย ถ้าอยากทำก็ทำไปซิ ถ้าเรามุ่งมั่นทำทุกวัน และทำนานพอ มันก็เหมือน Big Goal มันจะไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป...” จากคำพูดของเพื่อนผมในวันนั้น จึงทำให้ผมตัดสินใจว่าจะซ้อมวิ่งอย่างทุ่มเทต่อไป ทำให้ผมเชื่อว่าเรื่องวิ่งจะทำให้ชีวิตผมดีขึ้นได้ เรื่องวิ่งจะไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป ขอเพียงแค่เราต้องมุ่งมั่งตั้งใจทำอย่างจริงจัง ผมจึงลองวางเป้าหมายการวิ่งในอีก 2 – 3 ปีต่อมาแบบที่เพื่อนแนะนำ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ พ.ศ. 2557 ได้แชมป์กรุงเทพมาราธอนไปแล้ว ขยับแผนว่าปีหน้า พ.ศ. 2558 จะมีพัฒนาการด้านการวิ่ง โดยผมจะเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ 1 ใน 16 คนสุดท้ายของประเทศไทยให้ได้ และคิดเล่น ๆ ไปถึงกีฬาซีเกมส์ พ.ศ. 2560 ถ้าผมพยายามตั้งใจฝึกซ้อมในทุกวัน สามารถพัฒนาตัวเองไปได้เรื่อย ๆ ความฝันของผมคือการได้เป็นนักวิ่งซีเกมส์อาจสำเร็จก็เป็นได้

        ด้วยเหตุที่ผมเป็นแพทย์ จึงมีเวลาในการฝึกซ้อมที่ค่อนข้างจำกัด บางครั้งผ่าตัดผู้ป่วยเสร็จ ออกจากห้องผ่าตัดพบว่า ฝนตกหนักผมก็ต้องซ้อมวิ่งกลางฝน กลางคืนต้องอยู่เวรผมก็ปรับมาซ้อมกลางแดดเที่ยงวัน บางครั้งลงเวรสองทุ่ม สนามกีฬาปิดไฟมืดจนมองพื้นสนามแทบไม่เห็น ผมก็วิ่งคนเดียวมืด ๆ หรือ บางครั้งมีเวลาน้อยมาก ไม่สามารถขับรถมาที่สนามวิ่งซึ่งห่างจากโรงพยาบาลออกไป 5 นาที ผมก็ซ้อมวิ่งที่ถนนในโรงพยาบาลเอาเสียเลย และแน่นอน เราเป็นแพทย์ยังไงก็ตามหน้าที่หลักต้องไม่เสีย ในบางวันผมวางโปรแกรมการฝึกซ้อมไว้อย่างดี ปรากฏว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา ผมก็พร้อมยกเลิกตารางการฝึกซ้อมทันที เราเป็นแพทย์เราต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพครับ

        เป้าหมายใหญ่ของผมใน พ.ศ. 2558 ก็คือ “กีฬาแห่งชาติ” กีฬาแห่งชาติเป็นการแข่งขันมหกรรมกีฬา ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิด สมัยนั้นยังจัดการแข่งขันทุกปี (ปัจจุบันจัดแข่งขันทุกสองปี) ด้วยความที่ผู้เข้าร่วมการแข่งกันจะจำกัดเฉพาะคนไทยเท่านั้น ทำให้ในความรู้สึกของผมกีฬาแห่งชาติจึงคล้าย ๆ กับการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยนั่นเอง ดังนั้น ผมจึงปักธงว่าปีนี้ ต้องเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกีฬาแห่งชาติ เป็น 1 ใน 16 คนสุดท้ายของประเทศไทย ในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 44 “นครสวรรค์เกมส์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-21 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ให้ได้ การที่นักวิ่งจะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือก 2 ขั้นตอน โดยเริ่มจากระดับจังหวัดผมต้องเป็นนักกีฬาของจังหวัดราชบุรีให้ได้ หลังจากได้เป็นตัวแทนจังหวัดก็จะเข้าสู่การคัดเลือกในระดับภาค ซึ่งกีฬาแห่งชาติจะแบ่งนักกีฬาภายในประเทศไทยเป็น 5 ภาค จังหวัดราชบุรีอยู่กลุ่มภาคกลาง และภาคตะวันตก กลุ่มนี้มีทั้งหมด 14 จังหวัด ในรอบนี้จะมีนักวิ่งเพียงสองคนที่ทำเวลาดีที่สุดในการคัดเลือกระดับภาค ที่จะได้เข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ นี่คือเกณฑ์การคัดเลือกที่ยากมากสำหรับผมครับ ผมจึงทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักในทุกวัน สุดท้ายผมสามารถเข้ารอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแห่งชาติ และสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ

        หลังจากผ่านรอบคัดเลือกระดับภาค ผมมีเวลาเตรียมตัวเพียง 5 เดือน เพื่อแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เมื่อพิจารณาจากสถิติในรอบคัดเลือกพบว่า ผมเป็นนักวิ่งที่ทำเวลาได้แย่ที่สุดครับ ตอนนั้นผมไม่คิดอะไรมาก ผมหวังแค่ไม่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้ายได้ก็พอใจแล้วครับ ในช่วงเวลานั้น ผมได้รับโอกาสจากอดีตนักวิ่งทีมชาติท่านหนึ่ง ซึ่งมีพระคุณกับผมมาก คือ คุณอุ้มยศ กิจอุดม ได้ชักชวนผมให้ไปฝึกซ้อมด้วย การแข่งขันวิ่งในกีฬาแห่งชาตินั้น วิ่งบนลู่ยางสังเคราะห์มาตรฐาน ก็พึ่งได้ทราบจากคุณอุ้มยศว่า การวิ่งบนลู่ยางสังเคราะห์นั้น นักกีฬาควรใช้รองเท้าตะปู ที่ผ่านมาผมเป็นนักวิ่งถนนและใช้รองเท้าผ้าใบมาตลอดชีวิต การปรับตัวให้คุ้นชินกับรองเท้าตะปู ซึ่งแตกต่างจากรองเท้าผ้าใบเป็นอย่างมาก จึงเป็นไปด้วยความลำบาก และทำให้งานที่ยากอยู่แล้ว ท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก การฝึกซ้อมกับคุณอุ้มยศครั้งนั้น ทำให้ผมได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง จนสามารถทำผลงานในรอบชิงชนะเลิศได้เป็นที่น่าพอใจ นั่นคือผมได้อันดับที่ 10 จากนักวิ่ง 16 คน

        จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2559 ซึ่งแคมป์เก็บตัวซ้อมวิ่งซีเกมส์กำลังจะเปิด คุณอุ้มยศเรียกผมเข้าไปคุย และบอกว่า“...หมอ แคมป์ซีเกมส์จะเปิด ผมให้ความรู้หมอหมดแล้ว ให้จนหมดภูมิแล้ว ทีนี่ก็อยู่ที่หมอแล้ว ถ้าหมออยากจะก้าวไปอีกขั้น หมอก็ต้องลองขึ้นแคมป์ซีเกมส์ครับ...” คุณอุ้มยศโยนคำถามมาให้ผมคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป แคมป์ซีเกมส์อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่จังหวัดนครปฐม อันนี้นับเป็นคำถามที่ท้าทายชีวิตของผมมาก ถ้าผมยังอยากจะทำทั้งเรื่องแพทย์ และเรื่องวิ่ง 2 อย่างควบคู่กันไป ก็ต้องสละสิทธิ์ทิ้งความฝันเรื่องซีเกมส์ แต่ถ้าผมจะขึ้นเก็บตัวในแคมป์ซีเกมส์ที่เชียงใหม่ ก็จำเป็นต้องพักเรื่องงานไว้ก่อน นับเป็นครั้งแรกที่ผมต้องเลือกระหว่างการเป็นแพทย์กับการเป็นนักวิ่ง แต่เดิมผมเริ่มต้นทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันมาตลอด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วครับ และการขึ้นแคมป์ซีเกมส์ในตอนนั้น ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่า เมื่อผมขึ้นแคมป์ซีเกมส์แล้ว ผมจะได้เป็นนักวิ่งทีมชาติ ตอนที่ผมขึ้นแคมป์ซีเกมส์ คุณอุ้มยศ ฝากฝังผมให้ไปร่วมแคมป์เก็บตัวในฐานะผู้ร่วมฝึกซ้อมเท่านั้น โดยที่ผมไม่ได้เป็นตัวนักกีฬาในโครงการชุดซีเกมส์ พ.ศ. 2560 ของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งในความเป็นจริง นักวิ่งผู้ร่วมฝึกซ้อมอย่างผม มีโอกาสติดทีมชาติน้อยมากครับ

        

คุณอุ้มยศ กิจอุดม (สวมเสื้อหมายเลข 320) และ เรืออากาศตรี นายแพทย์เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์ (สวมเสื้อหมายเลข 323)

        ดังนั้นการตัดสินใจของผมครั้งนี้ นับว่าลำบากใจมากครับ ที่ต้องเลือกว่าเราจะเดินทางไหน ตอนนั้นความคิดผมตีกันอยู่ในหัวมากครับว่า เราจะทำอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ ผมเป็นแพทย์ เรื่อง “จรรยาบรรณแพทย์” สำคัญที่สุด อย่างแรกผมต้องมองว่าผู้ป่วยในการดูแลของผมจะเป็นอย่างไร หากผมลาออกจากแพทย์ เพราะตอนนั้น ผมเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพียงคนเดียวของโรงพยาบาล และเหมือนเป็นโชคชะตาของผม ตอนนั้นนับว่าเป็นจังหวะที่ดีมาก ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ มาประจำที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกอีก 1 ท่านพอดี ซึ่งมาเริ่มงานเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ผมจะได้รับข่าวว่า มีโอกาสได้ขึ้นแคมป์ซีเกมส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ แพทย์ท่านนี้มีความชำนาญทางด้านนี้มาก ทำให้ผมวางใจในเรื่องผู้ป่วย เพราะถ้าผู้ป่วยในการดูแลของผม ไม่มีแพทย์เฉพาะทางมาดูแลต่อจากผม ผมก็ไม่กล้าที่จะลาออกจากการเป็นแพทย์อย่างแน่นอน เมื่อผมวางใจเรื่องผู้ป่วยจึงเข้าสู่เรื่องถัดมา เรื่อง คุณพ่อคุณแม่ ท่านจะคิดอย่างไรถ้าผมเดินเข้าไปบอกว่าจะลาออกจากการเป็นแพทย์ แล้วจะไปฝึกซ้อมวิ่งกับนักกีฬาทีมชาติ แน่นอนครับเป็นเรื่องที่ผู้พูดก็พูดยาก และผู้รับฟังก็ยากที่จะเข้าใจในเหตุผล ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกมาก ลองนึกถึงถ้าผมเป็นพ่อคน ส่งลูกไปเรียนแพทย์เฉพาะทางจบมาเรียบร้อย อยู่ ๆ วันหนึ่งลูกผมเดินมาบอกว่า “...พ่อ ๆ ผมขอลาออกจากหมอนะ ผมจะไปเป็นนักวิ่ง...” ผมก็คงตกใจครับ แน่นอนครับ ตอนแรกทางบ้านผมค่อนข้างตกใจมาก โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ผมจึงอธิบายไปว่า “...ผมไม่ใช่คนเหลวไหล ไม่ใช่ว่าลาออกไปจะไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิต และสัญญากับท่านว่า หลังจากจบภารกิจซีเกมส์ในปีหน้า (พ.ศ. 2560) ไม่ว่าจะได้เป็นทีมชาติหรือไม่ได้เป็นก็ตาม ผมตั้งใจจะกลับมาทำงานด้านการแพทย์ต่อ...” ท่านก็เข้าใจดี ผมต้องกราบขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจลูกคนนี้เสมอครับ ดังนั้นเรื่องคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวทุกอย่างสอบผ่านครับ เรื่องสุดท้าย ด้านการเงิน ผมต้องบอกก่อนว่าตั้งแต่เรียนแพทย์จบมา ผมยังไม่เคยทำงานหารายได้อะไรจริงจัง เพราะถ้าเราทำงานในเวลาราชการอย่างเดียว ต้องบอกว่ารายได้ของแพทย์ค่อนข้างน้อย และในครั้งนั้น ผมต้องขอบคุณเพื่อนคนหนึ่ง ที่ช่วยเหลือสนับสนุนผมทางด้านการเงิน ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะเพื่อนคนนี้ไม่ชอบออกสื่อ ไม่เช่นนั้นผมคงไม่มีครบทุกด้าน ทั้งในด้านของการดูแลผู้ป่วย ครอบครัวที่เข้าใจ และเพื่อนที่คอยสนับสนุนด้านการเงิน ไม่เช่นนั้นผมคงไม่กล้าออกมาวิ่งตามความฝันแบบนี้

        เมื่อปัจจัยรอบด้านพร้อม ผมจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นแพทย์ และมุ่งหน้าทำตามความฝันของตนเอง และอย่างที่ผมกล่าวไปช่วงต้นว่า ผมไม่ใช่ตัวนักกีฬาของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ การมาร่วมฝึกซ้อมครั้งนี้ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่า เราจะได้เป็นนักวิ่งทีมชาติ ตอนนั้นผมไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่าย รายจ่ายจากการเช่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าสมัครสมาชิกฟิตเนส และอื่น ๆ ผมตั้งใจว่าจะพยายามเป็นภาระต่อทีมให้น้อยที่สุด การเป็นภาระต่อทีมให้น้อยที่สุด หมายความว่า จะแค่มาร่วมการฝึกซ้อมตามโปรแกรมที่โค้ชกำหนดไว้ โดยไม่ไปรบกวนการฝึกซ้อมของนักกีฬาตัวหลักในโครงการ และไม่รบกวนทีมผู้ฝึกสอน เพื่อให้โค้ชมีเวลาดูแลนักกีฬาตัวหลักในโครงการอย่างเต็มที่

        แคมป์ซีเกมส์ ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นทีมที่มีขนาดใหญ่มาก นำโดยหัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวเคนยา Peter Mathu Titi ผู้ฝึกสอนชาวไทย เช่น พี่กร (นิกร ขันสงฆ์) พี่โก้ (จีรชัย ลิงลม) มีนักกีฬาฝีเท้าดีจากทั่วประเทศหลายคนเช่น พี่ถึง (บุญถึง ศรีสังข์) พี่ฝน (ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์) น้องสัญ (สัญชัย นามเขต) เป็นต้น ที่แคมป์นี้ผมได้รับการดูแลอย่างดีมากราวกับผมเป็นนักกีฬาในโครงการซีเกมส์ ผู้ฝึกสอนใส่ใจดูแลนักกีฬาอย่างเท่าเทียมกัน ส่งผลดีต่อนักกีฬาทุกคน ทำให้นักกีฬาช่วยกันซ้อม ช่วยกันผลักดันซึ่งกันและกัน และในที่สุดก็ทำให้นักกีฬาทุกคนสามารถพัฒนาฝีเท้าไปได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ส่วนนักกีฬาก็ให้ความช่วยเหลือผมอย่างมากในทุก ๆ เรื่อง ทำให้ผมซึ่งเป็นคนต่างถิ่น สามารถปรับตัวเข้ากับแคมป์นี้ได้อย่างรวดเร็ว

 

การเก็บตัวฝึกซ้อมแคมป์ซีเกมส์ จังหวัดเชียงใหม่

        การฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ มีโปรแกรมการฝึกซ้อมค่อนข้างหนัก ไม่ได้สุขสบายอย่างที่ใครหลายคนคิด สำหรับคนที่ชื่นชอบดูกีฬานั้น อาจเคยรู้สึกว่านักกีฬาเป็นอาชีพที่น่าอิจฉา เพราะงานของนักกีฬาเป็นการออกกำลังกาย ได้ทั้งสุขภาพที่ดี และได้ทำในสิ่งที่สนุกสนาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เบื้องหลังไม่ได้สวยหรูอย่างที่เราคิดครับ ยกตัวอย่าง การฝึกซ้อมของนักวิ่งอย่างพวกผม ในหนึ่งวันต้องฝึกซ้อมในช่วงเช้าและช่วงเย็น ระหว่างวันก็ต้องพยายามฟื้นฟูสภาพร่างกายให้ทัน เพื่อการฝึกซ้อมมื้อต่อไป การซ้อม 1 ครั้งเรียกว่า “มื้อ” ถ้าช่วงพักฟื้นร่างกายเราดูแลตัวเองไม่ดีพอ อาจทำให้ผลงานในการซ้อมมื้อถัดไปของเราไม่ดีก็จะเป็นที่เพ่งเล็งของทีมผู้ฝึกสอน หรืออาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ เราฝึกซ้อมกันหนักมากครับ ฝึกซ้อมวันละ 2 มื้อ สัปดาห์ละ 6 วัน รวมเบ็ดเสร็จก็ประมาณ 11 – 12 มื้อต่อสัปดาห์ และได้หยุดวันอาทิตย์ 1 วันต่อสัปดาห์เพื่อพักผ่อนฟื้นฟูสภาพร่างกาย พวกเราไม่มีวันหยุดยาว ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ หรือสงกรานต์ ก็ยังฝึกซ้อมกันตามปกติ และด้วยความที่ผมมีพื้นฐานน้อยกว่านักกีฬาท่านอื่น ผมจึงพยายามจะฝึกซ้อมเพิ่มเติมจากโปรแกรมที่โค้ชมอบหมายมาให้ ด้วยการเข้าฟิตเนสในช่วงเที่ยงหรือช่วงค่ำของแต่ละวัน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะจุดอ่อนของผมอยู่ที่กล้ามเนื้อไม่มีพลัง จึงต้องฝึกซ้อมมากกว่าคนอื่น และต้องฝึกซ้อมหนักกว่าคนอื่น ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จ เราก็ต้องพยายาม สุดท้ายตอนที่ฝึกซ้อมในช่วงเข้าเดือนที่ 4 – 5 เริ่มมีสตาฟโค้ช (Staff coach) มองเห็นพัฒนาการในตัวผม ก็มาชักชวนผมว่า “...หมออยากจะเข้ามาเป็นนักวิ่งทีมชาติไหม อยากจะมาอยู่ในโครงการของสมาคมฯ ไหม...” วันนั้น วันที่ผมได้ยินคำพูดนี้ ผมดีใจมาก ผมโทรบอกคุณพ่อ คุณแม่ ส่งข้อความหาพี่น้องในครอบครัวว่า ผมมีโอกาสได้เป็นนักวิ่งทีมชาติบ้างแล้ว        

        

การเก็บตัวฝึกซ้อมแคมป์ซีเกมส์ จังหวัดเชียงใหม่

        

การเก็บตัวฝึกซ้อมแคมป์ซีเกมส์ จังหวัดเชียงใหม่

        ทีมงานสตาฟโค้ชแจ้งว่า การจะติดทีมชาติชุดซีเกมส์นั้น ผมต้องผลักดันตัวเองขึ้นมาให้ดีพอที่จะเป็นตัวแทนของประเทศ และต้องทำสถิติเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสมาคมฯ กำหนดไว้ ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย การที่จะส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ไม่ใช่ว่าจะส่งใครเข้าร่วมก็ได้ แต่ผู้ที่ถูกส่งเข้าไปควรจะมีโอกาสได้เหรียญจากการแข่งขันกลับมา ไม่เช่นนั้นก็จะเสียภาษีไปเปล่า ๆ ทางสมาคมฯ จึงตั้งเกณฑ์มาข้อหนึ่ง ซึ่งผมคาดว่าน่าจะเป็นเกณฑ์ที่อ้างอิงมาจากสถิติเวลาของนักวิ่งเหรียญทองแดง กีฬาซีเกมส์ปีก่อนหน้า (อาจจะบวกลบนิดหน่อยครับ) ซึ่งผมต้องวิ่งเร็วกว่านี้ หรือวิ่งเร็วเท่านี้ ผมจึงจะมีโอกาสถูกเสนอชื่อในที่ประชุมของสมาคมฯ เพื่อพิจารณาเป็นนักกีฬาทีมชาติ

        

การเก็บตัวฝึกซ้อมแคมป์ซีเกมส์ จังหวัดเชียงใหม่

        การแข่งขันวิ่งระยะไกลในกีฬาซีเกมส์นั้นมีหลายรายการ ตั้งแต่ระยะ 5,000 เมตร 10,000 เมตร และ 42.195 กิโลเมตร ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ พ.ศ. 2560 ณ ประเทศมาเลเซีย จะให้สิทธิ์การส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจากแต่ละประเทศรายการละ 2 คน ซึ่งในรายการ 5,000 เมตร 10,000 เมตร นั้น ประเทศไทยเรามีนักวิ่งฝีเท้าดีครบแล้ว เหลือเพียงระยะ 42.195 กิโลเมตรเท่านั้น ที่ยังพอจะมีโควต้าว่าง 1 ตำแหน่ง

        เป็นที่รู้กันดีในวงการวิ่งว่า การวิ่งมาราธอนครั้งแรกนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ด้วยเหตุที่ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร นั้นยาวไกล ท้าทายศักยภาพและขีดความสามารถของร่างกายมนุษย์ และโดยทั่วไปแล้วเป้าหมายในการวิ่งมาราธอนครั้งแรกจึงเป็นเส้นชัย ไม่ใช่สถิติเวลา ไม่ใช่ความเร็ว ปัญหา คือ ตัวผมเองเป็นนักวิ่งระยะ 10 กิโลเมตรเท่านั้น ผมไม่เคยวิ่งระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตรเลยสักครั้งเดียว นอกจากต้องเพิ่มระยะทางขึ้นมาเป็นนักวิ่งมาราธอนแล้ว ผมยังต้องทำสถิติเวลาให้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกซีเกมส์อีกด้วย นับเป็นงานวิ่งที่ท้าทายที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว

        ดังนั้น ผมจึงต้องผลักดันตัวเองขึ้นมา ถ้าเป็นมวยก็เป็นมวยข้ามรุ่นครับ ผมเริ่มต้นด้วยการค้นหางานวิ่งมาราธอน เพื่อลงแข่งขันและนำสถิติผลงานการวิ่งในระยะนี้ มาให้ทีมสตาฟโค้ชนำส่งให้ทางสมาคมฯ พิจารณา ทีนี้ปัญหา คือ ตอนที่ผมได้รับคำสั่ง ตอนนั้นเหลือเวลาไม่มาก ก่อนที่การแข่งขันซีเกมส์จะเริ่มต้น ผมจึงต้องรีบเร่งหางานวิ่งในประเทศไทย เพื่อไปทดสอบเวลา แต่ปรากฏว่า งานวิ่งในไทยปิดรับสมัครไปหมดแล้ว ผมจึงเปิดอินเทอร์เน็ตค้นหางานวิ่งในต่างประเทศ และเจองานวิ่งรายการหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่ปิดรับสมัคร ผมจึงปักธงที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มาราธอนต้องเตรียมตัวล่วงหน้าหลายเดือน แต่ตอนนั้นผมมีเวลาเตรียมตัวเพียง 1 เดือนเท่านั้น การวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตรครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของผม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เป้าหมายการวิ่งมาราธอนครั้งแรกนั้น โดยปกติ คือ เข้าเส้นชัย โดยไม่คำนึงถึงสถิติเวลา แต่ผมต้องนำสถิติเวลาระดับมาตรฐานกีฬาซีเกมส์ไปยื่นให้ทางสมาคมฯ ยอมรับว่าเครียดและกดดันมากครับตอนนั้น สุดท้ายเวลาของผมที่ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนั้น คือ 2 ชั่วโมง 39 นาที 51 วินาที ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่ทางสมาคมฯ กำหนดไว้ 9 วินาทีครับ สถิติของผมจึงได้เข้าที่ประชุมของสมาคมฯ และผมได้รับความเมตตาจากสมาคมฯ ที่อนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ได้ ซึ่งเป็นเกียรติอย่างสูงสุดในชีวิตผมที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ในนาม “นักกีฬาทีมชาติไทย” สำหรับผลงานการวิ่งของผมในกีฬาซีเกมส์ ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 2 ชั่วโมง 52 นาที 45 วินาที จัดเป็นลำดับที่ 9 จากนักวิ่งทั้งหมด 15 คน ตอนนั้นผลงานผมไม่ดีเท่าไร เพราะมีอาการกล้ามเนื้อเป็นตะคริว จึงส่งผลต่อผลงานการวิ่งในครั้งนั้น แต่ผมก็ภูมิใจมากที่ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย และทำความฝันที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้สำเร็จ จากผลของความตั้งใจ มุ่งมั่น ความอดทน และความพยายามของตัวเอง

 

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ให้กำลังใจการสู้ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ ประเทศมาเลเซีย

 

สองนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ ประเทศมาเลเซีย

Certificate Sea Games

ครอบครัวเดินทางมาให้กำลังใจในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 29 ณ ประเทศมาเลเซีย

 

การแข่งขันวิ่งมาราธอนซีเกมส์ ปี 2560 ณ ประเทศมาเลเซีย

 

การแข่งขันวิ่งมาราธอนซีเกมส์ ปี 2560 ณ ประเทศมาเลเซีย

 

ทัพนักกรีฑาไทย ในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ ประเทศมาเลเซีย

        ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจนักกีฬาทีมชาติไทย ผมก็กลับมาทำงานทางด้านการแพทย์เช่นเดิม สำหรับเป้าหมายของชีวิตตอนนี้ ขอมุ่งมั่นให้กับการทำงานด้านการแพทย์ก่อน เพราะสถานที่ทำงานในปัจจุบัน (พ.ศ. 2562 ณ โรงพยาบาลภูมิพลอดุยเดช) เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนแพทย์ จึงตั้งใจที่จะทำงานด้านการแพทย์ให้เต็มที่ก่อน และผมพึ่งจะแต่งงาน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 กับ แพทย์หญิงเมธาวี จันทนวงษ์ ผมจึงอยากที่จะสร้างครอบครัวให้มั่นคง และสมบูรณ์ก่อน แต่ถ้าถามว่าอยากจะกลับไปแก้มือในการวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตร ในกีฬาซีเกมส์อีกไหม ก็ยังมีความคิดลึก ๆ ว่าอยากกลับไปแก้มือครับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346