ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผลงานวิจัยและวิชาการ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา

เนื่องจากอาจารย์มีปัญหาทางด้านสุขภาพ จึงไม่สามารถดำเนินการสัมภาษณ์ประวัติได้ ดังนั้น รูปแบบการนำเสนอประวัติของอาจารย์จึงแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่น ๆ

ผลงานวิจัยและวิชาการ

           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา มีผลงานที่ตีพิมพ์ทั้งในวารสารทางการแพทย์และหนังสือทางการแพทย์หลายผลงาน ซึ่งผลงานการศึกษา วิจัย และวิชาการที่เด่นชัด อาทิ

           1. โรคเลือดออกง่ายในสมองทารก (Acquired Prothrombin Complex Deficiency in Infant - APCD) พ.ศ. 2506 ค้นพบโรคเลือดออกง่ายในสมองทารก (Acquired Prothrombin Complex Deficiency in Infant - APCD) หรือ โรคเลือดออกง่ายในเด็กทารกจากการขาดวิตามินเค ปรากฏผลงานทั้งรายงาน วิจัย และการรักษากว่า 30 ปี โดยศึกษาโรคดังกล่าวตั้งแต่อุบัติการณ์ อาการทางคลินิก การเปลี่ยนแปลง ห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัย การรักษา พยาธิกำเนิด สาเหตุของโรค การป้องกัน และการหาแนวทางป้องกันโรค โดยสนันสนุนให้มีการให้วิตามินเคในเด็กแรกคลอด เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว และผลักดันให้เป็นมาตรฐานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา และกระทรวงสาธารณสุขได้นำงานวิจัยมาใช้ในแผนพัฒนาฯ ที่ 7 เพื่อป้องกันโรคเลือดออกง่ายตั้งแต่ พ.ศ. 2537

           2. โรคไข้เลือดออก พ.ศ. 2507 โรคไข้เลือดออก โดยดำเนินการศึกษาความผิดปกติของภาวะเลือดออกในโรคไข้เลือดออกทำให้ทราบแนวทางการรักษาภาวะเลือดออกที่ถูกต้อง มีการบุกเบิกการศึกษาและวิจัย platelet concentrate มาใช้ในการรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นคนแรกของโลก นอกจากนี้ยังศึกษาและวิจัยภาวะช็อคและผลการใช้ steroid มีการเน้นการรักษาภาวะช็อคจากไข้เลือดออกด้วยการเพิ่มปริมาตรของน้ำในกระแสโลหิตและลดการใช้ steroid ลงมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ลดอาการแทรกซ้อนจากยาและประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

           3. ระบบบริการโลหิตและการผลิตผลิตภัณฑ์โลหิต พ.ศ. 2503 ร่วมงานวิจัยขณะทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผลิต factor VIII concentrate ที่บริสุทธิ์มาก และถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแก่บริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย รวมทั้งยังได้ร่วมงมนกับ Professor Dr.Isaac Djerassi และ Professor Dr.Irving J. Wolman ที่โรงพยาบาลเด็กแห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย ทำ cryoprecipitate ใช้เป็นคนแรกของโลก เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรค hemophilia A เป็นครั้งแรก ต่อมา พ.ศ. 2506 เป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีการเตรียมส่วนประกอบของเลือดมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ใช้ blood component รักษาผู้ป่วย และศึกษาวิจัยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเลือดแยกส่วนต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับประเทศไทย อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคเลือดออกง่ายพันธุกรรม และโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสนอแนะและประสานงานกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติให้ผลิต fresh dry plasma (พลาสมาสดผง) และได้ศึกษาวิจัยอย่างครบวงจร

           4. โรคฮีโมฟีเลีย พ.ศ. 2506 – 2507 ได้ดำเนินการจัดตั้ง Blood Coagulation Lab ที่สมบูรณ์แห่งแรกของประเทศ ณ โรงพยาบาลศิริราช สามารถทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัย และจัดเตรียมโลหิตแยกส่วนในการรักษาภาวะเลือดออกง่ายในโรคต่าง ๆ ได้ถูกต้องและทันสมัย และได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากองค์การต่างประเทศ เช่น ทุนร๊อคกี้เฟลเลอร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โรงพยาบาลเด็กแห่งเมืองฟิลาเดเฟีย องค์การฮีโมฟีเลียโลก และองค์กรอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนางานทางโลหิตวิทยาและธนาคารเลือด รวมทั้งพัฒนาแพทย์และบุคลากรการแพทย์ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ และการจัดประชุมสัมมนาวิชาการเพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาโรคฮีโมฟีเลียให้ครบวงจร

           พ.ศ. 2520 – 2522 ศึกษาวิจัยหาอุบัติการณ์ของโรคเลือดออกง่ายพันธุกรรมในประเทศไทย และได้รับความร่วมมือประสานงานกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการดูแลรักษาโรคฮีโมฟีเลีย และภาวะเลือดออกง่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

           พ.ศ. 2522 เริ่มโครงการ “Home Care Program” (ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน) โดยมีผลิตภัณฑ์โลหิต พลาสมาสดผงเก็บไว้ฉีดเองที่บ้าน ซึ่งสามารถรักษาได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เลือดออกระยะแรก ได้ผลดีในการรักษา

           พ.ศ. 2525 การจัดตั้งศูนย์โรคเลือดออกง่ายแห่งชาติ ในแผนพัฒนาฯ แผนที่ 5 จากกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดอบรมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ รวมทั้งจัดเครื่องมือแพทย์ที่สามารถทำ blood component ใช้เองได้ในโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง และมี blood coagulation laboratory รองรับในโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง กระทั่งการนำโรคฮีโมฟีเลียเข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ทั่วประเทศ

           5. การป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากการรับเลือด พ.ศ. 2534 แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ร่วมงานวิจัยกับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิมล เชี่ยวศิลป์ และร่วมมือกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย นำเสนอประโยชน์และความจำเป็นของการตรวจ HIV-antigen ในเลือดที่ได้รับการบริจาคทุกยูนิตในประเทศไทย พร้อมทั้งนำเสนอนายกรัฐมนตรี ให้มีการตรวจ HIV-antigen เพิ่มขึ้นในเลือดที่ได้รับการบริจาค ซึ่งแต่เดิมตรวจเฉพาะ HIV-antibody เท่านั้น นับได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการตรวจ HIV-antigen เพื่อช่วยลดการติดเชื้อ HIV จากการรับเลือด จากผลงานดังกล่าว ส่งผลให้ แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้รับรางวัลนานาชาติ “อองรี เชนู” จากฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งนับเป็นคนเอเชียและภาคพื้นแปซิฟิกคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ โดยรางวัลดังกล่าวจะมอบแก่แพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่นเกี่ยวกับโรคเลือดออกง่าย

           6. โรค acquired platelet dysfunction with eosinophilia เป็นผู้ตั้งชื่อโรคนี้ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ การวิจัยพบว่าโรคนี้ วินิจฉัยได้ง่าย โดยดูจากรูปร่างของเกร็ดเลือด และจะพบติดสีจางมีแกรนูลน้อย แต่ยังมี cell membrane ช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ง่าย สะดวก และร่วมศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางการห้ามเลือดในโรคนี้ โดยใช้เกร็ดเลือดเข้มข้น จนเป็นที่ยอมรับและใช้กันทั่วโลก

           7. โรคธาลัสซีเมีย การรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ด้วยการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ตลอดชีวิต และได้เชิญชวนผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรทำแผนระดับชาติเกี่ยวกับการให้โลหิตผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย “National Guideline for Blood Transfusion in Thalassemia” และใช้วิธีการรักษาดังกล่าวทั่วประเทศ ทำให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนน้อย ลดการให้โลหิตและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประหยัดเงินของทั้งทางรัฐและผู้ป่วย

           8. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเตรียมกาวไฟบรินและการใช้กาวไฟบรินทางคลินิก พ.ศ. 2537 – 2539 เป็นผู้ริเริ่มการประสานงาน และดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเตรียมกาวไฟบรินใช้เอง และการใช้กาวไฟบรินทางคลินิก ทั้งในการผ่าตัด การทำฟัน และการห้ามเลือด โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การฮีโมฟีเลียโลกและรัฐบาลอิสราเอล ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย และเสียค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ส่งผลให้ช่วยลดการใช้ส่วนประกอบของโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิต ลดปัญหาภาวะเลือดออกรุนแรงในการผ่าตัด การถอนฟันและผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย ดังนั้นศูนย์บริการโลหิตฯ จึงผลิตให้ใช้ทั่วประเทศตลอดมาจนปัจจุบัน1

---------------------------------------------------
1สมาคมแพทย์สตรี. ประวัติแพทย์สตรีตัวอย่าง ประจำปี 2552. (2555). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.tmwa.or.th/lib/file/2012073143510_1.pdf. (วันที่สืบค้น 20 กันยายน 2561). หน้า 7-11.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346