แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (รางวัลแห่งความภูมิใจ)

แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลแห่งความภูมิใจ

        สำหรับรางวัลที่ภาคภูมิใจอันดับแรก คือ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานเพลงสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม โดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร.9 เมื่อ พ.ศ. 2525 จากเพลง คนจนไม่มีสิทธิ์เจ็บป่วย แต่งโดย ศ.เกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ หรือ วราห์ วรเวช และมีคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ เจ้าเก่าที่ทำเพลงเทพธิดาดอย ทำเรียบเรียงเสียงประสาน และร่วมกับเสียงประสานร้องโดยนักร้องจากวงดุริยางค์กองทัพเรือ และในปีเดียวกันนี้เอง เพลง คนจนไม่มีสิทธิ์เจ็บป่วย ยังได้รับรางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน จัดโดยหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เพลงยอดนิยม เพลงสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ต่อมาใน พ.ศ. 2526 ได้รับรางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน จัดโดยหนังสือพิมพ์บ้านเมือง นักร้องยอดนิยม เพลง เดินชมดอย และเพลง เทพธิดาดอย ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน เพลง บัวบาน ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน และเพลง สู่สันติภาพ ได้รางวัลกรังปรีซ์ชนะเลิศ ของ Thailand Popular song Festival จัดโดยสยามกลการ และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง Tokyo World Popular Song Festival ถึงจะไม่ได้รางวัล แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจ เป็นครั้งแรกที่ส่งเพลงเนื้อไทย เพราะทุกครั้งจะส่งไปและได้รางวัลต้องเป็นเนื้อภาษาอังกฤษ แต่ครั้งนั้นอาจหาญเอาเพลงเนื้อไทยไป ถึงจะไม่ได้รางวัลแต่ก็นับถือในความกล้าหาญที่นำภาษาไทยได้ไปยืนอยู่บนเวทีโลกเหมือนกัน และในปีเดียวกันเพลง ชีวิต ได้รับรางวัลเพลงดีเด่น ก่อนหน้านั้นก็ได้รับรางวัล เพลงดีเด่นอีกเพลงหนึ่ง คือ เพลง เพลินไพร ของ อาจารย์หมอวราห์ แล้วก็เพลง The River เป็นเพลงที่ประทับใจมาก เพราะเป็นเพลงภาษาอังกฤษที่เอาไปขับร้องแข่งขันใน Thailand Popular song Festival

รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน จากเพลงคนจนไม่มีสิทธิ์เจ็บป่วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ หรือ วราห์ วรเวช (ผู้ชาย) และ แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (ผู้หญิง)

รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน จากเพลงคนจนไม่มีสิทธิ์เจ็บป่วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ หรือ วราห์ วรเวช (ผู้ชายสูทสีดำ) แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (ผู้หญิงกลาง) และ คุณเจริญชัย หวังอารยธรรม (ผู้ชายสูทสีขาวครีม)

รับรางวัลรองชนะเลิศ เพลงออมสิน 72 ปี แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (ผู้หญิง) และ คุณชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร (ผู้ชาย)

        ขออนุญาตเล่าเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงหน้าหนึ่งสักเล็กน้อย วันที่ไปขับร้องเพลงได้รับรางวัลกรังปรีซ์ ของเพลง สู่สันติภาพ ซึ่งแต่งโดยคุณชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ดิฉันได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศในเพลงชื่อ ชีวิต ความจริงดิฉันจะต้องขับร้องเพลงอีกหนึ่งเพลง แต่ด้วยความที่ดิฉันเป็นห่วงว่าจะเปลี่ยนชุดไม่ทันและดิฉันอาจจะเหนื่อย เพราะเพลงที่ 3 จะต้องเต้นด้วย ในขณะนั้นมีนักแสดงละครโทรทัศน์คนหนึ่ง ดิฉันเห็นหน่วยก้านว่าร้องเพลงดี นักแสดงท่านนั้น คือ คุณธงชัย แมคอินไตย์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงในด้านการขับร้อง ดิฉันจึงปรึกษากับคุณชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ว่า “...จะเอาเบิร์ดมาร้องเพลงแทนดิฉัน เพลงนี้...” ซึ่งเบิร์ดก็เหมาะมาก เพราะว่าเต้นเก่ง และออกแบบท่าเต้นเองด้วย ซึ่งการขึ้นเวทีในครั้งนี้ของเบิร์ด ทำให้เบิร์ดได้รู้จักกับพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ พิธีกรในการประกวดเพลงในวันนั้น พี่เต๋อเห็นหน่วยก้านของเบิร์ด จึงชวนเบิร์ดมาเป็นศิลปินของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) คนที่ 4 ซึ่งในขณะนั้นดิฉันเป็นศิลปินคนแรก คุณเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ เป็นศิลปินคนที่ 2 คุณนันทิดา แก้วบัวสาย เป็นคนที่ 3 และเบิร์ดก็โด่งดังนับตั้งแต่นั้นมา ตอนนั้นเบิร์ดอายุเพียง 25 ปี และก็ยังจำได้ว่า เบิร์ดประสบอุบัติเหตุศีรษะแตก ต้องเย็บหลายเข็ม จากการถ่ายละครหรือหนังไม่ทราบ ยังเอาแผลมาให้พี่หมอดู ดิฉันบอกว่า “...หวีผมปิดไว้ก่อนก็ได้...” ตอนนั้นเรากลับบ้านแถวฝั่งธนบุรีด้วยกัน

        นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลที่ตัวเองไม่คาดคิดเลยว่าจะได้ เพราะว่าไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแพทย์ที่เก่งมากอะไร เพราะว่าดิฉันแบ่งเวลาไปทำเรื่องของการบันเทิงค่อนข้างมาก อยู่ในวงการบันเทิง เรียกว่า ออกโทรทัศน์แทบทุกช่องมาแล้วในประเทศไทย ขึ้นทุกเวทีที่ร้องสดคอนเสิร์ตมาหมดแล้ว แล้วก็ไปร้องเพลงต่างประเทศก็ไปกับคุณสวลี ผกาพันธุ์ 2 เดือน ไปกับคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี 2 เดือน ไปร้องเพลงต่างจังหวัด หลาย ๆ จังหวัดก็ไปกับคณะของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง และคุณวงจันทร์ ไพโรจน์ ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันจะหมกมุ่นอยู่กับทางด้านการบันเทิงเยอะไปรึเปล่า แต่ดิฉันก็ไม่ได้ทิ้งงานทางด้านการแพทย์ ต้องขอบพระคุณแพทยสภาที่นึกถึงเรื่องของการมอบรางวัลให้กับแพทย์ที่ทำชื่อเสียงในด้านอื่นด้วย ก็คือ แพทย์ที่ทำงานในทางศิลปะทางด้านบริหาร ทางด้านการกีฬา ทางด้านเสียสละเพื่อสังคม ทางด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ ดิฉันจึงติดเข้าไปเป็น 1 ในกลุ่มที่ได้รับรางวัล “แพทย์ต้นแบบ” และผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ รวมถึง ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ และ พ.ท. นพ.ภาคย์ โลหารชุน ดิฉันไม่นึกว่าตัวเองจะได้รับรางวัลนี้ รู้สึกขอบพระคุณมาก นับเป็นความภาคภูมิใจของตระกูลทีเดียว เพราะเหนือความคาดหมายมาก ส่วนหนึ่งคงต้องขอบพระคุณที่ตัวดิฉันไปศึกษาอยู่หลายแห่ง จึงทำให้ดิฉันเป็นทั้งชาวมหิดล เป็นทั้งชาวเชียงใหม่ เป็นทั้งชาวธรรมศาสตร์ ที่หล่อหลอมให้ดิฉันเป็นตัวดิฉันจนทุกวันนี้ และมีผลทำให้ดิฉันได้รับรางวัลต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346