แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (การเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

การเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

        ตอนที่จะเลือกเรียนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก่อนจะจบแพทย์ได้ไปคุยกับอาจารย์นารีศรี ว่า “...จะเลือกเป็นแพทย์เฉพาะทางอะไรดี...” อาจารย์ถามว่า “...แล้วเธอชอบอะไรหละ...” ก็บอกอาจารย์ว่า “...ที่ทำคะแนนได้ A ก็คือ ศัลยกรรมทั่วไป จักษุ X-ray จิตเวช ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ อย่างอื่นไม่ได้ A...” อาจารย์บอก “...ถ้าอย่างนั้นเธอดูถ้าจะชอบศัลยกรรมใช่ไหม จักษุ ก็ดีนะเพราะว่ามันไม่หนักหนาจนเกินไป...” พอดิฉันได้มาเรียน อยากจะกลับไปบอกอาจารย์ว่า “...อาจารย์ขา อาจารย์บอกผิดแล้วค่ะ...” จักษุแพทย์ไม่ใช่ไม่หนัก แต่เพราะว่าเป็นงานละเอียด ดิฉันมีความเห็นว่าใครที่จะเรียนจักษุแพทย์ ต้องเป็นมือแกะสลัก โชคดีที่ดิฉันเรียนแกะสลักมาก่อน แกะสลักสบู่ แกะสลักฟัก แกะสลักอะไรที่เป็นแกะสลักแนวไทย ๆ ลายไทย นั่นหละถ้าคุณแกะได้เนี้ยบ ๆ แบบนั้นค่อยมาเรียน เพราะว่ามือต้องเบามาก เดี๋ยวนี้แผลผ่าตัดตา 3 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่สมัยเริ่มแรกแผลกว้างเกือบ 1 เซนติเมตร เพราะว่าเดี๋ยวนี้เครื่องมือดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ

        ทำไมถึงมาเรียนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตอนนั้นจริง ๆ แล้วสมัครคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นอันดับที่ 1 และสมัครคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอันดับที่ 2 แต่ได้อันดับ 2 จึงไปอยู่ที่เชียงใหม่ก่อน และพอดีว่ามีคนสละสิทธิ์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดิฉันจึงกระโดดมาทันใดค่ะ และก็ดีใจมาก เพราะในยุคนั้นนายแพทย์จรีเมธ กาญจนารัณย์ เป็นอาจารย์ที่มีวิธีการสอนที่ตลกและสนุกมาก

        หลังจากจบแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชีวิตก็มุ่งไปทางทำงานหนัก และมาเป็นแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทางด้านจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่าง พ.ศ. 2518 – 2521 เป็นรุ่นที่ 5 รุ่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน และอีกหลายท่าน ซึ่งคุณหมอรัชตะเป็นคนเรียนเก่ง มาติวให้พวกเราสอบผ่านได้มาเรื่อย ๆ ในขณะนั้นโชคดีที่ ได้พบกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ซึ่งอาจารย์อยู่แผนกหู คอ จมูก และดิฉันอยู่แผนกตา ตอนนั้นจำได้ว่า เราใช้ห้องสมุดร่วมกัน เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ แบ่งครึ่งห้องด้วยตู้ ดิฉันจะอยู่ในห้องสมุดเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าถ้ากลับไปนอนที่หอพักก็ร้อนไม่มีแอร์เหมือนที่ห้องสมุด ดิฉันจะอยู่ที่นี่จนถึงเวลา 21.00 น. จนเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ปิดห้องสมุด และเนื่องจากรับหน้าที่เป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านจะต้องถือกุญแจห้องสมุด จึงทำให้ดิฉันอยู่ห้องสมุดจนถึง 21.00 น. ทุกวัน บางวันก็มีปิดช้าบ้างนิดหน่อย เมื่อทุกคนกลับกันหมดแล้ว ดิฉันก็จะนั่งร้องเพลงอยู่ในห้องสมุด ส่วนอาจารย์หมอพูนพิศก็ยังไม่กลับเหมือนกัน แต่ดิฉันไม่ทราบ ดิฉันก็ร้องเพลงดังลั่นห้องสมุดเลย อาจารย์หมอพูนพิศจึงรู้หมดเลยว่า ดิฉันร้องเพลงอะไรได้บ้าง เพราะดิฉันร้องแบบไม่ซ้ำกันเลยสักวัน แบบร้องเพลงเมดเล่ย์ไปเรื่อย ๆ จากตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานด้านการร้องเพลง

        แม้ดิฉันจะเลือกเรียนเฉพาะทางด้านจักษุแพทย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดิฉันค้นพบตัวเองและพึ่งมาทราบว่าจริง ๆ แล้ว จักษุแพทย์ไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันชอบมากที่สุด สิ่งที่ดิฉันชอบมากที่สุดน่าจะเป็นจิตเวชกับ skin (ผิวหนัง) เพราะดิฉันไม่ค่อยจะชอบอะไรที่เป็น emergency (ฉุกเฉิน) อย่านึกว่าจักษุแพทย์ไม่มี emergency มีเยอะมาก เพราะรถชนกันตาแตก ต้อหิน มีเรื่องฉุกเฉินแบบอุบัติเหตุเยอะแยะที่เกี่ยวกับตา โดนน้ำกรด โดนน้ำด่าง แม้แต่จิตเวชก็มี emergency เพียงแต่ว่าตอนหลัง ๆ ดิฉันสนใจเรื่อง มิวสิค เธอราพี (Music Therapy) กับ จิตเวช


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346