แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
การทำงานในด้านอื่น ๆ
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เชิญไปทำดนตรีบำบัด (Music Therapy) ซึ่งเวลานั้น มหาวิทยาลัยมหิดลพึ่งเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตอนนั้นก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก แต่จนบัดนี้ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ของพวกเราก็ยังไม่เป็นรูปร่าง จากเหตุผลที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันได้นำ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยของดิฉันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การทำสมาธิ (Meditation) ทำสมาธิและก็ชักจูงผู้ป่วยให้มีสมาธิไปกับดิฉัน โดยที่จะพยายามใช้ยาชาให้น้อยที่สุด ในขณะผ่าตัด ไม่มีการดมยาสลบ ไม่มีการใช้ยาให้หลับ ผู้ป่วยรู้ตัวตลอดการผ่าตัด และสื่อกับแพทย์ได้ด้วยการ ทำสมาธิไปด้วยกัน และเปิดเพลงกล่อมให้ผู้ป่วยสนใจในเพลง และพบว่า ขณะที่เปิดเพลงทั้งผู้ผ่าตัดและผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลายไปด้วยกัน ทั้งห้องสบายใจไปหมด และหลังจากผู้ป่วยกลับไปบ้าน ผู้ป่วยควรจะฝึกการร้องเพลงไปด้วย ซึ่งให้ข้อดีเยอะแยะมากมายในเรื่องของ ศิลปะบำบัด (Art Therapy) หรือ ดนตรีบำบัด (Music Therapy)
นอกจากนี้ยังสนใจในเรื่อง ดนตรีบำบัด (Music Therapy) กับ จิตเวช ตอนนั้น นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชักชวนให้ดิฉันไปร่วมกับทางภาควิชาในการทำกิจกรรมบำบัด ดังนั้น เวลาจิตเวชมีกิจกรรมอะไรที่เป็นกิจกรรมบำบัด ดิฉันก็จะเข้าไปร่วม และเห็นประโยชน์มากขึ้น ๆ
ดิฉันยังแตกแขนง การทำงานในเรื่องการร้องเพลงด้วย คือ ฝึกสอนการขับร้องเพลงด้วยตัวเองออนไลน์ ทางสไกป์ (skype) ทางไลน์ที่ผู้สนใจอยากจะฝึกกับดิฉัน และฝึกฝนตัวเองในเรื่องของการวาดภาพสีน้ำ จริง ๆ แล้วจะเรียกว่าฝึกฝนตัวเองทั้งหมดไม่ได้ เพราะในวัยเด็ก คุณพ่อของดิฉันเป็นนักวาดรูป อย่างดอกไม้ ท่านวาดเหมือนมาก และไม่ใช่วาดบนกระดาษ แต่เป็นการวาดบนกระจก คือ ตามภัตตาคารหรือโรงแรมสไตล์จีนที่จะมีกระจกอยู่เป็นแผ่นใหญ่ ๆ และมีภาพดอกโบตั๋นวาดอยู่บนกระจก ไม่ได้วาดด้านหน้า แต่เป็นการวาดจากด้านหลัง คุณพ่อเก่งเรื่องสีน้ำ และเก่งเรื่องวาดรูปนกเป็ดน้ำเป็นฝูง ๆ และเก่งการเขียนพู่กันจีน ซึ่งนับว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่เป็นอาชีพได้ คือ เปิดร้านเขียนป้ายคำอวยพรในวาระมงคลต่าง ๆ ซึ่งชาวจีนจะมีป้ายสีแดงเขียนคำอวยพรด้วยพู่กันจีน ดิฉันเสียดายว่าน่าจะเรียนการเขียนพู่กันจีนจากท่าน แต่ไม่ได้เรียน เพราะมัวแต่ทุ่มเทกับการเรียนแพทย์ งานศิลปะถูกดูดเวลาไปหมดเลย เพราะเป็นแพทย์งานหนักมาก ดิฉันรู้สึกว่ามันเหนื่อยและหนักจริง ๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าไม่อยากจะให้ผู้หญิงเรียนแพทย์และดิฉันค่อนข้างจะอ่อนไหวง่าย จะเศร้าหมองกับการเสียชีวิตหรือความสูญเสียของผู้ป่วย ทำให้ดิฉันทำใจไม่ได้หลายวัน ส่งผลให้ดิฉันไม่สดชื่น และทำให้ทำงานศิลปะไม่ดี หากจิตใจเศร้าหมอง งานที่ออกมาก็จะดูเศร้าหมองไปด้วย จึงไม่ค่อยสนับสนุนให้ผู้ที่รักศิลปะมาเรียนแพทย์ เพราะจะถูกดูดพลังงานไปหมดเลย แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็ฝึกฝนตัวเองในเรื่องของศิลปะสีน้ำ เพราะสีน้ำในแบบที่คุณพ่อทำเป็นศิลปะสีน้ำแบบจีนเท่านั้น ดิฉันจึงมาหัดเขียนสีน้ำในแบบอังกฤษ ในแบบอเมริกัน เพราะฉะนั้นจะต้องค้นคว้าหาหนังสือมาอ่านเอง และปัจจุบันนี้มีค้นคว้าทางออนไลน์มีความสุขมาก ดิฉันสามารถที่จะชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ดิฉันพยายามที่จะไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะของทุก ๆ ประเทศที่ดิฉันได้ไป อย่างการที่ได้ไปสมิธโซเนียน (Smithsonian) ดิฉันไปทั้งหมด 10 ตึก และไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 10 วัน และ 10 วันนั้นดิฉันเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทุกวัน และตอนที่ไปอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ไปอังกฤษ หรือ ไปยุโรป สิ่งที่ชอบมากและต้องไปคงหนีไม่พ้นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
นอกจากนี้ ดิฉันยังมีกิจกรรมที่ทำกับคุณชินกร ไกรลาศ ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะบ้านอยู่ซอยถัดไปจากบ้านดิฉันเอง ท่านจะชวนไปต่างจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพื่อที่จะไปทั้งร้องเพลงและบรรยาย รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ในจังหวัด ในฐานะที่ท่านร้องเพลงในแนวลูกทุ่ง ดิฉันร้องเพลงในแนวลูกกรุง ท่านก็จะไปเล่าชีวิตของท่าน ส่วนดิฉันก็ไปเล่าชีวิตของดิฉัน เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ มีจิตนาการในการที่จะเข้ามาสนใจในงานศิลปะ โดยที่ไม่เสียการเรียน ดิฉันก็เป็นตัวอย่างที่ว่า ดิฉันทำกิจกรรมเต็มที่ งานแพทย์ดิฉันก็ทำเต็มที่ ทั้งงานราชการ และงานร้องเพลง ดิฉันก็ทำเต็มที่เหมือนกัน และทำจนไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับรางวัลต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน