แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
การทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดล
การทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลในระยะที่ดิฉันพ้นจากการเป็นนักศึกษา ต้องขวนขวาย เรียนรู้ และศึกษา ดิฉันก็มุ่งเข้าไปอยู่ที่ส่วนของมูลนิธิรามาธิบดี เพราะรู้สึกได้ว่าโรงพยาบาลรามาธิบดี ยังต้องการอะไรอีกมาก และในระหว่างนั้น ความมีชื่อเสียงทางด้านการบันเทิงของดิฉันก็มีส่วนช่วยที่จะทำให้การประชาสัมพันธ์ การระดมทุนบริจาคหรือทำให้งานวันมหิดลมีสีสันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานมหิดลของโรงพยาบาลศิริราชหรือโรงพยาบาลรามาธิบดี ดิฉันก็จะไปช่วยออกโทรทัศน์ และก็นำภาพเขียนสีน้ำที่ดิฉันวาดไปประมูลขายหรือเปิดนิทรรศการภาพเขียนสีน้ำให้กับมูลนิธิรามาธิบดีที่โรงแรมมณเฑียร หรือนำภาพเขียนสีน้ำมาทำเป็นบัตรอวยพร ซึ่งก็ขายดีมาก โฆษณาไป 2 สัปดาห์ บัตรอวยพรหลายแสนใบขายหมดเลย ซึ่งก็เป็นอานิสงส์จากเพลงเทพธิดาดอยนั่นเอง เพราะมันเป็นยุคนั้น ส่วนทางด้านโรงพยาบาลศิริราช ดิฉันพยายามเข้าไปช่วยเวลาที่มีงานวันมหิดล ต้องออกโทรทัศน์ และในที่สุดเมื่อมาถึงยุคของ ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจารย์ท่านได้สนับสนุนให้ทำทั้งเพลงและวาดรูป เพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิรามาธิบดี และสืบเนื่องมาจนถึงสมัยของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เราก็ยังทำกันต่อมาเป็น 10 ปี ทั้ง ๆ ช่วงเวลานั้นบ้านเมืองเราเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งยากมากที่จะไปขอให้ใครมาบริจาคให้มูลนิธิอย่างนี้ แต่เราก็ยังขายซีดีเพลง ชุด “ร้อยเพลงรักเพื่อมูลนิธิรามาธิบดี” ซึ่งได้ลิขสิทธิ์มาจากศิลปินแห่งชาติ จำนวน 100 เพลง ปัจจุบันยังทำไม่หมด พึ่งทำออกมาได้ 10 เพลง และ 10 เพลงนี้ ขายมา 10 ปี ได้เงินมา 2 ล้านบาทด้วยความยากเย็น ตอนนั้นดิฉันรู้สึกหดหู่มาก แต่มันก็ผ่านมาได้ เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ จึงได้นำเพลงของอาจารย์หมอวราห์มาทำเป็นคอนเสิร์ตกับวง Thailand Philharmonic Orchestra ของรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข
แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ ต้อนรับ นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เป็นประธานเปิดงานภาพเขียนสีน้ำ มอบให้มูลนิธิรามาธิบดี
ผลงานภาพเขียนสีน้ำ
ก่อนที่อาจารย์สุกรีจะเกษียณ อาจารย์สุกรีก็ยังพูดว่าเสียดายที่ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ที่พวกเราอยากจะทำมันไปไม่ได้เท่าไร เพราะว่างบประมาณมีจำกัด และก็หลัก ๆ ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ดนตรีต้องมาก่อน ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ก็เป็นตัวเสริม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ดิฉันได้มาใช้กับผู้ป่วย มันใช้ได้จริง และก็ใช้ได้ลงไปจนถึงพวกภาควิชาจิตเวช ตอนนี้ก็เลยมาร่วมมือกับแพทย์ทางด้านจิตเวช เพื่อจะใช้ Art และ Music เข้าไปแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือว่าในระหว่างครอบครัว ซึ่งดิฉันก็เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ และคิดว่าดิฉันได้ใช้ในการเวชปฏิบัติจริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงการทำวิจัย ซึ่งดิฉันอาจจะไม่มีทางทำวิจัยได้อีก เพราะว่าไม่ได้อยู่ในระบบราชการแล้ว แต่ว่าทุกวันนี้ดิฉันเห็นความสำคัญของ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เพราะว่าจะเห็นได้ชัดเลยว่านักร้อง หรือ ผู้ที่ทำงานศิลปะเหล่านี้ จะมีจิตใจอ่อนโยนและมีสุขภาพดี จะมีลักษณะที่เยาว์วัยกว่าอายุ ก็ซึ่งแทบจะสังเกตเห็นได้ และอายุยืนกัน แต่พวกที่อายุไม่ยืนส่วนใหญ่จะมีปัญหาอื่น เช่น อาจจะติดเหล้า ติดบุหรี่ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเรื่องของการใช้ดนตรีบำบัด เพื่อมาทำให้คุณภาพชีวิตและปรับปรุงบุคลิกภาพของเราให้ดีขึ้น หลังจากนั้นดิฉันก็ยังเดินสายให้ความรู้เรื่องของการฝึกร้องเพลงเพื่อสุขภาพ การฝึกร้องเพลงเพื่อชะลอวัย การฝึกร้องเพลงเพื่อแก้ไขการพูด การออกเสียง การฝึกร้องเพลงเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพ เพราะว่าบุคลิกภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ เวลาที่เราเรียนหนังสือมาด้วยกัน ความรู้เราอาจจะพอ ๆ กัน แต่ทำไมบางคนไปได้ไกลกว่า รับสมัครงานที่ไหนก็ได้ก่อน ทำกิจการอะไรก็ดูจะราบรื่น เพราะว่าเขามีบุคลิกภาพที่ตรงกับความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่อยากจะเห็น การที่เราจะเข้าสังคมได้ เราจะต้องเข้าใจสังคมในบริบทที่สังคมอยากจะเห็นเราเป็นอย่างไร เพราะเราไม่สามารถที่จะเป็นแพทย์แล้วไปแต่งตัวอะไรก็ได้ แบบนั้นทำไม่ได้
ยกตัวอย่างตอนที่ดิฉันไปประชุมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ประเทศนิวซีแลนด์ และได้พบกับ Patch Adams ในการประชุม ซึ่งเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวชาวอเมริกัน เขาจะแต่งตัวเหมือนตัวตลก คือ ใส่เสื้อสีรุ้ง กางเกงสีรุ้ง ย้อมผมสีรุ้ง เคราเป็นสีรุ้ง ทุกอย่างเป็นสีรุ้งหมด แม้กระทั้งกระเป๋า แต่แพทย์ท่านนี้เป็นข้อยกเว้น เราจะเป็นแพทย์แบบนั้นทุกคนไม่ได้ เพราะว่าเขาดังแล้วจึงทำได้ ก็คล้าย ๆ กับแพทย์หลายท่านที่ดังแล้วจึงได้ทำ ซึ่งบุคลิกก็จะไม่เหมือนกับแพทย์ทั่วไป
ดิฉันก็ได้เดินสายเข้าไปอบรมบุคลิกภาพกับนักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะจบออกไปเป็นแพทย์ ซึ่งความจริงแล้ว ความรู้พวกนี้ พวกเราก็รู้กันอยู่ เพียงแต่ว่าอยากจะให้บรรจุเข้าไปเป็น วิชาเลือก หรือ ช่วยนักศึกษาแพทย์ ในการพัฒนาบุคลิกภาพ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องติดต่อกับผู้ป่วย เหมือนกับนักการทูต หรือ ผู้พิพากษายังต้องมีการอบรมบุคลิกภาพก่อนออกไปประกอบอาชีพ เพราะเป็นอาชีพที่มีภาพลักษณ์และมีหน้าตาขององค์กรใหญ่ที่จะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้ผู้พิพากษาหรือนักการทูตหรือแพทย์ทำอะไรก็ได้ตามใจตัว และจะให้ผู้ป่วยยอมรับ เราจะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้คงความน่าเชื่อถือ ความเคารพในวิชาชีพ มันเป็นความจำเป็น เหมือนกับเครื่องแบบที่จะต้องใส่ขึ้นไปรับพระราชทานปริญญา ต้องใส่ชุดรับพระราชทานปริญญา จะเป็นนักบวชก็ต้องแต่งตัวให้เป็นนักบวช จะเป็นแพทย์ก็ต้องแต่งตัวให้เป็นแพทย์ เป็นผู้พิพากษา เป็นนักการทูต เป็นเอกอัครราชทูตจะทำตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะเราทำอาชีพของเราในนามขององค์กรไม่ใช่ในนามส่วนตัว ชีวิตส่วนตัวก็เรื่องหนึ่ง แต่ชีวิตที่เราทำงานกับองค์กร เราจะต้องคำนึงถึงเกียรติ ศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือขององค์กรทั้งหมด และดำรงไว้ให้คงอยู่ ดิฉันเคยได้ยินอาจารย์แพทย์พูดว่า “...ขอให้เราระลึกเสมอว่า เราทำงานเป็นแพทย์ทำงานต่อหน้าผู้คน ผู้คนเคารพให้เกียรติเรา ไม่ใช่ว่าเคารพและให้เกียรติตัวตนที่เป็นตัวเรา แต่เคารพองค์กรของเรา เพราะว่าบรรพบุรุษแพทย์ของเรา ได้ทำตัวอย่างดี ทำตัวอยู่ในขนบที่ควร ที่คนทั่วไปจะให้ความเคารพนับถือและเชื่อถือมาเป็นเวลายาวนานเป็น 100 ปี เราจึงยังมีคนที่ให้ความเคารพ เชื่อถือในวิชาชีพของเราอยู่ แต่ถ้ารุ่นของเรามาทำเสีย เสียไปจากที่บรรพบุรุษแพทย์ของเราได้ทำดีมาตลอดจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะต่อไปนี้จะหาใครมาเคารพเชื่อถือวิชาชีพนี้ได้อีกเล่า...” เพราะฉะนั้นเมื่อคุณป้า คุณน้า คุณตา คุณปู่ มายกมือไหว้เราในขณะที่เราเป็นเพียงแพทย์ตัวเล็ก ๆ อายุน้อย ๆ ไม่ใช่เขาไหว้ตัวตนของเรา แต่เขาไหว้อาชีพเรา เพราะฉะนั้นให้สำนึกสิ่งนี้ไว้และก็รักษาความเป็นระเบียบแบบแผนที่ดีงามของวิชาชีพของเราตลอดไป