แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (จากการเป็นแพทย์ สู่การเป็นนักร้องมืออาชีพ)

แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

จากการเป็นแพทย์ สู่การเป็นนักร้องมืออาชีพ

        การที่ดิฉันร้องเพลงในห้องสมุด ทำให้เราได้พบกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล จนกระทั่งในที่สุดอาจารย์หมอพูนพิศก็มาทักตอนเดินสวนกันในโรงพยาบาล อาจารย์บอกว่า “...นี่เธอไปออกทีวีกันไหม...” อาจารย์บอกไปหาชุดมา ตอนนั้นชุดก็ไม่ค่อยมี แต่งหน้าก็ไม่เป็น ผมก็หวีไม่เป็น อะไรก็ไม่เป็นสักอย่าง เราก็ไปกันแบบหน้าโล้น ๆ อย่างนั้น ตอนนั้นการไปครั้งแรกชุดก็ไปยืมคนอื่นมา อาจารย์บอกว่า “...เดี๋ยวเอารถมารับ...” เพราะไปเองก็ไม่เป็น ตอนนั้นช่อง 4 บางขุนพรหมยังอยู่ อาจารย์หมอพูนพิศให้ไปร้องเพลง ดิฉันบอก “...อย่าพึ่งร้องได้ไหม ขอดูก่อน...” ตื่นเต้นมาก เมื่อสมัยนั้นไม่มีการอัดเทป เพราะเป็นรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และรายการที่อาจารย์ทำจะเป็นรายการสุดท้ายของวันนั้น ออกอากาศเวลา 23.00 น. ถึง 24.00 น. เป็นเพลงไทยสากล และมีเพลงไทยเดิมบ้าง ซึ่งอยู่กับวงสังคีตประยุกต์ คือ มีทั้งระนาด มีทั้งเครื่องดนตรีฝรั่งปนกัน และคุณกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นพิธีกร เสน่ห์ของรายการถ่ายทอดสดในสมัยนั้นคือ การโฆษณาสินค้ากันแบบสด ๆ ในรายการ ยกตัวอย่าง การโฆษณาสินค้า เวลลอย (Veloil) พิธีกรก็จะพูดสโกแกนสินค้า “...เวลลอย (VELOIL) ลื่นเหลือล้น ทนเหลือหลาย...” พร้อมทั้งโชว์ผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นกันในรายการ

        ย้อนกลับมาเรื่องการร้องเพลง ในขณะนั้นดิฉันยังไม่ใช่เป็นนักร้องที่คนทั่วไปรู้จัก ถึงอาจารย์หมอพูนพิศจะไว้ใจ แต่คนในวงการไม่รู้จักดิฉันเลยว่า ดิฉันคือใคร ตอนนั้นอาจารย์จะให้ไปถึงที่สถานีตั้งแต่ 20.00 น. และวงดนตรีกำลังตั้งเครื่องจะซ้อมกัน ด้วยความที่นักดนตรีมาจากหลาย ๆ วงมาผสมกัน ฉะนั้นนักดนตรีจึงยังไม่เคยซ้อมด้วยกันเลย และยังไม่เคยซ้อมกับนักร้องที่จะมาร้องเพลงด้วย ทำให้นักดนตรีค่อนข้างหวั่นไหวมากว่าจะทำอย่างไร ถ้านักร้องร้องเพลงขึ้นมาแล้ว นักดนตรีเล่นดนตรีต่อไม่ได้ อาจารย์หมอพูนพิศเลยบอกว่า “...เอาพันทิวาซ้อมแทนทุกเพลงเธอร้องได้หมด ของนักร้องทุกคน คุณจะบอกมาเพลงไหนเขาร้องได้หมดไม่ต้องมีเนื้อเลย...” ดิฉันจึงกลายเป็นตัวซ้อมให้กับวงดนตรี ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายร้องได้หมด เพลงคู่ก็ร้องหมดเลยคนเดียว จึงกลายเป็นการ exercise ตัวเอง และ exercise ให้เข้ากับดนตรีด้วย และช่วยลดความตื่นเต้นของดิฉันด้วย และในที่สุด วันไหนที่นักร้องตัวจริงมาไม่ทัน ในเมื่อดิฉันได้ซ้อมกับนักดนตรีแล้ว ดิฉันจึงได้ขึ้นไปร้องเพลงแทนนักร้องตัวจริง ด้วยความที่รายการเป็นการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และนักร้องอาชีพส่วนใหญ่จะรับงานค่อนข้างเยอะ สมัยนั้นยังมีไนต์คลับอย่าง โลลิต้า ซูซี่หว่อง แถวราชดำเนิน นักร้องอาชีพจะรับงานอยู่แถว ๆ นั้น ทำให้มาเข้ารายการไม่ทัน จึงทำให้ดิฉันได้เริ่มร้องเพลงในรายการโทรทัศน์ พอหนัก ๆ เข้า ดิฉันชักจะเป็นตัวหลักแล้ว คือ เพลงส่วนใหญ่ในรายการเป็นเพลงดิฉันร้องทั้งนั้น และบางครั้งอาจารย์หมอพูนพิศบอก “...เอาเพลงนี้นะแทรกเข้าไป เผื่อเขาไม่มา เธอร้องเพลงนี้เลย...” เพราะทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายมาก จนกลายเป็นว่า ร้องทุกเดือน ๆ จนคนจำได้ และเริ่มมีคนที่โทรศัพท์เข้ามา สมัยนั้นไม่มีออนไลน์ จะมีโทรศัพท์อย่างเดียว โทรศัพท์บ้านด้วยไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี โทรมาให้กำลังใจดิฉัน เพราะว่าเพลงที่ดิฉันร้องส่วนใหญ่จะเป็นเพลงของท่าน

ร้องเพลงกับ ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล เปียโน โดยคุณศิลปี ตราโมท พ.ศ. 2520 ณ ช่อง 5

ร้องเพลง ช่อง 4 บางขุนพรหม พ.ศ. 2519 - 2520

ร้องเพลงเต่าเห่ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2520

        ต่อมาคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน โทรศัพท์มาหาอาจารย์หมอพูนพิศว่าจะมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วท่านก็มาจริง ๆ มาถึง 2 ครั้ง เพื่อมาตามหาตัวดิฉัน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีแพ็คลิงค์ ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือจึงตามหาดิฉันไม่พบ เพราะถ้าดิฉันออกไปจากแผนกตาแล้ว ก็จะไม่ทราบว่าดิฉันไปอยู่ที่ไหน อาจจะกลับไปหอหรือไปเข้าห้องน้ำหรือไปเข้าห้องสมุดก็ได้ ปรากฏว่าคุณครูเอื้อมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 2 ครั้ง นั่งรออยู่ที่ห้องอาจารย์หมอพูนพิศเป็นชั่วโมง ตามหาตัวดิฉันไม่ได้ และผู้ที่เป็นพยานเรื่องนี้ว่าอาจารย์หมอพูนพิศไม่ได้พูดเล่นก็คือ คุณพูลสุข สุริยพงษ์รังษี หรือ พี่ดำ ซึ่งเป็นหลานตาของครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นคนขับรถพาครูเอื้อมา ซึ่งปัจจุบันนี้ท่านก็เป็นหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ในยุคของลูกหลาน พี่ดำบอกว่า “...จริง ๆ นะ คุณตาเอื้อ ให้พี่ดำขับรถมาจริง ๆ 2 ครั้ง แล้วก็คุณหมอพูนพิศตามหาหมอพันทิวาไม่ได้...” ดิฉันไม่ทราบว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าดิฉันทราบดิฉันคงกรี๊ด และคงจะรีบไปหาท่าน แทนที่จะให้ท่านมาหาดิฉัน เพราะบ้านท่านก็อยู่ใกล้ ๆ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และไม่ไกลจากโรงพยาบาลรามาธิบดีมากนัก แต่ดิฉันไม่ทราบจริง ๆ เพราะว่าอาจารย์หมอพูนพิศเล่น 20 คำถามกับดิฉัน คืออาจารย์บอกว่า “...นี่นะเธอ...มีคนเขามาสนใจเธอ...เธอมีความสามารถนะ....เขามาอยากจะให้เธอทำนั่น ทำนี่...” ดิฉันก็ถามว่า “...ใครหรอค่ะอาจารย์...” อาจารย์ก็ไม่ยอมบอก “...ให้เธอถามมา 20 คำถาม...” ตอนนั้นดิฉันก็ยังไม่ทราบ

        ดิฉันมาทราบว่าท่านมาตามหาดิฉันตอนที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเสียดายมาก ตอนนั้นก็ถามพี่ดำว่า “...คุณตาเอื้อมา จะให้ทำอะไรหรอค่ะ...” พี่ดำบอกว่า “...จะให้เธออัดแผ่นเสียงนะซิ เพราะว่ามีเพลงสุนทราภรณ์ที่แต่งไว้ ยังไม่ได้อัดเยอะแยะนะ มันอยู่ในแผ่นครั่งเท่านั้น มันยังไม่ได้เป็นแผ่นเสียงจริง ๆ...” ซึ่งคุณมัณฑนา โมรากุล มาเลิกร้องไป และคุณบุษยา รังสี ก็มาเลิกร้องไป เพราะการแต่งงาน ก็จะหาคนที่เสียงระดับที่ใกล้เคียง และก็จะมาฝึกต่อ กว่าจะหาเจอนี่หละ แต่ก็มาหาไม่เจอกันสักที เสียดายโอกาส แต่ไม่เป็นไร เพราะว่าหลังจากคุณครูเอื้อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไปนำเพลงเก่ามาร้องกัน เป็นเพลงที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่เอาเพลงสุนทราภรณ์ที่ยังไม่เคยมีใครร้อง ไม่เคยมีใครได้ยินมาร้อง คุณมัณฑนาได้ร้องอัดแผ่นครั่งไว้ คือ “เพลงธรรมชาติกล่อมขวัญ” เป็นเพลงที่ใช้ดนตรีเป็นวงดนตรีออร์เคสตรา (orchestra) อลังการยิ่งใหญ่มาก ต้องฝึกร้องในลักษณะที่เป็นเหมือนเพลงคลาสสิคฝรั่ง ซึ่งนาน ๆ จะมีเพลงไทยลักษณะนี้มาให้ร้องกันทีหนึ่ง พอร้องไปครั้งแรก อาจารย์หมอพูนพิศให้กำลังใจมาก บอกว่า “...เธอต้องทำได้ซิ...” เสียงมันสูงก็สูงมาก ต่ำก็ต่ำมาก คำถี่ก็ถี่มาก คำยาวก็ยาวมาก คือสุด ๆ ไปเลยในทุก ๆ เรื่องราว ตอนนั้นเครียดมาก จะต้องไปยืนร้องต่อหน้า คุณมัณฑนา โมรากุล ตอนที่ท่านอายุ 80 ปี ซึ่งอาจารย์หมอพูนพิศก็นั่งอยู่ด้วยแล้วก็บอกว่า “...เธอต้องทำได้ เพราะว่าเธอชอบมัณฑนาไม่ใช่หรอ เธอต้องทำได้นี่ แบบไอดอลมานั่งฟังเลยนะ...” ดิฉันร้องที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่นั้น เพลงนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของดิฉันไปด้วย ปัจจุบันมีนักร้องนำเพลงธรรมชาติกล่อมขวัญไปร้องมากมาย แต่พันทิวาเป็นคนแรกที่ร้องเพลงนี้ออกสื่อ

        ตอนที่อยู่ในโรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์หมอวราห์ หรือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ (หมอวราห์ วรเวช นามปากกาในการแต่งเพลง) ดิฉันได้พบปะกับท่านอยู่เป็นประจำ เพราะท่านต้องสอนดิฉันในเรื่องของสูติศาสตร์ แต่ดิฉันอยากจะมีโอกาสได้ร้องเพลงของอาจารย์มากเลย แต่รู้สึกว่าสุดเอื้อม เพราะว่าอาจารย์กำลังดังมากตอนนั้น เพลงของอาจารย์ทั้งแผ่นเสียงทองคำก็รับมาแล้ว ทั้งนักร้องดังในยุคนั้น เช่น คุณศรวณี โพธิเทศ กำลังโด่งดังในเพลงพะวงรัก เพลงของอาจารย์แบบสุด ๆ ไปเลยยอดเยี่ยมทั้งนั้นเลย ดิฉันคงจะหาโอกาสที่จะร้องเพลงของอาจารย์ได้ยาก แต่ก็มีกองเชียร์เยอะ เพราะว่าคนในโรงพยาบาลรามาธิบดีจะไปบอกอาจารย์ว่า “...ไปเอาหมอพันทิวามาอัดเพลงเร็ว ๆ เข้า...” พอมีงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ดิฉันจะได้ร้องเพลง โดยความอนุเคราะห์ของอาจารย์หมอพูนพิศ อาจารย์หมอพูนพิศจะต้องให้พันทิวาร้องเพลงทุกครั้งไป มีอยู่ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการลงหนังสือพิมพ์ครั้งแรกที่กล่าวถึงดิฉัน เป็นงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้เชิญคุณนภา หวังในธรรม เชิญนักร้องของช่อง 4 บางขุนพรหมมาหลายท่าน ในงานนั้น ดิฉันร้องเพลงพระราชนิพนธ์ลมหนาว และมีครูสังข์ อสัตถวาสี มาสีไวโอลินให้ ซึ่งในการร้องครั้งนั้นจะมีหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ลงข่าวว่า “...วันนั้น คุณนภา หวังในธรรม ร้องยอดเยี่ยม นักร้องต่าง ๆ ที่เชิญมาล้วนเป็นนักร้องระดับแถวหน้าของเมืองไทยทั้งสิ้น แต่ที่ Amazing แปลกใจมากก็คือ พันทิวา สินรัชตานันท์ เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีแต่ร้องเพลงเหมือนมืออาชีพ ซึ่งไม่นึกเลยว่าจะเป็นแพทย์ที่ร้องเพลงได้ขนาดนี้...” นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ได้ลงหนังสือพิมพ์ ดิฉันก็ปลื้มมาก อาจารย์หมอพูนพิศก็บอกว่า “...นี่เธอ เธอได้ลงหนังสือพิมพ์แล้ว...” และหลังจากนั้นก็จะมีผู้ที่ติดตามเพลงช่อง 4 บางขุนพรหมในทุก ๆ เดือนจะเขียนจดหมายมาเป็นตั้งเลย แต่ผู้ที่ติดตามเหล่านั้นไม่รู้ว่าดิฉันชื่ออะไร ผู้ที่ติดตามจะเรียกดิฉันว่า “คุณหมอดอกมะลิ” เพราะว่าดิฉันติดกิ๊บไว้ที่ผมหนึ่งอัน และกิ๊บติดผมอันนั้นมีดอกมะลิเล็ก ๆ อยู่ ก็เลยได้ชื่อคุณหมอดอกมะลิมา

ข่าวหนังสือพิมพ์ กล่าวถึงแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ เป็นครั้งแรก จากการร้องเพลงในงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี

        วันหนึ่งอาจารย์หมอวราห์โทรศัพท์มาหาดิฉันที่บ้าน บอกว่า “...นี่มีเพลงจะให้ร้องหนึ่งเพลงนะ แค่หนึ่งเพลงเท่านั้น แต่ไม่ใช่อัดแผ่นเสียงนะ มันเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาดอย เธอลองมาร้องดูสิ...” โอ้!!! ตื่นเต้นมากเลย อาจารย์บอกว่า “...แต่ไม่ใช่มาร้องเลยนะ ฝึกกันหนึ่งเดือนก่อน เราจะฝึกกัน 1 ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน แต่เธอไม่ต้องมาพบ ให้ฝึกกันทางโทรศัพท์...” สมัยนั้นดิฉันก็รับราชการ ทำงานเต็มเวลาราชการ พอเลิกงานจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ตอนเย็นไปทำคลินิกกับพี่ชายชลธิศ ดิฉันผ่าตัดตาสองชั้น พี่ชายก็ผ่าตัดเสริมจมูก กว่าจะเลิกก็ประมาณ 22.00 น. หรือ เลิกงานอย่างเร็วก็ 21.00 น. และทานอาหารเสร็จดิฉันจึงกลับบ้าน อาจารย์หมอวราห์บอกว่า “...อาบน้ำเสร็จโทรมาเลย...” ร้องเพลงเทพธิดาดอยตามเดโม (Demo) ที่ให้มา และก็ร้องให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็แก้ทีละคำเลย ตั้งแต่คำแรกยันคำสุดท้าย ทุกเอื้อน ทุกอักขระ ทุกอารมณ์ เป็นเวลา 1 เดือน เหมือนเข้าเรียนหัดร้อง โดยละเอียดทุกขั้นตอน

        เมื่อครบ 1 เดือนดิฉันจึงไปห้องอัดเสียง อาจารย์หมอวราห์จะพูดอยู่เสมอว่า “...เธอจะต้องทำให้ เพลงนี้ไม่ว่าใครจะร้อง ก็มาลบรอยของเธอไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรทำให้สุด ๆ ไปเลย ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรทั้งนั้น เราทำเต็มที่ในวันนี้แล้ว เราจะได้ภูมิใจไปอีก สี่ห้าสิบปี...” อาจารย์บอกอย่างนั้น ตอนนั้นดิฉันก็ตื่นเต้นมาก ๆ เข้าห้องอัดตั้งแต่ 08.00 น. จนถึง 20.00 น. ร้องแล้ว ร้องอีกอยู่คนเดียว แต่ในที่สุดร้องไปไม่รู้กี่สิบรอบ อาจารย์เลือกเอารอบแรก เพราะหลัง ๆ มันชักจะไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อย วันนั้นก็จำได้แม่น เพราะว่ามันเป็นเดือนวันเกิดของคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ นางเอกของเรื่องเทพธิดาดอย อาจารย์ก็บอก “...เสร็จตรงนี้จะเอาต้นฉบับไปให้เขาฟังกันที่งานวันเกิดคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์...” ซึ่งจัดที่สีลมภัตตาคาร จำได้ว่าตอนนั้นคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ อายุน่าจะประมาณ 16 ปี หรือ 18 ปียังตัวเล็ก ๆ น่ารักอยู่เลย เจอคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ครั้งนั้นแล้วก็ไปเจออีกที่ LA

ภาพจากหนังสือพิมพ์ กล่าวถึงความดังของเพลงเทพธิดาดอย ตั้งภาพยนตร์ยังไม่ฉาย

        เมื่อเสร็จจากวันนั้น อาจารย์หมอวราห์นำเพลงนี้ไปให้คุณเจริญชัย หวังอารยธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของห้างแผ่นเสียงจักรวาล แผ่นเสียงและเทป อาจารย์หมอบอกว่า “...ช่วยกันฟังซิ แล้วติซิตรงไหนไม่ดีจะได้ไปแก้...” ให้ฟังหลาย ๆ คน เพลงนี้จะต้องไม่มีที่ติเลย คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานของเพลงเทพธิดาดอย ซึ่งยอดเยี่ยมมาก เพราะว่าเพลงต้นฉบับเป็นเพลงจีนดนตรีแทบไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงเพลงพื้นบ้าน บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น ตอนที่อาจารย์หมอวราห์ใส่เนื้อร้องเข้าไป ดิฉันก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่มีอะไรเด่น แต่พอดนตรีมาเท่านั้น อารมณ์ของเทือกเขาอัลไตหรืออะไรมาเป็นเทือก ๆ เลย คุณพิมพ์ปฏิภาณสามารถสร้างบรรยากาศและสร้างอารมณ์มาจากเครื่องดนตรีเรียกว่า ออร์เคสตรา (orchestra) ทั้งวงเลย ดนตรีใส่มาไม่อั้นเลย โดยมีคุณแดง จิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร ให้ทุนมาเต็มที่เลย สมัยนั้นทำเพลง 500 บาทก็ทำได้ แต่อันนี้หมดไป 2,000 - 3,000 บาท ซึ่งก็นับว่าแพงมากสำหรับสมัยนั้น แต่ดิฉันคิดว่ามันน่าจะมากกว่านั้น

        เมื่อเพลงออกมา คุณเจริญชัยก็บอกว่า “...เพลงนี้ขายได้ เอาเพลงอื่นมาให้เขาร้องอีกให้ครบ 10 เพลง แล้วก็ออกแผ่นเสียงเลย...” อาจารย์หมอวราห์ก็เลยโทรมาบอกว่า “...เอาเพลงไปร้องอีก...” ท่านก็คัดแต่เพลงที่เป็นเพลงธรรมชาติทั้งนั้นเลย เพลงเพลินชมหาด เกลียดฝนไปใย อะไรที่เกี่ยวกับธรรมชาติทั้งสิ้น แล้วก็เพลงที่ทำชื่อให้เป็นอันดับ 2 ก็คือ บึงน้ำฟ้า” ทั้ง ๆ ที่บึงน้ำฟ้าถูกร้องมาแล้วถึง 2 ครั้ง จากคุณมัณฑนา โมรากุล และคุณบุษยา รังสี และดิฉันเป็นคนที่ 3 ที่ร้องเพลงบึงน้ำฟ้า เพราะสไตล์การร้องไม่เหมือนกัน แต่ว่าดิฉันจะใกล้เคียงไปทางคุณบุษยามากกว่า แต่ว่าวิธีลากเสียงไม่เหมือนกัน เมื่อออกแผ่นเสียงมา ภาพยนตร์ยังถ่ายทำไม่เสร็จ เพลงออกมาก่อนเพลงดังไปแล้ว

        สมัยนั้นการเปิดเพลง เปิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือ นักจัดรายการเปิดเพราะมีคนขอเพลง เปิดครั้งแรกแล้วมีคนขออีก ๆ ก็จะกลายเป็นเพลงฮิตไป แต่ยุคหลัง ๆ เป็นการจ้างเปิด คือ ถ้าไม่ให้เงินไม่เปิด เพราะฉะนั้นมันไม่เหมือนกัน ความฮิตในลักษณะของโบราณนั้น คือ ฮิตจริง ๆ แต่ความฮิตในลักษณะปัจจุบันหรือยุคหลังที่ใช้เงินเป็นสื่อก็คือ ไม่มีเงินก็ไม่เปิด ถึงเพลงจะดีแค่ไหนก็ไม่เปิด ถึงเพลงไม่ดีก็จะเปิด เพราะว่าเขาให้เงินมาจ้างเปิด รวมทั้งการไปออกโทรทัศน์ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนนี้ถ้าเพลงดังแล้ว โทรทัศน์จะเชิญศิลปินไปออก และโทรทัศน์จะจ่ายค่าตัวของนักร้อง แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า นักร้องต้องไปจ่ายให้โทรทัศน์ถ้าอยากจะไปออกรายการ เพราะฉะนั้นมันกลับตาลปัตรกัน ความดังของนักร้องในยุคก่อน คือ เป็นความมีชื่อเสียงอย่างแท้จริง มาจากผู้ฟังเหมือนโหวตเข้ามาให้เปิดอีก ๆ จนรู้กันไปทั่วทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันนี้พอไม่มีเงินจะอัดแล้ว ก็ไม่มีใครเปิดจึงเงียบไปหมดทุกเพลง จนไม่มีเพลงอมตะอีกแล้ว อมตะไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจะอัดเข้าไปอีก และยุคสมัยเปลี่ยนไปมากเป็นขายซีดีก็ยังไม่ได้เลย จากแผ่นเสียงกลายมาเป็นเทปคาสเซ็ท แล้วก็กลายมาเป็นซีดี และจากดีวีดีก็หายสาบสูญมาเป็นยูทูป (Youtube) เพราะฉะนั้นธุรกิจบันเทิงมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่านักร้องไม่ได้รายได้จากการขายแผ่นเสียง เทป หรือ ซีดีแล้ว ต้องแสดงสดเท่านั้น มันก็เลยเหนื่อยมาก ตอนนี้จะว่าดีก็ดี ไม่ดีก็ได้ มีทั้งข้อดีข้อเสีย

        สำหรับเรื่องราวในวัยเด็กจนถึงการได้มาพบกับผู้ที่มีพระคุณต่อดิฉันในแวดวงของการบันเทิงก็คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล และ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ ก็ยังสืบต่อมาอีก จนกระทั่งดิฉันได้มีผลงานต่าง ๆ อาจารย์ทั้ง 2 ท่านก็ยังเป็นกำลังใจและเป็นคุณครูที่มีแต่ให้ ให้ทั้งกำลังใจ ให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งข้อคิดในการดำเนินชีวิตในแวดวงของการบันเทิง เพราะว่ามันเป็นเรื่องยากที่ดิฉันไม่ได้เกิดมาสำหรับที่จะมีอาชีพทางด้านบันเทิง แต่ในที่สุดมันกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งของดิฉันไปแล้ว การเรียนในมหาวิทยาลัยของดิฉัน ดิฉันก็ทุ่มเทไปกับการเรียนจริง ๆ จนกระทั่งดิฉันได้ร้องเพลงบ้างนิดหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็เป็นความประทับใจที่เพื่อน ๆ ยังพูดถึงอยู่เสมอเมื่อเปิดเพลงเหล่านี้ขึ้นมา

        การที่ดิฉันเป็นทั้งชาวมหิดล เป็นทั้งชาวเชียงใหม่ เป็นทั้งชาวธรรมศาสตร์ เป็นศิษย์หลายสถาบัน ดิฉันจึงได้มีโอกาสเป็นผู้ขับร้องเพลงประจำสถาบันเยอะมาก เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขับร้องเพลง ชุดธรรมศาสตร์ 50 ปี ได้รับรางวัลชนะเลิศเพลง โดมเริงใจ และรองชนะเลิศเพลง เลือดธรรมศาสตร์ไม่จาง และร้องเพลงอีกหลายเพลงในยุคของธรรมศาสตร์ 50 ปี หลังจากนั้นก็มาร้องเพลง ของมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งชุด เพลงของโรงพยาบาลรามาธิบดีทั้งชุด เพลงของโรงพยาบาลศิริราชทั้งชุด เพลงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งชุด มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ทั้งชุด แต่มีเพลงที่ดิฉันแต่งด้วย คือ เพลงปณิธานรามฯ เพลงมหาวิทยาลัยบูรพา และอีกหลายมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังแต่งเพลงให้กับกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน แต่งเป็นภาษาอังกฤษ ดนตรีของคุณชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร แม้กระทั่งเพลงโรงเรียนดิฉันก็ร้อง ครั้งหนึ่งคุณปราจีน ทรงเผ่า บอกกับดิฉันว่า “...เสียงดิฉัน เหมาะที่จะร้องเพลงโรงเรียนอนุบาล...”  จึงได้ร้องเพลงประจำโรงเรียนมากพอสมควร แม้กระทั่งเพลงประจำจังหวัดดิฉันก็ได้ร้อง เช่น เพลงประจำจังหวัดสงขลา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศหรือชนะเลิศไม่แน่ใจนะคะ ในตอนนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานจัดทำเพลงประจำจังหวัดสงขลา เพลงประจำจังหวัดชลบุรี พูดถึงอำเภอแต่ละอำเภอ เช่น เพลงอ่างหิน เพลงประจำจังหวัดตาก เพลงทะเลสาปแม่ปิง ซึ่งหมายถึงเขื่อนภูมิพล และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ดิฉันได้ไปร้องเพลงให้

        นอกจากจะเป็นนักร้อง ดิฉันยังไปทำหน้าที่อื่นอีก เช่น ในระหว่างที่อยู่กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทจะให้ศิลปินได้ใช้ความสามารถด้านอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่าง การเป็นพิธีกรในรายการโทรทัศน์ เช่น รายการยิ้มใส่ไข่ เพลงติดดาว และยังมีการจัดรายการวิทยุกับสำนักข่าว I.N.N. (Independent News Network) ชื่อรายการ “สะพานความคิด” รูปแบบรายการเป็นการพูดคุยสาระน่ารู้ตลอดเวลา 2 ชั่วโมง โดยไม่มีการเปิดเพลง ซึ่งจะจัดรายการในวันเสาร์อาทิตย์ รายการนี้ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เสียดายที่ดิฉันต้องขอถอนตัวออกมา เพราะว่าหลังจากที่บ้านเมืองประสบปัญหากับวิกฤตการเงินและการเมือง สถานีวิทยุเริ่มที่จะหารายได้ยาก ดังนั้น จึงเริ่มที่จะทำให้การสัมภาษณ์แคบลงไป เจาะจงสินค้าบางตัว ซึ่งดิฉันไม่สามารถทำได้ และในฐานะที่เป็นแพทย์ ดีใจที่ดิฉันมีหลักการของ ฮิปโพเครดิโอท (Hippocratic Oath) หรือ จรรยาแพทย์ที่ว่า “...แพทย์จะต้องไม่ทำอะไรเพื่อการค้า...” และนำไปใช้กับการทำหน้าที่ทางศิลปะ ก็คือ การเป็นทั้งศิลปินที่ร้องเพลง และจัดรายการวิทยุที่เป็นงานสื่อมวลชน การที่จะเป็นนักจัดรายการวิทยุ จะต้องไปสอบใบอนุญาตเป็นผู้จัดรายการด้วย

บัตรประจำตัวผู้ดำเนินรายการ สำนักข่าว I.N.N.

        การทำงานต่าง ๆ ดิฉันมีหลักอยู่ในใจว่าเราจะไม่ทำอะไร เพื่อการค้า ไม่ว่าจะจัดรายการวิทยุก็ไม่ใช่เพื่อการค้า การจัดรายการโทรทัศน์ การเป็นแพทย์ก็ไม่ใช่เพื่อการค้า เมื่อเปิดคลินิกดิฉันก็สนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส รักษาฟรี หรือ ไปรักษาให้ตามบ้าน หรือ ช่วยค่ารถกลับบ้าน และรวมไปถึงมีผู้ที่สนใจความมีชื่อเสียงของดิฉันในยุคหนึ่ง จะให้ไปโฆษณาสินค้า ดิฉันก็แจ้งว่าไม่สามารถจะทำได้ เพราะความเป็นแพทย์ของดิฉันมันติดตัวดิฉันอยู่ ไม่ว่าดิฉันจะไปยืนโฆษณานาฬิกาแล้วทำท่าอย่างนี้ ผู้คนก็รู้ว่าดิฉันเป็นแพทย์หรือจะไปยืนอยู่ต่อหน้ารถเก๋ง แล้วบอกว่า รถเก๋งนี้ดิฉันใช้มันก็ติดภาพความเป็นแพทย์อีก ด้วยเหตุผลนี้ เพราะว่าจรรยาแพทย์บอกว่า “...แพทย์จะต้องไม่ทำอะไรเพื่อการค้า...” และทุกครั้งที่จะทำอะไรก็จะคิดถึงองค์กรแพทย์เป็นองค์กรหลักชัยของดิฉันว่า ดิฉันจะไม่ทำอะไรที่จะทำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะของเรา ซึ่งเป็นอาชีพที่ประชาชนไว้วางใจ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346