เรืออากาศตรี นายแพทย์เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ กองศัลยกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
การก้าวเข้าสู่ชีวิต “นักศึกษาแพทยศิริราชพยาบาล”
ผมเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2544 การเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 จะต้องไปอยู่ที่วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาในสมัยนั้น (พ.ศ. 2544) ยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ครับ (พ.ศ. 2562) นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมมีโอกาสได้เป็น “เด็กหอ” รู้สึกเป็นชีวิตวัยรุ่นที่สนุกมากครับ และผมก็ยังคงเหมือนเดิมครับ ในเวลาเรียนก็เต็มที่กับการเรียน นอกเวลาเรียนก็เต็มที่กับเพื่อน ๆ ไม่ค่อยได้ทบทวนตำราสักเท่าไร ส่วนใหญ่มักจะใช้ชีวิตอยู่ในสนามกีฬา ผมยังคงชอบเล่นกีฬาในช่วงหลังเลิกเรียน และยังคงเตะฟุตบอลเป็นหลักเหมือนเดิม สมัยนั้นมีงานกีฬาของนักศึกษาแพทย์ระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ 13 สถาบัน นั่นก็คือ “กีฬา 13 เข็มสัมพันธ์” โดยจัดแข่งขันหลายประเภทกีฬา นับว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีสำหรับนักศึกษาแพทย์ ผลการแข่งขันก็เป็นเรื่องปกติครับ ได้เหรียญบ้าง ไม่ได้เหรียญบ้าง สิ่งที่มากกว่าการแพ้ชนะก็คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศ
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เกิดในช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ร่างกายผมเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ขออนุญาตเล่าย้อนไปในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์ เมื่อขึ้นปี 2 เราต้องย้ายสถานที่เรียนจากวิทยาเขตศาลายา ไปเรียนที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นผมน่าจะประมาณ ปี 2 ไม่ก็ปี 3 ผมจำได้ไม่แม่น ผมเริ่มมีอาการป่วยเป็นโรคประจำตัว ชื่อโรคว่า “Ankylosing spondylitis” (โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด) ตอนนั้นผมมีอาการปวดเกิดขึ้นที่บริเวณกระดูกสันหลัง ปวดมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ ผมไม่สามารถแต่งตัวเพื่อไปเรียนได้ ต้องรบกวนเพื่อนที่เป็นรูมเมทมาช่วยแต่งตัว ใส่เสื้อ ใส่กางเกง แม้กระทั่งเดินไปเข้าห้องเรียนก็ไม่ไหวต้องนั่งรถเข็นไปเรียน กลางคืนขณะที่นอนหลับอยู่หลาย ๆ ครั้งอาการกำเริบ จนทำให้เราตื่นขึ้นมากลางดึก และปวดจนไม่สามารถนอนหลับต่อได้ ในระยะยาวโรคนี้ สามารถทำให้ข้อกระดูกสันหลังยึดติดกัน ทำให้หลังค่อม หรืออาจทำให้กระดูกสะโพกยึดติด ทำให้การเคลื่อนไหวและการเดินมีข้อจำกัด โดยก่อนที่ข้อกระดูกจะยึดติดกัน กระดูกจะมีอาการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้เราปวดมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อุบัติการณ์ของโรคนี้พบได้น้อย และวินิจฉัยค่อนข้างยาก ผมได้ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชกับ รศ.พญ.ปวีณา เชี่ยวชาญวิศวกิจ อาจารย์ซึ่งมีพระคุณกับผมมาก ท่านช่วยวินิจฉัยโรคที่วินิจฉัยยากนี้ให้ผม ดูแลรักษาผมจนอาการดีขึ้นตามลำดับ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวของโรค ถ้าในวันนั้นไม่ได้รับการรักษาที่ถูกจุด ผมจะต้องมีภาวะทุพพลภาพทางการเคลื่อนไหวมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้อย่างมาก จึงขอใช้โอกาสนี้ขอบพระคุณอาจารย์ปวีณา ที่ช่วยดูแลรักษาผมจนกระทั่งได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีมากครับ
การรักษาโรคนี้ประกอบด้วยการรักษาหลายมิติ ทั้งในเรื่องการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายนั้นต้องเป็นประเภทกีฬาที่ไม่มีแรงปะทะ นั่นก็คือ ผมต้องเลิกเล่น “ฟุตบอล” เนื่องจากฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีการปะทะสูง ทำให้ข้อต่อยิ่งเกิดการอักเสบและทำให้ตัวโรคยิ่งทรุดหนัก นับเป็นข่าวร้ายสำหรับผมเลยทีเดียว พอผมได้ยินคำแนะนำนี้ ผมจำได้ว่าตอนนั้น ผมร้องไห้เลยครับ เพราะนอกเหนือจากการเรียนแล้ว การเล่นฟุตบอล คือ สังคมอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตผม สำหรับกีฬาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโรคนี้ คือ กีฬาว่ายน้ำ เมื่อป่วยก็ต้องรักษา ผมจึงตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลและเริ่มว่ายน้ำตามที่อาจารย์แนะนำ แต่ด้วยความที่สุขภาพของผมไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เวลาที่ผมว่ายน้ำผมมักจะเป็นหวัด เคยถึงขั้นเป็นไซนัสอักเสบและการอักเสบรุนแรงขึ้นตา จึงทำให้ผมต้องหยุดว่ายน้ำ และกลับมานั่งคิดว่า ผมยังเหลือทางเลือกอะไรให้กับตัวเองบ้าง สุดท้ายผมจึงเริ่มต้นออกมาวิ่ง
สมัยนั้นกีฬาวิ่งยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทย แต่เราวิ่งเพราะความจำเป็นจากอาการเจ็บป่วย ไม่วิ่งไม่ได้ เพราะถ้าไม่ออกกำลังกายอาการปวดจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผมจึงตัดสินใจเริ่มวิ่งช้า ๆ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระแทก และเลือกใช้รองเท้าวิ่งชนิดที่พื้นรองเท้าหนาพอสมควร เพื่อช่วยรองรับแรงกระแทก หลังจากออกวิ่งไปเรื่อย ๆ อาการเจ็บป่วยก็ค่อย ๆ บรรเทาลงเรื่อย ๆ จนไม่น่าเชื่อว่าผมจะสามารถหยุดการทำกายภาพบำบัดได้ หยุดการใช้ยาในการรักษาได้ อาการปวดหายไปเป็นปลิดทิ้งครับ แต่ก็ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่น พอเราหายปวดก็คิดว่าอาการเราดีขึ้นแล้ว เริ่มไม่ปฏิบัติตัวตามที่อาจารย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม บวกกับในมุมมองของผม ณ ตอนนั้น ผมยังรู้สึกว่ากีฬาวิ่งเป็นกีฬาที่น่าเบื่อ เมื่อต้องวิ่งคนเดียวก็ยิ่งเบื่อ ทำให้ผมหยุดวิ่งไปเฉย ๆ พอหยุดวิ่งไปสักพัก อาการปวดก็กลับมาครับ โรคนี้ถ้าเราดูแลตัวเองไม่ดี อาการปวดก็จะกลับมา และสุดท้ายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทิ้งความพิการอ่อน ๆ ไว้ให้ผม คือ ข้อต่อบางตำแหน่งในร่างกายยึดติดไปแล้ว องศาของข้อสะโพกเสียไปเป็นการถาวร และไม่สามารถที่จะใช้ข้อต่อได้เต็มองศาอีกต่อไป จากสิ่งที่เกิดขึ้นผมตัดสินใจว่าต่อไปนี้จะวิ่งทุกวัน เพื่อเราจะไม่เป็นคนพิการให้ได้ และผมต้องมีสุขภาพแข็งแรงไม่ปวด ไม่มีข้อยึดติดไปมากกว่านี้
การออกวิ่งทุกวันของผมในสมัยนั้น ผมต้องทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาแพทย์ ภาระการเรียนค่อนข้างหนัก บางวันเลิกเรียนเร็วก็ได้ไปวิ่งที่สนามกีฬา แต่บางวันลงเวรดึก เลิกเรียน 4 – 5 ทุ่ม ซึ่งเวลานั้นสนามวิ่งปิดหมดแล้ว ผมก็ยังต้องออกกำลังกาย สิ่งที่ผมทำได้คือวิ่งรอบโรงพยาบาลศิริราช ผมใช้ชีวิตแบบนี้ตลอดการเรียนแพทย์ ประคองเรื่องสุขภาพ และการเรียนแพทย์ที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปีท้าย ๆ ของการเรียนแพทย์ เราเรียนกันหนักสุด ๆ ครับ จนกระทั่งในที่สุด ผมก็สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2550
เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแพทยศาสตร์บัณฑิต