ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล (ส่งท้าย)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ มูลนิธิราชสุดา

ส่งท้าย

           ผมเปรียบเสมือนคนคนหนึ่งที่มาตัวเปล่าแล้วได้รับการแต่งตัวทีละน้อย ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทำให้ผมปฏิบัติหน้าที่ บนเสื้อผ้าอาภรณ์อันนี้ได้อย่างเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ตั้งแต่เรื่องโรคหู ตั้งแต่เรื่องโรคของคนพิการแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องของเด็กหูหนวกเป็นใบ้ มาจนกระทั่งถึงวิชาดนตรีที่ผมชอบ ซึ่งผมไม่ได้มีโอกาสเข้าเรียนโรงเรียนดนตรีเลย แต่ผมฝึกฝนตัวเองมาโดยตลอด สามารถเขียนตำราเกี่ยวกับดนตรีได้เป็นที่เรียบร้อย สอนได้เป็นกิจจะลักษณะ และก็ปรากฏผลงานจนกระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็น ศาสตราจารย์ทางดนตรี ผมไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ทางแพทย์ ผมได้รับเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาทางดนตรี เพราะฉะนั้นผมแน่นจริง ๆ ถ้าผมไม่แน่น ผมคงไม่ได้เหรียญอันนี้แน่ ซึ่งแสดงว่า สิ่งที่พ่อผมสอนเอาไว้ ผมได้ปฏิบัติแล้ว “...รู้อะไร ไม่จำเป็นต้องรู้มาก รู้ให้ลึก รู้ให้แน่น ให้รู้จริง เขียนตำราไว้ แล้วสอนคนได้ ทำอะไรไม่ต้องทำตามอย่างคนอื่นเสมอไป ไม่ได้ทำตามอย่างเขา ทำอย่างที่เราคิด เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว แล้วก็อย่าพ่น ๆ ๆ อะไรให้มันหายไปในอากาศ ให้เก็บสิ่งที่พูดนั้นไว้ แล้วเอาเก็บไว้ให้คนอื่นเขาใช้เป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้า...”

          เพราะฉะนั้นเวลาผมออกอากาศวิทยุกระจายเสียง ผมไม่เคยทิ้งคำพูดของผมที่เคยออกวิทยุไปเลย ผมเก็บหมด สามารถไปดูสิ่งที่ผมเก็บไว้ ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มีจำนวนเป็นพัน ๆ รายการ ในขณะที่คนจัดรายการวิทยุต่าง ๆ เขาจะปล่อยไปทางอากาศแล้วก็หายไปเลย แต่ผมทำอย่างแพทย์ทำ คือ ทุกเรื่องต้องมี เวลาที่ผมสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง หลังจากที่จบวิชานั้นแล้ว มันจะต้องเหลือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่านั้น นั่นก็คือ เอกสารการสอน (sheet) ยังเหลืออยู่ใช่ไหม ภาพที่ใช้สำหรับประกอบการสอนยังอยู่รึเปล่า เสียงที่ใช้ประกอบวิชานั้นยังอยู่รึเปล่า ทั้งหมดรวมเป็นก้อนเรียกว่า 1 งาน เวลานี้ใน Hard disk ของผมมีคำว่า “งาน” งานนี่ งานโน้น งานนั่น งานมหรสพ งานพระเมรุ งานเพลงลูกทุ่ง งานกำเนิดเพลงไทยสากล งานละครร้อง แต่ละงาน แต่ละงานสามารถจัดทำเป็น “ตำรา” ได้ ซึ่งผมยังไม่ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แต่ว่ามันจะอยู่ใน Hard disk ซึ่งคนมาศึกษานั้นเอางานไปเขียนหนังสือได้ แหละนี่คือสิ่งที่พ่อผมสอนว่า “...ทำอะไรนี่ ต้องจด...” แล้วก็เป็นสิ่งที่ พระยาอนุมานราชธน สอนไว้ว่า “...รู้อะไรแล้วไม่สอนคนต่อนั้นเป็นบาป...” เพียงแค่ 2 อย่างนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เราไม่เหมือนคนอื่น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346