ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล (การทำงานด้านดนตรี)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ มูลนิธิราชสุดา

การทำงานด้านดนตรี

        ผมเป็นคนชอบดนตรี ซึ่งเล่าให้ฟังตั้งแต่ช่วงต้น ผมขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อตอนผมไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกานะครับ ผมได้นำเครื่องดนตรีไทยไปด้วย เพื่อไปเล่นที่โน่น เล่นที่นี่ เล่นที่นั้น จนกระทั่งสถานทูตทราบข่าว ดังนั้นเมื่อเวลาที่ทางสถานทูตต้องตอนรับแขกผู้มาเยือน ทางสถานทูตก็จะให้ผมและคณะ 3 – 4 คน ไปบรรเลงเพลงไทย ขณะที่กำลังเลี้ยงรับแขก ณ สถานทูต โดยที่ทางสถานทูกจะส่งตั๋วรถมาให้ผม เพื่อเดินทางไปทำการแสดง และมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมยังจำได้ไม่ลืมในช่วงที่ผมใกล้จะเรียนจบ วันหนึ่งมีจดหมายจากท่านทูตมาบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสวอชิงตัน ดี.ซี. ท่านทูตอยากให้ผมมาช่วยฝึกซ้อมการรำให้กับหลานสาวของท่าน เพื่อที่จะรำถวายพระพรขณะที่ทั้ง 2 พระองค์ ทรงเสวยพระกระยาหารค่ำ โดยให้ผมเดินทางล่วงหน้าก่อนวันงาน 3 คืน เพื่อเตรียมตัวและฝึกซ้อมให้กับหลานสาวท่าน ผมเดินทางไปถึงยังสถานทูตพร้อมกับเครื่องดนตรี ปรากฏว่า ผมได้พบกับคุณชรินทร์ นันทนาคร ซึ่งจะมาร้องเพลงถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถด้วย ผมก็เลยบอกเขาว่า

        “...คุณชรินทร์ งั้นคุณร้องเพลงนางนาคนะ ผมจะเล่นดนตรีนะ เราจะมีจระเข้ ซอด้วง ซออู้ ฉิ่ง โทนรำมะนา เราก็ไม่มีคนตี แต่มันพอที่จะเล่นให้เด็กคนนี้รำถวายพระพรได้...”

        คุณชรินทร์ร้องเพลงทำนองนางนาค ผมก็บรรเลงดนตรีประกอบแล้วก็สอน ซ้อมกันอยู่ 2 คืน ก็บรรเลงถวายได้ เวลาทั้ง 2 พระองค์เสวยพระกระยาหารค่ำ ปรากฏว่า ตอนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกมาเห็นผม ผมก็มอบกราบ ท่านทรงจำได้ว่า ผมเคยร้องเพลงออกทีวี ก่อนที่ผมจะมาอยู่สหรัฐอเมริกา และผมได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงฉายพระรูปร่วมกับนักศึกษา ผมทูลท่านว่า

คุณหมอพูนพิศ : “...ผมเป็นเด็กมาจากวังเสด็จพระองค์เหม...กำลังจะจบอยู่เวลานี้...” พระองค์รับสั่งว่าไงรู้ไหม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 : “...นี่เวลานี้เสด็จอา (เสด็จพระองค์เหม) ประชวรไม่แข็งแรงเลย ถ้ามีหมอสักคนหนึ่งที่นอนที่วัง เวลากลางคืนเราจะได้หายห่วง รีบกลับได้ไหม...”

        ตอนนั้นนะครับ อีก 2 เดือนข้างหน้า ผมจะเรียนจบ ผมกำลังคิดว่า ผมอาจจะอยู่ทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกาอีก 2 ปี เพื่อให้จบ Ph.D. แต่ Professor ผมบอกไม่ต้อง ให้รีบกลับเมืองไทย เพราะกำลังเกิดสงครามเวียดนามไม่ควรจะอยู่ที่อเมริกา แต่ขณะเดียวกันก็มีคนติดต่อผมบอกว่า ถ้าอยู่สหรัฐอเมริกาต่อสัก 1 ปี จะให้สิทธิเป็น American Citizen แล้วอยู่อเมริกาเลย ตอนนั้นก็ยังสองจิตสองใจ ผมก็ยังอยากจะให้แฟนผมบินจากกรุงเทพฯ มาแต่งงานกันที่วอชิงตัน ดี.ซี. แต่ยังไม่ได้ทันคิดอะไรเลย พอไปกราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกรีบกลับบ้านเถอะ ผมเลิกคิดหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย กลับเลยทันที และนั่นคือ สิ่งที่ผมกลับมา มาอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผมอยากจะพูดได้คำเดียวว่า “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกรุณาต่อผมมาก...”

        เมื่อผมกลับมาถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว ผมก็เริ่มกลับมาร้องเพลงในโทรทัศน์อีกครั้ง วันหนึ่งเสด็จพระองค์เหม เสด็จไปพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผมก็ทำหน้าที่เป็นกรมวังนั่งรถพระที่นั่งท่านไปด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ท่านเสด็จพระราชดำเนินลงมา พอเห็นผม ผมก็มอบกราบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ : “...อ้าวกลับมาแล้วเหรอ...”

        นั่นก็แสดงว่าท่านทรงจำผมได้ และตั้งแต่นั้นมาเวลาผมมีงาน ถ้าจะเป็นโฆษกหน้าพระที่นั่งเมื่อไร ก็จะตามตัวผมไปเป็นโฆษกหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นประจำ ผมก็เหยียบเรือ 2 แคม เล่นทั้งดนตรี แต่งเพลงบ้าง ร้องเพลงบ้าง ออกโทรทัศน์บ้าง จัดรายการดนตรีให้โรงพยาบาลรามาธิบดีบ้าง ให้มหาวิทยาลัยมหิดลบ้าง และอื่น ๆ ทำคู่ขนานไปอย่างนี้เรื่อยมา

        จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2530 อาจารย์หมอณัฐ ภมรประวัติ (ศ.เกียรติคุณ นพ.ดร.ณัฐ ภมรประวัติ) บอกว่าอยากจะสร้างหลักสูตรใหม่ขึ้นที่ศาลายา เป็นหลักสูตรทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจะขยายงานอีกอันทางด้านภาษาศาสตร์ขึ้นมาให้เป็นทางด้านของวัฒนธรรมศึกษา แล้วก็เอาดนตรีเข้ามาใส่ด้วย อยากให้ผมมาช่วยจัดแจงให้หน่อยได้ไหม ผมก็ออกจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และย้ายไปอยู่ที่ศาลายา พอไปถึงศาลายาก็เริ่มก่อหวอดในการคิดสร้างหลักสูตรปริญญาโททางด้านดนตรีขึ้น ที่นี่หลักสูตรปริญญาโทดนตรีสมัยนั้นมันมีความจำเป็นที่จะต้องมี Ph.D. 1 คน ในการควบคุมหลักสูตร ซึ่งประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มี Ph.D. ทางดนตรีเลย เมื่อ พ.ศ. 2528 และจังหวะพอดีมี Ph.D. จบใหม่พึ่งกลับมาจากโคโลราโด 1 คน ชื่อ นายสุกรี เจริญสุข เมื่อก่อนผมเคยเขียนบทความด้านดนตรีหนังสือลงสยามรัฐเสมอ พ่อคนนี้ค้านผมมาโดยตลอดเลย ไม่เห็นด้วยกับหมอพูนพิศอย่างงี้ อย่างงั้น ผมก็ เอ๊ะ!!! หมอนี่ท่าทางเข้าทีดีแฮะ คือ เขาก็พูดถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นก็มาเป็นเพื่อนกันซะเลยดีกว่า ผมก็ไปคุยกับเขา ก็ถามเขาว่า มาอยู่มหิดลด้วยกันไหม เขาก็คิด ผมก็เลยมาบอกอาจารย์หมอณัฐ ภมรประวัติ อาจารย์หมอณัฐ ก็บอกว่า ไปเอาตัวมา ผมก็ไปหาเขาและพามาพบ อาจารย์หมอณัฐ อาจารย์ก็บอกว่ามาอยู่ที่นี่ใจเย็น ๆ ก่อน ค่อย ๆ เริ่มสร้างขึ้น เพราะฉะนั้น สุกรี ก็มาอยู่ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียก่อน จนกระทั่งก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในปัจจุบัน นั่นนะฝีมือของเขาจริง ๆ ไม่ใช่ฝีมือผมเลย

        การเข้ามาทำงานด้านดนตรีของผมอย่างจริงจัง ทำให้ผมวางวิชาแพทย์ทางด้านความผิดปกติทางด้านการสื่อความหมายทั้งหมดไว้ก่อน จนในที่สุด ผมขอตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ทางดนตรี ทำให้ผมต้องส่งงานทั้งหมด ตั้งแต่ระดับ ผศ. รศ. และ ศ. เป็นหีบใหญ่ ๆ ผลปรากฏว่าเรื่องเงียบ ผมส่งตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2540 ซึ่งผมจะเกษียณในเดือนตุลาคม 2540 เดือนหนึ่งไม่กระดุกกระดิกเลย ไม่มีคนตรวจ ซึ่งก็ไม่ใช่หน้าที่ของผม ผมถือว่า ผมเป็นผู้ขอ และเขาคงจะตรวจให้เอง ผมรอไปจนถึงต้นปี พ.ศ. 2541 ถึงมีคนมาสัมภาษณ์ผมที่บ้าน มาถามเรื่องงานของผม มาขอดูงานต่าง ๆ นานา จนประมาณกลาง หรือ ปลาย พ.ศ. 2541 ถึงได้ประกาศให้ผมเป็น ศาสตราจารย์ ทางดนตรี และผมเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในตอนนั้นทั้งประเทศไทยมีศาสตราจารย์ทางดนตรีเพียงไม่กี่คน คนแรก คือ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เสียชีวิตไปแล้ว คนที่ 2 คือ อาจารย์อุดม อรุณรัตน์ (ศ.เกียรติคุณ ดร.อุดม อรุณรัตน์) มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของผม คนที่ 3 คือ พูนพิศ อมาตยกุล เป็นศาสตราจารย์ดนตรี คนที่ 3 ของประเทศไทย และคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะฉะนั้น ผมก็เลยต้องอยู่กับ สุกรี เพื่อคุมหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอกให้เขา และก็คุมมาจนถึงทุกวันนี้ ปีนี้ผมอายุ 82 ปี (พ.ศ. 2561) ผมเริ่มเข้ามาช่วยงานสุกรี เมื่อตอนที่เป็น ศาสตราจารย์ แล้ว ผมเริ่มมาช่วยเมื่อ พ.ศ. 2547 เพราะเขาสร้างหลักสูตร ป.เอก เมื่อ พ.ศ. 2547 ผมก็อยู่กับเขามาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึง พ.ศ. 2561 ก็เป็นเวลา 10 กว่าปี สามารถผลิตดุษฎีบัณฑิตออกไปแล้วเป็นจำนวนหลาย 10 คน

        ผมอยากจะเล่าให้ฟังเพิ่มเติมตรงนี้ว่า การผลิตนักศึกษาปริญญาเอกออกไปให้กลายเป็นด๊อกเตอร์ ทางดนตรี มันยากเหลือเกิน ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา การที่จะสอนเด็กหูหนวกคนหนึ่งให้พูดได้ก็ยากเหลือเกิน ต้องอดทนมากเลย การที่จะสอนคนให้เป็นครูไปสอนเด็กหูหนวกก็เข็นครกขึ้นภูเขาเหมือนกัน การจะเข็นใครสักคนที่เป็นนักดนตรีให้จบ Ph.D. ออกไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปัญหาแรกที่ผมพบก็คือ เด็กสอบภาษาอังกฤษไม่ผ่าน มีนักศึกษาจำนวนมาก ๆ เลยไม่ได้ 500 คะแนน ก็ไม่ได้ปริญญาเอก มาค้างติดอยู่เป็นจำนวนนับ 10 ราย แต่ ในที่สุดก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหลุดไป จบ Ph.D. ด้าน Music Education (ดนตรีศึกษา) แต่ไม่ใช่ดนตรีวิทยา และในที่สุดผมก็ต้องใช้วิธีทางความเชื่อโบราณ ต้องไปบูชาพระพิฆเนศ และขอให้พระพิฆเนศช่วย แล้วก็ปรากฏผลได้จริง ๆ ตั้งแต่นั้นมาผมก็ได้เด็ก Ph.D. ที่จบปริญญาเอกมาคนแล้วคนเล่า เวลานี้เยอะกระจายไปทั่วประเทศแล้ว ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น มหาสารคาม ไปเรื่อย จนกระทั่งถึง สงขลา

        นอกจากนี้ผมมีความสามารถอีกอย่างหนึ่ง คือ ผมสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สอนหรืออธิบายเรื่องยากให้ดูเข้าใจได้ง่าย ย้อนไปเมื่อ 2 วันก่อน (2 วันก่อนการสัมภาษณ์) ผมไปพูดเรื่อง “เด็กออทิสติก” คนที่เข้ามาฟังพูดกันว่า ไม่เคยเข้าใจเรื่องเด็กออทิสติกได้ดีขนาดนี้เลย อาจารย์มาพูดวันนี้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมาในทันที สิ่งนี้มันติดตัวผมมา ซึ่งก็น่าจะมาจากการที่ผมได้รับฝึกอบรมตั้งแต่เด็กว่า 1. ต้องอดทน 2. ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายให้ได้ แล้วต้องพูดอะไรให้กระจ่าง ซื่อสัตย์ เคารพผู้ใหญ่ นอกจากนี้ เวลาผมสอนหนังสือต้องปล่อยให้หมด อย่ารั้งอะไรไว้ ซึ่งนั่นก็มาจาก การที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟัง เลคเชอร์ (Lecture) ของพระยาอนุมานราชธน ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) ท่านสอนไว้ว่า... “...รู้อะไรแล้วไม่สอนใคร เป็นบาปตกนรก...”

        เพราะฉะนั้น เมื่อผมมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา ผมก็จะถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่มีแก่นักศึกษา นอกจากนี้ก่อนการเริ่มต้นการสอน ถ้านักศึกษายังไม่มีความรู้ในเรื่องที่ผมกำลังจะสอน ผมมักจะพูดว่า... “...พวกคุณโง่...ใช่โง่ละสิถึงได้ไม่รู้....” แต่พอผมสอนทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ผมก็จะบอกว่า... “...เวลานี้พวกคุณหายโง่แล้ว ผมก็ขอคืนคำที่ว่า โง่ออกซะ เวลานี้พวกคุณไม่ได้โง่แล้ว เพราะว่าผมได้สอนคุณแล้ว...” แหละนี่คือวิสัยของผม

        ขณะเดียวกันผมรู้สึกว่า เมื่ออายุผมยิ่งมาก ผมยิ่งแม่นในเรื่องทางด้านวิชาการ ผมเป็นที่พึ่งของคนได้ในเรื่อง History ของดนตรีของชาติไทย ดนตรีของชาติไทยมีกี่อย่าง หลายคนยังไม่รู้เลย แต่ผมเป็นคนกำหนดไว้เลย ดนตรีของชาติไทยมีไม่น้อยกว่า 10 อย่าง แต่ละอย่างมีอะไรบ้าง เหมือนกันหรือไม่เหมือนกัน แต่ละอย่างมีอะไรเป็นตัวกำหนดของการที่อยู่ยงคงกระพันจนกระทั่งเป็นดนตรี ที่เป็นคุณสมบัติประจำชาติได้ ลูกทุ่งกับไทยเดิมต่างกันอย่างไร ลูกทุ่งกับรำวงต่างกันอย่างไร เรื่องเหล่านี้หมอพูนพิศทั้งนั้นหละที่เป็นคนกำหนดออกมาว่ามันต้องเป็นอย่างงี้ ต้องเป็นอย่างงั้น ต้องเป็นอย่างโง้น วิชาที่เรียกว่า ดนตรีวิทยา ที่ผมสอน

        ผมทำงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรี เป็นงานที่ 2 เป็นหมวกใบที่ 2 ใช่ไหม ผมผลิตงานออกมาได้เยอะ ข้อสำคัญที่สุด ผมเขียนตำราเยอะมาก ผมมีตำรา บทความเป็น 1,000 ชิ้น ผมมีงานที่ผมผลิตเอาไว้เป็นทั้งรายการวิทยุ ทั้งโทรทัศน์ ต่าง ๆ เป็น 1,000 ชิ้น คือ ผมไม่ใช่คนประเภทที่พูดออกอากาศ ร้องเพลงออกอากาศไป สิ่งเหล่านั้นจะหายไปเลย ทุกอย่างต้องมี copy อยู่ อาจเพราะว่าผมเป็นแพทย์ เวลาทำอะไรก็ต้องมี copy เป็นหลักฐานเก็บไว้ และส่งเข้าห้องสมุดให้เก็บรักษา เพื่อสามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องการ ซึ่งทั้งหมดที่ทำไว้ยังคงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ผมจะเล่าถึงประวัติการกำเนิดเพลงไทยสากล เพลงไทยสากลเกิดประมาณ พ.ศ. 2475 อะไรเกิดขึ้นตอนนั้น แล้วมันจะเกิดมาจนกระทั่งถึง รวงทอง ทองลั่นทม หรือ เบิร์ด (ธงชัย แมคอินไตย์) ได้ มันต้องใช้เวลาเกือบ 50 ปี ผมก็ทำรายการเพลงไทยสากล จากอดีตมา ผมทำทั้งหมด 1,010 ตอน พวกนี้ผมไม่เคยปล่อยให้หลุดไปในอากาศเลย ต้นฉบับเหลืออยู่ในห้องสมุด ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา) ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหมดเลย ตกลงผมก็เลยกลายเป็นเจ้าพ่อของวิชาการดนตรีนี่แหละครับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346