ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ มูลนิธิราชสุดา
การศึกษาต่างประเทศ
เมื่อผมเรียนจบจากศิริราช ผมได้เป็นแพทย์ประจำบ้าน ทางด้านหู คอ จมูก อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชครับ ผมได้เห็นบุคคลสำคัญ 2 ท่าน ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ทางด้านหู คอ จมูก ผมถือว่า ท่านเป็นต้นแบบที่ดีมากเลย นั่นก็คือ ท่านอาจารย์ พันโท นายแพทย์จีระ ศิริโพธิ์ และ พันโท (พลโท) นายแพทย์อัศวิน เทพาคำ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับท่านทั้ง 2 คน ซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และนั่นก็ยิ่งทำให้ผมตัดสินใจว่า ผมอยากเป็นแพทย์หู คอ จมูก ผมได้ฝึกวิชาแพทย์หู คอ จมูกอยู่ที่ศิริราชแล้ว ท่านก็เลยบอกว่าถ้างั้นไปเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกับที่ท่านจบมาก็แล้วกัน ท่านจึงเขียนใบ Recommend ให้ผมได้รับการคัดเลือกไปอยู่ที่นั่นทันที ผมเดินทางไปพร้อมกับเพื่อน ๆ ปีนั้นไปพร้อมกับเพื่อน 17 คน หมอจากศิริราช 17 คน บินไปเที่ยวบินเดียวกัน และไปแยกทางกันตอนถึงสหรัฐอเมริกา ส่วนผมกับเพื่อนอีก 3 – 4 คน ก็ไปที่ เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadephia) ผมโชคดีมากครับที่ได้ไปเรียนที่นั่น แล้วที่สำคัญที่สุด ผมได้ไปเห็นเด็กหูหนวกเป็นใบ้คู่แฝด ผมสีทองตาสีฟ้าน่ารักมากเลย อายุเพียงแค่ 2 ขวบครึ่งพูดไม่ได้ เป็นใบ้หูหนวกแต่กำเนิด ผมก็สนใจว่าเขาจะทำอะไรกับเด็กเหล่านี้ เมื่อดูระบบระเบียบเรียบร้อยก็นึกในใจว่า เอ๊ะ!!! ขนาดสหรัฐอเมริกายังลำบากขนาดนี้ แล้วเด็กหูหนวกเป็นใบ้ในเมืองไทยจะเป็นยังไง ผมนึกถึงคำสอนหนึ่งของคุณพ่อที่ท่านเคยสอนผมไว้ว่า
“...เรียนอะไรก็ได้ในสหรัฐอเมริกา อย่าใช้เวลานานมากนัก ไม่ซ้ำกับใครที่เคยเรียนมาแล้วในเมืองไทย รีบกลับมา แล้วคว้าสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำ ทำเสียก่อนให้เป็นคนแรกของประเทศไทยให้จงได้ นั่นแหละจึงจะมีชื่อเสียง...”
เพราะฉะนั้น วิชาที่เราจะช่วยเหลือเด็กอายุประมาณ 2 ขวบขึ้นไปที่หูหนวกเป็นใบ้ไม่เคยมีใครเรียนในประเทศไทยมาก่อนเลย ก่อนหน้าที่ผมจะมาเรียนต่อที่ต่างประเทศ ตอนที่ผมอยู่โรงพยาบาลศิริราช อาจารย์หมอพร เคยส่งเด็กให้ผมดู 1 คน เมื่อตรวจแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กหูหนวกเท็จจริงประการใด ท่านบอกว่าให้รอจนกว่าเด็กจะอายุ 7 ขวบ แล้วไปส่งเข้าโรงเรียนสำหรับคนหูหนวก ผมกลับความรู้สึกว่า เอ๊ะ!!! ในเมื่อเราดูเด็กเมื่ออายุ 2 ขวบ เราต้องรออีก 5 ปี เลยหรือ เด็กถึงจะเข้าโรงเรียนได้ ผมจึงนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับครูฝรั่ง ครูฝรั่งก็บอกว่าถ้าเรียนแบบนี้ แบบนี้ แบบนี้ เด็กคนนี้จะสามารถเข้าโรงเรียนได้ตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง เหมือนกับเข้าเรียนอนุบาลเท่าเด็กธรรมดา แต่จะอยู่โรงเรียน Early สำหรับเด็กหูหนวกโดยเฉพาะเลย ผมก็เลยตัดสินใจ เขียนจดหมายบอกพ่อว่า ผมจะไม่เป็นแล้วหมอผ่าตัดหู ผมจะมาดูแลเรื่องเด็กพูดไม่ได้ เด็กใบ้ อะไรต่าง ๆ แล้วก็เด็กหูหนวกตั้งแต่กำเนิด แล้วก็ไปดูผู้ใหญ่ที่หูหนวกด้วยอะไรด้วย ดูพวกที่เสียงหรือพูดไม่ชัดหรือพูดผิดปกติด้วย
ชีวิตการเรียนของผม ช่วงเช้าผมก็ทำงานในมหาวิทยาลัยใช้ชีวิตกับการทำงานวิจัยด้านโรคหู ช่วงเย็น ประมาณ 4 – 5 โมงเย็น ก็จะไปเรียนที่ Temple University จนถึง 3 ทุ่ม ถึงจะกลับบ้าน ผมเรียนจนถึงกระทั่งจบปริญญาโททางด้านวิชา Speech and Hearing ต่อมาเรียก Communication Disorder ผมเป็นคนแรกที่จบวิชานี้กลับมา ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่า ผมมีแฟนอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช กำลังฝึกงานทางด้านโรคสูตินารีเวช ผมก็อยากจะกลับมาอยู่กับเขาที่ศิริราชครับ ก็ทำโครงการเลยว่าถ้าจบวิชานี้กลับมา มาอยู่ที่ศิริราชจะทำอะไรให้ศิริราชบ้าง ผมได้รับจดหมายตอบกลับไปว่า สิ่งที่หมอมีความประสงค์ ยังไม่เกิดขึ้นที่เมืองไทย และยังไม่มีใครสนใจเรื่องนี้เลย ถ้ากลับมาแล้วจะมาเปิดสิ่งนี้ขึ้นที่ศิริราช เกรงว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะว่ามันใหม่เหลือเกินวิชานี้ ลองเสนอโรงพยาบาลใหม่ที่กำลังจะเปิดอีกแห่งหนึ่งชื่อ รามาธิบดี ท่านก็เมตตาต่อผม ถ้าขึ้นต้นที่ศิริราชไม่มีคนสนับสนุนก็จะลำบาก ผมก็เอาใบสมัครทั้งหมดที่ส่งศิริราช โดยที่ไม่ได้แก้อะไรเลยเป็น copy กันส่งไปที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งไม่ถึง 20 วันครับ ผมก็ได้รับจดหมายเหตุตอบกลับจาก นางสาวกอบแก้ว ป้านทอง ว่า ท่านอาจารย์ (พันโท นายแพทย์) จีระ ศิริโพธิ์ กับ ท่านอาจารย์ (ศ.เกียรติคุณ นพ.) อารี วัลยะเสวี พิจารณาแล้วเห็นว่ารับให้มาอยู่ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้