ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ (“ต้นแบบ” ของประเทศทางด้านการดูแลทารกแรกเกิดด้วยพรหมวิหาร 4)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ หออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ชั้น 2 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“ต้นแบบ” ของประเทศทางด้านการดูแลทารกแรกเกิดด้วยพรหมวิหาร 4

        เมื่อเราได้ริเริ่มใช้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ เน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีราคาถูก เน้นเรื่องการให้นมแม่ เน้นเรื่องการให้แม่มีส่วนร่วมในการดูแลทารกแรกเกิดที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เมื่อกรมอนามัยทราบเรื่องการส่งเสริมนมแม่ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่ทำเรื่องนมแม่อย่างจริงจัง กรมอนามัยจึงขอให้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเปิดอบรม “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ให้กับกรมอนามัย โดยทางกรมอนามัยเชิญโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าฟังการบรรยาย แนะนำวิธีส่งเสริมนมแม่ มาตรฐานการพัฒนาการดูแลทารกแรกเกิด กระบวนการของแม่มีส่วนร่วมในการดูแลทารก ห้องอาหารและห้องนอนสำหรับแม่ที่ต้องเข้ามาดูแลทารกที่อยู่ในภาวะวิฤกติ และเจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลทารกและแม่ด้วยความเป็นมิตร โดยมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นต้นแบบให้กับกรมอนามัย

        ต่อมากรมอนามัยต้องการพัฒนามาตรฐานการดูแลทารกแรกเกิดของประเทศให้ดีขึ้น จึงได้เชิญให้ผมไปเป็นที่ปรึกษา และกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติและเกณฑ์ประเมิน เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ผมจึงถือโอกาสนำแบบอย่างที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลประสบความสำเร็จนำเสนอแก่กรมอนามัย และกรมอนามัยกำหนดให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

1. การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด
2.การจัดสถานที่ให้กับแม่ เพื่อใช้ในการนอนภายในหอผู้ป่วย ดูแลเรื่องอาหารแก่แม่ และให้แม่มีส่วนร่วมในการดูแลทารก
3. จัดตั้งคลินิกนมแม่เพื่อให้คำแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

        เกี่ยวกับการจัดอาหารให้แก่แม่ที่เข้ามาดูแลลูกที่อยู่ในภาวะวิกฤต และแม่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาล เรื่องนี้โรงพยาบาลหลายแห่งอาจมีปัญหา ผมจึงชี้แจงไปว่า “...ผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะมีอาหารของโรงพยาบาล แต่ทารกดูดนมแม่ ไม่มีอาหารของโรงพยาบาลให้ เพราะฉะนั้นน่าจะขอเบิกอาหารที่เป็นสิทธิของลูกที่ควรจะได้มาให้แม่...” ในที่สุดจากคำแนะนำดังกล่าวโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งก็สามารถดำเนินการดังกล่าวได้

        เวลาต่อมา กรมอนามัยดำเนินการตรวจประเมินมาตรฐาน การดูแลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และผมมีโอกาสร่วมการตรวจประเมินและสอนหลักการดูแลทารกแรกเกิดแบบองค์รวมและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ซึ่งทำให้ผมมีโอกาสสัมผัสและอยู่กับธรรมชาติที่สวยงามในภูมิภาคทั่วประเทศเป็นระยะตลอดเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ที่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีพรหมวิหาร 4 อยู่ในใจ สามารถดำเนินการได้ทั้งการส่งเสริมนมแม่ การให้แม่มีส่วนร่วมในการดูแลทารก การจัดสถานที่พักสำหรับแม่ที่ต้องดูแลทารกที่มีภาวะวิกฤต การจัดตั้งคลินิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อแนะนำแม่ก่อนกลับบ้าน และเมื่อแม่มีปัญหาเมื่อกลับบ้านสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำได้ การปฏิบัตินี้ใช้ทั่วประเทศ ตัวอย่างโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตามต้นแบบอย่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เช่น โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์

        ในประเทศไทย การส่งเสริมการให้นมแม่ในทารกที่ป่วยอยู่ในหออภิบาลทารกแรกเกิดและการให้แม่พ่อมีส่วนร่วมในการดูแลลูกเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) แต่ในประเทศพัฒนาเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2013 โดยประเทศแคนาดาได้ริเริ่มภายหลังเรา 22 ปี ซึ่งถือว่าประเทศไทยได้พัฒนามาถูกทาง และตอนนี้นับว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าประเทศไทยต้องการพัฒนาการแพทย์ไทยสาขาทารกแรกเกิด เพื่อให้ทารกแรกเกิดรอดชีวิตมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายน้อย ต้องใช้วิธีที่ผมประสบความสำเร็จมาแล้วคือ การให้นมแม่และให้แม่มีส่วนร่วมในการดูแลลูก เพราะเราใช้การเลียนแบบธรรมชาติเหมือนกับการที่แม่เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน

---------------------------------------------------
1หลักธรรมครองใจ 4 ประการ ที่ทำให้บุคคลในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติในทางอันประเสริฐทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ประกอบด้วย 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346