ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ (ความก้าวหน้าทางด้านเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดในต่างประเทศ และประเทศไทย)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ หออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ชั้น 2 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ความก้าวหน้าทางด้านเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดในต่างประเทศ และประเทศไทย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ ถ่ายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562

        การเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศทำให้พบว่า การพัฒนาด้านการดูแลทารกแรกเกิดที่อยู่ในภาวะวิกฤตในประเทศไทยยังล้าหลังกว่าสหรัฐอเมริกา เราเริ่มต้นช้ากว่าเกือบ 20 ปี สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ทารกแรกเกิดในสหรัฐอเมริกามีโอกาสการรอดชีวิตมากกว่าทารกในประเทศไทย เพราะความพร้อมและการพัฒนาในการใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อผมผ่านการอบรมจากต่างประเทศกลับมาประเทศไทยปี พ.ศ. 2526 มีความตั้งใจอย่างมากที่ต้องการพัฒนาการแพทย์ไทยให้ทันสมัยเท่าสหรัฐอเมริกา เพราะผมคิดอยู่เสมอว่า ประเทศไทย มี 2 เรื่องที่ดีที่สุดในโลก คือ เรามีพระมหากษัตริย์ (พ่อหลวง ร. ๙) ที่ดีที่สุดในโลก และเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และมีหลักให้พุทธศาสนิกชนที่มุ่งมั่นสามารถปฏิบัติสู่ “วิมุต” หรือ การหลุดพ้น จาก 2 สิ่งนี้ทำให้ผมมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการแพทย์ไทยด้านทารกแรกเกิดให้เทียบเท่าสหรัฐอเมริกาให้ได้ เพื่อให้ทารกไทยมีโอกาสรอดชีวิตและให้สมกับการมีบุญได้เกิดบนแผ่นดินไทย

        ดังนั้น การเริ่มต้นการพัฒนาการแพทย์ไทยสาขาทารกแรกเกิด จึงเกิดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผมมีความเชื่อว่า ถ้าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยังมีการดูแลทารกที่ด้อยกว่าต่างประเทศ โรงพยาบาลอื่น ๆ ภายในประเทศไทยจะต้องพัฒนาได้ช้ากว่าต่างประเทศมากยิ่งกว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผมจึงตั้งใจจะพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้เป็น “ต้นแบบ” ในการดูแลทารกแรกเกิดโดยใช้เทคโนโลยีที่มีราคาถูก เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากเท่ากับสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นดัดแปลงอุปกรณ์ภายในบ้านที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับเด็ก (เครื่องอุ่นนม ท่อประปาพลาสติก เครื่อง heater) สำหรับอุปกรณ์ที่มีความยุ่งยากในการผลิต จะขอรับบริจาคจากแม่พ่อของเด็กที่คลินิกส่วนตัวของผม โดยอาศัยการอธิบายและถ่ายทอดความตั้งใจในการพัฒนาแก่ผู้คนทั่วไป เพื่อขอรับเงินบริจาคและนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ที่ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องทำความชื้นก๊าซ เครื่องวัดความอิ่มตัวออกซิเจนทางผิวหนัง

        นอกจากนี้ผมยังเขียนจดหมายไปยังองค์การการกุศลต่างประเทศอย่าง The United Kingdom Committee for Thai Charities เพื่อขอรับการสนับสนุนและช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์ที่สำคัญ ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเริ่มต้นช้ากว่าสหรัฐอเมริกากว่า 20 ปี ผมใช้เวลาภายใน 6 ปี ทำให้เรามีมาตรฐานเท่ากับสหรัฐอเมริกา เราสามารถดูแลทารกแรกเกิดได้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการสนับสนุนของแม่พ่อของเด็ก ภาคเอกชน (AIA บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด) และองค์กรต่างชาติ นอกจากนี้ผมและภรรยายังได้จำหน่ายบัตรอวยพรปีใหม่ เพื่อหารายได้มาซื้อเครื่องตรวจระดับแคลเซียมในเลือดราคา 3 แสนบาท แต่มีผู้สนับสนุนมากมายจนได้รายได้ 1.3 ล้านบาท รายได้ที่เหลือ 1 ล้านบาท ได้นำไปตั้งเป็นกองทุนทารกแรกเกิดในปี พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นสวัสดิการให้พยาบาลในหน่วยทารกแรกเกิด

        เมื่อเราพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่ผมเริ่มทำต่อมา คือ การพัฒนาเครื่องมือด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “...ถ้าเราจะพัฒนาการแพทย์สาขาทารกแรกเกิดของประเทศไทย เราต้องสามารถพึ่งพาอุปกรณ์ที่จำเป็นราคาถูก...” คือ การผลิตอุปกรณ์ด้วยตนเอง อุปกรณ์การแพทย์ทารกแรกเกิดที่จำเป็นมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นตู้อบ เครื่องให้ความอบอุ่น เครื่องอุ่นเลือด เครื่องส่องไฟรักษาตัวเหลือง อุปกรณ์เหล่านี้ คือ อุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็น ถ้าเราต้องซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศทุกอย่าง เราจะไม่สามารถพัฒนามาตรฐานการดูแลทารกแรกเกิดของประเทศได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ

        การเริ่มต้นการผลิตที่สำคัญที่สุด คือ เครื่องให้ความอบอุ่นโดยการแผ่รังสี เนื่องจากในขณะนั้น ร้อยละ 52 ทารกแรกเกิดที่แข็งแรงที่ย้ายมาจากห้องคลอดมายังห้องเด็กมีภาวะ “ตัวเย็น” ภาวะตัวเย็นทำให้ทารกป่วย หยุดหายใจ และถึงขั้นเสียชีวิต การผลิตเครื่องให้ความอบอุ่นแก่ทารกแรกเกิด ทำให้เราได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาสิ่งประดิษฐ์ ประจำปี พ.ศ. 2534 จากผลงาน “เครื่องให้ความอบอุ่นโดยการแผ่รังสี” เข้ารับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รางวัลชิ้นนื้ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไป

        การสร้างทีม หลังจากที่เริ่มต้นผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อทารกแรกเกิด อีกสิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจมากในการทำงานคือ “การสร้างทีม” การทำงานดูแลเด็กทารกแรกเกิดมีความจำเป็นที่ต้องทำงานเป็นทีม ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว ฉะนั้นต้องอาศัยทีมงานสำคัญอย่าง “พยาบาล” การทำงานของพยาบาลในเวลานั้น เป็นการทำงานที่หนัก ผู้ป่วยมีจำนวนมาก การคลอดบุตรในช่วงเวลานั้น 1 ปี มีการคลอดประมาณ 25,000 ราย (ปัจจุบันเหลือประมาณ 9,000 ราย) พยาบาลทำงานไม่ไหว และอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทารกก็ไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของทารกสูง จาก ภาวะตัวเย็น ติดเชื้อในเลือด ส่งผลให้เกิดความเครียดในการทำงานของพยาบาล และอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน ส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นถ้าเราพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิด เพื่อลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้ เราจะช่วยลดภาระงานและความเครียดของพยาบาลได้

        การลดภาระงานของพยาบาลทำได้อย่างไร ผมเริ่มต้นจากผลิตเครื่องให้ความอบอุ่นโดยการแผ่รังสี เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากตัวเย็น หลังจากนั้นผลิตอุปกรณ์สำหรับทารกชิ้นต่อไป คือ “เครื่องส่องไฟสำหรับภาวะตัวเหลือง” ในสมัยก่อนคืน ๆ หนึ่งจะมีทารกที่อยู่ในห้องเด็กอ่อน ที่มีภาวะตัวเหลืองและต้องส่องไฟประมาณ 20 คน และถ่ายเปลี่ยนเลือดคืนละ 1-2 คน การเปลี่ยนถ่ายเลือดทารกใช้เวลานาน และใช้อุปกรณ์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ทั้งแพทย์และพยาบาลเหนื่อยล้า ผมจึงเล็งเห็นว่า เราควรผลิตอุปกรณ์เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย และลดภาระงานแก่แพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงผลิตเครื่องส่องไฟสำหรับภาวะตัวเหลือง เมื่อผลิตออกมาได้ 6 เดือน การถ่ายเปลี่ยนเลือดลดลง 75% ทารกกลับบ้านได้เร็วขึ้น เมื่อทารกกลับบ้านได้เร็วขึ้น ทารกอยู่ที่หอทารกแรกเกิดน้อยลง ภาระงานพยาบาลก็ลดลง ความเครียดในการทำงานลดลง พยาบาลมีเวลามากขึ้น สามารถทำงานด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการพัฒนาและการทำงานต่าง ๆ และที่สำคัญเครื่องส่องไฟสำหรับภาวะตัวเหลืองที่ผลิตขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าการซื้อจากต่างประเทศ หากสั่งซื้อจากต่างประเทศราคาประมาณ 180,000 บาท แต่เราผลิตได้ในราคา 4,000 บาท ต่อมาจึงพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องส่องไฟโคมคู่ ทารกอยู่โรงพยาบาลเพียง 24 ชั่วโมง ก็กลับบ้านได้ ลดระยะเวลาการรักษาให้สั้นลงมากจาก 3-4 วันเหลือเพียง 24 ชั่วโมง

        นอกจากนี้ผมยังผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สาขาทารกแรกเกิดอีกหลายชิ้น เช่น เครื่องวัดระดับบิลิรูบินในพลาสมาด้วยตาสำหรับทารกแรกเกิด เครื่องอุ่นเลือด-ศิริราช ฯลฯ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผมและทีมงานผลิตทุกชิ้นมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิดในประเทศไทย ช่วยเหลือทารกแรกเกิดที่เจ็บป่วย ลดอัตราการเจ็บป่วย พิการ และการชีวิตของทารก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เศรษฐกิจ และระบบบริการสุขภาพของประเทศ

        เมื่อพยาบาลมีสุขภาพจิตดีหลังจากภาระงานลดลง มีอุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานที่จำเป็นพร้อมมากขึ้น ถึงเวลาของการพัฒนาในด้าน “การดูแลลูกและแม่ด้วยความรัก” เมื่อพยาบาลได้รับความรักจากแพทย์ด้วยการผลิตอุปกรณ์ เพื่อลดภาระงานของพยาบาลให้น้อยลง จึงเข้าสู่การทำงานเพื่อดูแลทารกและมารดาด้วยความเมตตา เริ่มจากการส่งเสริมการให้นมแม่ในหอผู้ป่วย เมื่อ พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) โดยให้แม่เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบลูกอยู่ภายในหอผู้ป่วย และพยาบาลมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่แม่ เมื่อแม่เข้ามาช่วยดูแลทารกในหอผู้ป่วย นับเป็นการแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลด้วย เพราะเดิมเป็นหน้าที่พยาบาลทั้งหมด ทั้งการป้อนนม การเปลี่ยนผ้าอ้อม การอาบน้ำทำความสะอาดทารก แต่ตอนนี้แม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตนเอง แม่ 1 คน ดูแลลูก 1 คน เป็นการป้องกันการติดเชื้อ และทำให้ลูกสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันเราจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แม่ที่เข้ามาดูแลลูก เช่น ห้องนอนสำหรับแม่ ห้องบีบนมสำหรับแม่ ตู้เย็นสำหรับเก็บนม ทีวี อาหาร และก่อนที่แม่จะกลับบ้าน แม่จะได้รับการสอนเรื่องท่าอุ้มและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการเพิ่มพลังอำนาจให้แก่แม่ในการดูแลลูกขณะเข้ามาดูแลลูกในหอผู้ป่วยด้วย เมื่อกลับบ้านไปแม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่การป้อนนม อาบน้ำ วิธีป้องกันต่าง ๆ เมื่อเด็กกลับบ้านได้เร็วขึ้น ทำให้ความแออัดในหอผู้ป่วยลดลง

ตู้เย็นสำหรับเก็บรักษานมแม่

        การดำเนินงานด้านทารกแรกเกิดมีการพัฒนาเรื่อยมา จนกลายเป็นการพัฒนามาตรฐานการดูแลทารกแรกเกิดของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งแต่การสร้างทีมพยาบาล ให้กลายเป็นทีมพยาบาลที่มีความสุขกับการดูแลทารกแรกเกิดและแม่ด้วยความรัก โดยอาศัยหลักพรหมวิหาร 4 ในการสร้างทีมพยาบาล การส่งเสริมการให้นมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่อยู่ในภาวะวิกฤติ จนกระทั่งพัฒนาเป็นต้นแบบของประเทศไทย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346