ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ (จาก “นักศึกษาแพทย์” สู่ “แพทย์”)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ หออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ชั้น 2 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

จาก “นักศึกษาแพทย์” สู่ “แพทย์”

น้องใหม่แพทย์ศิริราชฯ (พ.ศ. 2511)

        เมื่อผมได้ข้ามฟากมาเรียนแพทย์ การเรียนแพทย์ถือว่าเรียนหนักครับ เริ่มเรียนตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา นั่งฟังแต่เลคเชอร์ สมัยก่อนอาจารย์ที่สอนจะยืนอยู่ข้างหน้าชั้นเรียน และจะบรรยายไปเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่มีความรู้อะไรครับ รู้แต่ว่าเราต้องจดสิ่งที่อาจารย์บรรยายให้ได้มากที่สุด ส่วนหนังสือ และตำราแพทย์ทั้งหลาย สมัยก่อนมีน้อยมาก และส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ และที่สำคัญเนื้อหาไม่ตรงกับที่อาจารย์สอน จากปัญหาขาดตำราและหนังสือแพทย์ในตอนนั้น ผมคิดอยู่เสมอว่า ถ้าผมมีโอกาสได้เป็นอาจารย์แพทย์ ผมจะเขียนตำรา เพื่อให้ความสะดวกแก่นักศึกษา นี่คือความตั้งใจตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ผมพยายามอ่านหนังสือทุกวัน แบ่งเวลาพักผ่อน นอนเป็นเวลา และนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งคือสิ่งที่คุณแม่สอนมาตั้งแต่จำความได้ว่า “...20.00 นาฬิกา ต้องนอน และเช้าต้องตื่นแต่เช้า...”

        

งานรับน้องข้ามฝาก แพทย์ศิริราชฯ (พ.ศ. 2511)

        เมื่อผมเรียนจบแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2514 (รุ่นที่ 77) ผมได้รับเลือกให้เป็นแพทย์ใช้ทุนที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อเรียนจบใน พ.ศ. 2517 ผมได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ 2 ปีต่อมา จึงได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์ในหน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อเป็นอาจารย์แพทย์ ผมได้ทำตามความตั้งใจที่คิดไว้คือการเขียนตำราแพทย์ เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษา

        ผมขอเล่าย้อนถึงตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ทางคลินิกสักเล็กน้อย ตอนนั้นเมื่อผมเริ่มขึ้นไปฝึกดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขเวลาที่ได้คลุกคลีกับผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยและการทำงานในเวลานั้นมีหลายอย่างที่ให้โอกาสพัฒนาตนเองให้ได้ทักษะมากกว่านักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน เช่น ต้องรับผู้ป่วยและต้องเขียนรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก ต้องตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ ตรวจเลือดผู้ป่วยด้วยตนเอง เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตรวจสิ่งเหล่านี้แก่ผู้ป่วย ดังนั้นนักศึกษาแพทย์จึงต้องตรวจด้วยตนเอง นับว่าเป็นการพัฒนาทักษะและฝึกฝนความชำนาญ ส่วนการตรวจร่างกายผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง หัวใจและปอดผิดปกติ เราสามารถฝึกฝนได้ภายในเวลา 1 เดือน จนเราสามารถฟังเสียงหัวใจและปอด แยกแยะเสียงผิดปกติได้ทุกเสียง ซึ่งการที่เราได้ปฏิบัติจริงสามารถจดจำได้ดีกว่าการศึกษาจากในตำรา และจากการฝึกปฏิบัติเหล่านี้ ผมนำมาใช้ในการเขียนตำราเรื่องการตรวจร่างกายทารกแรกเกิดครับ

        เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกภาควิชาว่าเราต้องการเป็นแพทย์ทางด้านไหน สำหรับผมนับว่าโชคดีมาก เพราะอาจารย์ทุก ๆ ภาควิชาให้ความเมตตาชวนให้ผมไปฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็น อายุรศาสตร์ จักษุวิทยา สูติศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์ ตอนนั้นผมกลับมาคิดทีละเหตุผลว่าผมเหมาะสมเป็นแพทย์ด้านใด สูติศาสตร์อาจจะไม่เหมาะกับผม เพราะมีเรื่องการฝากทำคลอดพิเศษ อายุรศาสตร์เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ ซึ่งเวลาผู้ใหญ่มาพบแพทย์มักพูดไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด ผมจึงคิดว่าผู้ใหญ่อาจจะไม่เหมาะกับผม ศัลยศาสตร์ผมไม่ชอบออกคำสั่งขณะทำการผ่าตัด ขอมีด ขอกรรไกร ผมอาจจะไม่เหมาะกับการออกคำสั่งลักษณะนั้น พอมาทางด้านจักษุวิทยา ที่ผมไม่เลือกทางด้านนี้ ความคิดส่วนตัวผมคือ เราเรียนมาทั้งร่างกาย เราจะเชี่ยวชาญเฉพาะตาอย่างเดียวไม่ได้ ในที่สุดผมก็พบตัวเอง ผมคิดว่า “เด็ก” เหมาะที่สุดสำหรับผม เพราะเด็กไม่โกหก เด็กไม่เสแสร้ง เมื่อป่วยเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากพฤติกรรมของเขา และเมื่อดีขึ้น เด็กจะยิ้มให้เรา ดังนั้น ผมจึงเลือก “กุมารเวชศาสตร์”

        เมื่อผมเรียนจบสาขากุมารเวชศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอนนั้นผมต้องเลือกว่าจะศึกษาต่อยอดทางสาขาใด และเป็นจังหวะเดียวที่มีการเปิดอาคารแห่งใหม่ (ตึกกุมาร) เมื่อ พ.ศ. 2520 เพื่อขยายหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด อาจารย์หัวหน้าภาควิชา (ศ.เกียรติคุณ นพ. ประสงค์ ตู้จินดา) จึงให้มาเป็นแพทย์สาขาทารกแรกเกิด ซึ่งก็ตรงกับสาขาวิชาที่ผมชอบ ผมเป็นอาจารย์อยู่ที่สาขาทารกแรกเกิดอยู่ 3 ปี จึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา ณ University of Ottawa Ontario, Canada ทางด้าน Neonatology (เวชศาสตร์ทารกแรกเกิด) และที่ Pittsburgh University สหรัฐอเมริกา จบเมื่อ พ.ศ. 2525 และศึกษาด้าน Epidemiology and Preventive Medicine (ระบาดวิทยา และเวชศาสตร์ป้องกัน) ณ George Washington University, Washington, D.C., USA จบเมื่อ พ.ศ. 2531


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346