ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ มูลนิธิราชสุดา
การทำงาน ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี
เมื่อผมเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2511 ผมได้ไปรายงานตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งตอนนั้นตึกยังสร้างไม่เสร็จ ผมได้พบกับผู้หญิงท่านหนึ่งที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นั่นก็คือ ท่านอาจารย์ (ศ.เกียรติคุณ พญ. ม.ร.ว.) จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ พออาจารย์เห็นหน้าผม อาจารย์เดินเข้ามาหาเลยนะครับ มือจับแขนผม
แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ : “...บอกดีใจที่จะมาทำงานด้วยกัน...”
คุณหมอพูนพิศ : “…ผมจะมาเป็นหมอหู คอ จมูก นะครับ…”
แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ : “…ไม่ใช่จะต้องมาช่วยกันเพื่อดูเด็ก ซึ่งพูดไม่ได้ และพูดไม่ชัด ครูเนี่ยอยู่แผนกกุมารเวชศาสตร์ เวลานี้กำลังมีปัญหา เรื่องเด็กหูหนวกเป็นใบ้ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เด็กที่พูดไม่ชัดพูดเป็น อ.อ่างไปหมด ต่าง ๆ นานา ไม่มีใครดูแลเลย เด็กที่ปากแหว่ง เพดานโหว่ พูดไม่ชัดอะไรต่าง ๆ เนี่ย หมอต้องมาช่วยกันนะ…”
นั่นคือ แม้พรสวรรค์ที่ได้รับครั้งนั้น ผมก็เลยรู้ว่า การที่เราเรียนวิชาที่แปลก แตกต่างจากคนอื่นมา มันทำให้เราหยุดไม่ได้ เราจะต้องบุกต่อไป และจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือว่า โรงพยาบาลรามาธิบดียังไม่เปิด เพราะฉะนั้น ทุกเช้าผมต้องไป Report เพื่อจะไปดูคนไข้หู คอ จมูก เด็กที่พูดไม่ได้ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กับ อาจารย์หมออัศวิน เทพาคำ กับ อาจารย์หมอจีระ ศิริโพธิ์ ก่อนที่นั่น ผมก็จะไปที่แรกทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ตอนหลังก็ไปทั้ง จันทร์ – ศุกร์ เลย เพราะว่าเด็กมันเยอะหลายคน
การทำงานที่สำคัญที่สุดของผมก็คือ สมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็จะเสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัด แล้วก็จะมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจและดูแลในต่างจังหวัดได้ จำเป็นจะต้องส่งเข้ามาเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะถูกส่งมาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเมื่อถึงที่นั่นก็จะจำหน่ายต่อว่าควรจะไปโรงพยาบาลใด เด็กที่หูหนวกเป็นใบ้ และพูดไม่ได้ทุกคนจะถูกส่งไปที่หมออัศวิน เทพาคำ แล้วท่านก็จะเลือกว่าเป็นเรื่องสมองพิการ หรือ เรื่องหู ถ้าเป็นเรื่องสมองพิการก็จะส่งไปที่สถาบันประสาทวิทยาที่พญาไท ถ้าเป็นเรื่องของหูก็จะส่งมาที่หมออัศวิน เทพาคำ ผมก็จะเป็นคนไปดูให้ เชื่อไหมครับว่า ผมเป็นคนแรกในประเทศที่สามารถบอกได้ว่า เด็กคนนี้หูหนวกประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เด็กคนนี้ยังอายุไม่ถึง 2 ขวบ เป็นที่แรกที่สามารถตรวจได้ในลักษณะแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็ได้รับคนไข้พระราชทานมาโดยตลอดเลย ชื่อของผมก็อาจจะอยู่ที่ เรียกว่า มีคนกราบบังคมทูลบ่อยว่า ถ้าเด็กพูดไม่ได้ต้องไปหาหมออัศวิน กับ หมอพูนพิศ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แล้วพอโรงพยาบาลรามาธิบดีเปิด แทนที่จะไปที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กลับส่งมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีทั้งหมด
ช่วงการทำงานกับมหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ ผมยังได้มีโอกาสดูแลเด็กคนหนึ่งที่มีอาการหูหนวกและเป็นใบ้ ซึ่งอาจารย์หมอจันทรนิวัทธ์มีความประสงค์จะให้ผมรักษาอาการ เด็กคนนี้เป็นหลานชายของศาสตราจารย์บุญถิ่น อัตถากร ชื่อ เด็กชายพีระ อัตถากร เกิดที่ชิคาโก (Chicago) ขณะตั้งครรภ์แม่ของเด็กเป็นหัดเยอรมัน ส่งผลให้ลูกคลอดออกมามีอาการหูหนวกเป็นใบ้ ผมเป็นคนนั่งทำชิ้นพลาสติกสำหรับใส่เข้าไปในหู โดยให้เกาะติดแน่นแล้วก็ต่อกับเครื่องช่วยฟังและสอนพูดให้ด้วย ก่อนที่จะมีแหม่มอีกคนมารับเด็กชายพีระไปไว้ที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศจึงกลายเป็นโรงเรียนที่เริ่มต้นสอนเด็กหูหนวกประถมวัยกลุ่มแรก มีเด็กประมาณ 5 – 6 คน มีรองศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ เย็นอุทก เข้ามาช่วยกัน และผมก็สอนให้ครูที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศว่า การดูแลเด็กเล็ก ๆ ที่หูหนวกเป็นใบ้ทำอย่างไร ก่อนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิงเบญจา แสงมลิ จะสร้างกลุ่มอนุบาลเด็กหูหนวกขึ้นที่นั่น ก็เป็นอันว่า นี่เป็นเชื้อไฟก้อนแรกเลย
ต่อมาเมื่อใกล้จะถึงกำหนดครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดูแลเรื่องซ่อมวังหลวง (พระบรมมหาราชวัง) ในตอนนั้นก็มีเรื่องของเด็กหูหนวกคนหนึ่ง ซึ่งท่านทรงพบเด็กคนนี้ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชื่อ เด็กชายปฤณ โชคเจริญ ท่านเห็นว่าเด็กคนนี้หูหนวกเป็นใบ้ ท่านส่งเด็กจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาให้ผมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายหลังจากผมตรวจดูอาการของเด็ก ผมจึงเขียนจดหมายไปทูลว่า เด็กคนนี้สมควรจะให้รอเข้าโรงเรียนสอนคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือ ถ้าเผื่อจะให้ใส่เครื่องช่วยฟัง เด็กควรจะต้องมีพ่อแม่ค่อยดูแลเป็นพิเศษ เพราะเครื่องช่วยฟังแบบ 2 หู มีราคาสูง และเด็กก็ยังซนมาก หากไปเล่นน้ำเล่นท่าต่าง ๆ เครื่องอาจจะเสียหายได้ ขอแนะนำว่าเด็กคนนี้หูหนวกมากจริง ๆ ไม่ควรจะใช้วิธีการสอนพูดแบบที่ผมทำเป็น แต่อยากจะให้รอเอาไว้ไปเข้าโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือ ต่อไปข้างหน้า ปรากฏว่า วันนั้นตอนเย็นมีโทรศัพท์มาจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน บอกว่ารอไม่ได้เด็กอย่างนี้ปล่อยให้หลุดเสียโอกาสไปได้อย่างไรตั้งหลายปี กว่าจะได้เข้าโรงเรียน มีรับสั่งให้ผมเข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และนี่คือสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดศูนย์ทดลองเด็กหูหนวกปฐมวัยขึ้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และทางโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา ทรรทรานนท์ มีผม และอาจารย์ต่าง ๆ ได้เข้าไปช่วยเปิดศูนย์ทดลองเด็กหนูหนวกปฐมวัย ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ผมก็เลยกลายเป็นผู้ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กหูหนวกปฐมวัย และก็ได้เป็นกรรมการอะไรทุกอย่าง
โดยสรุปแล้วก็คือ ในที่สุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมดูแลวิทยาลัยราชสุดา ซึ่งเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของคนหูหนวกในประเทศไทย ที่เรียนจบปริญญาตรี และนี่แหละครับ คือ การทำงานจากนิวเคลียสเล็ก ๆ อย่างที่พ่อสอนไว้ว่า
“...ทำอะไรที่คนอื่นเขาไม่รู้ แต่ทำให้มันดี ทำให้มันดัง แล้วทำให้มันเห็นประโยชน์ชัดเจน แล้วชื่อเสียงจะมาเอง...” นี่ คือ สิ่งที่พ่อสอน
เพราะฉะนั้นผมก็ทำตามที่พ่อสอนทุกอย่าง ผมก็ได้ใช้วิชาการทางการแพทย์ ผสมกับวิชาการทางด้านคนพิการ มันก็ออกมาเป็นงานดูแลคนพิการ แล้วก็วิชานี้ผมก็ได้เปิดสอนในประเทศไทย ผมจึงกลายเป็นบิดาแห่งวิชา ออดิโอโรจี (Audiology)2 แล้วก็ได้ อาจารย์รจนา ทรรทรานนท์ มาช่วยอีกคน อาจารย์รจนาก็กลายเป็น มารดาแห่งวิชา speech pathology3 ในที่สุดเรา 2 คน ก็กลายเป็นบิดามารดาของวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ซึ่งยังเปิดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ปัจจุบันนี้ที่อื่นก็ไม่สามารถจะเปิดได้เลย แล้วเราก็พัฒนาคนกลุ่มนี้ขึ้นมา จนกระทั่งกลายเป็นวิชาชีพอีกสาขาหนึ่งที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ เช่นเดียวกับพยาบาล เช่นเดียวกับนักกายภาพบำบัด เช่นเดียวกับนักกิจกรรมบำบัด เราก็ต่อสู้มาจนกระทั่งเวลานี้มีเกือบ 500 คน ทั่วทั้งประเทศไทย ที่เรียนจบปริญญาตรี / โท / เอก และถือใบประกอบโรคศิลป์ในปัจจุบัน ตกลงผมกลายเป็นแพทย์ที่ฉีกแนวออกไปจากวิชาแพทย์หรือวิชาการผ่าตัดอะไรต่าง ๆ ฉีกออกไปทำงานด้านบริการ