ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ มูลนิธิราชสุดา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ถ่ายเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ผมชื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2480 เวลาหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย แต่ภายหลังเมื่อเข้าเรียนแพทย์ได้เริ่มทำทะเบียนสำมะโนครัว ปรากฏว่าผมต้องแจ้งเกิดใหม่เป็นวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2480 ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมนั้นเกิดหลังสองยาม แต่สำหรับตัวผมเอง ผมยังถือว่า ผมนั้นเกิดวันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2480 มาโดยตลอด ผมเกิดและเติบโต ณ วังของเสด็จพระองค์เหม หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ณ บ้านเลขที่ 4 ถนนพิชัย อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร คุณพ่อผมชื่อ ร้อยโทพิศ อมาตยกุล และคุณแม่ผมชื่อ นางประเทือง เอมะศิริ
สมัยวัยเด็กผมเริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้าน โดยมีคุณครูคนแรก ชื่อ นางสาวถวาย สุอังค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงของเสด็จพระองค์เหม ตอนนั้นคุณแม่ของผมเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนขัตติยานีผดุง เป็นโรงเรียนราษฎร์เล็ก ๆ อยู่ตรงข้ามกับบ้าน แต่แม่บอกว่า “...สอนลูกของตัวเองไม่ได้ต้องให้คนอื่นสอน..." วัยเด็กผมสามารถเรียนหนังสือได้เร็วพอสมควร พอผมอายุได้ 5 ปี ย่าง 6 ปี คุณพ่อพาไปฝากเข้าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งมีผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้น คือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา หรือ ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา1 ผมได้เข้าพบท่านพร้อมกับคุณพ่อ คุณแม่ และคุณป้า หรือ นางสาวมณี เอมะศิริ ซึ่งเป็นพี่สาวของคุณแม่ผม และยังเป็นคุณครูที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยด้วย ท่านรับผมเข้าไปอยู่ที่คณะสนามจันทร์ คือ คณะเด็กเล็ก จำได้ว่าตอนนั้น มีเด็กทั้งหมด 61 คน ผมเป็นเด็กคนที่ 61 มีตู้ใส่เสื้อผ้า หมายเลข 61 หลังจากผมเข้าไปอยู่ได้สักประมาณ 15 วัน ก็มีคนที่ 62 เข้ามา และคนคนนี้ก็เลยกลายเป็นเพื่อนกันมาจนกระทั่งเรียนจบเป็นแพทย์ เพื่อนคนนี้ก็คือ นายแพทย์ประดับ สุขุม (ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ) เราเรียนด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งอยู่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ผมเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่นั่นเรียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลยนะครับ ผมจึงสามารถคัดลายมือทั้ง 2 ภาษาได้อย่างคล่อง นอกจากนี้ในสมัยนั้นมีคุณครูมาสอนเล่นกีฬาในช่วงเย็น และกีฬาที่สอนในสมัยนั้นคือ “ฟุตบอล” เพราะเป็นกีฬาที่รัชกาลที่ 6 หรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปราน ดังนั้น เด็กโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนจึงได้ฝึกหัดกีฬาฟุตบอลตั้งแต่เด็ก ๆ พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะแยกไปเรียนรักบี้ ส่วนผมนั้นเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้เพียงปีเดียวก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ท่วมประมาณ 2 เดือน คือประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ก็อยู่ประมาณเทอมปลาย โรงเรียนจึงหยุดการเรียนการสอนไประยะหนึ่ง พอน้ำลดกลับเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีก นั้นก็คือ “ญี่ปุ่นบุก” หรือที่เราเรียกช่วงนั้นว่า “สงครามโลกครั้งที่ 2” ในช่วงแรก ๆ เป้าหมายการทิ้งระเบิดยังไม่ใช่บริเวณกรุงเทพฯ มากเท่าไร แต่พอผมกำลังจะขึ้นชั้นประถมปีที่ 2 ระเบิดถูกทิ้งลงที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเลยทีเดียว และระเบิดยังถูกทิ้งลงที่สถานทูตแมนจูกัว ซึ่งตรงข้ามกับบ้านที่ถนนพิชัยนั่นแหละ อันตรายมาก ทางโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงย้ายนักเรียนทั้งหมดไปเรียนที่พระราชวังบางปะอิน แต่ผมไม่ได้ไปด้วย ด้วยเหตุที่ว่ายังเด็กมาก
ส่วนทางวังเสด็จพระองค์เหม เสด็จก็ทรงขุดหลุมหลบภัยที่สนามใหญ่ของตำหนัก มาระยะหลังระเบิดลงหนักมาก ถึงขั้นเรียกว่าตายกันโครม ๆ เลยทีเดียว ก็เลยตัดสินพระทัยว่าจะย้ายเด็กทั้งหมด รวมทั้งคนแก่ไปอยู่ที่ ตำบลหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เราก็ไปอาศัยอยู่ที่บ้านสมประสงค์ อันเป็นบ้านของราชสกุลบริพัตร เพราะว่าทูลกระหม่อมบริพัตร ท่านทรงมีบ้านอยู่ที่หัวหิน ชื่อบ้านนั้นเป็นชื่อของพระชายา คือ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร บ้านหลังนั้นจึงมีชื่อว่า “บ้านสมประสงค์” บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมทะเล เลยโรงแรมหัวหินในสมัยนั้น แต่ปัจจุบัน เรียกว่า โรงแรมโซฟิเทล (Sofitel) เลยไปไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร ดังนั้นผมก็เลยไปโตที่นั่น
เมื่อพูดถึงการเรียนในสถานที่ใหม่อย่างหัวหิน สมัยนั้นโรงเรียนที่หัวหินมีเพียง 2 โรงเท่านั้น นั่นก็คือ “โรงเรียนประชาบาล” มีถึงชั้นประถมปีที่ 4 กับ “โรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยา” ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ด้วยเสด็จพระองค์เหมทรงสนพระทัยในการศึกษามาก ก็เลยเสด็จไปทอดพระเนตรโรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยา ปรากฏว่าเป็นโรงเรียนที่มีอาคารหลายหลังด้วยกัน เป็นเรือนไม้อยู่ริมทะเล ติดกับวังของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตรงบริเวณที่เรียกว่าหัวหินจริง ๆ ดังนั้นผมก็เลยได้เข้าไปอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ที่โรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยา ซึ่งมีคุณครูชุณห์ เจริญเนือง เป็นครูใหญ่ และครูประจำชั้นของผมชื่อ ครูเปรม ที่โรงเรียนมีอะไรดี ๆ หลาย ๆ อย่าง เช่น การท่องสูตรคูณตอนเย็นทุกวันก่อนโรงเรียนเลิก ต้องร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในเย็นวันศุกร์ก่อนที่เราจะหยุด เสาร์ – อาทิตย์ แล้วก็เพลงชาติร้องทุกวันอยู่แล้วในตอนเช้า 08.30 น. โรงเรียนเข้า การไปโรงเรียนของผม เราจะเดินจากบ้านไปโรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยา เราจะเดินเท้าไปเดินตรงชายหาด เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ใส่รองเท้ากันเลย ผมอยู่ที่โรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยา 1 ปี จนจบชั้นประถมปีที่ 2 ก็เป็นช่วงพอดีกับวังไกลกังวลที่หัวหินได้ขยายชั้นเรียนของเด็กที่เคยสอนกันภายในวังมาก่อนขึ้นเป็น โรงเรียนระดับชั้นมัธยมต้น คือ ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 – มัธยมปีที่ 3 เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งที่ 2 ของกิ่งอำเภอหัวหิน
ผมจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวลในชั้นประถมปีที่ 3 ตามรับสั่งของเสด็จว่า
“...ในเมื่อครูเก่าของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยชื่อ ครูวิชิต มาเป็นครูใหญ่ไกลกังวลก็ควรย้ายไปเรียนที่นั่น ต่อมาก็มีครูแหม่ม ซึ่งมาจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งย้ายมาอยู่ที่ชายหาดบ้านอยู่เย็นอีกแห่งหนึ่งมาช่วยสอนภาษาอังกฤษด้วย เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกว่าวิชาจะแข็งกว่าโรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยา...”
จึงเป็นเหตุผลให้ผมได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวล เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขตวังไกลกังวล เราจะต้องเดินทางถึง 3.5 กิโลเมตร ทุกเช้า เราเอาข้าวไปกินที่นั่นด้วย ผมจำได้ว่า ครูประจำชั้นชื่อ ครูพัฒนา เป็นลูกของท่านขุนธนฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลวังไกลกังวลอยู่ในยุคนั้น การเรียนของผมที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ถือว่าเรียนหนังสือได้ค่อนข้างจะดี ผมเริ่มต้นเรียนรู้วิชาการขับร้องเพลงไทยเดิมอย่างจริงจัง เมื่อตอนไปอยู่โรงเรียนวังไกลกังวล อันที่จริงร้องเป็นต้นเสียงมาแล้วสมัยอยู่โรงเรียนมัธยมสาธุการวิทยาแล้ว เพราะอยู่ในวังร้องเพลงไทยเดิมมาก่อน เมื่อมาอยู่โรงเรียนวังไกลกังวลก็ได้เรียนการขับร้องเพิ่มมากขึ้นจากครูสอน และได้จำเพลงที่เสด็จท่านทรงสอนนำไปสอนเพื่อน ๆ จนบางทีสอนครูด้วย
ผมเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวังไกลกังวล โดยมีครูประจำชั้น ซึ่งเป็นครูที่ดุมากเลย และเอาใจใส่เราดีมากเลย ท่านชื่อ ครูสาย สวัสดิมงคล ครูสายก็ยังคงมีชีวิตอยู่จนปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) (ตอนผมเป็นศาสตราจารย์แล้ว ผมก็เคยไปกราบท่าน) หลังจากที่ผมมาอยู่วังไกลกังวลแล้ว ตอนนี้ชักจะเริ่มมีแนวทางหรือแนวความคิดแล้วว่า เมื่อโตขึ้นอยากจะเรียนทางสายวิทยาศาสตร์ แล้วก็ ถ้าเป็นไปได้อยากจะเรียนแพทย์ คิดมาตั้งแต่นั้นเลยนะครับ ครูก็บอกว่าผมเป็นเด็กที่ทำงานไม่สะอาด สมุดการบ้านสกปรกเลอะเทอะ ทั้งที่สมัยนั้นใช้ดินสอ ไม่ได้ใช้ปากกา งั้นแสดงว่าผมก็ไม่ใช่เด็กดีอะไรนักหรอก แต่ปรากฏว่าในการสอบประโยคประถม ชั้นประถมปีที่ 4 ผมสอบได้ที่ 1 ของอำเภอ ซึ่งตอนนั้นเป็นกิ่งอำเภอหัวหินนะครับ และในการสอบครั้งนั้น ผมจำได้เลยครับคุณอามาลี ซึ่งท่านดูแลผมอยู่เป็นคนคอยบังคับให้ผมตื่นตั้งแต่ตี 5 จุดตะเกียงให้ผมท่องหนังสือ การดูหนังสือเช้ามืด ตั้งแต่พระอาทิตย์ไม่ขึ้นเลยเป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่ตอนนั้น
พอผมจบชั้นประถมปีที่ 4 เข้าชั้นมัธยมปีที่ 1 คุณครูประจำชั้นพูดเลยว่า เด็กคนนี้เป็นเด็กตัวอย่างตอนนี้วิชาคำนวนกับวิชาภาษาอังกฤษใช้การได้ดี ผมอยู่โรงเรียนที่วังไกลกังวลได้ประมาณเดือนกว่า ๆ ก็มีโรงเรียนใหม่ซึ่งฝรั่งคณะนักบวช คณะซาเลเซียนมาเปิดขึ้นแล้วก็ตั้งโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย” เผอิญเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ตำหนักประทับของเสด็จมากเลย ค่าเล่าเรียนปีละ 100 บาท ซึ่งนับว่าเยอะมาก เพราะสมัยนั้นทอง 1 บาท เท่ากับ 250 บาท ฉะนั้นการที่เรามาอยู่โรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียน ปีละ 100 บาท ก็เกือบเท่ากับทอง 2 สลึง ซึ่งตอนนั้นผมจำได้ว่าคุณพ่อมาหา คุณพ่อก็นำเงินถวายเสด็จไว้ 100 บาท แล้วก็บอกว่าเริ่มต้นยังไม่รบกวน แต่พอขึ้นปีที่ 2 ค่าเล่าเรียนของผมจึงอยู่ในการดูแลของเสด็จ
การเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 สมัยนั้น (สมัยนั้นยังไม่มี ป.5 / ป.6 นะครับ) ผมขึ้นมัธยมปีที่ 1 ผมเรียนหนังสือแม่นเหมือนวางเลยครับ คือ ที่ 1 ตลอดเลย นักเรียนมีทั้งหมด 14-15 คน ห้องหนึ่งนะครับ ผมตัวเล็กที่สุด อายุน้อยที่สุด สอบได้ที่ 1 ทุกครั้งเลย และทุกครั้งที่มีการประกาศผลสอบ เราจะนั่งกับพื้นที่โรงเรียน ใครได้ถูกเรียกชื่อขึ้นมาก็ลุกขึ้นยืน ใครที่สอบได้ที่ 1, 2, 3 ก็จะมีคนตบมือให้ เป็นอันรู้กันครับว่า ถ้าวันนี้จะมีการประกาศผลสอบ ผมจะต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ต้องทำรองเท้าให้สะอาด ถุงเท้าให้สะอาด เพื่อจะได้ยืนขึ้นอวดเพื่อนและเพื่อนก็จะได้ตบมือให้ ผมก็ครองที่ 1 เรื่อยมา จนกระทั่งถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ผมเรียนภาษาอังกฤษกับครูที่เป็น บราเดอร์ (หรือ ภราดา เป็นคำเรียกนักบวชชายที่ทำงานด้านการศึกษาในโรงเรียนแต่ท่านไม่ใช่บาทหลวงครับ) และเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มได้เรียนดนตรี ผมได้เรียนขับร้อง แต่เขาไม่ให้ผมเรียนโน้ต เขาให้ผมเรียนเฉพาะช่วยขับร้องแล้วก็ร้องเพลงประจำโรงเรียนนิดหน่อยเท่านั้นเอง ไม่ให้ผมเรียนเป็นโน้ต หรือ เรียนเป็นดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่เพื่อนที่เป็นคาทอลิกมีโอกาสได้เรียน อย่างเช่น เป่าแตรเดี่ยวสำหรับลูกเสือ หรือ ว่าอาจจะได้เรียน เครื่องดนตรี ประเภทเป่า อย่างเช่น ปี่คลาริเน็ต (Clarinet) หรือ อาจจะเป็นแตรขนาดเล็ก ๆ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น แต่ไม่ใช่แตรขนาดใหญ่ สมัยนั้นที่โรงเรียนก็มีวง (แตรวงแล้ว) หรือที่เรียกว่า วงโยธวาทิต เวลาเดินแถว ผมก็ตัวเล็กที่สุดก็มีการแปรขบวนหรือมีการต่อตัวอะไรต่าง ๆ นานา ก็จะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มนักแสดงประกอบดนตรีมาโดยตลอด
เมื่อตอนที่ผมสอบจบชั้นมัธยมปีที่ 3 มันเป็นชั้นประโยค สมัยนั้นผมสอบได้คะแนนดี ผมเรียนต่อมาอีก 3 ปี จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มัธยมปีที่ 6 ตอนนั้นถือว่าเป็นประโยคที่สำคัญมาก ๆ เลยตอนที่จะต้องส่งครูใหญ่จากโรงเรียนจากจังหวัดมาเป็นประธานสอบที่กิ่งอำเภอหัวหิน ปรากฏว่าผลการสอบครั้งนั้นทุกวิชา ทุกหมวด ผมสอบได้ที่ 1 ของอำเภอ แล้วในขณะนั้นก็มีเพื่อนมาจากโรงเรียนวังไกลกังวลอีกประมาณ 4 – 5 คน ทั้งอำเภอหัวหินก็สอบได้ยกชั้นหมดเลย ณ ขณะนั้น เราก็เดินทางจากหัวหินเข้ามากรุงเทพฯ มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ผมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) พร้อมเพื่อนอีก 1 คน ส่วนเพื่อนที่เหลืออีก 1 คน ไปสอบได้ที่โรงเรียนอื่น ๆ ปรากฏว่า เพื่อน ๆ ที่จบด้วยกันรุ่นนั้น แต่มาจากโรงเรียนอื่น ๆ ในประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีใครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ได้เลย นอกจากผมกับเพื่อนอีกคน ที่มาจากกิ่งอำเภอหัวหิน ผมก็เลยไปอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) เป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 16 ปี พ.ศ. 2496 จำได้ว่า วันที่ไปสมัครครูบอกว่า
“...ยังรับเธอไม่ได้ เพราะโรงเรียนของเธอยังไม่ได้รับวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนของรัฐบาล เพราะฉะนั้นใบสุทธิของเธอที่ส่งมาให้เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) เธอต้องกลับไปให้ศึกษาธิการอำเภอ เซ็นกำกับก่อน...”
ซึ่งสมัยก่อน การเดินทางไปหัวหิน เราต้องขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย จะไปถึงหัวหินตอนเย็น เช้าวันรุ่งขึ้นถึงสามารถเข้าพบศึกษาธิการ เพื่อให้ท่านเซ็นชื่อกำกับได้ และต้องรออีกวัน ถึงจะสามารถขึ้นรถไฟกลับมาบางกอกน้อยได้ เพราะฉะนั้นวันที่ผมเดินทางกลับมานะครับ มันเป็นวันสุดท้ายและเป็นครึ่งวันสุดท้ายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) จะรับ ผมไปถึงเวลา 11.00 น. เหลือเวลาอีก 45 นาที จะหมดเวลา อาจารย์สุนทรีย์เป็นคนรับ แล้วบอกว่า
“...ฉันกำลังนั่งเสียดายเธอเหลือเกินคะแนนเธอสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ดีมาก ๆ เหลือเกิน กลัวว่าเธอจะไม่มา หรือ ไปอยู่โรงเรียนอื่น...”
ผมก็กราบอาจารย์แล้วก็ขอบคุณอาจารย์ ผมพึ่งได้รู้ว่า ผมสอบเข้าเตรียมอุดมได้คะแนนดีมาก ทั้งที่เป็นเด็กบ้านนอก วันที่มอบตัวเสร็จเรียบร้อย ผมต้องจ่ายค่าเล่าเรียน 100 กว่าบาท ผมยังจำได้แม่นเลย ผมต้องไปหาคุณย่า เพราะสตางค์ที่คุณแม่มีไม่พอ คุณย่าก็ต้องเพิ่มสตางค์ให้ถึงได้มาจ่ายสตางค์ ที่ต้องไปสายถึงเกือบ 11 โมงเช้า เพราะสตางค์ที่จะต้องไปจ่ายค่าเล่าเรียนมันไม่พอ คือ เราไม่ได้มีสตางค์ แม้ว่าเราจะอยู่กับเสด็จ แต่ว่าเวลาที่เราเข้ามา กรุงเทพฯ แล้ว เราต้องมาเรียนของเราเอง ถ้าเราอยู่ที่วังท่านก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่เราออกจากวังท่านออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว นั่นก็นับเป็นเรื่องที่ขลุกขลักของชีวิต
วันที่เริ่มต้นเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ผมก็รู้ว่า ผมอยู่ห้องเบอร์ 42 ตึก 1 อาจารย์ประจำชั้น คือ อาจารย์พรรณี กาญจนจิตติ อาจารย์บอกว่า
“...เธอต้องรู้นะว่า เธอนะอยู่ห้อง King คนที่นี่เรียนหนังสือเก่งหมดเลย มาจากคนละทิศ คนละทาง...”
นักเรียนมีทั้งหมด 35 คน มีผู้หญิง 10 คน และ ผู้ชาย 25 คน ทุกคนก็ลุกขึ้นยืนแนะนำตัวว่าชื่ออะไร นามสกุลอะไร อายุเท่าไร มาจากโรงเรียนอะไร สอบ ม.6 มาจากโรงเรียนนั้น ได้คะแนนเท่าไร วันนั้นผมมีความรู้สึกว่า เหลือตัวเล็กนิดเดียว เพราะเพื่อนที่อยู่ในห้องมาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนเทพศิรินทร์ มาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ มาจากโรงเรียนใหญ่ ๆ ทั้งนั้นเลย พอผมลุกขึ้นยืน “...ผมมาจากโรงเรียนหัวหินวิทยา...” ซึ่งไม่มีใครรู้จักเลย และยังมีเพื่อนอีกคนมาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา เพื่อนคนนี้ คือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์มันตรี จุลสมัย ซึ่งนั่งอยู่หลังผม ตัวโตกว่าผมนิดเดียว เราเลยเป็นเพื่อนมาจากต่างจังหวัดคู่กันมาโดยตลอด ผมจำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้ามาจากเมืองลาว รู้สึกจะชื่อ ท่านเพชร นามสกุล ชฏาคม ห้องเราค่อนข้างจะหลากหลาย ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ 2 ปี ปีที่ผมสอบจบ ม.8 ผมสอบได้ 50 คนแรกของประเทศไทย แล้วก็ อาจารย์โรจนี เป็นคนติววิทยาศาสตร์ให้ผม เพื่อจะสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมสอบได้เป็น กลุ่มแรก 43 คนแรก ที่ได้เรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เป็นอันว่า ความคิดที่จะได้ไปเรียนแพทย์มาเกือบถึงปลายทางแล้ว คือ ได้เข้าเรียนอยู่ที่แผนกวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลุ่มที่ 1 ด้วย เรียน ๆ ไปก็มีความสุขมากที่อยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะว่ามันได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เรียนให้ทราบเลยว่า มารู้ตัวว่าตัวเองมีความสามารถทางศิลปะมาก ๆ เลย ก็เมื่อตอนที่เข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร้องเพลง ได้เล่นโขน ได้รำ เพลงช้า เพลงเร็ว ได้ฝึกหัดเป็นตัวยักษ์ กีฬาเกือบจะทิ้งเลย แต่หันมาเล่นศิลปวัฒนธรรมทั้งหมด แล้วกลับมานั่งนึกว่า เอ...ตัวเราชอบงานศิลปวัฒนธรรม ชอบดนตรี แล้วทำไมจึงมาเรียนวิทยาศาสตร์ ผู้ปกครองทุกคนเลยบอกว่า สนุกอย่างนั้นได้ แล้วอย่าไปหลงเล่นดนตรี และละครมากเกินไป เพราะเราเรียนวิทยาศาสตร์ได้คะแนนดี เราก็ควรที่จะเรียนแพทย์ต่อไป
ขณะที่ผมอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำคะแนนวิชาพฤกษศาสตร์ได้ดีมาก จนกระทั่งท่านอาจารย์หลวงศรีสมานวิชากิจ (นามสกุล หัพพานนท์) ขอดูตัว แล้วถามผมว่า เป็นอาจารย์พฤกษศาสตร์ไหมจะหาทุนให้เรียน ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เพราะว่าตั้งแต่สอบมา พึ่งจะเจอคนคนนี้ ที่สอบวิชาพฤกษศาสตร์ได้คะแนน 99 จาก 100 คะแนน ซึ่งผมก็ชอบมากเลยเรื่องต้นหมากรากไม้ ชอบมาก ก็บอกท่านว่าไม่ครับ ผมอยากเรียนแพทย์ ในที่สุดก็ได้ข้ามฟากไปเรียนแพทย์ที่ศิริราช
การได้ข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราชนั้น เริ่มมาจากคุณป้าของผม ท่านเป็นพยาบาลอยู่ที่ศิริราช ซึ่งท่านเป็นพยาบาลรุ่นเดียวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ท่านก็แนะนำว่าไปอยู่ที่ศิริราชดีกว่า ท่านก็พาผมไปหาเพื่อนท่าน ชื่อ คุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท คุณหญิงพิณพากย์ก็พาไปพบคุณหลวงพิณพากย์ ซึ่งเป็นคณบดีอยู่ในขณะนั้น และท่านก็สัมภาษณ์ผมเรียบร้อย แล้วท่านก็ว่ามาอยู่ด้วยกันที่ศิริราชก็แล้วกัน ผมก็เลยได้เข้ามาเรียนที่ศิริราช
ผมเรียนที่ศิริราช 4 ปี ก็จบที่นั่น ผมไม่ได้เกียรตินิยมไม่ได้อะไรเลย และอยากจะบอกว่า ปีที่ 1 ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย เพราะเรียนหนักมาก แต่พอขึ้นปีที่ 2 ผมได้เข้าไปร่วมงานดนตรีไทย โดยมีครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เป็นครูที่เก่งมากท่านหนึ่ง ท่านเป็นคนวังบางขุนพรหม ท่านมาเป็นครูสอนดนตรีที่ศิริราช เพราะฉะนั้นผมจึงได้เรียนดนตรีอย่างจริงจังที่นั่น ชีวิตผมเป็นชีวิตของนักเรียนที่เรียนหนังสือเก่ง เป็นชีวิตที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่มีความฝักใฝ่ทางด้านศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด มันเริ่มแสดงออกแล้ว ตั้งแต่เข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่มีโอกาส ในที่สุดผมก็เรียนแพทย์จบเมื่อปี พ.ศ. 2505 แล้วได้ทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราชอีก 2 ปี