สู่มหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ

ในปี พ.ศ. 2507 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นำโดย ศ.นพ. ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีในสมัยนั้น ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายรายงาน และโอกาสนั้น ได้ขอพระราชทานพระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย ในการนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสรับสั่งว่า

 

“…ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ปรับขยายให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์เสียก่อน เพื่อให้สมพระเกียรติ แต่ขอให้เป็นไปในทางประหยัด...”

ซึ่งคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้รับพระราชกระแสรับสั่งนี้มาดำเนินการ โดยการประชุมสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ได้อนุมัติให้จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่ด้วยหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2486 ไม่ครอบคลุมไปถึงวิชาอื่น ๆ จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อขยายมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ตามพระราชกระแสรับสั่ง และขอพระราชทานพระนามาภิไธยใหม่อีกครั้งในโอกาสเดียวกันด้วย

โดยในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเลขาธิการสภาการศึกษา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อถวายรายงานเรื่องการขอพระราชทานพระนามาภิไธย “มหิดล” เป็นชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่มีพระราชกระแสว่า

 

“…เมื่อพร้อมแล้ว และทางรัฐบาลเห็นสมควรก็ไม่ขัดข้อง…”

จากนั้นมหาวิทยาลัยได้ร่างพระราชบัญญัติใหม่ จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2512 มีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งพระราชบัญญัตินี้มีใจความสำคัญว่า

 

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” มีขอบเขตดำเนินการกว้างขวางขึ้น...”

จึงถือเป็นการพระราชทานนามมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” อย่างเป็นทางการในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 และถือเอาวันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” สืบมา


ข้อมูลอ้างอิง