ตราสัญลักษณ์ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์”

ตราสัญลักษณ์ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์”

หลังจากการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็น “กระทรวงสาธารณสุข” มีการนำสัญลักษณ์งูพันไม้เท้ามาใช้เป็นตรากระทรวง โดยมีการปรับเปลี่ยนเป็นกำหนดเป็นรูปคบเพลิงมีปีกและมีงูพันรอบคบเพลิงแทน

และเมื่อมีการสถาปนา “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้น มหาวิทยาลัยได้ใช้ตราสัญลักษณ์ล้อกับตรากระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยวงกลม 2 ชั้น ภายในเป็นรูปงูพันคบเพลิง วงนอกด้านบนเขียนว่า "อตฺตานํ อุปมํ กเร" ด้านล่างเขียนชื่อ "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" และด้านข้างตรงกลางระหว่างตัวอักษรด้านบนและด้านล่าง มีลายประจำยาม ด้านละ 1 ดวง ซึ่งได้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเรื่อยมา

ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

https://www.hopkinsmedicine.org/news/publications/hopkins_medicine_magazine/archives/springsummer_2011/caution_caduceus_in_error

สำหรับสัญลักษณ์งูพันไม้เท้านี้ แท้จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ไม้เท้าคาดูเซียสของเทพเฮอร์เมส (The Caduceus, Staff of Hermes) เทพแห่งการค้าขาย การคมนาคม การสื่อสาร และความสงบสุข ซึ่งคนมักสับสนกับสัญลักษณ์งูพันไม้เท้าของเทพแอสคลิเพียส (Rod of Asclepius) เทพแห่งการแพทย์

The Caduceus สัญลักษณ์งูพันไม้เท้า มีการนำไปใช้ครั้งแรกสำหรับทำเป็นสัญลักษณ์ของศัลยแพทย์แห่งสหรัฐฯ (the Surgeon-General) ในปี 1818 จากนั้นสัญลักษณ์นี้ถูกนำไปใช้ในหน่วยงานทางการแพทย์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ตราแพทย์ของ the United States Marine Service ในปี 1856 เครื่องหมายของอาสาสมัครหน่วยแพทย์ (Hospital Stewards) ของกองทัพสหรัฐฯ ในปี 1857 เครื่องหมายการบริการสาธารณสุขของสหรัฐฯ (the United States Public Health Service) ในปี 1871 และถูกใช้ในเครื่องหมายของกองแพทย์ทหารแห่งสหรัฐอเมริกา (the United States Army Medical Corps) ในปี 1902 เป็นต้น ซึ่งคนมักมีการใช้สลับระหว่างสัญลักษณ์ Rod of Asclepius และสัญลักษณ์ The Caduceus อยู่เสมอ

ภาพเทพแอสคลิเพียสและเทพเฮอร์เมส

โลโก้หน่วยงานทางการแพทย์ต่าง ๆ

ศ.นพ. อวย เกตุสิงห์

สำหรับคำขวัญมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ศ.นพ. อวย เกตุสิงห์ ได้เขียนอธิบายไว้ในบทความ “แด่หมอใหม่ – อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” ใน สารศิริราช ปีที่ 13 ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2504 ความว่า

“…อตฺตานํ อุปฺมํ กเร เป็นคติประจำมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และปรากฎบนตราของมหาวิทยาลัย เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น ใน พ.ศ. 2486 คณะกรรมการมหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า บนตราของมหาวิทยาลัยควรมีคติพจน์ปรากฎอยู่เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของนิสิตและบัณฑิตทั้งหลาย พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกกรรมการสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น จึงขอรับภาระเป็นผู้จัดหาสุภาษิตที่เหมาะ และต่อมาก็ได้เสนอ ‘อตฺตานํ อุปฺมํ กเร’ ซึ่งท่านอ้างว่าได้รับการแนะนำมาจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง คณะกรรมการมหาวิทยาลัยฯ มีความเห็นพ้องด้วย และได้รับเอาคติพจน์นี้ เป็นสมบัติประจำของมหาวิทยาลัยสืบต่อมา…”

“...อตฺตานํ อุปฺมํ กเร มีที่มาจากพระพุทธวัจนะตอนหนึ่ง ซึ่งปรากฎในพระสุตตันตปิฎก ตามรูปศัพท์แปลว่า ‘พึงกระทำตนเป็นอุปมา’ หมายถึง พึงเอาตัวเองเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ถ้าจะกล่าวง่าย ๆ คติพจน์นี้ก็มีความหมายว่า เมื่อจะกระทำอะไรแก่ใคร ควรลองนึกดูเสียก่อนว่า หากมีผู้มากระทำเช่นนั้น ๆ แก่เรา เราจะมีความรู้สึกอย่างไร หรือถ้าจะใช้คำกล่าวที่พูดกันอยู่โดยแพร่หลายว่า ‘พึงเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ก็เห็นจะพอได้...”


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

งานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 ชั้น 3 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2849-4541-2
โทรสาร 0-2849-4545

TOP