รุดก้าวหน้านำไทย

เมื่อสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ด้วยในขณะนั้นยังมีโรงเรียนแพทย์เพียงแห่งเดียว คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งประจวบกับการที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร และอนุปริญญาบัตรแก่แพทย์และพยาบาล ณ โรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ. 2489 และได้พระราชทานพระบรมราโชวาทใจความสำคัญว่า พระองค์ใคร่จะให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงได้สนองพระราชปรารภโดยติดต่อประสานงานกับผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์และอนามัย สภากาชาดไทย เพื่อขอความร่วมมือในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยและมีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนวิชาแพทย์มากที่สุด กระทั่งในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ได้มีการจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่สองในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2491 เพื่อสร้างบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้ตอบสนองความต้องการในการให้บริการและการวิจัยด้านการสาธารณสุขของประเทศ โดยเริ่มแรกนั้นยังไม่มีงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียน และได้ใช้สถานที่ของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นที่เรียนชั่วคราว และได้ย้ายไปใช้พื้นที่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และใช้ตึกของแพทยสมาคม ย่านศาลาแดงเป็นที่เรียน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2498 จึงได้ใช้พื้นที่ตรงข้ามโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินสมทบร่วมกับสหรัฐอเมริกา และเงินจากงบประมาณแผ่นดินในการสร้างตึก 3 ชั้น ใช้เป็นอาคารเรียนและอาคารอำนวยการ โดยย้ายเข้ามาทำการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2498

คณะเทคนิคการแพทย์ เริ่มต้นจากการที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีดำริให้มีการจัดทำหลักสูตรการอบรมพนักงานวิทยาศาสตร์ สำหรับการตรวจทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ในปี พ.ศ. 2487 แต่โครงการได้ถูกระงับไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ได้นำเรื่องการอบรมพนักงานวิทยาศาตร์ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากต้องการผลิตบุคลากรที่ตรงกับสายงาน เพราะแต่ก่อนนั้นได้ใช้พยาบาลไปฝึกในการตรวจวิเคราะห์ซึ่งไม่ตรงกับวิชาชีพ โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้มีการดำเนินการและเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2499 มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้ง โรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้น เพื่อการเรียนการสอนสำหรับการผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และเพื่อบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดตั้ง คณะเทคนิคการแพทย์ อย่างเป็นทางการ

ในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนแพทย์ถึงสองคณะแล้วก็ตาม แต่ก็ยังขาดแคลนแพทย์อยู่ และการกระจายแพทย์ไปสู่ชนบทก็ยังไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ. 2499 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเสนอขอจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามที่สาม โดยมีจุดมุ่งหมายว่า “เพื่อให้แพทย์ได้สัมผัสกับชีวิตในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีจิตใจรักภูมิภาค และด้วยความหวังว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะยังคงประกอบอาชีพในส่วนภูมิภาค” จึงเสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พิจารณาให้จัดตั้งที่จังหวัดพิษณุโลกแทนจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้เสนอไป ในปีเดียวกันนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการติดต่อขอความช่วยเหลือในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา โดยสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงิน 65 ล้านบาท และด้านวิชาการ แต่ขอให้จัดสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ แทนจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความเจริญและมีรายได้ของประชากรต่อหัวมากกว่าจังหวัดพิษณุโลก จึงได้มีการจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2502 และในปีถัดมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่

จากการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่นี้เอง ทำให้เกิดการก่อตั้ง โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี พ.ศ. 2501 เพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์ และเตรียมประเภทวิชาอื่น ๆ โดยรับเฉพาะนักศึกษาที่จะไปศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่เท่านั้น โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน เริ่มแรกมีการเรียนการสอนที่ตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปีต่อมาได้ย้ายมายังอาคารเรียนใหม่ ณ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2503

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 เดิมใช้ชื่อว่า คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน โดยการริเริ่มของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต ตั้งขึ้นเพื่อ "สอนและอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความชำนาญในการบำบัด รักษา และป้องกันโรคเขตร้อน ทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพื่อการแก้ปัญหาโรคเขตร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งให้บริการรักษาผู้ป่วย รับปรึกษาให้คำแนะนำแก่แพทย์ และสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องโรคเขตร้อน" โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ และปีต่อมาได้ย้ายสำนักงานมายังตึกเวชกรรมเมืองร้อน ถนนราชวิถี จนถึงปัจจุบัน

คณะกายภาพบำบัด เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2507 จากการแยกหน่วยงานออร์โธปิดิกส์ออกจากภาควิชาศัลยศาสตร์เป็นภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยมีการติดต่ออาจารย์จากต่างประเทศมาช่วยสอน และได้ส่งบุคลากรไปศึกษาเกี่ยวกับการสอนในต่างประเทศ เพื่อเตรียมการในการเปิดโรงเรียนกายภาพบำบัด ในปี พ.ศ. 2508 ซึ่งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน เป็นผู้อำนวยการท่านแรก โดยรับจากนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นแรกจำนวน 17 คน และในปี พ.ศ. 2509 จึงได้มีการรับนักศึกษาจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

บัณฑิตวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2507 สภาการศึกษาแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดตั้ง “บัณฑิตวิทยาลัย” ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นสถาบันวิชาการชั้นสูงสำหรับการศึกษาและวิจัย ตลอดจนมุ่งมั่นเป็นแหล่งผลิตและอบรมแพทย์เฉพาะทาง อาจารย์แพทย์ และอาจารย์ในสายวิทยาศาตร์การแพทย์ต่าง ๆ ในประเทศไทย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2507 รัฐบาลในสมัยนั้นได้วางนโยบายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติระยะที่ 2 ที่ให้ผลิตแพทย์และพยาบาลให้มีอัตราส่วนเพียงพอกับจำนวนคนไข้ ทำให้เกิดแนวคิดในการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์แห่งที่สี่ขึ้น ในปี พ.ศ. 2508 จึงมีการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกที่คณะวิทยาศาสตร์ ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกันนั้นเอง

ในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการจัดตั้ง คณะทันตแพทยศาสตร์พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์พญาไท ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพิ่มขึ้นอีก 2 คณะ เพื่อสนองนโยบาย ในด้านการแพทย์ซึ่งจะต้องเพิ่มการผลิตทันตแพทย์และเภสัชกร ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2510 - 2514


ข้อมูลอ้างอิง