การปฏิรูปครั้งใหญ่

ในปี พ.ศ. 2486 อันเป็นปีเดียวกับการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นั้น รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรมให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย โดยมี 4 คณะเริ่มแรก คือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะสหกรณ์ และคณะการประมง ซึ่งมีแผนกสัตวบาลเป็นแผนกหนึ่งในคณะเกษตรศาสตร์ ในกาลต่อมารัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับปรุงการศึกษาวิชาสัตวแพทย์ให้ก้าวหน้า และสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับวิชาสัตวบาลที่มีการเรียนการสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ในปี พ.ศ. 2497 จึงให้โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นสถานที่ตั้งอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปขึ้นอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2501 ในรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร มีนโยบายที่จะพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงได้วางโครงการพัฒนาการศึกษาขึ้นในส่วนภูมิภาคขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 ในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีมติให้อนุมัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้เปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2507 เมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความพร้อมแล้ว ประกอบกับรัฐบาลในช่วงนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาในส่วนภูมิภาค จึงได้มีการโอน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2510 ได้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น และได้ทำการโอนกิจการทั้งหมดของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไปยัง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้คณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง