พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
โซนที่ 2: สองวิทยาเขตรุ่นบุกเบิกมหิดล
แสดงพัฒนาการทางกายภาพของสองวิทยาเขตแรก
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ทั้ง 2 วิทยาเขต ซึ่งเป็นวิทยาเขตรุ่นบุกเบิกของสถาบัน ได้แก่ วิทยาเขตบางกอกน้อย และวิทยาเขตพญาไท
วิทยาเขตบางกอกน้อย ก้าวแรกแห่งการบุกเบิกมหิดล
ยุคก่อตั้ง (พ.ศ. 2431 - 2465)
เมื่อ พ.ศ. 2431 โรงพยาบาลศิริราชได้ก่อสร้างขึ้นบนพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังหลัง ประมาณ 24 ไร่ อาคารผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ อาคารตึก ได้แก่ ตึกวิกตอเรีย และตึกเสาวภาคย์ ซึ่งเป็นตึกคนไข้พิเศษอยู่ใจกลางของพื้นที่ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเสมือนหน้าบ้าน เนื่องจากสมัยนั้นใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก จึงเป็นที่ตั้งของตึกผู้ป่วยนอก
พ.ศ. 2433 ตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทยขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช ต่อมา พ.ศ. 2443 ได้รับพระราชทานนามว่า ราชแพทยาลัย พร้อมเปิดใช้อาคารโรงเรียนแพทย์ นอกจากนี้ยังสร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลเป็นเรือนไม้ สิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆ ได้แก่ พ.ศ. 2437 สร้างโรงกระโจมเป็นโรงผ่าตัดหลังแรก พ.ศ. 2439 สร้างถนนจักรพงศ์เป็นถนนสายหลักจากท่าน้ำศิริราชตรงไปจนถึงกึ่งกลางโรงพยาบาล
ยุคแห่งความก้าวหน้า (พ.ศ. 2466 - 2484)
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการแพทย์ไทย โดยเฉพาะทรงวางแผนปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราชและทรงช่วยเหลือค่าก่อสร้างอาคารหลายหลัง ในยุคนี้เรือนไม้ต่างๆ ถูกรื้อและสร้างเป็นอาคารใหม่ ส่วนใหญ่สูง 2 ชั้น เป็นตึกผู้ป่วยและตึกเรียน อาคารสำคัญ ได้แก่ ตึกอำนวยการตึกมหิดลบำเพ็ญ ตึกมหิดลวรานุสรณ์ รวมทั้งวางท่อประปาในแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามจากฝั่งพระนครมายังโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังได้ขยายอาณาเขตไปจากเดิม 3 บริเวณ คือ ทิศเหนือ ได้พื้นที่จากพระคลังข้างที่สร้างตึกกายวิภาคศาสตร์และตึกพยาธิวิทยา ส่วนฝั่งเหนือติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างหอพักแพทย์ และบริเวณโรงเรียนกุลสตรีวังหลังสร้างหอพักพยาบาล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะพยาบาลศาสตร์ ทางทิศใต้ได้ขยายพื้นที่เกือบจรดถนนพรานนก
ยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และผลจากมหาสงคราม (พ.ศ. 2485 - 2511)
พ.ศ. 2485 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลถูกโอนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาสังกัดมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อว่า มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รวมทั้งตั้งสำนักงานอธิการบดีอยู่ที่ตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามสิ้นสุด พ.ศ. 2488) มีอาคารถูกระเบิดเสียหาย ได้แก่หอพักแพทย์ ตึกพระองค์หญิง ตึกพยาธิหลังที่ 2 ภายหลังสงครามมีการฟื้นฟูและขยายพื้นที่บางส่วน ได้แก่ ที่ดินส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟธนบุรี ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2509 ขยายทางทิศเหนือของโรงพยาบาล และทิศตะวันตกไปจดถนนอรุณอมรินทร์ บางอาคารได้ถูกต่อเติมจำนวนชั้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย อาคารใหม่ ที่สำคัญ เช่น หอประชุมราชแพทยาลัย ตึกผู้ป่วยนอกริมน้ำ ต่อมาใน พ.ศ. 2500 มีการตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ในวิทยาเขตแห่งนี้
ยุคมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตบางกอกน้อย (พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา)
หลังจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลใน พ.ศ. 2412 วิทยาเขตแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 3 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ได้พัฒนาตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต้องการเพิ่มปริมาณนักศึกษา ดังนั้นจึงสร้างอาคารหลายชั้นขนาดใหญ่ทดแทนอาคารเดิม เพื่อรองรับนักศึกษาและผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เช่น คณะพยาบาลศาสตร์สร้างอาคารเรียนและสำนักงานใหม่ คณะเทคนิคการแพทย์สร้างอาคารใหม่เพื่อประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสร้างตึก 72 ปี ตึก 84 ปี ตึกสยามินทร์ตึกอานันทมหิดล (หลังใหม่) ตึกผู้ป่วยนอก และมหิตลาคารสมเด็จพระราชปิตุจฉา รวมถึงอาคารบริการสาธารณูปโภคเช่น อาคารบำบัดน้ำเสียและโรงผลิตน้ำประปา เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ขยายพื้นที่เพิ่มจำนวน 3 แปลง คือ พ.ศ. 2542 สร้างหอพักนักศึกษาแพทย์และพยาบาลอาคารจอดรถ และสวนสาธารณะบนพื้นที่ 8 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 ได้พื้นที่ 10 ไร่ริมถนนอรุณอัมรินทร์ สร้างหอพักนักศึกษาและโรงเรียนกายอุปกรณ์ผลิตแขนขาเทียม และพื้นที่ 33 ไร่ของสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช ตาม “โครงการการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์”
วิทยาเขตบางกอกน้อยวันนี้
ปัจจุบัน ( พ.ศ. 2554) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตบางกอกน้อยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น128 ไร่ การพัฒนาด้านสาธารณูปโภค เช่น ระบบไฟฟ้า ได้มีการวางสายไฟลงท่อใต้ดินทั่วทุกพื้นที่เพื่อความปลอดภัยและภูมิทัศน์ที่สวยงาม นอกจากนี้ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและการก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
วิทยาเขตพญาไท อีกก้าวของการเติบโต
ยุคการก่อตัว (ก่อน พ.ศ. 2512)
เป็นยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะใหม่ในช่วงแรก ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและคณะวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยสถานที่ของโรงพยาบาลศิริราชและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการเรียนการสอนต่อมาประมาณ พ.ศ. 2501 รัฐบาลให้ที่ดินของกรมทหารในเขตพญาไท ได้แก่ ริมถนนพระราม 6 ริมถนนราชวิถีริมถนนโยธี และริมถนนศรีอยุธยา อีกส่วนหนึ่งของฝั่งถนนราชวิถีได้ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มหาวิทยาลัยจึงย้ายคณะทั้ง 3 มาตั้งที่นี่ ต่อมาเกิดคณะใหม่อีก 3 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์
ยุคการขยายตัว (พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา)
นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้ง 6 คณะในวิทยาเขตพญาไทได้ขยายตัวทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นและการบริการด้านการแพทย์ การก่อสร้างเป็นลักษณะรื้ออาคารเก่าที่ชำรุดแล้วสร้างอาคารใหม่ที่มีขนาดใหญ่ สูงขึ้น และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น เช่น อาคารชีววิทยา(ใหม่) อาคารจำลอง หะริณสุต เป็นต้น การจัดวางอาคารพิจารณาจากความจำเป็นและความสะดวกในการเข้าถึงรวมถึงภูมิทัศน์และทิศทางลม ส่วนใหญ่เป็นการสร้างอาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ สำนักงาน และอาคารบริการผู้ป่วย
ยุคแห่งการเติบโตอย่างเด่นชัด (พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา)
การก่อสร้างอาคารตอบสนองความต้องการใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากสร้างอาคารสูงขึ้นและบางอาคารมีชั้นใต้ดินสำหรับเป็นที่จอดรถ คณะต่างๆ ยังคงก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย อาคารสำคัญ เช่น อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีสร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 และอาคารอเนกประสงค์บนพื้นที่ร่วมของ 3 คณะ เป็นเสมือนอาคารกลางของคณะฝั่งราชวิถี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นต้น
วิทยาเขตพญาไทวันนี้
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 205 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวาแม้ว่าที่ตั้งของแต่ละคณะไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกันทั้งหมด แต่ก็สามารถเข้าถึงพื้นที่ซึ่งกันและกันได้ เช่น คณะฝั่งถนนราชวิถีได้ก่อสร้างอาคารอยู่บริเวณเดียวกันโดยไม่มีแนวรั้วกั้นและมีประตูทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ส่วนคณะฝั่งถนนพระราม 6 แม้ว่าจะมีอาณาเขตกั้นแต่ก็มีประตูทางเดินเชื่อมถึงกันได้ นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เพิ่มพื้นที่สร้างศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ใกล้สี่แยกตึกชัย เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยรวมทั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษาของคณะทันตแพทยศาสตร์ และอาคารใหม่ของคณะสาธารณสุขศาสตร์คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะเภสัชศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2554 ยังมีโครงการก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีบนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อีกด้วย
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.