พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museum & Exhibitions
โซนที่ 4: ประทีปแห่งปัญญา
แสดงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการศึกษา
พระองค์ทรงมีความเป็นครูโดยธรรมชาติ มุ่งมั่นสอนคนและสร้างคน ทรงสนับสนุนเรื่องการลงทุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นหนทางเริ่มต้นที่นำไปสู่เป้าหมาย และความสำเร็จที่แท้จริงคือการนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ
สร้างคนจากการศึกษา
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชมีพระดำริว่า การศึกษานั้นเป็นหนทางพัฒนามนุษย์ เป็นการสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิต หากบุคคลแข็งแรง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งด้วย จึงทรงส่งเสริมการศึกษาอย่างเต็มที่ มีพระประสงค์สร้างคนเพื่อสร้างชาติ เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องลงทุน จึงทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนสำหรับนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศ ทรงเลือกจากผู้ที่มีความตั้งใจและมีสติปัญญาเพียงพอต่อการศึกษา นักเรียนทุนเหล่านี้“จะเรียนอะไรก็ได้ แต่จะต้องเรียนวิชชาที่จะกลับไปหาเลี้ยงชีพนี้ได้ และต้องเรียนให้ดี”
พระราชทรัพย์ที่ทรงกำหนดให้เป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนในต่างประเทศ พระราชทานให้ใช้จ่ายเองตลอดปีเป็นการฝึกนักเรียนให้รู้จักจัดการด้านการเงิน และรับสั่งเตือนสติว่า ส่วนพระองค์ต้องทรงมัธยัสถ์เพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับนักเรียน และเงินเหล่านี้ “เป็นเงินของราษฎรเขาจ้างให้ฉันออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดีให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ”
จิตวิญญาณของความเป็นครู
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู พระอุปนิสัยนี้ทำให้ทรงถือเป็นพระภาระที่จะต้องทรงดูแลข้าราชบริพารและนักเรียนไทยในต่างแดน ทรงสอนให้รู้จักวิธีปฏิบัติตนระหว่างเดินทางแบบแผนทางวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และความมีน้ำใจไม่เอาเปรียบกันเรื่องที่ทรงสอนนักเรียนอยู่เสมอ คือ หลักการทำงาน 3 ประการ
1. ต้องมีความรู้ในสิ่งที่พึงกระทำ (Knowledge
2. ต้องมีไหวพริบในการกระทำ (Intelligence)
3. ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน (Thoroughness)
เมื่อรวมอักษรหน้าในภาษาอังกฤษ คือ KIT หรือ คิด ซึ่งจำได้ง่าย เป็นการเตือนให้คิด
พ.ศ. 247 - 2468 ทรงสอนนิสิตเตรียมแพทย์ ทรงจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้รับประโยชน์มากที่สุดเช่น ในวิชาประวัติศาสตร์ทรงคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ เป็นผู้บรรยาย และทรงนำนิสิตไปทัศนศึกษาเมื่อนักเรียนไม่เข้าใจหรือทูลถาม ทรงอธิบายชี้แจงอย่างมิทรงเบื่อหน่ายด้วยพระเมตตาแก่ศิษย์
แนวคิดด้านอุดมศึกษา
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงสนพระทัยกิจการมหาวิทยาลัย และการอุดมศึกษาของไทยมานานทรงเห็นว่าการดำเนินงานมหาวิทยาลัยไทยควรเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพของบ้านเมืองใน พ.ศ. 2471 ทรงเสนอรายงานเรื่อง “การสำรวจการศึกษาเพื่อประกอบพระบรมราโชบายเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัย” และ “โครงการมหาวิทยาลัย” ต่อรัฐบาล ทรงแสดงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัย 4 ประการ ได้แก่
1. เป็นสถานที่เรียนและทำวิจัย มหาวิทยาลัยเป็นสมองต้นความคิดของชาติ เป็นสถานที่เลี้ยงคนดีของชาติ
2. เป็นที่เก็บรวบรวมและเผยแผ่ความคิดของชาติ ต้องใช้ผลงานวิจัยวางเป็นแผนสำหรับความประพฤติของชาติทั้งในทางธรรมะและวิทยาศาสตร์
3. ทำหน้าที่สอนศิลปะวิทยาศาสตร์ ให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างขวาง มีวิสัยทัศน์ และใช้ความคิดเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
4. ทำหน้าที่สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถ และให้ปริญญา
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.