น้ำพระมูรธาภิเษก

น้ำพระมูรธาภิเษก

การสรงพระมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีความเชื่อมาจากอินเดียโบราณคือ
๑. เป็นการชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ก่อนที่เริ่มประกอบพิธีสำคัญ
๒. เป็นการเจิมให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
๓. ให้บรรดานักบวช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ได้มีโอกาสถวายน้ำสรง
โดยมีการสรงพระมูรธาภิเษกผ่านสหัสธารา ณ มณฑปพระกระยาสนาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณต่อไป

น้ำที่ใช้ถวายในการสรงมูรธาภิเษก ประกอบด้วย
๑. น้ำจากเบญจสุทธคงคา ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของไทย ๕ สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี
๒. น้ำจากสระ ๔ สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก้ สระเกษ สระแก้ว สระคา และสระยมนา
๓. แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก ๗๖ จังหวัด
ซึ่งรวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ จำนวน ๑๐๘ แหล่ง

สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดนครปฐม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนใช้น้ำจาก ๔ แห่งคือ น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ สระน้ำจันทร์ และน้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณปากคลองบางแก้ว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้กำหนดให้สระน้ำจันทร์ เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ด้วย

สระน้ำจันทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม แต่เดิมเชื่อว่าเป็นเนินปราสาท ซึ่งเป็นที่ตั้งพระราชวังเก่าของกษัตริย์ในสมัยโบราณ สันนิฐานว่าเคยเป็นสระน้ำที่ใช้ในพิธีทางศาสนาด้วย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนขนาดใหญ่ ในปี ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นเขตโบราณสถาน มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ จังหวัดนครปฐมได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ สระน้ำจันทร์ ในวันที่ ๖ เมษายน ในการนี้ท่านรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมพิธีการนี้ด้วย และพิธีทำน้ำอภิเษก ในวันที่ ๘-๙ เมษายน ณ พระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีสำคัญหลายวาระ จากนั้นจะเชิญน้ำอภิเษกไปรวม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร เพื่อทำการเสกน้ำอภิเษกรวมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑๘ เมษายน และเชิญน้ำอภิเษกทั้งหมดไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๑๙ เมษายน ต่อไป

นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยมหิดล โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีได้เข้าร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ แม่น้ำสามประสบ บ้านวังกะ (บริเวณวัดวังก์วิเวการามเก่า) อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และทีมงานนักวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เข้าร่วมดำเนินการทำน้ำให้สะอาดและตรวจสอบคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดวังก์วิเวการาม จังหวัดกาญจนบุรี อีกด้วย

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
ห้อง ๓๐๑ ชั้น ๓ อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ.พุทธมณฑลสาย ๔ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ๗๓๑๗๐
โทร ๐-๒๘๔๙-๔๕๔๑-๒
โทรสาร ๐-๒๘๔๙-๔๕๔๕