ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔

ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาสังคมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔

คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
ในวโรกาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ปริญญาสังคมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔

         สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระทัยและปฏิบัติพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์โดยโปรดให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจำนวน ๒๑ แห่งทั่วประเทศและโปรดให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึงทศวรรษที่ ๔ และมีพันธกิจหลักที่ทรงให้แนวทางว่า “จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักรที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดีให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน” ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ดังที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จากคณะกรรมการคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทยพิษณุโลกได้รับการประเมินเป็นโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัวระดับทอง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑

         สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงทราบถึงปัญหาของพระสงฆ์ในชนบทเมื่ออาพาธต้องส่งรักษาในโรงพยาบาลกับคนไข้คฤหัสถ์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพระราชทานชื่อโรงพยาบาลสงฆ์เป็นโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ์และเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ และในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ พระองค์โปรดให้จัดทำโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ สำหรับพระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้บริการตรวจสุขภาพพระภิกษุ สามเณรทั่วประเทศกว่า ๓ แสนรูป โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเปิดโครงการด้วยพระองค์เองที่โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ จังหวัดอุบลราชธานี

         สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับมูลนิธิวชิรเวชวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติในพระราชูปถัมภ์โดยทรงพระราชทานวโรกาสให้คณะแพทยราชวิทยาลัย แพทย์สาขาต่าง ๆ ตลอดจนคณะกรรมการบริหารมูลนิธิได้รับพระราชทานคำแนะนำ และเป็นมูลนิธิในพระราชูปถัมภ์

         ทรงมีพระราชบัณฑูรเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งว่าเพื่อให้การดำเนินโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว สามารถสร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็งได้ ควรมีศูนย์กลาง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตใช้ชื่อว่าศูนย์ ๓ วัยสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และทรงรับโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวเป็นโครงการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระราชทานคำขวัญ “นมแม่คือหยดแรกของสายใยแห่งครอบครัว”

         ด้วยพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนและลำบาก แต่มีความประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงและต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นในปี ๒๕๕๓ ทั้งนี้ได้นำโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ดำเนินการตามพระราชดำริในปี ๒๕๕๒ มาดำเนินการภายใต้มูลนิธิฯ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายาฯ ทรงเป็นองค์รองประธานกรรมการ

๑. โรงเรียนมกุฎเมืองราชูวิทยาลัย
๒. โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์
๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ นครพนม
๔. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ กำแพงเพชร
๕. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ สุราษฎร์ธานี
๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ อุดรธานี
๗. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา
๘. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ ฉะเชิงเทรา
๙. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์)

         พระราชกรณียกิจ ทรงมีพระราชปณิธานที่จะดูแลพระภิกษุสงฆ์อย่างต่อเนื่อง และในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในปี ๒๕๕๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้งประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวดังเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่พสกนิกรโดยทั่วกัน

         พระราชกรณียกิจ ในวาระต่าง ๆ ที่ประเทศเกิดภัยพิบัติเกิดมหาอุทกภัย เมื่อปี ๒๕๕๔ พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมและรับสั่งให้จัดหน่วยแพทย์พระราชทานแก่พสกนิกรอย่างต่อเนื่อง ใกล้ชิด อันเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่พสกนิกรและชาวไทยทั้งปวง

         สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดนครศรีธรรมราชพร้อมทั้งทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และพระราชทานทุนการศึกษาจากกองทุนการศึกษาพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ให้นักเรียนพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงตระหนักถึงปัญหาทารกแรกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะโดยรวมของประเทศ ทรงเห็นความสำคัญของการดูแลทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงทรงพระราชทาน “กองทุนทีปังกรภัทรบุตร” เพื่อใช้ในโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย

          จากพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการแพทย์สาธารณสุข จากอดีตถึงปัจจุบัน พระองค์ได้อุทิศพระราชทรัพย์ พระวรกาย และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานด้านการแพทย์สาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง อันแสดงถึงพระปรีชาสามารถ และพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

          ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และในวโรกาสพิเศษที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เพื่อเป็นการเฉลิมพระปรมาภิไธยให้แผ่ไพศาลและเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสูงสุด สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในคราวประชุมครั้งที่ ๔๕๘ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารสาธารณสุข แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณและสวัสดิมงคลแก่มหาวิทยาลัยมหิดลสืบไป


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
ห้อง ๓๐๑ ชั้น ๓ อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ.พุทธมณฑลสาย ๔ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ๗๓๑๗๐
โทร ๐-๒๘๔๙-๔๕๔๑-๒
โทรสาร ๐-๒๘๔๙-๔๕๔๕