พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

โซนที่ 3: “วิทยาเขตศาลายา” ศูนย์รวมประชาคมมหิดล

เป็นส่วนเนื้อหาหลักของนิทรรศการ

แสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของสถาบันและเป็นศูนย์รวมของชาวมหิดล ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนท้องทุ่งนาให้เป็นอาคารสถานที่เพื่อการศึกษาในยุคแรกเริ่ม จนถึงยุคปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยกำลังมุ่งสู่การเป็น “เมืองมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ”

ผังแม่บทฉบับบุกเบิก พ.ศ. 2517

ศาลายา : ที่ตั้งศูนย์รวมของชาวมหิดล

เนื่องจากนโยบายขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาประกอบกับที่ตั้งในตัวเมืองถูกจำกัดด้วยพื้นที่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการขยายพื้นที่มายังตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1514 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้โอนที่ดินขนาด 1,240 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ให้กับมหาวิทยาลัย ที่ตั้งแห่งใหม่นี้อยู่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวกเหมาะกับการติดต่อส่วนราชการของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่รองรับนักศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาปีที่ 1 และ 2 พร้อมทั้งรองรับหลักสูตรที่จะเปิดเพิ่มเติมนอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์และเป็นศูนย์รวมของประชาคมมหิดล

ผังแม่บทฉบับบุกเบิก พ.ศ. 2517

มหาวิทยาลัยมหิดลมอบหมายให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบ แนวความคิดของผังแม่บทฉบับนี้กำหนดให้กิจกรรมต่างๆ รวมตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น กลุ่มอาคารเรียนถูกจัดวางให้อยู่ใกล้ถนนภายนอกและสถานีรถไฟ พื้นที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ส่วนการศึกษาเพื่อเดินทางสะดวก เข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ด้วยถนนสายหลักรูปตัวยู (U) ถนนสายรอง และทางเดินเท้าระยะสั้นๆ ในระยะแรกมีการปรับปรุงที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นเช่น สะพาน อาคารชลศาสตร์ ทำคันดิน เป็นต้น จากนั้นได้ก่อสร้างอาคารที่สำคัญ เช่น อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ อาคารเรียนสังคมศาสตร์ อาคารหอสมุด และอาคารอำนวยการ ตลอด 20 ปีพื้นที่ศาลายาได้พัฒนาทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ตั้งของหน่วยงานรวม 17 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังคงดูแลด้านสาธารณูปโภคและบริการต่างๆ เช่น ธนาคาร ไปรษณีย์ เป็นต้น

อนึ่ง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยนั้น ในยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีที่ทำการอยู่ที่ตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กระทั่งใน พ.ศ. 2531 ได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จนถึง พ.ศ. 2543 จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่วิทยาเขตศาลายาจนถึงปัจจุบัน

ผังแม่บทฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2540

เหตุใดต้องปรับปรุงผังแม่บท

เนื่องจากผังแม่บทฉบับ พ.ศ. 2517 มีความล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เจริญขึ้นที่สำคัญคือเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาให้เป็นศูนย์การบริหาร การจัดการศึกษา การวิจัย และการให้บริการวิชาการของมหาวิทยาลัย

แนวความคิดภาพรวมของการปรับปรุงผังแม่บท แบ่งออกเป็น 5 ด้านดังนี้

1. การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เน้นการกระจายและสร้างความเป็นสัดส่วนของกิจกรรม โดยกิจกรรมประเภทเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันให้อยู่บริเวณเดียวกัน จัดพื้นที่เป็นบล็อกบริเวณกลุ่มกิจกรรมให้ชัดเจนขึ้น และครอบคลุมกิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันและกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

2. การวางผังโครงข่ายระบบถนน

ผังแม่บทฉบับเดิมจะเน้นถนนสายหลักรูปตัวยูซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกบริเวณ ผังแม่บทฉบับนี้จึงแบ่งเป็นถนนสายหลักและสายรอง โดยวางแนวถนนเป็นรูปบล็อก ส่วนถนนสายย่อยจะเป็นตัวเชื่อมถนนสายหลักและถนนสายรองเข้าถึงภายในพื้นที่

3. เส้นทางสัญจร

เป็นเส้นทางสำหรับการเข้าถึงอาคารและกิจกรรมในแต่ละบริเวณ เน้นทางเดินเท้าและรถจักรยานสำหรับทางเดินเท้ามีการตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม ในบางพื้นที่จะมีหลังคาคลุม ส่วนเส้นทางรถจักรยานได้กำหนดไว้ชัดเจนบนถนนสายหลักและกำหนดจุดจอดรถจักรยาน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรใช้รถจักรยานแทนการใช้รถยนต์

4. การวางผังภูมิทัศน์

เป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อให้ได้พื้นที่โล่งว่าง ได้สภาพแวดล้อมที่สวยงาม ร่มรื่น และสร้างบรรยากาศทางการศึกษา ผังแม่บทฉบับนี้ได้กำหนดการพัฒนาภูมิทัศน์ที่ชัดเจนขึ้น เช่น ที่หมายตาหลักและรองการเลือกพรรณไม้ และการจัดสิ่งประกอบถนนและสถานที่ช่วยให้เกิดความสวยงาม

5. การวางผังสาธารณูปโภค

มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ เช่น ระบบไฟฟ้า มีการวางระบบโครงข่ายกระแสไฟฟ้าแบบเดินท่อฝังดิน ระบบน้ำประปาได้เจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำดิบและเพิ่มถังน้ำใสเพื่อเก็บน้ำสำรองเพิ่มขึ้น ส่วนการระบายน้ำได้ปรับปรุงคันดินมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบบำบัดน้ำเสียได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบำบัดและมีการวางโครงข่ายระบบน้ำเสียรวมอีกด้วย

แนวความคิดภาพรวมของการปรับปรุงผังแม่บท

แบ่งออกเป็น 5 ด้านดังนี้

1. การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เน้นการกระจายและสร้างความเป็นสัดส่วนของกิจกรรม โดยกิจกรรมประเภทเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันให้อยู่บริเวณเดียวกัน จัดพื้นที่เป็นบล็อกบริเวณกลุ่มกิจกรรมให้ชัดเจนขึ้น และครอบคลุมกิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันและกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

2. การวางผังโครงข่ายระบบถนน

ผังแม่บทฉบับเดิมจะเน้นถนนสายหลักรูปตัวยูซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกบริเวณ ผังแม่บทฉบับนี้จึงแบ่งเป็นถนนสายหลักและสายรอง โดยวางแนวถนนเป็นรูปบล็อก ส่วนถนนสายย่อยจะเป็นตัวเชื่อมถนนสายหลักและถนนสายรองเข้าถึงภายในพื้นที่

3. เส้นทางสัญจร

เป็นเส้นทางสำหรับการเข้าถึงอาคารและกิจกรรมในแต่ละบริเวณ เน้นทางเดินเท้าและรถจักรยาน สำหรับทางเดินเท้ามีการตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม ในบางพื้นที่จะมีหลังคาคลุม ส่วนเส้นทางรถจักรยานได้กำหนดไว้ชัดเจนบนถนนสายหลักและกำหนดจุดจอดรถจักรยาน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและ บุคลากรใช้รถจักรยานแทนการใช้รถยนต์

4. การวางผังภูมิทัศน์

เป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อให้ได้พื้นที่โล่งว่าง ได้สภาพแวดล้อมที่สวยงาม ร่มรื่น และสร้างบรรยากาศทางการศึกษา ผังแม่บทฉบับนี้ได้กำหนดการพัฒนาภูมิทัศน์ที่ชัดเจนขึ้น เช่น ที่หมายตาหลักและรองการเลือกพรรณไม้ และการจัดสิ่งประกอบถนนและสถานที่ช่วยให้เกิดความสวยงาม

5. การวางผังสาธารณูปโภค

มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ เช่น ระบบไฟฟ้า มีการวางระบบโครงข่ายกระแสไฟฟ้าแบบเดินท่อฝังดิน ระบบน้ำประปาได้เจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำดิบและเพิ่มถังน้ำใสเพื่อเก็บน้ำสำรองเพิ่มขึ้น ส่วนการระบายน้ำได้ปรับปรุงคันดินมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบบำบัดน้ำเสียได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบำบัดและมีการวางโครงข่ายระบบน้ำเสียรวมอีกด้วย

ผังแม่บทฉบับล่าสุด พ.ศ. 2551

แนวคิดของการปรับผังแม่บท

ผังแม่บทฉบับล่าสุดนี้มีระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2551 - 2566เน้นพัฒนาทางกายภาพให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “เมืองมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ” มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้านได้แก่ องค์ประกอบทางกายภาพ ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างพื้นที่กิจกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างฉันมิตร

แนวทางการพัฒนาผังแม่บทฉบับ พ.ศ. 2551

แบ่งออกเป็น 5 ด้านดังนี้

1. การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เน้นการจัดหมวดหมู่กิจกรรมเป็นกลุ่มก้อนอย่างชัดเจนและเกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน โดยใช้ระบบบล็อกย่อย (Block System) เพื่อความสะดวกในการกำหนดแนวทางพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้ยังกำหนดสัดส่วนให้มีพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ทั้งหมดเพื่อคงพื้นที่สีเขียวไว้ให้มากที่สุด

2. การพัฒนาระบบภูมิทัศน์

เน้นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกับธรรมชาติ การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น การสร้างแนวแกนหลักสีเขียว การกำหนดมุมมองที่หมายตาให้เป็นที่จดจำการให้แสงสว่าง รวมทั้งกำหนดพื้นที่กิจกรรมที่มีความร่มรื่นเพื่อเป็นศูนย์รวมของประชาคมมหิดล

3. การพัฒนาระบบการสัญจร

เน้นพัฒนาระบบทางเดินเท้าและทางรถจักรยานเป็นหลัก โดยการลดช่องทางจราจรเพื่อคืนพื้นที่ให้ทางเดินเท้าและรถจักรยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบถนน จุดจอดรถยนต์และรถจักรยาน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนภายใน (Shuttle bus) คำนึงถึงความสะดวก ปลอดภัยและการสร้างการเรียนรู้ร่วมกับธรรมชาติ

4. การพัฒนาระบบสาธาณูปโภคและสาธารณูปการ

ระบบสาธารณูปโภค มีการปรับปรุงและวางผังโครงข่ายให้เพียงพอกับการขยายตัวของกิจกรรมโดยคำนึงถึงการลดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อมลดใช้ทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อชุมชน ส่วนสาธารณูปการได้กำหนดพื้นที่การให้บริการอย่างเป็นระบบ

5. การพัฒนาอาคารและสิ่งก่อสร้าง

ผังแม่บทฉบับนี้เป็นผังแม่บทฉบับแรกที่ได้กำหนดการขยายตัวของอาคารในอนาคต ทั้งนี้ได้กำหนดเกณฑ์ของรูปผังอาคารที่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และความเชื่อมต่อของการใช้งาน, รวมถึงความสูงของอาคารเพื่อป้องกันปัญหาการบดบังทัศนียภาพ และระยะถอยร่นเพื่อให้มีความเป็นระเบียบของกลุ่มอาคาร

วิทยาเขตพญาไท อีกก้าวของการเติบโต

ยุคการก่อตัว (ก่อน พ.ศ. 2512)

เป็นยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะใหม่ในช่วงแรก ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและคณะวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยสถานที่ของโรงพยาบาลศิริราชและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการเรียนการสอนต่อมาประมาณ พ.ศ. 2501 รัฐบาลให้ที่ดินของกรมทหารในเขตพญาไท ได้แก่ ริมถนนพระราม 6 ริมถนนราชวิถีริมถนนโยธี และริมถนนศรีอยุธยา อีกส่วนหนึ่งของฝั่งถนนราชวิถีได้ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มหาวิทยาลัยจึงย้ายคณะทั้ง 3 มาตั้งที่นี่ ต่อมาเกิดคณะใหม่อีก 3 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์

ยุคการขยายตัว (พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา)

นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้ง 6 คณะในวิทยาเขตพญาไทได้ขยายตัวทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นและการบริการด้านการแพทย์ การก่อสร้างเป็นลักษณะรื้ออาคารเก่าที่ชำรุดแล้วสร้างอาคารใหม่ที่มีขนาดใหญ่ สูงขึ้น และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น เช่น อาคารชีววิทยา(ใหม่) อาคารจำลอง หะริณสุต เป็นต้น การจัดวางอาคารพิจารณาจากความจำเป็นและความสะดวกในการเข้าถึงรวมถึงภูมิทัศน์และทิศทางลม ส่วนใหญ่เป็นการสร้างอาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ สำนักงาน และอาคารบริการผู้ป่วย

ยุคแห่งการเติบโตอย่างเด่นชัด (พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา)

การก่อสร้างอาคารตอบสนองความต้องการใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากสร้างอาคารสูงขึ้นและบางอาคารมีชั้นใต้ดินสำหรับเป็นที่จอดรถ คณะต่างๆ ยังคงก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย อาคารสำคัญ เช่น อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีสร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 และอาคารอเนกประสงค์บนพื้นที่ร่วมของ 3 คณะ เป็นเสมือนอาคารกลางของคณะฝั่งราชวิถี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นต้น

วิทยาเขตพญาไทวันนี้

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 205 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวาแม้ว่าที่ตั้งของแต่ละคณะไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกันทั้งหมด แต่ก็สามารถเข้าถึงพื้นที่ซึ่งกันและกันได้ เช่น คณะฝั่งถนนราชวิถีได้ก่อสร้างอาคารอยู่บริเวณเดียวกันโดยไม่มีแนวรั้วกั้นและมีประตูทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ส่วนคณะฝั่งถนนพระราม 6 แม้ว่าจะมีอาณาเขตกั้นแต่ก็มีประตูทางเดินเชื่อมถึงกันได้ นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เพิ่มพื้นที่สร้างศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ใกล้สี่แยกตึกชัย เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยรวมทั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษาของคณะทันตแพทยศาสตร์ และอาคารใหม่ของคณะสาธารณสุขศาสตร์คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะเภสัชศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2554 ยังมีโครงการก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีบนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อีกด้วย

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.