พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

จัดนิทรรศการ วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

บอร์ดนิทรรศการ

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

แผ่นพับ สูจิบัติ

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

  • หน้าที่ 1
  • หน้าที่ 2
  • หน้าที่ 3
  • หน้าที่ 4
  • หน้าที่ 5
หน้าที่ 1

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงสมีด และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ และวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) คณะการศึกษาด้านการทหาร มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงศึกษาด้านกฏหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และได้ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบินอีกด้วย

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยให้ดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ปรากฏพระนามตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร"

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์

หน้าที่ 2

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ทรงเปิดอาคาร และเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งชาวมหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นความภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

10 กันยายน พ.ศ. 2511 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดตึก “พระยาและคุณหญิง หริศจันทร์ สุวิท” และตึก “ยากัตตราม วิตตา วันดี ปาวา” ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาสร้าง ตึก “จุฑาธุช” แทนพื้นที่เดิม

20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล”

18 สิงหาคม พ.ศ. 2534 โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “อาคารศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ” ณ โรงพยาบาลศิริราช

10 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์กลุ่มอาคารอำนวยการ (อาคาร ๑) อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (อาคาร ๒) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

26 เมษายน พ.ศ. 2538 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาในพิธีเปิดตึกหอพักนักศึกษาแพทย์ชาย “มหิตลาคารสมเด็จพระราชปิตุจฉา” ณ โรงพยาบาลศิริราช

24 กันยายน ตั้งแต่พุทธศักราช 2521 ถึงปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบด้วยคำว่า “บรม+ราช+อภิเษก” สำหรับคำว่า อภิเษก มีความหมายว่า “แต่งตั้งโดยการรดน้ำ เช่นพิธีเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน” จึงหมายความโดยรวมว่า พิธีรดน้ำเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในประเทศไทยมีการบันทึกไว้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และในสมัยสุโขทัย พบความในศิลาวัดศรีชุมที่ว่า “...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางห่าวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่ออินทรบดินทราทิตย์...” เป็นต้น สำหรับสมัยอยุธยาตามคำให้การจากชาวกรุงเก่า มีการกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้หลายแห่งด้วยกันสรุปความเช่น ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทองรับแบบแผนพระราชพิธีมาจากอินเดีย โดยมีพราหมณ์จากอินเดียเป็นผู้ประกอบพิธี และจากเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ได้บันทึกรายละเอียดไว้ตั้งแต่เริ่มสรงมูรธาภิเษก ขั้นตอนการถวายสิริราชสมบัติ การเฉลิมพระราชมณเฑียร รวมถึงธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งยังตกทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพระราชพิธี 2 ครั้ง ด้วยกัน ในรัชกาลที่ 8 ไม่มีการประกอบพระราชพิธี และครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2493 โดยจัดตามโบราณราชประเพณี แต่มีปรับเปลี่ยนบางพระราชพิธีให้เข้ากับสมัยนิยมด้วย

หน้าที่ 3

การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สถานที่ในการตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ส่วนมากจะอยู่ในหมู่พระมหามณเฑียร อันได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทั้งยังมีการประกอบพิธี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

โดยเริ่มจาก วันที่ 23 เมษายน มีการจารึกพระสุพรรณบัตร ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเชิญไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในวันที่ 3 พฤษภาคม ในวันนี้ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเย็นมีการจุดเทียนชัย เจริญพระพุทธมนต์ และประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

วันที่ 4 พฤษภาคม การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เริ่มจากการสรงมูรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนานข้างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้สัตปฏลเศวตฉัตร เพื่อทรงรับน้ำอภิเษก และพราหมณ์ถวายนพปฏลมหาเศวตฉัตร แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ร่ายพระเวทเปิดเขาไกลาส และทูลเกล้าฯ ถวาย พระสุพรรณบัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ จากนั้นจะทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ โดยมีพราหมณ์รับราชโองการ หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบใหญ่ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก จากนั้นสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในการถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบุพการี

น้ำพระมูรธาภิเษก

การสรงพระมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาถิเษก มีความเชื่อมาจากอินเดียโบราณ คือ

1.เป็นการชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ก่อนที่เริ่มประกอบพิธีสำคัญ

2.เป็นการเจิมให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

3.ให้บรรดานักบวช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ได้มีโอกาสถวายน้ำสรง

โดยมีการสรงพระมูรธาภิเษกผ่านสหัสธารา ณ มณฑปพระกระยาสนาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณต่อไป

น้ำที่ใช้ถวายในการสรงมูรธาภิเษก ประกอบด้วย

1.น้ำจากเบญจสุทธคงคา ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของไทย 5 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี

2.น้ำจากสระ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก้ สระเกษ สระแก้ว สระคา และสระยมนา

3.ให้บรรดานักบวช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ได้มีโอกาสถวายน้ำสรง

โดยมีการสรงพระมูรธาภิเษกผ่านสหัสธารา ณ มณฑปพระกระยาสนาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณต่อไป

สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดนครปฐม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนใช้น้ำจาก 4 แห่งคือ น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ สระน้ำจันทร์ และน้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณปากคลองบางแก้ว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้สระน้ำจันทร์ เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ด้วย

สระน้ำจันทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม แต่เดิมเชื่อว่าเป็นเนินปราสาท ซึ่งเป็นที่ตั้งพระราชวังเก่าของกษัตริย์ในสมัยโบราณ สันนิฐานว่าเคยเป็นสระน้ำที่ใช้ในพิธีทางศาสนาด้วย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนขนาดใหญ่ ในปี 2478 กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นเขตโบราณสถาน มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่

ในการพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งนี้ จังหวัดนครปฐมได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ สระน้ำจันทร์ ในวันที่ 6 เมษายน และพิธีทำน้ำอภิเษก ในวันที่ 8-9 เมษายน ณ พระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีสำคัญหลายวาระ จากนั้นจะเชิญน้ำอภิเษกไปรวม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร เพื่อทำการเสกน้ำอภิเษกรวมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 เมษายน และเชิญน้ำอภิเษกทั้งหมดไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เมษายน ต่อไป

หน้าที่ 4

พระมหาเศวตฉัตร

พระมหาเศวตฉัตร หรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตรทำด้วยผ้าขาวลดหลั่นกัน 9 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อนกัน 3 ชั้น ใช้ปักหรือแขวน ประดิษฐานเหนือพระแท่นราชบังลังก์ในพระที่นั่งสำคัญต่าง ๆ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ หรือเหนือที่ประทับในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้ว นอกจากนั้นยังมีสัตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) เบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 5 ชั้น) ฉัตรขาว 3 ชั้น เป็นต้น สำหรับประกอบพระอิสริยยศและอิสริยยศต่าง ๆ ลดหลั่นกันไป

ฉัตรมีที่มาจากร่มที่เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศของกษัตริย์หรือแม่ทัพ ในการสงครามเมื่อรบชนะจะมีการยึดร่มของแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามเพื่อประดับบารมี เป็นที่มาของการใช้ฉัตรเพื่อแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ที่มีชัยชนะเหนือกษัตริย์อื่น ๆ ทั้ง 8 ทิศ และรวมกับของพระองค์เองอีก 1 พระมหาเศวตฉัตรจึงมี 9 ชั้น ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน

เครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องอิสริยราชูปโภค

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องอิสริยราชูปโภค และพระแสงราชศาสตราวุธ ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบด้วย

1. พระมหาพิชัยมงกุฏ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ แสดงความเป็นเทวราชาของพระมหากษัตริย์

2. พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เห็นแจ้งทั่วทั้งโลกธาตุ และแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวหน้าแห่งนักรบด้วย

3. ธารพระกรชัยพฤกษ์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงบริหารแผ่นดินด้วยความสุขุมคัมภีรภาพดังผู้มีวัยวุฒิและทรงคุณธรรม

4. วาลวิชนี ประกอบด้วยพัดใบตาลปิดทอง และพระแส้หางจามรี หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พัดพาความร่มเย็นและปัดเป่าผองภัยทั้งมวล ให้กับประชาราษฎรในพระราชอาณาจักร

5. ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งการทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพในพระราชอาณาจักรที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป

หน้าที่ 5

เครื่องอิสริยราชูปโภค เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องประกอบยศด้วย สำหรับพระมหากษัตริย์จะประกอบด้วย

1. พานพระขันหมาก เป็นพาน 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซองพลูและตลับสำหรับใส่หมาก ทำจากทองคำ

2. พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ เป็นภาชนะบรรจุน้ำ มีฝาทรงยอดอย่างมณฑป ภายในลอยจอกทองคำ

3. พระสุพรรณราช เป็นกระโถนใหญ่ปากบาน

4. พระสุรรณศรี เป็นประโถนเล็กคล้ายรูปบัวแฉก

พระแสงราชศาสตราวุธ เป็นพระแสงสำคัญที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงสร้างไว้สำหรับการพระราชพิธีสำคัญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงดาบใจเพชร พระแสงดาบเวียด พระแสงฟันปลา พระแสงหัตถ์นารายณ์ พระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง และพระแสงดาบญี่ปุ่น เป็นต้น

พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร และเสด็จออกมหาสมาคม

วันที่ 4 พฤษภาคม หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายเสด็จออกมหาสมาคม ให้ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และช่วงค่ำเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระราชพิธีที่คล้ายกับพิธีขึ้นบ้านใหม่ โดยการเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร มีการเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคตามเสด็จฯ เมื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจทอง ณ ห้องพระบรรทมแล้ว จะทรงประทับบนพระแท่นราชบรรจถรณ์เป็นปฐม

วันที่ 5 พฤษภาคม ช่วงเช้าเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ช่วงเย็นเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมาคร

วันที่ 6 พฤษภาคม ช่วงบ่ายเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นพระราชพิธีกระทำขึ้นเพื่อเป็นการประกาศพระบรมเดชานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ ทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค โดยในรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเพิ่มธรรมเนียมให้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงที่สำคัญในพระนครด้วย ทั้งยังทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมให้ประชาชนสามารถชมพระบารมีได้ โดยมิต้องหมอบเฝ้าและปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนเหมือนอย่างสมัยโบราณ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในช่วงเย็นของวันที่ 5 พฤษภาคม ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระรัตนตรัย และพระบรมราชสรีรางคาร และในช่วงปลายเดือนตุลาตคม พ.ศ. 2562 จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารคในโอกาสนั้นด้วย

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.