พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
จัดนิทรรศการ วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
บอร์ดนิทรรศการ
แผ่นพับ สูจิบัติ
พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงสมีด และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ และวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) คณะการศึกษาด้านการทหาร มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงศึกษาด้านกฏหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และได้ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบินอีกด้วย
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยให้ดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ปรากฏพระนามตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร"
วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์
พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ทรงเปิดอาคาร และเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งชาวมหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นความภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
10 กันยายน พ.ศ. 2511 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดตึก “พระยาและคุณหญิง หริศจันทร์ สุวิท” และตึก “ยากัตตราม วิตตา วันดี ปาวา” ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาสร้าง ตึก “จุฑาธุช” แทนพื้นที่เดิม
20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล”
18 สิงหาคม พ.ศ. 2534 โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “อาคารศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ” ณ โรงพยาบาลศิริราช
10 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์กลุ่มอาคารอำนวยการ (อาคาร ๑) อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (อาคาร ๒) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
26 เมษายน พ.ศ. 2538 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาในพิธีเปิดตึกหอพักนักศึกษาแพทย์ชาย “มหิตลาคารสมเด็จพระราชปิตุจฉา” ณ โรงพยาบาลศิริราช
24 กันยายน ตั้งแต่พุทธศักราช 2521 ถึงปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบด้วยคำว่า “บรม+ราช+อภิเษก” สำหรับคำว่า อภิเษก มีความหมายว่า “แต่งตั้งโดยการรดน้ำ เช่นพิธีเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน” จึงหมายความโดยรวมว่า พิธีรดน้ำเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในประเทศไทยมีการบันทึกไว้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และในสมัยสุโขทัย พบความในศิลาวัดศรีชุมที่ว่า “...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางห่าวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่ออินทรบดินทราทิตย์...” เป็นต้น สำหรับสมัยอยุธยาตามคำให้การจากชาวกรุงเก่า มีการกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้หลายแห่งด้วยกันสรุปความเช่น ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทองรับแบบแผนพระราชพิธีมาจากอินเดีย โดยมีพราหมณ์จากอินเดียเป็นผู้ประกอบพิธี และจากเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ได้บันทึกรายละเอียดไว้ตั้งแต่เริ่มสรงมูรธาภิเษก ขั้นตอนการถวายสิริราชสมบัติ การเฉลิมพระราชมณเฑียร รวมถึงธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งยังตกทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพระราชพิธี 2 ครั้ง ด้วยกัน ในรัชกาลที่ 8 ไม่มีการประกอบพระราชพิธี และครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2493 โดยจัดตามโบราณราชประเพณี แต่มีปรับเปลี่ยนบางพระราชพิธีให้เข้ากับสมัยนิยมด้วย
การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สถานที่ในการตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ส่วนมากจะอยู่ในหมู่พระมหามณเฑียร อันได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทั้งยังมีการประกอบพิธี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
โดยเริ่มจาก วันที่ 23 เมษายน มีการจารึกพระสุพรรณบัตร ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเชิญไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในวันที่ 3 พฤษภาคม ในวันนี้ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเย็นมีการจุดเทียนชัย เจริญพระพุทธมนต์ และประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
วันที่ 4 พฤษภาคม การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เริ่มจากการสรงมูรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนานข้างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้สัตปฏลเศวตฉัตร เพื่อทรงรับน้ำอภิเษก และพราหมณ์ถวายนพปฏลมหาเศวตฉัตร แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ร่ายพระเวทเปิดเขาไกลาส และทูลเกล้าฯ ถวาย พระสุพรรณบัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ จากนั้นจะทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ โดยมีพราหมณ์รับราชโองการ หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบใหญ่ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก จากนั้นสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในการถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบุพการี
น้ำพระมูรธาภิเษก
การสรงพระมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาถิเษก มีความเชื่อมาจากอินเดียโบราณ คือ
1.เป็นการชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ก่อนที่เริ่มประกอบพิธีสำคัญ
2.เป็นการเจิมให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
3.ให้บรรดานักบวช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ได้มีโอกาสถวายน้ำสรง
โดยมีการสรงพระมูรธาภิเษกผ่านสหัสธารา ณ มณฑปพระกระยาสนาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณต่อไป
น้ำที่ใช้ถวายในการสรงมูรธาภิเษก ประกอบด้วย
1.น้ำจากเบญจสุทธคงคา ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของไทย 5 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี
2.น้ำจากสระ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก้ สระเกษ สระแก้ว สระคา และสระยมนา
3.ให้บรรดานักบวช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ได้มีโอกาสถวายน้ำสรง
โดยมีการสรงพระมูรธาภิเษกผ่านสหัสธารา ณ มณฑปพระกระยาสนาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณต่อไป
สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดนครปฐม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนใช้น้ำจาก 4 แห่งคือ น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ สระน้ำจันทร์ และน้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณปากคลองบางแก้ว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้สระน้ำจันทร์ เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ด้วย
สระน้ำจันทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม แต่เดิมเชื่อว่าเป็นเนินปราสาท ซึ่งเป็นที่ตั้งพระราชวังเก่าของกษัตริย์ในสมัยโบราณ สันนิฐานว่าเคยเป็นสระน้ำที่ใช้ในพิธีทางศาสนาด้วย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนขนาดใหญ่ ในปี 2478 กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นเขตโบราณสถาน มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่
ในการพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งนี้ จังหวัดนครปฐมได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ สระน้ำจันทร์ ในวันที่ 6 เมษายน และพิธีทำน้ำอภิเษก ในวันที่ 8-9 เมษายน ณ พระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีสำคัญหลายวาระ จากนั้นจะเชิญน้ำอภิเษกไปรวม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร เพื่อทำการเสกน้ำอภิเษกรวมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 เมษายน และเชิญน้ำอภิเษกทั้งหมดไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เมษายน ต่อไป
พระมหาเศวตฉัตร
พระมหาเศวตฉัตร หรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตรทำด้วยผ้าขาวลดหลั่นกัน 9 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อนกัน 3 ชั้น ใช้ปักหรือแขวน ประดิษฐานเหนือพระแท่นราชบังลังก์ในพระที่นั่งสำคัญต่าง ๆ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ หรือเหนือที่ประทับในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้ว นอกจากนั้นยังมีสัตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) เบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 5 ชั้น) ฉัตรขาว 3 ชั้น เป็นต้น สำหรับประกอบพระอิสริยยศและอิสริยยศต่าง ๆ ลดหลั่นกันไป
ฉัตรมีที่มาจากร่มที่เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศของกษัตริย์หรือแม่ทัพ ในการสงครามเมื่อรบชนะจะมีการยึดร่มของแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามเพื่อประดับบารมี เป็นที่มาของการใช้ฉัตรเพื่อแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ที่มีชัยชนะเหนือกษัตริย์อื่น ๆ ทั้ง 8 ทิศ และรวมกับของพระองค์เองอีก 1 พระมหาเศวตฉัตรจึงมี 9 ชั้น ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน
เครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องอิสริยราชูปโภค
เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องอิสริยราชูปโภค และพระแสงราชศาสตราวุธ ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบด้วย
1. พระมหาพิชัยมงกุฏ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ แสดงความเป็นเทวราชาของพระมหากษัตริย์
2. พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เห็นแจ้งทั่วทั้งโลกธาตุ และแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวหน้าแห่งนักรบด้วย
3. ธารพระกรชัยพฤกษ์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงบริหารแผ่นดินด้วยความสุขุมคัมภีรภาพดังผู้มีวัยวุฒิและทรงคุณธรรม
4. วาลวิชนี ประกอบด้วยพัดใบตาลปิดทอง และพระแส้หางจามรี หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พัดพาความร่มเย็นและปัดเป่าผองภัยทั้งมวล ให้กับประชาราษฎรในพระราชอาณาจักร
5. ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งการทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพในพระราชอาณาจักรที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป
เครื่องอิสริยราชูปโภค เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องประกอบยศด้วย สำหรับพระมหากษัตริย์จะประกอบด้วย
1. พานพระขันหมาก เป็นพาน 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซองพลูและตลับสำหรับใส่หมาก ทำจากทองคำ
2. พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ เป็นภาชนะบรรจุน้ำ มีฝาทรงยอดอย่างมณฑป ภายในลอยจอกทองคำ
3. พระสุพรรณราช เป็นกระโถนใหญ่ปากบาน
4. พระสุรรณศรี เป็นประโถนเล็กคล้ายรูปบัวแฉก
พระแสงราชศาสตราวุธ เป็นพระแสงสำคัญที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงสร้างไว้สำหรับการพระราชพิธีสำคัญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงดาบใจเพชร พระแสงดาบเวียด พระแสงฟันปลา พระแสงหัตถ์นารายณ์ พระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง และพระแสงดาบญี่ปุ่น เป็นต้น
พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร และเสด็จออกมหาสมาคม
วันที่ 4 พฤษภาคม หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายเสด็จออกมหาสมาคม ให้ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และช่วงค่ำเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระราชพิธีที่คล้ายกับพิธีขึ้นบ้านใหม่ โดยการเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร มีการเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคตามเสด็จฯ เมื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจทอง ณ ห้องพระบรรทมแล้ว จะทรงประทับบนพระแท่นราชบรรจถรณ์เป็นปฐม
วันที่ 5 พฤษภาคม ช่วงเช้าเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ช่วงเย็นเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมาคร
วันที่ 6 พฤษภาคม ช่วงบ่ายเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นพระราชพิธีกระทำขึ้นเพื่อเป็นการประกาศพระบรมเดชานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ ทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค โดยในรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเพิ่มธรรมเนียมให้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงที่สำคัญในพระนครด้วย ทั้งยังทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมให้ประชาชนสามารถชมพระบารมีได้ โดยมิต้องหมอบเฝ้าและปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนเหมือนอย่างสมัยโบราณ
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในช่วงเย็นของวันที่ 5 พฤษภาคม ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระรัตนตรัย และพระบรมราชสรีรางคาร และในช่วงปลายเดือนตุลาตคม พ.ศ. 2562 จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารคในโอกาสนั้นด้วย
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.