พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
โซนที่ 3: “มหิดล” มุ่งสู่ความเป็นเลิศ
แสดงพัฒนาการของยุคขยายการศึกษาที่ครอบคลุมศาสตร์ทุกสาขา
และมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ในทางกายภาพก็เกิดพื้นที่ส่วนกลางคือวิทยาเขตศาลายา ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของสถาบันและศูนย์รวมชาวมหิดล นอกจากนี้ยังแสดงประวัติพัฒนาการของวิทยาเขตต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย
“มหิดล” มุ่งสู่ความเป็นเลิศ
บอกเล่าประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหิดล นับตั้งแต่การขอพระราชทานนาม “มหิดล” เพื่ออัญเชิญเป็นชื่อใหม่ของมหาวิทยาลัย จนกระทั่งพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ มีคณะวิชาครบทุกแขนง ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งบอกเล่าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันซึ่งจะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคต
ก้าวสู่การเป็น “มหิดล”
หลังจากการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2507 คณะผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายรายงานและขอพระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมี พระราชดำรัสตอบว่าไม่ขัดข้อง แต่ทางมหาวิทยาลัยควรปรับปรุงและขยายมหาวิทยาลัยให้เป็น “มหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์” เสียก่อนดังนั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ขึ้น เพื่อขยายการเรียนการสอนให้ครอบคลุมสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ นอกเหนือจากการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีอยู่แล้ว จนกระทั่งในพ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก “ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็น “มหาวิทยาลัย มหิดล” และในวันที่ ๑ มีนาคมปีเดียวกันนั้น พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มหาวิทยาลัยมหิดลจึงถือเอาวันต่อมาคือวันที่ 2 มีนาคมเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
กำเนิดวิทยาเขตศาลายา
ภายหลังจากการเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี องค์ประธานคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล มีพระราชดำริว่า มหาวิทยาลัยมหิดลควรจะวางโครงการเพิ่มการรับนักศึกษา เพื่อสนองนโยบายขยายขอบเขตการศึกษา แต่เนื่องจากคณะวิชาของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่กระจัดกระจายตามวิทยาเขตต่างๆ และมีพื้นที่จำกัด มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตออกไปนอกเมือง โดยมีเงื่อนไขว่าที่ตั้งของมหาวิทยาลัยต้องอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ทางคณะกรรมการจึงเลือกที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพราะมีระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯและมีพื้นที่ขนาดใหญ่ คณะกรรมการจึงเจรจาขอซื้อที่ดิน ในขณะที่กำลังเจรจาต่อรองราคาที่ดินอยู่นั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงใช้พระหัตถ์โอบไหล่ของผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรงต่อราคาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ลดราคาที่ดินดังกล่าวเหลือเพียงไร่ละ 10,000 บาทเท่านั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ชาวมหิดลรู้สึกซาบซึ้งจนถึงทุกวันนี้
มหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์
โครงการขยายการศึกษาไปยังพื้นที่ศาลายาครอบคลุมทั้งจุดประสงค์ในด้านกายภาพและด้านวิชาการ ในด้านกายภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับนักศึกษาที่มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากศาลายามีพื้นที่กว้างขวางและมีบรรยากาศที่เหมาะสม ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดสรรพื้นที่ตามประโยชน์ใช้สอยและปรับภูมิทัศน์โดยการปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อสร้างความร่มรื่นและบรรยากาศที่น่าอยู่ภายในวิทยาเขต สำหรับด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยได้ขยายขอบเขตการเรียนการสอนจากคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์ไปสู่คณะทางสังคมศาสตร์ รวมทั้งขยายการศึกษาแก่ผู้ทุพพลภาพและนักศึกษาต่างชาติ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะและหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจากเดิม การขยายขอบเขตงานอย่างกว้างขวางนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ และพร้อมที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป
มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน”
จากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัย มหิดล” เพื่อเป็นแหล่งสร้างคนให้เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” มหาวิทยาลัยจึงขยายสาขาวิชาให้กว้างขวางครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภายใต้วัตถุประสงค์ด้านการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมทั้งจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแก่ผู้พิการ และพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการยกระดับจิตใจของประชาชน โดยการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันที่เน้นการเรียนการสอนด้านดนตรี รวมทั้งขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยจัดตั้งวิทยาเขตเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรีวิทยาเขตนครสวรรค์ และวิทยาเขตอำนาจเจริญ ถือเป็นการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยมหิดลกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ดำเนินงานได้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมและเป็นสากล ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีคณะวิชาทั้งสิ้น 17 คณะ และส่วนงานด้านวิชาการและงานวิจัยกว่า 20 ส่วนงาน ผลิตบัณฑิตปีละกว่า 5,000 คน ทั้งยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทยติดต่อกันหลายปีจนถึงปัจจุบัน
“กรีน แคมปัส” ชีวิตคุณภาพในมหาวิทยาลัยสีเขียว
จากแนวคิด "มหาวิทยาลัยเมืองในฝัน เมืองน่าอยู่และสร้างเสริมสุขภาวะ” นำไปสู่โครงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้จากธรรมชาติและชุมชนให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างคนเก่งที่มีจิตใจดี ด้วยเหตุนี้โครงการ “กรีน แคมปัส” จึงเกิดขึ้นโดยการปรับปรุงพื้นที่ในมหาวิทยาลัย ที่เน้นความเป็นธรรมชาติและการอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทาง 5 ประการ ที่ปรากฏในแผนแม่บทระยะเวลา 5 ปี (2551-2555) ดังนี้
1) มหาวิทยาลัยต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 70%
2) ลดพื้นที่การจราจรของรถยนต์ลงครึ่งหนึ่ง แล้วแบ่งเป็นพื้นที่เดินเท้าหรือปั่นจักรยานแทน
3) สร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
4) พัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความเชื่อมโยงกับชุมชนรอบข้าง ไม่แยกตัวออกจากชุมชน
5) การพัฒนาด้านกายภาพต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย
ภายใต้แนวทางเหล่านี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ด้านกายภาพเพื่อพัฒนาจิตใจของนักศึกษา และเพื่อให้นักศึกษาได้ซึมซับบรรยากาศการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ที่นี่ โครงการกรีนแคมปัส ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการที่ดำเนินงานแล้ว เช่น การเปลี่ยนทางรถยนต์เป็นถนนคนเดินการใช้รถราง การปลูกต้นไม้ในมหาวิทยาลัย โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล และโครงการบ้านรักหมา คือฝึกสุนัขจรจัดให้เป็นสุนัขนิสัยดี เป็นต้น
จักรยานขาวในรั้วศาลายา
โครงการจักรยานสาธารณะเกิดขึ้นจากปัญหาจักรยานเก่าที่ถูกทิ้งไว้ตามหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยจะนำจักรยานเหล่านี้มาซ่อมแซมและทาสีจักรยานใหม่เป็นสีขาว และยังจัดซื้อจักรยานใหม่อีกส่วนหนึ่ง แล้วทำทะเบียน เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรได้นำไปใช้สัญจรในมหาวิทยาลัย โดยมีกฎกติกาว่าสามารถนำไปใช้และจอดที่ไหนก็ได้ แต่ห้ามล็อกหรือนำจักรยานออกนอกมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังจัดสร้างเส้นทางสัญจรทางจักรยาน(Bike lane) เพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดตั้งหน่วยซ่อมบำรุงจักรยาน และดูแลด้านความปลอดภัยโดยกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ธงวันมหิดล
ธงผ้ารูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก พิมพ์รูปพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชน รายได้จากการจำหน่ายธงทั้งหมดนั้นจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยยากไร้ เหตุการณ์สำคัญที่แสดงถึงความร่วมแรงร่วมใจของนักศึกษาเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2520 เมื่อธงวันมหิดลขายหมดก่อนวันที่ 23 กันยายน (1 วันก่อนวันมหิดล) ซึ่งเป็นวันขายใหญ่ “กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากทุกคณะและทุกวิทยาเขตจึงมารวมตัวกันเป็นเวลา 2 วัน 2 คืน เพื่อทำธงเพิ่ม จนกระทั่งมีธงพอขายในวันที่ 23 กันยายน ในปีต่อมาคณะกรรมการจำหน่ายธงวันมหิดลจึงมีมติให้จ้างกลุ่มอาสาฯ ผลิตธงแทนจ้างบริษัทเอกชน เพราะเห็นว่านักศึกษาทำได้ดีเทียบเท่ามืออาชีพ และยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา ส่วนทางกลุ่มอาสาฯ ก็ได้นำกำไรจากการขายธงไปสร้างโรงเรียนในชนบทเป็นประจำทุกปี
อนาคตของเรา
มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีความเป็นเลิศด้านการบริการสุขภาพ ศาสตร์ศิลป์ และนวัตกรรม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย มหิดลได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกไว้ 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 คือการส่งเสริมความกลมกลืนในความหลากหลาย โดยการประสานวิสัยทัศน์ พันธกิจของคณะ สถาบัน และวิทยาลัยต่างๆ ให้มีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัย ประการที่ 3 คือ การพัฒนาระบบสารสนเทศและทรัพยากร โดยการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารจัดการ และประการที่ 3 คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลนักศึกษา บุคลากร และคณาจารย์ โดยการพัฒนาทักษะ และความชำนาญในวิชาชีพ สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และบรรยากาศที่กระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตามเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาสังคม และประโยชน์สุขแห่งมนุษยชาติ ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.