พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

โซนที่ 2: เมื่อแรกสถาปนาในชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์”

จัดแสดงประวัติความเป็นมาและพัฒนาการในยุคแรก

ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ในส่วนนี้จะมีการเท้าความถึงจุดตั้งต้นสถาบันคือการต่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชและโรงเรียนแพทย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย

เมื่อแรกสถาปนาในชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์”

บอกเล่าความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหิดลในยุคแรก เริ่มจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” การจัดตั้งคณะวิชาเพิ่มขึ้นเพื่อขยายขอบเขตการศึกษา พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของนักศึกษาในยุคนั้น ในส่วนท้ายของการจัดแสดงเท้าความถึงยุคก่อนสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้แก่ การก่อตั้งและพัฒนาการของโรงพยาบาลศิริราช และสร้างโรงเรียนแพทย์ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ปฐมบทแห่งปัญญา

เมื่อ พ.ศ. 2485 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ โอนจากสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตแพทย์จำนวนน้อยแต่มีคุณภาพ และผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ภายใต้คติพจน์ที่ว่า “อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” หมายความว่า “คิดและปฏิบัติต่อผู้อื่น ดังเช่นคิดและปฏิบัติต่อตนเอง” คตินี้สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนก เรื่องการทำหน้าที่แพทย์รับใช้ประชาชนที่ว่า การที่จะได้รับความไว้วางใจของคนไข้ขอท่านถือสุภาษิตว่า ‘ใจเขาใจเรา’ ท่านคงจะคิดว่าท่านอยากได้ความสบายแก่ตัวท่านอย่างไร ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น

พระราชาและเจตนารมณ์

วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาไปพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ณ ปะรำพิธีหน้าตึกรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชกาล และได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้ได้จำนวนมากขึ้นให้พอกับความต้องการของประเทศชาติ” พระบรมราโชวาทนี้จึงเปรียบเสมือนการประกาศเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในการผลิตบุคลากร มารับใช้ประชาชนอย่างเต็มภาคภูมิ

ฝ่าคลื่นลมอุปสรรค

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะพื้นที่ศิริราชเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดตึกคณะทันตแพทยศาสตร์ อาคารของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลหลายหลังถูกโจมตีทางอากาศโดยกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น ตึกพยาธิวิทยาใหม่ ตึกพระองค์หญิง และหอพักแพทย์จนต้องสร้างเรือนไม้หลังคามุงจากเป็นที่เรียนแทน อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศิริราชยังคงเปิดรับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากสงคราม โดยมีนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ มาช่วยงาน ทว่าเมื่อถูกโจมตีอย่างหนัก มหาวิทยาลัยจำต้องย้ายสถานที่เรียนไปยังอาคารเก่าของโรงเรียนราชวิทยาลัย (ศาลากลางเก่าจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน) นอกจากนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุปกรณ์การเรียน ตำราเรียน ยา เวชภัณฑ์ และบุคลากรด้านการแพทย์ขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับประเทศทางตะวันตกได้ อาจารย์แพทย์ชาวไทยจึงต้องเขียนตำราและดัดแปลงเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อนำไปสอนนักศึกษา เช่น ตำรามหกายวิภาคศาสตร์ สไลด์วิชาต่างๆและเครื่องมือทดลองทางสรีรวิทยา เป็นต้น

กิจกรรมรับน้องข้ามฟาก: เรียนร่วมสำนัก...รักเหมือนร่วมแม่

ที่มาของกิจกรรมรับน้องข้ามฟากเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2474 เมื่อคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลยังอยู่ภายใต้สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้นมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะแพทยศาสตร์ฯกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักฟุตบอลของคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นคณะเตรียมแพทยศาสตร์ได้ก่อเหตุวิวาทกับนักฟุตบอลคณะแพทยศาสตร์ฯ เป็นเหตุให้รุ่นพี่ของคณะแพทยศาสตร์ฯ ไม่พอใจ และวางแผนแก้แค้นเมื่อรุ่นน้องผู้นี้ “ข้ามฟาก” มาเรียนที่ศิริราช อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสโมสรสาขาศิริราชได้ประชุมหารือกันว่าการแก้แค้นนั้นไม่ก่อให้เกิดผลดี ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะพายเรือจากฝั่ง ศิริราชข้ามไปท่าพระจันทร์เพื่อรับนักศึกษาใหม่ที่เดินทางมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจัดงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อเป็นการแสดงการให้อภัยและเชื่อมความสามัคคีแทน การรับน้องใหม่ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสมานฉันท์แล้ว ยังทำให้รุ่นพี่นักศึกษาแพทย์ได้รับการยอมรับจากรุ่นน้อง จนกลายเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันและถือเป็นพิธีรับน้องใหม่่ในมหาวิทยาลัยครั้งแรกของเมืองไทย

มุ่งรักษาประชาชน

สืบเนื่องจากความต้องการด้านการแพทย์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้งานของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อสนองความต้องการ ดังกล่าวมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้ก่อตั้งคณะวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะวิทยาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ แสดงถึงความรุ่งเรืองทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยและสะท้อนถึงความตั้งใจของบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีแก่ประชาชน

จุดตั้งต้นของสถาบัน

จุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เกิดขึ้นจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน ตลอดจนปรับปรุงการแพทย์ให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานตะวันตกเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่ารักษา และผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับประเทศ ชื่อโรงพยาบาลศิริราชนั้นมาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิด ขณะที่มี พระชนมายุเพียง 1 ปี 7 เดือน

ต่อมามีการก่อตั้งโรงเรียนแพทยากรขึ้นใน พ.ศ. 2436 เพื่อฝึกหัดแพทย์ไว้ใช้ในโรงพยาบาล และในอีก 7 ปีต่อมาโรงเรียนแพทยากรก็ได้พัฒนาเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัยเพื่อผลิตแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความชำนาญ รวมทั้งฝึกหัดแพทย์ผดุงครรภ์และบุรุษพยาบาล จากนั้นใน พ.ศ. 2460 โรงเรียนราชแพทยาลัยได้ไปอยู่ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่อเป็นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มีการใช้หลักสูตรแบบตะวันตก โดยร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ในการพัฒนาหลักสูตรนี้ให้ถึงระดับปริญญา

ความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์

มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญด้านการปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาแพทย์ในประเทศไทยโดยการติดต่อเจรจาของสมเด็จพระบรมราชชนก จากความร่วมมือดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรเป็นแบบ 2 : 2 : 2 แบ่งการเรียนเป็นชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ 2 ปี เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชั้นแพทยศาสตร์ 4 ปี เรียนที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต นอกจากนี้ทางมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ยังร่วมกับรัฐบาลไทย ส่งแพทย์ชาวไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่งแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาสอนในศิริราช รวมทั้งการให้ทุนสร้างอาคารใหม่

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.