พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการพระราชมารดาเกื้อการุณย์หนุนนำคุณภาพชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ เนื่องในงานมหิดล วันแม่ ๒๕๕๙
จัดนิทรรศการ วันที่ ๑๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บอร์ดนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “มหิดล-วันแม่ ประจำปี ๒๕๕๙” ในวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และโอกาสมหามงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ร่วมจัดนิทรรศการเรื่อง “พระราชมารดาเกื้อการุณย์ หนุนนำคุณภาพชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ” โดยนำเสนอพระฉายาลักษณ์ประกอบข้อความอันแสดงถึงพระราชดำริในการอบรมสั่งสอน การเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาของพระราชมารดา ๓ พระองค์ ได้แก่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของความเป็นแม่อันเป็นที่ประจักษ์แก่ สายตาปวงชนชาวไทยตลอดมา ทั้ง ๓ พระองค์ จึงทรงเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์พร้อมยิ่งในบทบาท “แม่ของลูก” ที่ควรยึดถือและปฏิบัติตาม
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
รูปที่ ๑ ที่มาของภาพ : แต้ว บอกอ MODEL. (๒๕๕๑). พระอารมณ์ขัน ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://topicstock.pantip.com/chalermthai/ topicstock/2008/01/A6223616/A6223616.html. (วันที่สืบค้น ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙).
รูปที่ ๒ ที่มาของภาพ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. (๒๕๓๙). สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สำนักงาน.
ทรงใส่พระทัยในด้านการอ่านและเขียนของพระโอรสและพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง โดยที่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการอ่านและการเขียน ของสมเด็จแม่ไว้ใน คำนำสำหรับผู้ใหญ่ ของหนังสือ “นิทานสำหรับเด็ก : เด็กเขียนให้เด็ก” ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ความว่า “...สมเด็จแม่ทรงมีส่วนอย่างมากในการกำเนิดและการสำเร็จของหนังสือ “นิทานสำหรับเด็ก” นี้ ในเวลานั้นข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือนิทานภาษาอังกฤษมาก เมื่ออยู่ที่อเมริกา ข้าพเจ้าไปโรงเรียนอนุบาลแล้ว แต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เมื่อกลับมาเมืองไทยสมเด็จแม่ทรงให้ครู ชาวอังกฤษหรืออเมริกัน มาคุยด้วยและสอนการปักผ้าอย่างง่ายๆ ต่อมาก็สอนหนังสือจริง ๆ จึงได้ หัดอ่านภาษาไทยที่โรงเรียนและ ภาษาอังกฤษ ที่บ้านพร้อม ๆ กันไป วันหนึ่งสมเด็จแม่รับสั่งว่าในเมื่อ ข้าพเจ้าอ่านภาษาอังกฤษออกและรู้จัก นิทานฝรั่งมาก น่าจะมาแบ่งให้เด็กไทยทราบบ้าง ข้าพเจ้ารู้สึก ตื่นเต้นและยินดีมาก วิธี “แปล” ของข้าพเจ้าตอนนั้น คืออ่านเรื่องให้เข้าใจเสียก่อนแล้วก็เล่าเป็น ภาษาไทยดังนั้นเรื่องที่ยาว ๕-๖ หน้า หรือมากกว่าจึงเหลือเพียง ๑-๒ หน้า ความอดทนของเด็ก ๙ ขวบ ยังมีน้อย ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงความเบื่อหน่ายเมื่อต้องมาเขียนเรื่องให้จบ สมเด็จแม่นอกจากต้องทรง ตามตัวข้าพเจ้ามาเขียน ยังต้องทรงแก้การสะกด และในที่สุดต้องทรงเป็นพระธุระในการจัดส่งโรงพิมพ์ อีกด้วย...”
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
รูปที่ ๑ ที่มาของภาพ : เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. (๒๕๕๕). สมเด็จแม่กับการศึกษา. กรุงเทพฯ : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน).
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมี ความสมบูรณ์แบบในความเป็นพระราชมารดาทุกประการ พระองค์ทรงอบรมดูแลพระจริยวัตรของพระราชโอรส และพระราชธิดาทุกพระองค์ทรงปลูกฝังให้ระลึกถึงหน้าที่ ที่มีต่อประเทศชาติ ครั้งหนึ่งมีนักข่าวต่างประเทศทูลถาม พระองค์ถึงวิธีการอบรมลูกทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “...อบรมอย่างพ่อแม่ธรรมดาที่อบรมว่าให้เป็นคนดีเท่า นั้นเองข้อสำคัญเป็นคนดีให้รู้จักเสียสละยิ่งเกิดมาใน ตำแหน่งลูกของประมุขแล้ว ก็ยิ่งต้องเสียสละมากขึ้นต้อง ทั้งเรียนและต้องทำงานไปด้วยและก็ต้องพยายาม ให้ได้ดี...” สำหรับในเรื่องของการอ่านสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกล่าวไว้ ในหนังสือพระราช นิพนธ์ เรื่อง “สมเด็จแม่กับการศึกษา” ความว่า “...สมเด็จแม่ทรงอ่านหนังสือมากมีทุกประเภทไปไหน ก็ต้องไปหาซื้อมาไว้และทรงใช้หนังสือนั้นเป็นประโยชน์ มากที่สุดจนทุกวันนี้ ท่านก็ยังอ่านมาก...ท่านซื้อหนังสือ ของท่านเอง ทรงซื้อพระราชทานให้ข้าพเจ้าอ่านจนโตก็ยัง ทำทรงแนะนำทั้งการอ่านในใจและการอ่านดังๆ ซึ่งมีรับสั่ง ว่าจะช่วยให้ภาษาพูดของเราดีขึ้น ทรงสนับสนุนให้ตั้ง ห้องสมุดสะสม หนังสือ...”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
รูปที่ ๑ ที่มาของภาพ : Num7339. (๒๕๕๐). รักพระองค์โสมฯและองค์ภาฯมากๆ ทรงเป็นขัตยนารีที่สมบูรณ์แบบในราชจักรีวงศ์. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://topicstock.pantip.com/library/ topicstock/2007/09/K5824326/K5824326.html. (วันที่สืบค้น ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙).
รูปที่ ๑ ที่มาของภาพ : เจ้าคุณวิสุทธิฯ. (๒๕๕๑). ความรื่นเริงบันเทิงใจในงานของมูลนิธิ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ที่สวนอัมพร. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008 /12/K7308062/K7308062.html. (วันที่สืบค้น ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙).
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงอบรม ดูแล เลี้ยงดูพระธิดาเป็นอย่างดีเรื่อยมาและมักปรากฏภาพคู่ของทั้งสองพระองค์อยู่เสมอซึ่งเป็น ภาพที่สะท้อนถึงความรัก ความอบอุ่น และความสนิทสนมระหว่างแม่และลูกอย่างงดงาม ดังที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ เช่น พระองค์ประทานพระวโรกาสให้กองบรรณาธิการนิตยสาร ไฮ–คลาส เข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เกี่ยวกับพระกรณียกิจ พระจริยวัตร และสิ่งที่พระองค์ทรงสอนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา ความว่า “...ที่สอนลูกก็ให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากช่วยเหลือตัวเองแล้ว ก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย แล้วก็ต้องเรียกว่ารู้หน้าที่ในการทำงาน รู้จุดประสงค์ว่าเรา จะทำอย่างไร เพื่ออะไร แล้วก็ทำให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด...” นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึงการอบรมคุณใบพลู (สิรพัชรา โสพัชรมณี) ที่พระองค์ทรงอุปการะไว้ ดังนี้ “...ก็ให้เขาเป็นเด็กดีในสังคม ตอนนี้ก็ยังอยู่ในวัยศึกษา ก็ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ...”
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.