พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558

จัดนิทรรศการ วันที่ 2 เดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บอร์ดนิทรรศการ

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติขึ้น ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยมหิดล นานัปการ โดยนำเสนอเรื่องราวอันทรงคุณค่า ที่อยู่ในความทรงจำของชาวมหิดล ในการเสด็จ พระราชดำเนินในพิธีการสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร และการถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พิธีเปิดอาคาร โครงการในพระราชดำริ ตลอดจนการพระราชทานชื่ออาคารต่างๆ ยังความปลาบปลื้มมายัง ชาวมหิดลในน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น

อนึ่ง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

ได้ดำเนินการรวบรวมพระราชกรณียกิจ และมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล และบันทึกเป็นความทรงจำร่วมของมหาวิทยาลัยสืบไป

  • หน้าที่ 1
  • หน้าที่ 2
  • หน้าที่ 3
  • หน้าที่ 4
หน้าที่ 1

อาคารระเบียบ คุณะเกษม

พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

อาคารระเบียบ คุณะเกษม เป็นเรือนไทยของศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย

เริ่มสร้างวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ แล้วเสร็จในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐ โดยใช้งบประมาณ ในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีคุณระเบียบ คุณะเกษม เป็นผู้บริจาคเงินทุนให้ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และทางมหาวิทยาลัยสมบทให้อีก ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้สร้าง ตามแบบอาคารพิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้าฯ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยทางมหาวิทยาลัย มีความประสงค์ให้อาคารดังกล่าวเป็นแบบฉบับของเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย จึงได้เชิญ ทีมงานที่สร้างพิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้าฯ มาเป็นผู้สร้างอาคารหลังนี้ โดยมีวัตถุประสงค์จะใช้เป็น ที่เก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมและพัฒนาชนบท และเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ และ การแสดงทางวัฒนธรรม

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๐ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "อาคารระเบียบ คุณะเกษม" ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อาคารเรือนไทยดังกล่าวเป็นเรือนหมู่ ๕ หลัง มีชานแล่นถึงกันตลอด และมีศาลาริมน้ำอีก ๑ หลัง ได้ปลูกตามแบบแผนของเรือนคหบดีภาคกลาง ตัวอาคารได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ มากขึ้น ในห้องโถงของเรือนประธาน ใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ ห้องบรรยาย เสวนา หรือเป็น ห้องจัดพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนบริเวณชานและเรือนขวาง ใช้เป็นที่แสดงศิลปวัฒธรรม

อาคารระเบียบ คุณะเกษม จึงเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวมหิดล สมดังคำของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวว่า "ก็ดีแล้ว แม้ไม่คิดใช้ประโยชน์อะไร ก็ยังสมควรสร้างไว้ ต่อไปจะไม่มีคนสร้างได้"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ร่วมเป็นผู้บอกสักวากลอนสด

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ร่วมเป็นผู้บอกสักวากลอนสด

การเสด็จพระราชดำเนินเปิด “ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์” (อาคารระเบียบ คุณะเกษม) เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๐ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการแสดง สักวาหน้าพระที่นั่ง เรื่อง สังข์ทองตอนเลือกคู่ครั้งแรก และในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมเป็นผู้บอกสักวากลอนสดครั้งนี้ด้วย โดยพระองค์รับบทเป็น “รจนา”

ตัวอย่างสักวา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“...คุณสมชายร้อง เพลงตวงพระธาตุ ในบทนี้จบลงไม่เท่าไร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงย้ำถึงเหตุผลที่ไม่ยอมเลือกคู่ ซึ่งบทนี้แสดงทั้งอารมณ์ขันและ พระปฏิภาณในการหาข้อแก้ตัวได้อย่างน่าชื่นชม"

ลายพระหัตถ์พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บทรจนา (ตอบท้าวสามล – เหตุที่ไม่เลือกคู่)

บทนี้ทำให้ผู้คนปรบมือดังกึกก้องอีกครั้ง ด้วยทั้งขำและทั้งเห็นว่าเหตุผลที่ไม่ทรง เลือกคู่ครองนั้นน่าฟังนัก ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเล่าว่า สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปรารภหลังจากทรงบทสักว่าบทนี้ว่า “ความจริงยังมีเหตุผล อีกตั้งมากมาย แต่กลอนมันบังคับให้เขียนได้เพียงแค่นี้” บทนี้คุณดวงเนตรขับร้องด้วย เพลงอัปสรสำอาง ซึ่งเหมาะทั้งชื่อเพลง ลีลาเพลง และทำนองอันไพเราะยิ่ง...”

 วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิราชสุดา เกิดขึ้นจากน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระเมตตาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงทราบด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลในความจำเป็นที่คนพิการไทยจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรงเชื่อในศักยภาพของคนพิการ ในอันที่จะศึกษาเล่าเรียนพัฒนาด้านอาชีพ และด้านอื่นๆ จนมีความพร้อมที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข สามารถพึ่งตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ แต่สิ่งที่คนพิการส่วนใหญ่ยังขาดก็คือ โอกาส และที่สำคัญ ที่สุดก็คือ โอกาสทางการศึกษา

ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่จะให้การสนับสนุนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ในการพัฒนาศักยภาพความพร้อมทางการศึกษา โอกาสในด้านการประกอบอาชีพ ตลอดจน คุณภาพชีวิตของคนพิการ พร้อมกันนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งมูลนิธิราชสุดาขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยทรงเป็นสมเด็จองค์ประธาน มูลนิธิ เพื่อให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นการพัฒนาศักยภาพคนพิการ

ในวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน สร้อยพระนาม "ราชสุดา" อันเป็นมงคลนามสำหรับชื่อวิทยาลัยและมูลนิธิ ดังนั้น วิทยาลัยราชสุดา จึงถือเอาวันนี้เป็นฤกษ์กำเนิดของวิทยาลัย และกำหนดสีประจำวิทยาลัยเป็นสีชมพูอ่อน ตามสี ประจำวันอังคาร มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดา ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ในวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ตรงกับวันที่ระลึกมหาจักรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารอำนวยการวิทยาลัยราชสุดาอีกด้วย

ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ดำรงตำแหน่ง : ๒๖ ก.ย. ๒๕๓๖ - ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๐

ต่อมา สภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๒๓๕ ได้มีมติแต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ วิทยาลัยราชสุดาท่านแรก เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นไป และจากนั้นเป็นต้นมา วิทยาลัยได้ดำเนินการจัดเตรียมอาคาร สถานที่ บุคลากร หลักสูตร การวิจัย และบริการวิชาการต่างๆ เพื่อให้บริการ แก่ผู้พิการ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงพร้อมดำเนินการเปิดหลักสูตรแรก และขยายบริการวิชาการอย่างกว้างขวางขึ้น กิจการของวิทยาลัยจึงได้ พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เกิดขึ้นเนื่องจากพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ห่างไกลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระองค์ทรงมี พระราชดำริให้มีการจัดทำโครงการต่างๆ ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยโรงเรียน เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการปรับปรุงภาวะโภชนาการ และโครงการควบคุม โรคขาดสารอาหารโปรตีน ซึ่งโครงการเหล่านี้ เป็นโครงการที่ปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพ ที่เหมาะสม นอกจากนี้แล้ว พระองค์ท่านยังมีพระราชดำริให้จัดงานวันแพทย์พระราชทานขึ้น เพื่อให้การตรวจรักษาแก่ราษฎรและการจัดหน่วยแพทย์พระราชทาน ในขณะที่พระองค์ ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรท้องถิ่นชนบท

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นว่าสุขภาพอนามัยช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ อย่างหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชนบทที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริม ให้เกิดสุขภาพอนามัยที่ดีแก่นักเรียน ดังนั้น เพื่อสนองตามพระราชประสงค์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงได้จัดหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาแก่นักเรียนและประชาชนตามพื้นที่ที่อยู่ใน โครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน กิจกรรมดังกล่าวได้จัดทำเป็นครั้งคราว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล ได้จัดหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ รับอาสาสมัครจากอาจารย์ ข้าราชการ และศิษย์เก่าคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกให้บริการทันตกรรมแก่ นักเรียนในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ณ จังหวัดนครนายก เป็นจำนวน ๓ ครั้ง และในปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้จัดให้มีการออกหน่วยทันตกรรมป้องกันให้แก่นักเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบเป็นประจำ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดให้มีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล มีวัตถุประสงค์ให้บริการทันตกรรมตามโครงการเฝ้าระวังทันตสุขภาพ และโครงการเกษตรเพื่อ อาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งหน่วยนี้ออกปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๔๑ รวม ๘ ครั้ง

ในการออกปฏิบัติงานหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ตามการเสด็จทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนตำรวจ ตระเวนชายแดนบ้านเรดาร์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในนามของคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้กราบบังคมทูล รายงานผลการปฏิบัติงาน พร้อมกับได้ถวายหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของคณะฯ เพื่อถวายงาน ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านสืบไป และต่อมาในการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ตามการเสด็จทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโคกป่าจิก จังหวัดสุรินทร์ ท่านคณบดีได้กราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ พระองค์ท่านได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นตามคำสั่ง สำนักพระราชวัง ที่ ๑๒๕/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๑ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ตราสัญลักษณ์สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยทันตกรรม พระราชทานฯ นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดแก่ชาวคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงถือได้ว่า วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นวันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ต่อมาหน่วยทันตกรรมพระราชทานและทันตกรรมเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใน คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับการยกระดับขึ้นเป็น “ศูนย์ทันตกรรมพระราชทานและ ทันตกรรมเคลื่อนที่” จากมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๔๔๑ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็น “ศูนย์ทันตกรรมพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

ศูนย์ทันตกรรมพระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น ศูนย์ปฏิบัติการหลักตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและท้องถิ่น โดยร่วมกับ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจ ตระเวนชายแดน กระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้กำหนดช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม เป็นเวลาการปฏิบัติ ของศูนย์ทันตกรรมพระราชทานฯ โดยถือวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (วันที่ ๒ เมษายน) เป็นปีที่เริ่มดำเนินการ มาจนถึงปัจจุบัน

หน้าที่ 2

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและ ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ดำเนินการ อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ เพื่อเป็นการสืบสานงานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่างๆ และดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อ พัฒนาบุคลากร อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย


โดยในปี ๒๕๔๙ โครงการ อพ.สธ. ได้เชิญให้มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการเข้าร่วมใน แผนแม่บทระยะ ๕ ปีที่ ๔ (ตุลาคม ๒๕๔๙ – กันยายน ๒๕๕๔) และให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ดำเนินงานร่วมในโครงการ อพ.สธ. โดยมีอธิการบดี เป็นประธานกรรมการ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางพันธุกรรมพืช เข้าร่วมในการจัดทำแผนแม่บท ๑๖ โครงการ อันเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมหลัก ๘ กิจกรรม คือ

กิจกรรมที่ ๑ : กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช กิจกรรมที่ ๒ : กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช

กิจกรรมที่ ๓ : กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช

กิจกรรมที่ ๔ : กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช

กิจกรรมที่ ๕ : กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช

กิจกรรมที่ ๖ : กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช

กิจกรรมที่ ๗ : กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

กิจกรรมที่ ๘ : กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

ด้วยเจตนารมย์และความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล อันประกอบด้วยนักวิชาการจากหลากหลาย สาขาวิชาจึงเข้าร่วมเป็นทีมสำรวจพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และดำเนินการจัดทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. “ทรัพยากรไทย : นำสิ่งดีงามสู่ตาโลก”

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. “ทรัพยากรไทย : นำสิ่งดีงามสู่ตาโลก” ณ เขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี จัดโดยคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมวิชาการนิทรรศการ อพ.สธ. ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธาณในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อให้เยาวชน ประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน และผู้กำหนดนโยบาย ได้เห็นความหลากหลาย แห่งศักยภาพของทรัพยากรไทย การอนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ซึ่งเป็น คณาจารย์และนักวิจัยจากหน่วยงาน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น

สำหรับนิทรรศการผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือของกองบริหารงานวิจัย และฝ่ายประชาสัมพันธ์ วิทยาเขตกาญจนบุรี มี ผศ.ดร.เกษม กุลประดิษฐ์ คณะสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรศาสตร์ และคณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ สถาบันโภชนาการ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล วิทยาเขตกาญจนบุรี และวิทยาเขตอำนาจเจริญ นำมาผลงานวิจัยมาจัดแสดงในหัวข้อต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก ดังนี้

๑. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผักและผลไม้พื้นบ้าน

๒. โมเลกุลของพืชสมุนไพร พืชใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย

๓. ความหลากหลายของทุเรียนในประเทศไทย

๔. ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในถ้ำที่เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาวคุณกิตติ

๕. ความหลากหลายทางชีวภาพป่าชุมชนแบบชุมชนมีส่วนร่วม จ.อำนาจเจริญ

๖. พันธุ์ไม้เด่น สัตว์เฉพาะถิ่น ที่โดดเด่นในวิทยาเขตกาญจนบุรี

๗. หนังสือพรรณไม้เขื่อนศรีนครินทร์ และพรรณไม้เขาวังเขมร จ.กาญจนบุรี

ประติมากร : วัชระ ประยูรคำ (ผู้ปั้นหุ่นต้นแบบ) ช่างหล่อคือ Armando Beneto ช่างหล่อชาวอิตาเลียนที่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศไทย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ พระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๑ เป็นครั้งแรก และในการนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาเภสัชศาสตร- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ เวทีใหม่สวนอัมพร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทาน ปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ จวบจนปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง (พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๕๗)

พระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๒

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติ พระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดลในวันนี้. ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงกิตติคุณ ตลอดจนบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและ ความสำเร็จ ทั้งขอขอบใจมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ที่มอบปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ข้าพเจ้า

บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรต่างๆ จากสถาบันแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นผู้ได้รับการศึกษาอบรม มาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้แต่ละคนมีพื้นฐานอันมั่นคงที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ไม่มีสิ้นสุด และทำให้มีโอกาสอันงดงามที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้อย่างกว้างขว้าง. จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องตั้งใจให้ดี และเตรียมตัวให้พร้อม ที่จะนำเอาความรู้ ความคิด ความฉลาด ไปใช้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาของตนโดยเต็มกำลังความสามารถ. พร้อมกันนั้น ก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติฝึกฝนให้ยิ่งจัดเจนชำนาญ ทั้งในทางวิชาการและในการปฏิบัติ บริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่เฉพาะตัวหรืองานที่จะต้องปฏิบัติให้ประสานสอดคล้องกับผู้อื่น เพื่อให้งานที่ปฏิบัติอำนวยผลอันสมบูรณ์ยืนยง คือความเจริญมั่นคงแก่ตนแก่ชาติบ้านเมือง ได้ครบถ้วนเต็มภาคภูมิ.

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคนประสบความสุข ความสำเร็จในชีวิต มีความรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และขอให้ทุกท่านที่มาร่วมประชุมในพิธีนี้ มีความผาสุกสวัสดีจงทั่วกัน.”

ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา ๒๕๔๐

ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์์ ปีการศึกษา ๒๕๔๗

สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในหลายสาขาด้วยกัน เพื่อเป็นการเทินทูน และถวายพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ ที่ทรงเป็นนักพัฒนา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อการพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขของประชาราษฎร์หลากหลายด้าน โดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แด่พระองค์รวมทั้งสิ้น ๑๐ สาขาวิชา

ปีการศึกษา 2522

ชื่อปริญญา สาธารณสุขศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้เสนอขอ

คณะสาธารณสุขศาสตร์

ปีการศึกษา 2527

ชื่อปริญญา วิทยาศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (โภชนศาสตร์)

ผู้เสนอขอ

สถาบันวิจัยโภชนาการ

ปีการศึกษา 2532

ชื่อปริญญา วิทยาศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อม)

ผู้เสนอขอ

คณะสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรศาสตร์

ปีการศึกษา 2533

ชื่อปริญญา ศิลปศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(วัฒนธรรมศึกษา)

ผู้เสนอขอ

สถาบันวิจัยภาษาและ วัฒนธรรมฯ

ปีการศึกษา 2540

ชื่อปริญญา ทันตแพทยศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้เสนอขอ

คณะทันตแพทยศาสตร์

ปีการศึกษา 2541

ชื่อปริญญา เภสัชศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้เสนอขอ

คณะเภสัชศาสตร์

ปีการศึกษา 2543

ชื่อปริญญา วิศวกรรมศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้เสนอขอ

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ปีการศึกษา 2544

ชื่อปริญญา แพทยศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้เสนอขอ

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ปีการศึกษา 2545

ชื่อปริญญา วิทยาศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคนิคการแพทย์)

ผู้เสนอขอ

คณะเทคนิคการแพทย์

ปีการศึกษา 2547

ชื่อปริญญา พยาบาลศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้เสนอขอ

คณะพยาบาลศาสตร์

หน้าที่ 3

อาคารในพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมชกุมารี

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี “อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์”

อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่บริเวณแยกตึกชัย บนถนนพระรามที่ ๖ ตัดกับถนนราชวิถี บนเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๙๙.๘๖ ตารางวา เป็นอาคารสูง ๙ ชั้น ชั้นใต้ดิน ๓ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่ประกอบอาคาร รวม ๙๙,๕๕๓ ตารางเมตร เป็นอาคารที่มุ่งเน้นการให้บริการรักษาพยาบาลเป็นหลัก มีห้องตรวจรักษา ผู้ป่วยนอกจำนวน ๒๘๐ ห้อง ห้องพักผู้ป่วยใน ๒๘๓ ห้อง ห้องผ่าตัด ๑๒ ห้อง ห้องรักษาผู้ป่วยวิกฤต ๒๒ ห้อง เตียงรักษาทารกแรกเกิดวิกฤต ๓๒ เตียง เตียงบำบัดระยะสั้นและเคมีบำบัดรวม ๔๐ เตียง และส่วนบริการอื่นๆ จัดสร้างเพื่อบรรเทาปัญหาการทดแคลนพื้นที่ โดยได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ก่อสร้างอาคาร ๙ ชั้น สูงกว่าที่ทางราชการกำหนดไว้เพียง ๔ ชั้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทาน นามอาคารหลังนี้ว่า “อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์” เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๔๘ และเปิดให้บริการใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๔

คณะเภสัชศาสตร์ “อาคารเทพรัตน์”

อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ในบริเวณของคณะเภสัชศาสตร์ ด้านติดโรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา พญาไท มีพื้นที่ใช้ประมาณ ๑๖,๙๐๐ ตารางเมตร ด้านหน้า สูง ๓ ชั้น ด้านหลังสูง ๗ ชั้น สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อาคารในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า “อาคารเทพรัตน์”

อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย

เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นอาคาร ค.ส.ล. ขนาด ๕ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม ๒๘,๔๗๐ ตารางเมตร จัดสร้าง ณ บริเวณพื้นที่ใกล้กับตึกอำนวยการ ศูนย์ศาลายาเดิม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งถาวรในปัจจุบันของสถาบันฯ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามอาคารหลังนี้ ว่า  “อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี”

ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ตั้งอยู่บริเวณคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๙ และเปิดใช้เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕ เป็นอาคารสูง ๑๓ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย ๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตน- ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระองค์ท่าน ทรงพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า “ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี”

หน้าที่ 4

อ้างอิง


ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์: มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๐.

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย. เรือนไทยมหิดล (ออนไลน์).

แหล่งที่มา: http://www.arts.lc.mahidol.ac.th/index.php/2015-01-19-10-11-9/2015-01-20-03-58-16. [23 มีนาคม 2558].

วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์: มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๐.

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๑ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

งานประชาสัมพันธ์และธุรกิจ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

คณะเภสัชศาสตร์. ๒๕ ปี เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘.

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท. รายงานประจำปี ๒๕๔๒. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.