พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการ ต้นไม้ทรงปลูก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดนิทรรศการ วันที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บอร์ดนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
ไฟล์สูจิบัตรนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
“...ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคน เสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”
ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2519
จากพระราชดำรัสข้างต้น บ่งบอกถึงแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการปลูกฝังที่คนก่อน และยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการสอนให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกประการหนึ่งด้วย
มหาวิทยาลัยมหิดลได้น้อมนำพระราชดำริในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำเนินการเป็นนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558-2562 ได้มีการวางแผนเพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ที่มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ รื่นรมย์ เอื้อต่อวิถีชีวิตที่ส่งเสริมการเรียนรู้ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของนักศึกษา บุคลากร และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย
ในการนี้ ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดทำนิทรรศการ “ต้นไม้ทรงปลูก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล” ในโอกาสครบรอบ 49 ปี วันพระราชทานนาม 130 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 เพื่อรวบรวม เผยแพร่ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระกรุณาธิคุณในพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จมายังมหาวิทยาลัยมหิดลในโอกาสต่าง ๆ ทั้งยังได้ทรงปลูกต้นไม้พระราชทานและประทานไว้ถึง 18 ต้น 16 สายพันธุ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นที่ระลึกให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ประหนึ่งเป็นการปลูกต้นไม้ในใจพวกเราชาวมหิดล เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสืบไป
ต้นศรีตรัง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกเมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18.05 น. ณ บริเวณสนามหญ้าด้านซ้ายและขวาของลานพระราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ความเป็นมา
วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17.58 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ที่ประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ไปยังบริเวณสนามหญ้าด้านซ้ายและขวาของลานพระราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก
ในเวลา 18.05 น. ทรงปลูกต้นศรีตรัง จำนวน 2 ต้น โดยทรงพรวนดิน และทรงรดน้ำที่ต้นศรีตรัง ทั้ง 2 ต้น เพื่อพระราชทานให้เป็นสิริมงคลแก่โรงพยาบาลศิริราช ในการนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน เป็นผู้ถวายการเข็นพระเก้าอี้เลื่อน และ ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในขณะนั้นโดยเสด็จด้วย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโบกพระหัตถ์พร้อมแย้มพระสรวลตอบประชาชนที่มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จและถวายพระพรตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Jacaranda obtusifolia ssp. Rhombifolia (Meijer) Gentry
ชื่อเรียกอื่น: แคใบฝอย
ชื่อวงศ์: BIGNONIACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง 4-10 ม. ทรงต้นโปร่ง
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้าม ใบย่อยขนาดเล็ก
ดอก สีม่วง ออกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่ง กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 ซม. เกสรตัวผู้ 5 อัน
ผล เป็นฝักแบนรูปไข่กว้าง ขนาดกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. เมื่อแก่แตก 2 ซีก เมล็ดมีปีก
ถิ่นกำเนิด: มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ถูกนำมาปลูกครั้งแรกทางภาคใต้ ที่จังหวัดตรัง โดยพระยารัษฎานุ ประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในสมัยรัชกาลที่ 5
การกระจายพันธุ์: ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ทิ้งใบช่วงสั้นก่อนออกดอกในเดือนมกราคม-มีนาคม นิยมปลูกเป็นไม้ ประดับ
ประโยชน์: ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ร่มเงา และความสวยงามทั่วไป
ต้นแก้วเจ้าจอม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 ณ บริเวณหน้าอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 และทรงปลูกต้น “แก้วเจ้าจอม” ณ บริเวณอาคารพลศึกษา ปัจจุบันคือ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเป็นแบบอย่างในการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ ทรงตระหนัก ถึงคุณค่าของป่าไม้ และพระราชประสงค์จะให้คนสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
แก้วเจ้าจอม เป็นพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันต้นกำเนิดต้นแรกในประเทศไทย มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีอยู่ต้นเดียวในประเทศไทย เป็นต้นไม้หายาก ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้พันธุ์นี้มาจากชวา ประเทศอินโดนีเซีย และนำมาปลูกไว้ใน วังสวนสุนันทา ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” ต้นแก้วเจ้าจอมได้ถูกจัดลำดับเป็นพันธุ์พืชอนุรักษ์ในบัญชี 2 ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2525 กรมส่งเสริมการเกษตร ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ เป็นผู้ตั้งชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า “แก้วเจ้าจอม” หรือ “น้ำอบฝรั่ง”
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Guaiacum officinale L.
ชื่อเรียกอื่น: Lignum vitae
ชื่อวงศ์: ZYGOPHYLLACEAE;
ลักษณะ:
ต้น ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-10 ม.
ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อย 2-3 คู่ ไม่มีก้าน รูปไข่กลับหรือรูปรี แผ่นใบหนา โคนใบสอบ ปลายใบมน ขอบใบเรียบ
ดอก ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบ สีฟ้าอมม่วงหรือฟ้าคราม สีจะจางลงเมื่อใกล้โรย
ผล เป็นผลแห้งแตก รูปคล้ายหัวใจ ปลายมีติ่งแหลม สีเหลืองอมส้ม เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดง
ถิ่นกำเนิด: อเมริกาเขตร้อน หมู่เกาะอินดีสตะวันตก ชื่อ Lignum vitae หมายถึง ไม้แห่งชีวิต (Wood of Life) เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำมารักษาอาการได้หลายโรค
การกระจายพันธุ์: ออกดอก เดือนสิงหาคม – เมษายน การปลูกเลี้ยงใช้ดินร่วน การระบายน้ำดี แสงแดดจัด น้ำปานกลาง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง
ประโยชน์: เนื้อไม้ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ยาระบาย และเป็นยาฝาดสมาน
ต้นสารภีแนน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูกต้น “สารภีแนน” เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ (ชื่อเดิมของอุทยานฯ ในขณะนั้น)
สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยสำหรับการศึกษา วิจัย พัฒนา และการเรียนรู้ โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ และเป็น “ปอดสีเขียว” ให้แก่บุคลากรในพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2524 หลังจากปลูกไม้ร่มเงาแล้ว จึงนำสมุนไพรไทยทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม จัดปลูกลงตามบริเวณที่สถาปนิกวางรูปแบบไว้ ในพื้นที่ 12 ไร่ โดยทำการรวบรวมสมุนไพรที่มีศักยภาพ และมีรายงานการวิจัยสนับสนุนด้วย ต่อมาเมื่อพืชสมุนไพรเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อว่า "สิรีรุกขชาติ" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสวนสมุนไพรแห่งนี้ ว่า “สวนสวยดี และช่างคิดที่นำสมุนไพรมาใช้เป็นไม้ประดับ”
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Calophyllum inophyllum L.
ชื่อเรียกอื่น: กระทิง กากะทิง สารภีทะเล
ชื่อวงศ์: CRUSIACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้ยืนต้น สูง 20-25 ม.
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีหรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 3-8 ซม. ยาว 10-15 ซม.
ดอก ช่อดอกออกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ดอกย่อย 4-6 ดอก กลีบดอกสีขาว มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก มีกลิ่นหอม
ผล สด รูปทรงกลม
ประโยชน์: ใบ ใช้เป็นยาเบื่อปลา
ต้นสารภี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2531 ณ บริเวณหน้าอาคารนาท ตัณฑวิรุฬห์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “สารภี” เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2531 ณ บริเวณหน้าอาคารนาท ตัณฑวิรุฬห์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หลังจากเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการสอบวิทยานิพนธ์ ของ หม่อมราชวงศ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ในหัวข้อ “ระบบสารสนเทศเพื่อการออกแบบระบบการปลูกพืช กรณีศึกษาเขตชลประทานห้วยน้ำโจน ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา”
คณะกรรมการควบคุมการทำวิทยานิพนธ์ ประกอบด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์พิเศษ เล็ก มอญเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนากร อ้วนอ่อน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ และอาจารย์จิระศักดิ์ พูนผล
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mammea siamensis Kosterm.
ชื่อเรียกอื่น: สารภี ทรพี สร้อยพี สารภีแนน
ชื่อวงศ์: CRUSIACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 ม.
ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 4-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. เนื้อใบค่อนข้างเหนียวและหนา
ดอก เดี่ยวหรือช่อ ออกเป็นกระจุกตามกิ่ง กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม ร่วงง่าย มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก
ผล ผลสด รูปกระสวย
ประโยชน์: ดอกแห้งปรุงยาหอม บำรุงหัวใจให้ชุ่มขื่น ชูกำลัง จัดอยู่ในเกสรทั้ง 5 คือ เกสรดอกไม้ 5 อย่าง ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง
ต้นกฤษณา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2535 ณ บริเวณด้านหน้าสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “กฤษณา” เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2535 ณ บริเวณด้านหน้าสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 1 เรื่อง “โภชนาการ” ของสถาบันฯ โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานเป็นประจำทุกปีติดต่อกัน รวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2549 เป็นการสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 15 เรื่อง “กระแสโลกเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้านโภชนาการ”
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte
ชื่อเรียกอื่น: ไม้หอม, Eagle wood
ชื่อวงศ์: THYMELAEACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-40 ม.
เปลือก เรียบสีเทา ตามยอดมีขนสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ มักมีขนตามขอบใบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า
ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายยอดและซอกใบ สีเขียวอ่อน กลีบดอก 5 กลีบ ผลรูปไข่
ประโยชน์: หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดกลิ่นหอม เพื่อการบำบัด หรือทำให้เกิดสุนทรียภาพทางอารมณ์ รู้จักกันดีในนาม “Aromatherapy” ในแถบทวีปเอเชีย แพทย์จะนำมาใช้ประกอบทางยา
ต้นจันทน์หอม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาสยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “จันทน์หอม” เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารให้แก่คณะฯ มีความหมายว่า “อาคารที่บันดาลให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อม”
อาคารแห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษา ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งในประเทศและนานาชาติ เป็นสถานที่ทำการวิจัย ค้นคว้า ให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย ห้องเรียนขนาดต่าง ๆ ห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม และห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mansonia gagei Drumm.
ชื่อเรียกอื่น: จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว จันทน์พม่า
ชื่อวงศ์: STERCULIACEAE
ลักษณะ:
ต้น ขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 10 - 20 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง
เปลือก ค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาว
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี แกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3 - 6 ซม. ยาว 8 - 14 ซม. ปลายใบแหลมโคนใบเว้า เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่นห่าง ๆ
ดอก ดอกเล็กสีขาวออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลาย กิ่งและตามง่ามใบ
ผล รูปกระสวย กว้าง 0.5 - 0.7 ซม. ยาว 1 - 1.5 ซม. มีปีกรูปทรงสามเหลี่ยม หนึ่ง ปีก กว้าง 1 - 1.5 ซม. ยาว 2.5 - 3 ซม.
การกระจายพันธุ์: ออกดอก ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และผลแก่ ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
การใช้ประโยชน์: เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบตบแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอม และเครื่องสำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย
ต้นพิกุล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และทรงปลูก “ต้นพิกุล” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ บริเวณด้านหน้าอาคาร
โอกาสนี้ ทรงบรรยายปาฐกถาเกียรติยศ คุณหญิงพิณพากย์ พิทยาเภท ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 150 ปี วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยทรงกล่าวถึงความสำคัญของวิชาชีพการพยาบาล ที่ต้องทำหน้าที่ส่งเสริม พัฒนาสุขภาพอนามัย และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บุคลากรวิชาชีพทางการพยาบาลต้องมีความรู้ ความสามารถ และเสียสละในหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเล็งเห็นความสำคัญข้อนี้ จึงทรงส่งเสริมให้สตรีไทยได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาชีพการพยาบาลในต่างประเทศ นำความรู้กลับมาพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mimusops elengi Linn.
ชื่อเรียกอื่น: มะเมา แก้ว พิกุลป่า พิกุลเขา พิกุลเถื่อน
ชื่อวงศ์: SAPOTACEAE
ลักษณะ:
ต้น ไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลางความสูง 5-15 ม.
ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหอกแคบๆ โคนใบแหลม ปลายใบมนหรือแหลม ใบเกลี้ยงขอบใบเรียบเป็นคลื่น ดอกออกเป็นกระจุกใหญ่ตามปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบ
ดอก ออกดอกเดี่ยว ที่ปลายกิ่งและซอกใบ แต่อยู่รวมกันเป็นกระจุก มี 24 กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น 2 ชั้น ชั้นใน 16 กลีบ ชั้นนอก 8 กลีบ สีขาวมีกลิ่นหอม แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลเมื่อโรย ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี
ผล กลมรีหัวท้ายแหลม ผลสุกมีสีเหลือง สีส้มหรือสีแดง มี 1-2 เมล็ด
การกระจายพันธุ์: พบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ประโยชน์: ดอก บำรุงหัวใจ แต่งกลิ่น ขับลม ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ต้นจำปีสิรินธร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิด “มหิดลสิทธาคาร” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และทรงปลูกต้น “จำปีสิรินธร” บริเวณทางเข้าอาคาร ฝั่งตรงข้ามวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหิดลสิทธาคาร เป็นอาคารหอประชุมอเนกประสงค์ มีความจุ 2,016 ที่นั่ง สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “มหิดลสิทธาคาร” หมายถึง “อาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สภามหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีมติให้ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Hall”
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Magnolia sirindhorniae Noot. & Chalermglin
ชื่อเรียกอื่น: จำปา จำปาสัก
ชื่อวงศ์: MAGNOLIACEAE
ลักษณะ:
ต้น ไม้ยืนต้น สูง 20 – 25 ม. ลำต้นตรง ต้นแก่เปลือกแตก เป็นร่องตามยาว กิ่งอ่อนมีแผลระบายอากาศชัดเจน
ใบ รูปรี กว้าง 7-10 ซม. ยาว 14-20 ซม. ปลายมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 2.5-4.5 ซม.
ดอก สีขาวนวล ออกเดี่ยว ตั้งขึ้นตามซอกใบ ใกล้ปลายยอด ยาว 2.5-3.5 ซม. ก้านดอกยาว 1.8 ซม กลีบดอกมี 12-15 กลีบ เรียงเป็นชั้นละ 3 กลีบ ปลายกลีบมน
ผล เป็นผลกลุ่ม ช่อยาว 4-6 ซม. รูปกลม มีผลย่อย 15-25 ผล เมล็ด สีแดงเข้ม รูปกลมรี ขนาด 4-6 มม.
การกระจายพันธุ์: เป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ขึ้นแช่น้ำอยู่ในป่าพรุน้ำจืด ที่ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ระดับความสูง 60 ม. เหนือระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ผลแก่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
ต้นมะม่วงมันศาลายา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสิริวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
มื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิด “อาคารสิริวิทยา” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และทรงปลูกต้น “มะม่วงมันศาลายา” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และพันธุ์ไม้เศรษฐกิจของชาวอำเภอพุทธมณฑล บริเวณด้านหน้าอาคาร
อาคารสิริวิทยามีลักษณะเป็นอาคารสูง 7 ชั้น 1 อาคาร และอาคารสูง 3 ชั้น 1 อาคาร มีพื้นที่ใช้สอย 16,342 ตารางเมตร สร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนด้านศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคารสิริวิทยา” หมายถึง “อาคารที่เป็นแหล่งรวมความรู้อันประเสริฐ” เมื่อวันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สำหรับมะม่วงมันศาลายาที่ทูลถวาย มีถิ่นกำเนิดที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นมะม่วงที่มีรสชาติอร่อย รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ถ้าผลดิบหรือห่ามจะมัน กรอบ หวาน อม เปรี้ยว และฉ่ำน้ำ มะม่วงมันศาลายามีผลทรงรีแกมหอก หลังและอกโค้งรับกันคล้ายรูปเขี้ยวสัตว์ ผลมีขนาดกลาง ความยาวประมาณ 12-15 ซม. เนื้อผลมาก เมล็ดลีบบางขนาดกลาง เมื่อแก่จัดผลมีสีเหลือง เนื้อผลสีเหลือง รสหวาน ติดดอกออกผลทวาย ผลดกสม่ำเสมอ ลักษณะประจำพันธุ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือกิ่งเลื้อย
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mangifera indica L.
ชื่อเรียกอื่น: มะม่วง
ชื่อวงศ์: ANACARDIACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง
ใบ โต ยาว ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีแดง
ดอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก สีขาว
ผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดแบน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ประโยชน์: ผลมะม่วงนำมารับประทานได้ทั้งดิบและสุก ใช้ยอดอ่อน ผลอ่อน มาประกอบอาหารแทนผัก เป็นยาสมุนไพร เช่น ผลมะม่วงดิบมีวิตามินซีสูง แก้เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น และชาวกะเหรี่ยงในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นำเปลือกต้นมะม่วงไปย้อมผ้า ให้สีเขียว
ต้นประดู่แดง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อโรงเรียน “Mahidol University International Demonstration School” และทรงปลูกต้น “ประดู่แดง” บริเวณหน้าป้ายชื่อโรงเรียน จากนั้น ทรงลงพระนามเป็นที่ระลึก และทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องสมุด ศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติโรงเรียน หลักสูตรการเรียนการสอน และผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะของนักเรียน
โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียน จำนวน 36 ห้อง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 6 ห้อง ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 ห้อง ห้องศิลปะ จำนวน 2 ห้อง รวมทั้งห้องสมุด สนามกีฬาในร่ม และห้องประชุมขนาดใหญ่ จำนวน 2 ห้อง รองรับการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (เกรด 10 ถึงเกรด 12) ในปี พ.ศ. 2560 มีนักเรียนเข้าศึกษาประมาณ 600 คน
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Phyllocarpus septentrionalls Donn. Sm.
ชื่อเรียกอื่น: วาสุเทพ Monkey flower tree, Fire of Pakistan
ชื่อวงศ์: FABACEAE (LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE)
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้ต้นสูงถึง 20 ม.
ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อย 6-10 ใบคู่ที่ปลายใหญ่ที่สุด แผ่นใบไม่สมมาตร รูปใบหอกถึงรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งก้าน กลีบเลี้ยง 4 กลีบสีแดง กลีบดอก 3 กลีบ สีแดงอมส้ม
ผล เป็นฝักแบนรูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย เมล็ดแบน
การกระจายพันธุ์: การกระจายพันธุ์ พบในประเทศกัวเตมาลา อเมริกาใต้ อเมริกากลาง ประเทศไทย
ต้นมหาพรหมราชินี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยทรงเปิดแพรคลุมป้าย "อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ" ทอดพระเนตรนิทรรศการถาวร สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล ณ อาคารใบไม้สามใบ จากนั้นทรงปลูกต้น “มหาพรหมราชินี” ทอดพระเนตรสวนสมุนไพร และแบบจำลองอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ และลานสมุนไพรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เดิมเป็น “โครงการปลูกสวนสมุนไพร” บนพื้นที่ 12 ไร่ สำหรับรวบรวมสมุนไพรไทยเพื่อการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อว่า "สิรีรุกขชาติ" ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลได้ยกระดับพื้นที่ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านสมุนไพรไทย และเป็นศูนย์การเรียนรู้ พร้อมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ จึงดำเนินการปรับภูมิทัศน์และขยายพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ เป็น 171 ไร่ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ”
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chelermglin & R.M.K. Saunders
ชื่อวงศ์: ANNONACEAE
ลักษณะ:
ต้น ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-6 ม. ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 ซม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนอ่อนคลุมอยู่
ใบ รูปหอก กว้าง 4-9 ซม. ยาว 11-19 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบและปลายใบแหลม มีเส้นแขนงใบจำนวน 8-11 คู่
ดอก มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 1-3 ดอก ใกล้ปลายยอดเป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับดอกของพรรณไม้ ชนิดอื่น ๆ ในสกุลมหาพรหม โคนกลีบสีเขียวอ่อน ปลายกลีบสีม่วงเข้ม กระดกงอขึ้นและประกบติดกันเป็นรูปกระเช้า แต่ละดอกบานอยู่ได้ 3-5 วัน กลิ่นหอมอ่อน ๆ
ผล เป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 10-15 ผล รูปทรงกระบอก
การกระจายพันธุ์: มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่แคบ ๆ ของยอดเขาสูงชันที่ระดับความสูง 1,100 ม. ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (Endemic) เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งยังเป็นพรรณไม้หายาก เนื่องจากมีจำนวนต้นในสภาพถิ่นกำเนิดน้อยมาก และมีการกระจายพันธุ์ต่ำ
ต้นราชพฤกษ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ความเป็นมา
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “ราชพฤกษ์” ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถาบันฯ อย่างเป็นทางการ
“สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชทานชื่ออาคาร ภายในมี “โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์” ขนาด 400 เตียง ความสูง 7 ชั้น ประกอบด้วย ส่วนบริการผู้ป่วยนอก ส่วนหอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยพิเศษ ส่วนสำนักงาน และส่วนการศึกษา มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อให้การดูแลและบริการตรวจรักษาประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมาประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดจนประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งตะวันออกด้วย
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia fistula L.
ชื่อเรียกอื่น: คูน ลมแล้ง
ชื่อวงศ์: CAESALPINIACEAE
ลักษณะ:
ต้น ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-15 ม.
ใบ เป็นใบประกอบ แบบขนนกปลายคู่ ใบย่อย 3-8 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-12 ซม.
ดอก สีเหลืองสด ออกตามซอกใบ เป็นช่อห้อยลง ยาว 20-40 ซม. ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้าง ประมาณ 3 ซม. กลีบรองดอก 5 กลีบ ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่ เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาว
ผล เป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 20-60 ซม. ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น
เมล็ด มีเนื้อเหนียวสีดำหุ้ม
การกระจายพันธุ์: ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประโยชน์: ผล ต้มน้ำกิน เป็นยาระบายสำหรับผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ ขับเสมหะ ขับพยาธิ ตานขโมยในเด็ก โรคไข้มาลาเรีย และดอกราชพฤกษ์ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติไทยด้วย
ต้นหางนกยูงฝรั่ง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ณ บริเวณสวนเจ้าฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงปลูกต้น “หางนกยูงฝรั่ง” ณ บริเวณสวนเจ้าฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Delonix regia (BoJ. ex Hook.) Raf
ชื่อเรียกอื่น: นกยูงฝรั่ง ส้มพอหลวง หงอนยูง
ชื่อวงศ์: CAESALPINIACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม.
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แก่นช่อใบ ยาว 50-60 ซม. แกนแขนงมี 9-24 คู่ ใบรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 มม. ยาว 8-10 มม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบมน
ดอก สีแดงแซมส้มเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 10-15 ซม. มี 5-10 ดอก ดอกย่อยขนาด 5-8 ซม. กลีบรองดอก 5 กลีบ ด้านในสีแดง กลีบดอก 5 กลีบ รูปช้อนขนาดไม่เท่ากัน เกสรตัวผู้ 10 อัน
ผล เป็นฝักโค้งแข็ง กว้าง 4-5 ซม. ยาว 30-60 ซม.
เมล็ด มี 20-40 เมล็ด เมื่อแห้งจะแตกตามสัน
การกระจายพันธุ์: เป็นพันธุ์ไม้ของเกาะมาดากัสการ์ นิยมนำมาปลูกทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน
ต้นราชพฤกษ์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ความเป็นมา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จทรงเปิดนิทรรศการ และทรงปลูกต้นไม้ในโครงการ “ศิริราชเขียวขจี ปลูกต้นไม้ฉลอง 120 ปี ทำดีเพื่อพ่อ” เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทรงปลูกต้น “ราชพฤกษ์” บริเวณสนามหญ้าทางฝั่งซ้ายของพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
โครงการดังกล่าว จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 120 ปี โรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการเจริญรอยตามแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างจิตสำนึกให้แก่บุคลากร ร่วมกันปรับสภาพภูมิทัศน์โดยรอบโรงพยาบาลให้ร่มรื่น มีสภาพอากาศที่ดี ช่วยประหยัดพลังงาน และลดความเครียด ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งแก่ผู้ป่วย นักศึกษา และบุคลากร นำไปสู่การเป็นโรงพยาบาลต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
ต้นกันภัยมหิดล
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปลูกเมื่อวันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2542 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2542 ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมายังมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันพระราชทานนาม เพื่อทรงแสดงปาฐกถา เรื่อง “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” พร้อมทั้งเป็นองค์ประธานตัดสินการคัดเลือกต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
ผลการตัดสิน ทรงมีพระวินิจฉัยให้ “กันภัยมหิดล” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลว่า เป็นต้นไม้ที่พบในประเทศไทย สามารถปลูกได้ง่าย มีนามเป็นมงคล มีชื่อพ้องกับนามมหาวิทยาลัย และมีลักษณะสวยงามแม้จะเป็นไม้เถา แต่ก็สามารถจัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้หลายแบบ มีอายุยืนหลายปี และเมื่อเถาแห้งไป ก็สามารถงอกงามขึ้นได้ใหม่ ซึ่งความเป็นไม้เถานี้ สื่อความหมายถึงความก้าวหน้า และความสามารถในการปรับตัวให้พัฒนาไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี โอกาสนี้ทรงปลูกต้นกันภัยมหิดลที่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดีด้วย
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Afgekia mahidoliae B. L. Burtt et Chermsirivathana
ชื่อเรียกอื่น: กันภัย
ชื่อวงศ์: FABACEAE (LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE)
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้เถา ขนาดกลาง มีขนประปรายทั่วต้น
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกสลับ มีใบย่อย 7-11 ใบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-3.5 ซม. โคนใบมน ปลายแหลมและมักมีติ่งสั้น
ดอก สีม่วง ออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 10-50 ซม. โคนก้านดอกมีริ้วประดับ รูปขอบขนาน ปลายแหลม บิดเวียน สีม่วง หลุดร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว ยาว 2-3 ซม. โคนกลีบรองดอกซ้อนกัน มีขนน กลีบดอก 5 กลีบ กลีบตั้งด้านในมีสีม่วงแดง ที่โคนกลีบมีแถบสีเหลือง เกสรตัวผู้ 10 อัน โคนเชื่อมกัน 9 อัน
ผล เป็นฝักแบน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 6-9.5 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก
เมล็ด ค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม.
การกระจายพันธุ์: มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นพรรณไม้หายาก ขึ้นตามป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูน ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย นำมาปลูกได้ทั่วไป ออกดอกเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์: ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี
ต้นอินจัน
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปลูกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ณ บริเวณด้านหน้าสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปลูกต้น “อินจัน” บริเวณด้านหน้าสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ในโอกาสเสด็จมายังสถาบันฯ เป็นการส่วนพระองค์
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Diospyros decandra Lour.
ชื่อเรียกอื่น: จัน จันขาว จันลูกหอม จันโอ อิน จันอิน
ชื่อวงศ์: EBENACEAE
ลักษณะ:
ต้น ไม้ต้นสูง 20 ม.
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ถึงขอบขนาน ฐานบ้านหรือปลายแหลม ปลายใบเรียวแหลม
ดอก ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้สีเหลืองนวล ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงรูประฆังคว่ำ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปคันโท ดอกเพศเมียลักษณะคล้ายดอกเพศผู้แต่ขนาดใหญ่กว่า
ผล ผลสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอม รูปร่างกลมหรือกลมแป้น มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เนื้อผลมีรสหวาน นิยมนำมารับประทานเมื่อสุก
การกระจายพันธุ์: การกระจายพันธุ์ พบในประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม พม่า และลาว ในประเทศไทยพบได้ทั่วไป นิยมปลูกเป็นไม้ผล
ประโยชน์: มีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ แก้ไข้ บำรุงเลือดลม แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงประสาท แก้เหงื่อตกหนัก ตับปอดพิการ ขับพยาธิ แก้สะอึก แก้ท้องเสีย แก้ไข้กำเดา
ต้นราชาวดีสีม่วง
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงปลูกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 ณ อาคารอทิตยาทร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ความเป็นมา
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด “อาคารอทิตยาทร” วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และทรงปลูกต้น “ราชาวดีสีม่วง” บริเวณหน้าอาคาร โดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าเฝ้าถวายรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น หรือ “รางวัลมหิดลทยากร” แด่พระเจ้าหลานเธอฯ ในโอกาสนี้ด้วย
อาคารอทิตยาทร เป็นอาคารสำหรับการเรียนการสอนของวิทยาลัยนานาชาติ ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ด้วยทรงเป็นศิษย์เก่า ในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ โดยทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 อาคารแห่งนี้ มีความสูง 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 67,901 ตารางเมตร ภายในมีห้องปฏิบัติการของหลักสูตรจิตรกรรมและศิลปกรรม (Fine and Applied Arts) มีหอแสดงศิลปะ (Art Exhibition & Gallery) มีอาคารสำนักงาน และที่จอดรถใต้ดิน จำนวน 3 ชั้น อีกทั้งยังเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ที่มีการออกแบบที่ทันสมัยอีกด้วย
ข้อมูลทางพรรณไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Buddleja davidii French.
ชื่อเรียกอื่น: Lilac with Orange Eye, Summer Liac
ชื่อวงศ์: BUDDLEJACEAE
ลักษณะ:
ต้น เป็นไม้พุ่ม สูง 3-5 ม.
ใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 3-4.5 ซม. ปลายแหลม โคนแหลม หรือมน ขอบจัก ด้านบนสีเขียว ด้านล่างมีขนสีเงิน ก้านสั้น
ดอก สีม่วงสด มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ยาว 15-18 ซม. ดอก มีขนาดใหญ่กว่าดอกราชาวดีสีขาว 1-1.5 เท่า กลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ๆ ปากหลอดมีสีเหลืองส้ม ปลายแยกเป็น 4 กลีบ เกสรตัวผู้ 4 อัน
ผล เมื่อแก่แตกได้
การกระจายพันธุ์: ถิ่นกำเนิด จีน ออกดอกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง
ประโยชน์: เป็นไม้ดอกไม้ประดับ
บรรณานุกรม
ข่าวสด. (2559). “ศรีตรัง” ที่ “ในหลวง” ทรงปลูก แค่ทิ้งใบเท่านั้นไม่ได้ยืนต้นตายดังโซเชี่ยลลือ ศิริราช-กรมป่าไม้เร่งฟื้นฟู. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_71794 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2561).
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2556). ข่าวประชาสัมพันธ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.ns.mahidol.ac.th/english/th/News/2556/06/building56_th.html (วันที่สืบค้นข้อมูล : 30 มกราคม 2561)
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2558). ความเป็นมาสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://med.mahidol.ac.th/cnmi/aboutus/story (วันที่สืบค้นข้อมูล : 31 มกราคม 2561)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2551). ศิริราชจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในหลวง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จทรงเปิดนิทรรศการและทรงปลูกต้นไม้ ในโครงการ “ศิริราชเขียวขจี ปลูกต้นไม้ฉลอง 120 ปี ทำดีเพื่อพ่อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=307 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 30 มกราคม 2561);
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2561). ไม้กฤษณา (ไม้หอม): ไม้ทรงคุณค่า ตอนที่ 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info.php?id=224 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 30 มกราคม 2561)
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2553). อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=about (วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2561)
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2552). ภาพพิธีเปิดอาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.en.mahidol.ac.th/thai/photo/20090717/index3.html (วันที่สืบค้นข้อมูล : 30 มกราคม 2561)
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2561). อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.en.mahidol.ac.th/thai/about/puttanadol.html (วันที่สืบค้นข้อมูล : 31 มกราคม 2561)
คณิตา เลขะกุล, คุณหญิง. (บรรณาธิการ). (2536). ไม้ดอกและไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติ. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.
คมชัดลึก (2554). ในหลวงทรงปลูกต้นศรีตรังเป็นสิริมงคลแก่รพ.ศิริราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.komchadluek.net/news/royal/105193 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2561).
เต็ม สมิตินันทน์. (2523). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย(ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้.
ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. (2559). นิทรรศการกันภัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://muarms.mahidol.ac.th/th/2559-exhibition/Kan-Phai-Mahidol (วันที่สืบค้นข้อมูล : 31 มกราคม 2561)
ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. (2555). มรดกความทรงจำ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://muarms.mahidol.ac.th/th/project_memories/ (วันที่สืบค้นข้อมูล : 30 มกราคม 2561)
มหาวิทยาลัยมหิดล. (2557). จดหมายเหตุประวัติของมหาวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://mahidol.ac.th/th/history.htm (วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2561).
มหาวิทยาลัยมหิดล. (2557). สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย : ต้นกันภัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.mahidol.ac.th/th/kanphai_mu.htm (วันที่สืบค้นข้อมูล : 30 มกราคม 2561).
ยศพิณ สิริเวชชะพันธ์, มานะ โพธิ์ทอง และมนัส เจืออรุณ. (2554). ต้นไม้ทรงปลูก. นนทบุรี : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.
-ส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้. (2537). พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (2554). ฐานข้อมูลพรรณไม้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/Search_page.asp (วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2561).
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
- ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
- นายสวัสดิ์ จินเดหวา
- นายกรชัย เหล็กเพ็ชร
- นายจรูญ กะการดี
- นายอภิชัย อารยะเจริญชัย
- นายนราวุฒิ สุวรรณัง
- นายเอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์
- นายพยนต์ ฐานะสถิรกุล
- นายวิศิษฏ์ สมบัติถาวรกุล
- นายโจนัส สุขกุล
- นางสาวจงภัทร นมะภัทร
- นายธนกฤต ทองบริสุทธิ์
- งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
- งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- หน่วยประชาสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะทำงานจัดทำนิทรรศการ “ต้นไม้ทรงปลูก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล”
นายโกมล คงมั่นกตเวที ที่ปรึกษา
นางสาวเพชรดา ฐิติยาภรณ์ ประธานคณะทำงาน
นางสาวอาทิตยา ทรัพย์สิน คณะทำงาน
นางสาวนวลปรางค์ ศรัทธาบุญ คณะทำงาน
นายพงศกร ระวิเพียรทรัพย์ คณะทำงาน
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.