พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

นิทรรศการวันมหิดล เรื่อง พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล

จัดนิทรรศการ วันที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

“วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” วันที่ ๒ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ชาวมหิดลจะได้น้อมรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้พัฒนามหาวิทยาลัย ขยายขอบข่ายวิชาการให้กว้างขวาง เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ

เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลที่สำคัญหลายประการ อาทิ รูปแบบการเรียนการสอน การวิจัย การจัดตั้งคณะใหม่ การขยายพื้นที่ การสร้างความร่วมมือเครือข่าย การสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร กำเนิดสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ และการก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เหนือสิ่งอื่นใด มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นวาระสำคัญแห่งการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระบรมราชชนก พระผู้ทรงมีพระจริยวัตรอันงดงามเปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทย ทรงได้รับการเทิดทูนจากยูเนสโกเป็นบุคคลดีเด่นของโลกและถวายพระราชสมัญญา พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย

  • หน้าที่ 1
  • หน้าที่ 2
  • หน้าที่ 3
  • หน้าที่ 4
  • หน้าที่ 5
หน้าที่ 1

การขอพระราชทานนาม

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๑๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๑๗ หน้า ๕-๒๗ ลงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จ- พระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายรายงาน และขอ พระราชทานนาม “มหิดล” ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ว่าไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ปรับขยายให้เป็นมหาวิทยาลัย ที่สมบูรณ์เสียก่อน เพื่อให้สมพระเกียรติ แต่ขอให้ เป็นไปในทางประหยัด ทางมหาวิทยาลัยก็ได้น้อมเกล้าฯ รับมาดำเนินการต่อมาเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้อนุมัติ ให้จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และให้ นำเสนอสภาการศึกษาแห่งชาติ แต่เนื่องจากหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ไม่ครอบคลุมไปถึงวิชาอื่นๆ สภาการศึกษาฯ จึงแนะนำ ให้ร่างพระราชบัญญัติเสียใหม่ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ เช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆ และในโอกาส เดียวกันก็ขอพระราชทานนามใหม่เสียด้วย

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำอาจารย์ ชั้นผู้ใหญ่ พร้อมทั้งเลขาธิการสภาการศึกษาฯ เข้าเฝ้า เพื่อถวายรายงานเรื่องนี้อีก ก็ได้พระราชทาน กระแสรับอีกสั่งว่า เมื่อพร้อมแล้ว และทางรัฐบาลเห็นสมควรก็ไม่ขัดข้อง

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติใหม่ร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการ กฤษฎีกา แล้วนำเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ พร้อมกับ การจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยหลังจากผ่านขั้นตอนตามระเบียบ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ประกาศใช้มีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นไป โดยมี ศ. นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลท่านแรก

การขอพระราชทานตราและสีประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

หนังสือ ที่ รล ๐๐๐๒/๒๙๗๙ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล

หนังสือ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ บันทึกพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระราชชนนีฯ ในการพระราชทานสีน้ำเงิน เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

ตราสัญลักษณ์สี

๑. เส้นวงกลม ๔ วง เส้นวงกลมนอกสุด และเส้นวงกลมในสุดเป็นเส้นหนา สีทอง เส้นวงกลมในบนพื้นขาว ๒ วง เป็นเส้นบาง สีทอง

๒. ในวงกลมพื้นขาว ด้านบน มีคำว่า อตฺตานํ อุปมํ กเร เป็นตัวหนังสือชนิดตัวริบบิ้น สีทอง

๓. ในวงกลมพื้นขาว ช่วงตรงกลาง มีลายประจำยาม ด้านละ ๑ ดวง สีทอง

๔. ในวงกลมพื้นขาว ด้านล่าง มีคำว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวหนังสือชนิด ตัวริบบิ้น สีทอง

๕. ในวงพื้น สีน้ำเงิน ประกอบด้วยพระนามาภิไธย ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ม คล้องอยู่กับ พระมหาพิชัยมงกุฎ มีจักรและตรีอยู่ตรงกลาง ด้านบน ม พระมหามงกุฎและปรมาภิไธย ย่อ “ม” สีเหลืองทอง

ตราลายเส้น

เป็นลายเส้นสีดำทั้งหมด ใช้สำหรับการทำตรายาง หัวกระดาษต่างๆ

หน้าที่ 2

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร พ.ศ. ๒๕๑๒

ภายหลังได้รับพระราชทานนาม “มหิดล” เป็นชื่อมหาวิทยาลัย คณะกรรมการมหาวิทยาลัย มหิดล เห็นสมควรกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมา พระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ใน “วันมหิดล” แทนวันที่ ๖ เมษายน เช่นปีก่อนๆ ดังนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน มาพระราชทานปริญญาบัตร โอกาสเดียวกับที่มาถวายบังคมพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ในเวลาบ่าย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทาน พระบรมราโชวาท ความว่า

นวันพุธที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จ- พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จ- พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาถึงโรงพยาบาลศิริราช ในเวลา ๑๕.๐๐ น. โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา และถวายบังคมพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนก จากนั้นเสด็จ พระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ในกระโจมพิธี เพื่อ พระราชทานเข็มสมนาคุณแก่ผู้อุปการะกิตติมศักดิ์ และ พระราชทานรางวัลแก่นักศึกษาผู้ชนะการประกวดเรียงความ เนื่องในวันมหิดล จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยัง หอประชุมราชแพทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล

การขอพระราชทานที่ดิน ณ ศาลายา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขายที่ดิน ที่ตำบลศาลายาให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้บันทึกลายมือเกี่ยวกับประวัติ มหาวิทยาลัยในการขอพระราชทานที่ดิน ณ ศาลายา ไว้ดังนี้

“... ศ.นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน ได้ทราบจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ว่ามีที่ว่างอยู่ที่ศาลายา ประมาณ ๑,๒๔๑ ไร่เศษ เป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะขายตารางวาละ ๓๐,๐๐๐ บาท ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าเหมาะ สำหรับจะขยายกิจการของมหาวิทยาลัยออกไปในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้า แต่เพื่อประโยชน์ของการศึกษา น่าจะลดลง เหลือไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาทได้

พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขายที่ดิน ที่ตำบลศาลายาให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล

ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระบรมราชชนนีที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พร้อมกับรองอธิการบดี และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เพื่ออัญเชิญพระองค์ท่านเป็นประธานกรรมการ ส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล มี ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ และ ฯพณฯ พจน์ สารสิน เป็นรองประธาน พร้อมด้วยกรรมการประมาณ ๓๕ คน กรรมการท่านหนึ่ง คือ หม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ ซึ่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พระองค์ได้พระราชทานพระมหากรุณา จัดให้มีการประชุมครั้งแรกที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ และจัดให้หม่อมทวีวงศ์ฯ นั่งชิดพระองค์ท่านทางด้านซ้าย ในระหว่าง เจรจากันถึงเรื่องมหาวิทยาลัยมหิดลอยากได้ที่ชิ้นนี้เพื่อขยายกิจการออกไป ฯลฯ หม่อมทวีวงศ์ฯ ก็กราบทูลว่าทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ตั้งราคาไว้ ไร่ละ ๓๐,๐๐๐ บาท พระองค์ท่านก็เอาพระหัตถ์ โอบที่ไหล่ แล้วค่อยๆ ต่อราคาลดลงจนเหลือ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ก็อ้างว่ายังจะต้องนำเข้าเสนอกรรมการ ทรัพย์สินฯ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอีกด้วย พระองค์ท่านรับสั่งว่า เรื่องนี้ไม่เป็นไร หมอชัชวาลคงจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยได้

ตกลงมหาวิทยาลัย จะต้องจ่ายทั้งหมด ๑๒,๔๒๐,๔๗๕ บาท เมื่อจ่ายครึ่งหนึ่งของราคาแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้โอนให้ได้ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ให้ชำระให้หมดภายใน ๕ ปี คิดดอกเบี้ย ๗% ในปีต่อมาทางสำนักงบประมาณก็กรุณาจัดสรรเงินให้ทั้งหมด โดยมิต้องเสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด ...”

หน้าที่ 3

จากวันสถาปนาสู่วันพระราชทานนาม

ศ. เกียรติคุณ นพ.ณัฐ ภมรประวัติ

การจัดงานเพื่อระลึกถึงวันก่อตั้งมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นครั้งแรก ในสมัย ศ. เกียรติคุณ นพ.ณัฐ ภมรประวัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยมีดำริให้จัดตั้งคณะกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ขึ้น เพื่อสร้าง ความเป็นเอกภาพในองค์กร (Unity) มี ศ. เกียรติคุณ นพ.มนูญ ไพบูลย์ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งให้ความเห็นว่าควรมีกิจกรรม ที่ทุกคณะจะได้มีส่วนร่วม และร่วมระลึกถึงมหาวิทยาลัย ต่อมาจึงเกิด “พิธีวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้น โดยยึดเอาวันที่ ๑ มีนาคม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นหลักในการจัดงาน

ศ. นพ.ชัชวาล โอสถานนท์

ภายหลังการจัดงานได้ ๒-๓ ปี ศ. นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ ได้เสนอให้ปรับจากวันที่ ๑ มีนาคม เป็นวันที่ ๒ มีนาคม ซึ่งมี ผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ครั้งนั้น คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ได้รับฟังข้อคิดเห็น และมีผลสรุปให้มหาวิทยาลัยปรับการจัดงาน จากวันที่ ๑ มีนาคม เป็นวันที่ ๒ มีนาคม เรื่อยมา

ศ. เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี

เมื่อถึงสมัย ศ. เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ดำรง ตำแหน่งอธิการบดี และมีโอกาสสำคัญที่มหาวิทยาลัยครบรอบ ๒๕ ปี แห่งวันพระราชทานนาม ในครั้งนั้น ศ. นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งมีความสนใจในประวัติศาสตร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า หากเรียก “วันสถาปนาฯ” อาจเกิดข้อคำถามว่า ควรนับจากจุดใด จากยุคโรงศิริราชพยาบาลเป็นโรงเรียนราชแพทยากร หรือจากราชแพทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรืออย่างไร ฉะนั้น เพื่อให้ตรงความหมาย จึงเห็นควรให้เปลี่ยนชื่อจาก “วันสถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล” เป็น “วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” ด้วยดำริดังกล่าว การจัดงานในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเรียกว่าวันพระราชทานนามเป็นครั้งแรก โดยในวันเดียวกันจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสามัคคี การบริการวิชาการ ฯลฯ สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

คำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ ๔๓๑/๒๕๓๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงาน วันครบ ๒๕ ปีแห่งวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล”

เพลงชุด “มหาวิทยาลัยมหิดล”

เพลงชุด “มหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งรวบรวมบทเพลงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย เป็นความพิเศษ ที่เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้เป็นกำลังสำคัญ ในการรวบรวมและจัดทำครั้งนั้น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการโครงการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการดนตรี บัณฑิตวิทยาลัย และคณะ โดยในหนังสือเพลงชุด ดังกล่าว ประกอบด้วย ๑๕ บทเพลง ได้แก่ 

๑.เทิดพระนามมหิดล 

๒.ศิริราชเรืองนาม 

 ๓.เทิดพระบิดา  

๔.มหิดลน้องพี่  

๕.ศรีตรัง  

๖.ศิริราชสัมพันธ์

๗.สู่อ้อมอกศรีตรัง

๘.มหิดลฉลองชัย 

 ๙.มาร์ชมหิดลศาลายา  

๑๐.ราตรีมหิดล 

๑๑.ศาลายา  

๑๒.ศักดิ์ศรีตรัง  

๑๓.ค่ำนี้มีสุข  

๑๔.รามาธิบดี  

๑๕.ลาแล้วมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับบทเพลงเหล่านี้ โดยถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสร้าง วัฒนธรรมองค์กรให้เข้มแข็ง ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรได้มีความรักความผูกพัน ต่อองค์กร บทเพลงที่ซาบซึ้งกินใจ และมีความหมายที่งดงามนั้น จะช่วยร้อยรวมทุกดวงใจให้เป็น หนึ่งเดียว อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศ วิถีชีวิต ความสุข ความผูกพันและความประทับใจ ที่มีต่อมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย สำหรับบทเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่ชาวมหิดลยึดถือ คือ “เทิดพระนามมหิดล” โดยทุกครั้งที่เพลงดังขึ้น เราทุกคนจะยืนตรง เพื่อแสดงความระลึกถึง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชปณิธานของพระองค์ คำขวัญ ของมหาวิทยาลัย และจะร่วมกันเปล่งเสียงร้องเพลงออกมาด้วยหัวใจ

มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับบทเพลงเหล่านี้ โดยถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสร้าง วัฒนธรรมองค์กรให้เข้มแข็ง ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรได้มีความรักความผูกพัน ต่อองค์กร บทเพลงที่ซาบซึ้งกินใจ และมีความหมายที่งดงามนั้น จะช่วยร้อยรวมทุกดวงใจให้เป็น หนึ่งเดียว อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศ วิถีชีวิต ความสุข ความผูกพันและความประทับใจ ที่มีต่อมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย สำหรับบทเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่ชาวมหิดลยึดถือ คือ “เทิดพระนามมหิดล” โดยทุกครั้งที่เพลงดังขึ้น เราทุกคนจะยืนตรง เพื่อแสดงความระลึกถึง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชปณิธานของพระองค์ คำขวัญ ของมหาวิทยาลัย และจะร่วมกันเปล่งเสียงร้องเพลงออกมาด้วยหัวใจ

เนื้อเพลง และโน้ตดนตรี เพลงเทิดพระนามมหิดล เนื้อร้อง โดย อาจารย์บุญเสริม พึ่งพุทธรัตน์ ทำนอง โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์

สแกน QR Code เพื่อฟังเพลง “เทิดพระนามมหิดล”

คำนำหนังสือ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. ๒๕๓๗)

หนังสือเพลงชุด “มหาวิทยาลัยมหิดล” บรรเลงโดยวงมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในโอกาสวันครบรอบ ๒๕ ปี แห่งวันพระราชทานนามฯ ๒ มีนาคม ๒๕๓๗

หน้าที่ 4

ประติมากรรมวิวัฒนาการมหาวิทยาลัยมหิดล

ประติมากรรมประดับผนังนูนตํ่ากึ่งนูนสูง แสดงวิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยโดยลำดับ ตั้งแต่ ยุคราชแพทยาลัย ยุคคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุคมหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์ จนถึงยุคมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยอาคารเรียนตั้งแต่ยุคแรก พ.ศ. ๒๔๓๓ จนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐

        ประติมากรรมชุดนี้จัดสร้างและประดับไว้ที่โถงชั้นล่าง อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ 

ปัจจุบันย้ายมาจัดแสดงที่หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล ในพิธีเปิด อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันพุธที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔

ประติมากร : คุณไข่มุกด์ ชูโต

เทคนิคและวัสดุ : ปั้นหล่อด้วยหินอ่อนเทียม

ขนาด : ๓.๔๕ x ๑.๗ เมตร

ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระราชทานวินิจฉัยชี้ขาดให้ “กันภัยมหิดล” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย เสนอเข้าประกวดโดย คณาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ร่วมกับ ผศ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในวันครบรอบ 30 ปีีแห่งวันพระราชทานนามฯ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ และทรงปลูกต้นกันภัยมหิดลในโอกาสนี้ด้วย

ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล "กันภัยมหิดล"

“กันภัยมหิดล” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ประทานพระกรุณาธิคุณทรงมีพระวินิจฉัย ด้วยเหตุผลว่า เป็นต้นไม้ที่พบในประเทศไทย สามารถปลูกได้ง่าย มีนามเป็นมงคล มีชื่อพ้องกับ นามมหาวิทยาลัย และมีลักษณะสวยงาม แม้จะเป็นไม้เถา แต่ก็สามารถจัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้ หลายแบบ มีอายุยืนหลายปี และเมื่อเถาแห้งไปก็สามารถงอกงามขึ้นได้ใหม่ ซึ่งความเป็นไม้เถานี้ สื่อความหมายถึงความก้าวหน้า และความสามารถในการปรับตัวให้พัฒนาไปตามสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี

พันธุ์ไม้นี้พบครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยนายเกษม จันทรประสงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าราชการกองพืชพรรณ กรมวิชาการเกษตร ที่สถานีรถไฟวังโพ ตรงข้ามกับ แม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

พืชชนิดนี้มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Afgekia Mahidolae ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ กรมป่าไม้ ได้เสนอชื่อ กันภัยหรือกันภัยมหิดล เป็นต้นไม้พื้นถิ่น ของไทย พบตามป่าเต็งรัง ภูเขาหินปูนในภาคตะวันตก ลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ขนาดกลาง อายุหลายปี กิ่งอ่อนสีเขียว มีขนนุ่มทั่วไป ใบออกสลับ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ใบย่อย รูปรีแกมขอบขนาน แผ่นใบบาง ใต้ใบมีขนหนาแน่นกว่าด้านบนใบ ดอกออกเป็นช่อกระจายตามซอกใบ และปลายกิ่ง ช่อยาว ๑๒-๒๕ เซนติเมตร ดอกทยอยบานจากโคนช่อมาปลายช่อ ๔-๖ ดอก กลีบประดับ สีม่วงอมเขียว รูปเรียว กลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยก ๕ แฉก ดอกรูปดอกถั่ว มี ๕ กลีบ กลีบกลางสีม่วง โคนกลีบมีแถบสีเหลืองรูปสามเหลี่ยม กลีบคู่ข้างสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่าง สีเหลืองอ่อน มีขนปกคลุม ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ผลเป็นฝักรูปแถบสั้น สีน้ำตาล มีขนปกคลุม เมื่อแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ดรูปกลม ๒ เมล็ด สีดำเป็นมัน

หน้าที่ 5

ปาฐกถาเกียรติยศเนื่องในวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล

งานปาฐกถาเกียรติยศเนื่องในวันพระราชนามมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นครั้งแรกในโอกาสครบ ๓๐ ปี แห่งวันพระราชทานนาม วันอังคารที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาทรง บรรยายเกี่ยวกับพระราชประวัติ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ณ ห้องบรรยายรวม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

ตัวอย่างความตอนหนึ่งจากเอกสารลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่บันทึกไว้ ในคราวเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก เมื่อครั้งประชวร และรับสั่งให้นำความถวายสมเด็จ พระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ความว่า

“ตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมา ก็เห็นแต่สมเด็จแม่ทรงเป็นทุกข์เป็นโศก ไม่มีอะไรที่จะให้ชื่นพระหฤทัย เสียเลย สงสารสมเด็จแม่ จึงคิดว่า ลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว ควรจะสนอง พระคุณด้วยการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สมเด็จแม่ทรงยินดี ด้วยเห็นลูกสามารถทำความดี ให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ ไม่เลี้ยงมาเสียเปล่า เมื่อคิดไปว่าทำอย่างไรดี หม่อมฉันคิดเห็นว่า ในทางราชการนั้นก็มีทูลกระหม่อมพระราชโอรส ในสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ อยู่หลายพระองค์แล้ว ตัวหม่อมฉันจะทำราชการหรือไม่ก็ไม่ผิดกันเท่าใดนัก จึงคิดว่าการช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเป็นการสำคัญ อย่างหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัว เพราะทรัพย์สินส่วนตัวมีพอเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงิน ที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เป็นเจ้าฟ้า เอามาใช้เป็นทุนทำการตามความคิดให้เป็นประโยชน์ใน บ้านเมือง”

สแกน QR Code เพื่อฟังเสียง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

สีประจำมหาวิทยาลัย คณะ ส่วนงาน

Mahidol University


พระมหามงกุฎและปรมาภิไธย ย่อ “ม” สีเหลืองทอง

รอบนอก ตัวอักษร, ประจำยามและวงกลมทั้งหมด

รอบนอก ตัวอักษร, ประจำยามและวงกลมทั้งหมด

Faculties


คณะทันตแพทยศาสตร์ Violet

คณะวิศวกรรมศาสตร์ Dark Red/p>

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ Aquamarine

บัณฑิตวิทยาลัย Beige

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Oceanic Green และ Cream

คณะศิลปศาสตร์ Pale Ivory

คณะเทคนิคการแพทย์ Scarlet Red

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Green

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล Green

คณะพยาบาลศาสตร์ White

คณะเภสัชศาสตร์ Olive Green

คณะกายภาพบำบัด Soft Pink

คณะสาธารณสุขศาสตร์ Salmon Pink

คณะวิทยาศาสตร์ Golden Yellow

คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ Magenta

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน Bright Red

คณะสัตวแพทยศาสตร์ Dark-sky Blue

Institutes


สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน Orange

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ Dark Blue

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย Light Green

สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล Dark Orange

สถาบันโภชนาการ Light Beige/p>

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม Pearl Gray

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว Old Rose

Colleges


วิทยาลัยการจัดการ Blue และ Orange

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ Lawn Green

วิทยาลัยศาสนศึกษา Sky

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา Green และ Purple

วิทยาลัยนานาชาติ Purple

วิทยาลัยราชสุดา Pink และ Purple

หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล Turquoise

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี Brick Red

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ Purple และ Yellow

สติกเกอร์ประชาสัมพันธ์ “วัฒนธรรมองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล ๗ ประการ ๒๓ องค์ประกอบ” ผลิตโดย กองทรัพยากรบุคคล สำนักงานอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.