จดหมายเหตุ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดฃ
การพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล
“วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” วันที่ ๒ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ชาวมหิดลจะได้น้อมรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้พัฒนามหาวิทยาลัย ขยายขอบข่ายวิชาการให้กว้างขวาง เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ
เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลที่สำคัญหลายประการ อาทิ รูปแบบการเรียนการสอน การวิจัย การจัดตั้งคณะใหม่ การขยายพื้นที่ การสร้างความร่วมมือเครือข่าย การสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร กำเนิดสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ และการก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเหนือสิ่งอื่นใด มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นวาระสำคัญแห่งการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก พระผู้ทรงมีพระจริยวัตรอันงดงามเปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทย ทรงได้รับการเทิดทูนจากยูเนสโกเป็นบุคคลดีเด่นของโลกและถวายพระราชสมัญญา พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทยพระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๑๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๑๗ หน้า ๕-๒๗ ลงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
การขอพระราชทานนาม
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายรายงาน และขอพระราชทานนาม “มหิดล” ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่าไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ปรับขยายให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์เสียก่อน เพื่อให้สมพระเกียรติ แต่ขอให้เป็นไปในทางประหยัด ทางมหาวิทยาลัยก็ได้น้อมเกล้าฯรับมาดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้อนุมัติให้จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และให้นำเสนอสภาการศึกษาแห่งชาติ แต่เนื่องจากหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ไม่ครอบคลุมไปถึงวิชาอื่นๆ สภาการศึกษาฯ จึงแนะนำให้ร่างพระราชบัญญัติเสียใหม่ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ เช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆ และในโอกาสเดียวกันก็ขอพระราชทานนามใหม่เสียด้วย
วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ พร้อมทั้งเลขาธิการสภาการศึกษาฯ เข้าเฝ้า เพื่อถวายรายงานเรื่องนี้อีก ก็ได้พระราชทานกระแสรับอีกสั่งว่า เมื่อพร้อมแล้ว และทางรัฐบาลเห็นสมควรก็ไม่ขัดข้อง
หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติใหม่ร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วนำเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ พร้อมกับการจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยหลังจากผ่านขั้นตอนตามระเบียบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ประกาศใช้มีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นไป โดยมี ศ. นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลท่านแรก
การขอพระราชทานตราและสีประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือ ที่ รล ๐๐๐๒/๒๙๗๙ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ บันทึกพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระราชชนนีฯ ในการพระราชทานสีน้ำเงิน เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
รายละเอียดตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย
๑. เส้นวงกลม ๔ วง เส้นวงกลมนอกสุด และเส้นวงกลมในสุดเป็นเส้นหนา สีทอง
เส้นวงกลมในบนพื้นขาว ๒ วง เป็นเส้นบาง สีทอง
๒. ในวงกลมพื้นขาว ด้านบน มีคำว่า อตฺตานํ อุปมํ กเร เป็นตัวหนังสือชนิดตัวริบบิ้น สีทอง
๓. ในวงกลมพื้นขาว ช่วงตรงกลาง มีลายประจำยาม ด้านละ ๑ ดวง สีทอง
๔. ในวงกลมพื้นขาว ด้านล่าง มีคำว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวหนังสือชนิด ตัวริบบิ้น สีทอง
๕. ในวงพื้น สีน้ำเงิน ประกอบด้วยพระนามาภิไธย ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก ม คล้องอยู่กับ พระมหาพิชัยมงกุฎ มีจักรและตรีอยู่ตรงกลาง ด้านบน ม พระมหามงกุฎและปรมาภิไธย ย่อ “ม”สีเหลืองทอง
ตราลายเส้น
เป็นลายเส้นสีดำทั้งหมด ใช้สำหรับการทำตรายาง หัวกระดาษต่างๆ
จากวันสถาปนาสู่วันพระราชทานนาม
การจัดงานเพื่อระลึกถึงวันก่อตั้งมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย ศ. เกียรติคุณ นพ.ณัฐ ภมรประวัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยมีดำริให้จัดตั้งคณะกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ขึ้น เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กร (Unity) มี ศ. เกียรติคุณ นพ.มนูญ ไพบูลย์ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งให้ความเห็นว่าควรมีกิจกรรมที่ทุกคณะจะได้มีส่วนร่วม และร่วมระลึกถึงมหาวิทยาลัย ต่อมาจึงเกิด “พิธีวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้น โดยยึดเอาวันที่ ๑ มีนาคม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นหลักในการจัดงาน
ภายหลังการจัดงานได้ ๒-๓ ปี ศ. นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ ได้เสนอให้ปรับจากวันที่ ๑ มีนาคม เป็นวันที่ ๒ มีนาคม ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ครั้งนั้น คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ได้รับฟังข้อคิดเห็น และมีผลสรุปให้มหาวิทยาลัยปรับการจัดงานจากวันที่ ๑ มีนาคม เป็นวันที่ ๒ มีนาคม เรื่อยมา
เมื่อถึงสมัย ศ. เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และมีโอกาสสำคัญที่มหาวิทยาลัยครบรอบ ๒๕ ปี แห่งวันพระราชทานนาม ในครั้งนั้น ศ. นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งมีความสนใจในประวัติศาสตร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า หากเรียก “วันสถาปนาฯ” อาจเกิดข้อคำถามว่าควรนับจากจุดใด จากยุคโรงศิริราชพยาบาลเป็นโรงเรียนราชแพทยากร หรือจากราชแพทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรืออย่างไร ฉะนั้น เพื่อให้ตรงความหมาย จึงเห็นควรให้เปลี่ยนชื่อจาก “วันสถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล” เป็น “วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” ด้วยดำริดังกล่าว การจัดงานในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเรียกว่าวันพระราชทานนามเป็นครั้งแรก โดยในวันเดียวกันจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสามัคคี การบริการวิชาการ ฯลฯ สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
มหาวิทยาลัยมหิดล. ๒๕ ปีพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล. บรรณาธิการ อดุลย์ วิริยเวชกุล. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยม ๒๕๓๗. หน้า ๑๙-๒๐.
กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. ปาฐกถาเกียรติยศ เนื่องในงานคล้ายวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล. บรรณาธิการ สุริยา รัตนกุล, ศันสนีย์ ไชยโรจน์ และรัตนา เพ็ชรอุไร. [นครปฐม] : กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๑.
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.