พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการวันมหิดล เรื่อง “ใต้ร่มพระบารมี สู่ผืนดินศาลายา ปลูกปัญญาของแผ่นดิน”
จัดนิทรรศการ วันที่ 24 เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 1 (Art Gallery) ศูนย์การเรียนรู้มหิดล
บอร์ดนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ พสกนิกรชาวไทยนานัปการ โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงสร้างรากฐานที่มั่นคง และพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ คณะกรรมการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีมติ กำหนดให้วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี เป็นวันระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชชนกโดยขนานนามว่า “วันมหิดล”
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยมหิดลและ หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ พระเกียรติคุณให้ประจักษ์สืบต่อไป เนื่องใน “วันมหิดล” ๒๔ กันยายน ๒๕๕๙ ฝ่ายจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำนิทรรศการภายใต้ชื่อ “ใต้ร่มพระบารมี สู่ผืนดินศาลายา ปลูกปัญญาของแผ่นดิน” เพื่อรวบรวมเรื่องราวการขยายพื้นที่ มหาวิทยาลัยมหิดลมาสู่พื้นที่ศาลายา จากเมื่อครั้งแรกสร้าง จนกระทั่งการเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงผ่านโครงสร้างทางกายภาพ และสภาพโดยรอบมหาวิทยาลัย และนำเสนอการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยเหลือชุมชน โดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในปัจจุบัน
การพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ ดั่งพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันนอกจากจะพัฒนาในด้านการเรียน การสอน การวิจัย การสาธารณสุข และการแพทย์ การนำวิชาความรู้มาช่วยพัฒนาสังคมนับเป็น สิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นชุมชนที่ใกล้ชิดและมีความสำคัญยิ่ง ต่อมหาวิทยาลัย ดังนั้นการมีส่วนร่วม และรับผิดชอบต่อชุมชน เพื่อให้มหาวิทยาลัย บุคลากร นักศึกษาเกิดสำนึกรัก หวงแหน และภาคภูมิใจในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย และช่วยกันอนุรักษ์ พื้นที่แห่งนี้ต่อไป
มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา : ปฐมบท และปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนามาจากโรงศิริราชพยาบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๒๙) โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาราษฎร์ อาศัยพื้นที่บริเวณวังหลังเป็นสถานที่ตั้ง ของโรงพยาบาล ดำเนินการดูแลรักษาประชาราษฎร์เรื่อยมา จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๓๒ โรงศิริราชพยาบาล กลายมาเป็น โรงเรียนแพทยากร เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถในการรักษาผู้ป่วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่แก่โรงเรียนแพทยากร ว่าโรงเรียนราชแพทยาลัย การผลิตแพทย์ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จนต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงมีการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งมีการพัฒนา และดำเนินกิจการเรื่อยมาจนได้รับพระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
“...มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายที่จะดำเนินการพัฒนางานต่าง ๆ อันเป็นภารกิจ ของมหาวิทยาลัยซึ่งได้แก่ การผลิตบุคลากรที่จะไปประกอบวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ การให้บริการทางวิชาการและสุขภาพต่อสังคม การวิจัยและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยสรรสร้างสังคมไทยให้ เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป...”
พ.ศ. ๒๕๑๓ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ขยายพื้นที่การศึกษา โดยขอซื้อที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ติดกับทางรถไฟสายใต้ ตรงข้ามกับ สถานีรถไฟศาลายา เนื้อที่ ๑,๒๔๐ ไร่ ๓ งาน ๖๙ ตารางวา เพื่อรองรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษา ชั้นปีที่ ๑ และ ๒ ของมหาวิทยาลัย และนักศึกษาชั้นปีดังกล่าวจะถูกกำหนดให้เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ส่งผลให้สถานที่เรียนเดิมจะมีพื้นที่ว่างมากพอสำหรับรองรับนักศึกษาปีที่ ๓ ปีที่ ๔ และนักศึกษาปริญญาโท เอก นอกจากนี้ยังปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการเพิ่มเติมสาขาที่จำเป็น โดยทางมหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการเปิดการเรียนการสอนวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และ ๒ เพิ่มเติม จากวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย สำหรับในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ศาลายา การวางแผน ก่อสร้างอาคารยึดถือเป้าหมายของการจัดการศึกษา และวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดย การออกแบบอาคารจึงเป็นแบบที่มีระเบียบเดียวกัน และสามารถดัดแปลงได้เต็มที่เหมาะสมกับประโยชน์ของ การศึกษา ตัวอาคารที่สร้างไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับนักศึกษาจำนวน ๓,๐๐๐ คน ในระยะแรกเท่านั้น แต่สามารถจุ นักศึกษาได้ถึง ๑๕,๐๐๐ คน หากมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นในระยะเวลาต่อไป
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ภายหลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยได้สร้างอาคารอื่น ๆ ตามมา ประกอบด้วย อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ อาคารเรียนสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยโภชนาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม- เพื่อพัฒนาชนบท ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ อาคารพลศึกษา หอพักนักศึกษา หอพักอาจารย์ อาคารกิจกรรมกลางและโรงอาหาร อาคารหอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาจึงเริ่มรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๕ จำนวน ๑,๐๐๐ คน เข้าเรียนและพักอาศัย ภายในหอพักนักศึกษา นับเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่ได้เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา กระทั่ง เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ประกอบด้วยหน่วยงาน ๒๘ หน่วยงาน
(ข้อมูล ณ มีนาคม ๒๕๕๙)
“มหาวิทยาลัยมหิดล” ดำเนินกิจการมากว่า ๑๐๐ ปี มอบวิชาความรู้และให้บริการทางการแพทย์ต่อ สังคมมาตั้งแต่ยุคโรงศิริราชพยาบาล จนกระทั่งกลายมาเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นทั้งสถานศึกษาที่ผลิตบัณฑิต งานวิจัยต่าง ๆ และเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการแก่สังคม ซึ่งมหาวิทยาลัย พัฒนาและปรับปรุงสิ่งเหล่านี้อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้สมดั่ง พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมชนกนาถให้เป็นนามของมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ความว่า “...ให้พัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ตามความหมาย และเพิ่มเติมขอบเขตของวิชาการให้กว้างขวางออกไปจากวิชาแพทยศาสตร์อีกด้วย...”
รูปที่ ๑ ศาสตราจารย์ ดร.สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐
รูปที่ ๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
รูปที่ ๑ อาคารอำนวยการ,
รูปที่ ๒ อาคารวิทยาศาสตร์
รูปที่ ๓ อาคารบรรยายรวม
รูปที่ ๔ อาคารหอสมุ
รูปที่ ๕ อาคารเรียนสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
เปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา วันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖
รูปที่ ๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น.
รูปที่ ๒ ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รูปที่ ๑ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กราบบังคมทูลรายงานและขอพระราชทานเชิญเสด็จ ฯ ทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา
มหาวิทยาลัยมหิดลขยายพื้นที่มา ณ ศาลายา ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มหาวิทยาลัยดำเนินการเรื่อยมา แม้จะพบปัญหาหลายประการระหว่างการดำเนินงาน แต่ด้วยความสำนึกในประวัติศาสตร์ ชื่อเสียงของ มหาวิทยาลัยที่มีมากว่า ๑๐๐ ปี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้วนเป็นสิ่งที่ ทำให้ผู้รับผิดชอบในกิจการของมหาวิทยาลัยทุกระดับ และทุกสมัยพยายามเอาชนะอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้ การก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง และเรียบร้อย
กระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๕.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา นับเป็นสิริมงคลแก่ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างยิ่งและในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงร่วม งานฉลองเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และทรงดนตรี ณ อาคารพลศึกษา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ยังความปลื้มปิติโสมนัสอันหาที่สุดมิได้
รูปที่ ๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดผ้าแพรคลุมป้ายมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา
รูปที่ ๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานฉลองเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ อาคารพลศึกษา โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
รูปที่ ๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานฉลองเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ อาคารพลศึกษา โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
รูปที่ ๔ นักศึกษา และประชาชนถวายการแสดง ต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รูปที่ ๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีเพลง “เต่าเห่” (ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อง พ.ศ. ๒๕๑๙)
รูปที่ ๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “แก้วเจ้าจอม” บริเวณด้านหน้าอาคารพลศึกษา
รูปที่ ๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “แก้วเจ้าจอม” บริเวณด้านหน้าอาคารพลศึกษา
ต้นไม้ทรงปลูก “แก้วเจ้าจอม” : วันเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา
เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “แก้วเจ้าจอม” ในวันเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ บริเวณอาคารพลศึกษา ปัจจุบันคืออาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเป็นแบบอย่างในการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ ทรงตระหนัก ถึงคุณค่าของป่าไม้ และพระราชประสงค์จะให้คนสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“แก้วเจ้าจอม” เป็นพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันต้นกำเนิดต้นแรกในประเทศไทย มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี และมีอยู่ต้นเดียวในประเทศไทย เป็นต้นไม้หายาก ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงได้พันธุ์นี้มาจากชวา และนำมาปลูกไว้ใน วังสวนสุนันทา ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” ต้นแก้วเจ้าจอมต้นนี้ มีลักษณะใบประกอบ ๒ คู่ ได้ถูกจัดลำดับเป็นพันธุ์พืชอนุรักษ์ในบัญชี ๒ ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมส่งเสริม การเกษตร ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ เป็นผู้ตั้งชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า “แก้วเจ้าจอม” หรือ “น้ำอบฝรั่ง” และนอกจากนี้ยังมีชนิดใบประกอบ ๓ คู่ ซึ่งเป็นไม้พุ่มสวย มีลักษณะ ใบประกอบ ๓ คู่ปลูกไว้ ณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ปัจจุบันต้นไม้ต้นนี้มีอายุ ๒๖ ปี
รูปที่ ๑ ต้นแก้วเจ้าจอม บริเวณอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Guaiacum officinale Linn
ชื่อวงศ์ : ZYGOPHYLLACEAE
ชื่อสามัญ : Lignum vitae
ชื่ออื่น : กณิการ์ , กรณิการ์
ถิ่นกำเนิด : ทวีปอเมริกาใต้และหมู่เกาะเวสต์อินดีส
ชนิดพืช [Plant Type] : ไม้ต้น
ขนาด [Size] : สูง ๑๐-๑๕ เมตร
สีดอก [Flower Color] : สีฟ้าอมม่วงเปลี่ยนเป็นขาว
ฤดูที่ดอกบาน [Bloom Time] : ต.ค.-เม.ย.
อัตราการเจริญเติบโต [Growth Rate] : ช้า
ลักษณะนิสัย [Habitat] : ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี
ความชื้น [Moisture] : ปานกลาง
แสง [Light] : แดดเต็มวัน-ปานกลาง
ลักษณะทั่วไป (Characteristic) : ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมค่อนข้างหนาทึบ
เปลือก : สีเทาเข้ม
รูปที่ ๑ ใบต้นแก้วเจ้าจอม
ใบ (Foliage) : ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม มีทั้งชนิดที่มีใบย่อย ๒ คู่ หรือ ๓ คู่ ใบประกอบยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบย่อยไม่มีก้าน รูปรีถึงรูปไข่กลับ หรือรูปรีเบี้ยวเล็กน้อย มีขนาดไม่เท่ากัน ใบย่อยคู่ปลายกว้าง ๑.๘-๒ ซม. ยาว ๓.๒-๓.๕ ซม. ใบย่อยคู่ที่อยู่ตอนโคนกว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๒.๗ ซม. ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีจุดสีส้มที่ โคนใบย่อยด้านบน หูใบและใบประดับเล็ก ร่วงง่าย
รูปที่ ๒ ดอกต้นแก้วเจ้าจอม
ดอก (Flower) : ออกดอกเดี่ยวเป็นกระจุก ๓-๔ ดอกที่ปลายกิ่ง สีฟ้าอมม่วงและจางลงเมื่อใกล้โรย มีกลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย มีขนประปราย ร่วงง่าย กลีบดอก ๕ กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรสีเหลือง เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน แยกกัน เกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๕ แฉก ชนิดมีใบย่อย ๒ คู่ ออกดอกง่ายและชนิดมีใบย่อย ๓ คู่ ออกดอกน้อยกว่า
รูปที่ ๓ ผลต้นแก้วเจ้าจอม
ผล (Fruit) : ผลสด ทรงกลมแป้นหรือรูปหัวใจกลับ มีครีบ ๒ ข้าง กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ก้านผลยาว ๑.๕-๓ ซม. เมื่อแก่สีเหลืองหรือส้ม แห้งแตก เมล็ดรูปรีสีน้ำตาล มี ๑-๒ เมล็ด
ประโยชน์
๑. พุ่มสวยเหมาะปลูกเป็นไม้ประดับสนามกว้าง ๆ ให้ร่มเงา
๒. เป็นเนื้อไม้ที่หนักที่สุดในโลก และแข็งมาก เป็นมัน คุณสมบัติเนื้อไม้มีลักษณะเป็นเส้นประสานกันแน่น และ หนักมาก ไม้ชนิดนี้จมน้ำ ทนต่อแรงอัด และน้ำเค็ม จึงนิยมนำใช้ทำกรอบประกับเพลาเรือเดินทะเล ทำสิ่ว และนำมากลึงทำของใช้ต่าง ๆ เช่น ทำลูกโบว์ลิ่ง ทำรอก เป็นต้น
๓. ใช้เป็นยาสมุนไพรจากทุกส่วนของลำต้น โดยเฉพาะยางจากเนื้อไม้ในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลอมเขียว ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาโรค
สรรพคุณการใช้เป็นยาสมุนไพร
ใช้เป็นยาสมุนไพรกันอย่างกว้างขวาง รักษาโรครูมาติซัมเรื้อรัง โรคไขข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคเกาต์ ใช้เป็นยาตรวจคราบเลือดในนิติเวชวิทยา เรียกว่า Gum Guaiacum แถบอเมริกาใต้ อินเดีย อินเดียตะวันตก และฟลอริิดา ฯลฯ นอกจากนี้มีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ เฉพาะส่วนดังนี้ ยางไม้ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ แก้ข้ออักเสบ หรือทำเป็นยาอมแก้หลอดลมอักเสบ น้ำคั้นจากใบ กินแก้อาการท้องเฟ้อ เปลือก เป็นยาระบาย ผงชาจากดอก เป็นยาบำรุงกำลัง
แผนผังมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา เมื่อแรกสร้าง
แผนผังมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๙)
โครงการพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (ครั้งนี้แสดงเฉพาะข้อมูลของส่วนงานที่ตั้ง ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา)
ในวันมหิดล ๒๔ กันยายน ของทุกปี เพื่อการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงกตัญญูกตเวที ต่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ผู้ซึ่งเป็นดั่งพระประทีปแก้วของการพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวหน้าอย่างตะวันตก คำสอนของพระองค์ที่ว่า “...ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง...” นั้น มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรมองค์กร ของมหาวิทยาลัยมหิดลด้านหนึ่ง คือ “การมุ่งผลเพื่อผู้อื่น (Altruism)” นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาชุมชนโดยจัดตั้ง “กลุ่มภารกิจวิจัยและพัฒนาชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดล” เพื่อสนับสนุนให้นักวิชาการจากทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัยได้ใช้ความรู้ ความสามารถพัฒนาสังคม ร่วมกับชุมชน และมหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มการขับเคลื่อนงานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Engagement) เพื่อการเชื่อมโยงภารกิจหลักทุกภารกิจของมหาวิทยาลัย เข้าด้วยกันอย่างมี ยุทธศาสตร์และเป็นระบบ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัยและระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับชุมชนและหน่วยงานภายนอก เพื่อสนับสนุนงานวิจัยชุมชน ดังปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลจึงรับเป็นภาระหน้าที่หนึ่งในการยังวิชาการหลักของส่วนงานนั้น ๆ ประยุกต์พัฒนาก่อเกิดโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนแก่สังคมร่วมกับชุมชนโครงการต่าง ๆ ที่มีต่อชุมชนของส่วนงานที่ตั้ง ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในรอบปีงบประมาณ ที่แล้วมา มีดังต่อไปนี้
๑. กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม
๑. โครงการ Eco Town มหิดลกับชุมชน กิจกรรมส่งเสริมการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๙
๒. กองกิจการนักศึกษา
๑. โครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยพลังนิสิตนักศึกษา (รากแก้ว มหาวิทยาลัยมหิดล) ในพื้นที่ชุมชนของ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๙
๓. คณะกายภาพบำบัด
๑. กิจกรรมบริหารร่างกายเพื่อป้องกันข้อเสื่อม ณ สวนลุมพินี ๒๕๕๗
๒. โครงการคลีนิกกายภาพบำบัดสัญจรในชุมชน ตำบลศาลายา, ตำบลคลองโยง, ตำบลคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
๔. คณะเทคนิคการแพทย์
๑.โครงการร่วมงานมหกรรมสุขภาพ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาสวัสดิ์ ๒๕๕๙
๕. คณะวิศวกรรมศาสตร์
๑. โครงการ “วันแม่แห่งชาติ เสริมสร้างคลังปัญญา ด้วย SEP-STEM ปี ๒๕๕๙” ณ โรงเรียนบ้านคลองสว่างอารมณ์ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
๖. คณะศิลปศาสตร์
๑. โครงการเล่าขานตำนานศาลายา ครั้งที่ ๑๐ ตอน “ในน้ำมีปลา ศาลายามีข้าว” ๒๕๕๙
๒. โครงการสร้างเสริมศักยภาพบุคลากร ด้านชุมชนสัมพันธ์ ตอน ล่องเรือมหาสวัสดิ์ ๒๕๕๙
๓. หนังสือที่ทำเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชุมชน
๗. คณะสัตวแพทยศาสตร์
๑. โครงการกันภัยโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ณ เขตพื้นที่ทวีวัฒนา พื้นที่ชุมชนโดยรอบ วิทยาเขตศาลายา ในส่วนของ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
๘. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
๑. โครงการสิ่งแวดล้อมอาสา ช่วยชุมชนศาลายากำจัดขยะ
๒. โครงการ วันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ โรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ (ตั้งตรงจิตร ๑๗) ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
๓. กิจกรรมตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้น บริเวณพื้นที่ ตำบลงิ้วราย ตำบลมหาสวัสดิ์ ตำบลคลองโยง วัดสุวรรณาราม วัดสาลวัน และวัดปุรณาวาส
๔. ลงพื้นที่ตรวจวัดพารามิเตอร์ด้านสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นและเก็บตัวอย่างน้ำมาทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ จากเหตุมีรถบรรทุกน้ำมันคว่ำ บริเวณพุทธมณฑล สาย ๖
๙. วิทยาลัยนานาชาติ
๑. โครงการกิจกรรมพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมอาสาสมัครและ พัฒนคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม โดยมีกิจกรรมดังนี้
โครงการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ณ อุทยานพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม จำนวน ๕ ครั้ง : ปี ๒๕๕๘ จำนวน ๓ ครั้ง และ ปี ๒๕๕๙ จำนวน ๒ ครั้ง
โครงการอบรมภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนในพื้นที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม (English for Fun Shalala) ๒๕๕๘
โครงการยุวชนพุทธมณฑลรักการอ่าน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๘
โครงการ บ้าน-ชุมชน วัด โรงเรียน สานสัมพันธ์ เพื่อชุมชนอุดมปัญญา
๑. โรงเรียนวัดไทยาวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๘
๒. โรงเรียนวัดมะเกลือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๙
๓. โรงเรียนบ้านคลองโยง Shalala English Camp อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๙
โครงการ MUIC Sha La La Charity ณ สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา จังหวัดราชบุรี ๒๕๕๙
โครงการค่ายอาสา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาชุมชน ณ วัดสุวรรณาราม ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๙
๑๐. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
๑. บริการวิชาการ ครบรอบ ๓๐ ปี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา โรงเรียนบุญยศรีสวัสดิ์ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๒๕๕๘
๒. บริการทดสอบสมรรถภาพทางกายแก่ชุมชน ในมหกรรมสุขภาพดี วิถีคนมหาสวัสดิ์ ๒๕๕๘
๓. บริการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ณ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตารามถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ๒๕๕๘
๔. บริการวิชาการ ครบรอบ ๓๐ ปี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ณ โรงเรียนบ้านคลองโยง ๒๕๕๘
๕. บริการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ในงาน “มหิดล-วันแม่” ประจำปี ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
๑๑. หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
๑. โครงการรักการอ่าน ส่งเสริมการเรียนรู้ สู่ชุมชนศาลายา ประจำปี ๒๕๕๘ จัดกิจกรรม “เล่านิทาน อ่านสนุก” โรงเรียนบ้านคลองพระมอพิสัย ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และโรงเรียนบ้านคลองนกกระทุง ตำบลคลองนกกระทุง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
บรรณานุกรม
มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๓๗). ๒๕ ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
มหาวิทยาลัยมหิดล. กองแผนงาน. งานวิจัยสถาบันและสารสนเทศ. (๒๕๓๔). มหาวิทยาลัยมหิดล...ศาลายา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
ลินดา วงศานุพันธ์. (๒๕๒๖). รายงานการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ระยะที่ ๑ พ.ศ ๒๕๑๘-๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
ลินดา วงศานุพันธ์ (๒๕๒๘). รายงานความก้าวหน้าการก่อสร้างศาลายา ภายหลังระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗). นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.
วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (บรรณาธิการ). (๒๕๕๒). เทิดพระนาม มหิดล. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (๒๕๑๕). แผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ ๓ (๒๕๑๕-๒๕๑๙). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๒๖, ๗ มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๓. หน้า ๖.
กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือ
นาฏสุดา ภูมิจำนงค์. (บรรณาธิการ). (๒๕๕๓). ไม้ยืนต้น. นครปฐม : กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
มานะ โพธิ์ทอง และคณะ. (๒๕๕๔). ต้นไม้ทรงปลูก. นนทบุรี : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.
สารสนเทศที่สืบค้นจากเว็บไซต์
แก้วเจ้าจอม. (๒๕๕๙). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.wikiwand.com/th/แก้วเจ้าจอม. (วันที่สืบค้น ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๙).
บุญรอด ศรีบุญเรือง และคณะ. (๒๕๕๙). แก้วเจ้าจอมไม้พุ่มสวยและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ Lignum Vitae is the beautiful burh and Historical novelty. [ออนไลน์].
แหล่งที่มา : http://www.rdi.ku.ac.th/kufair50/plant/09_plant/09_plant.html#author. (วันที่สืบค้น ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙).
ราชบัณฑิตสถาน. อนุกรมวิธานพืชอักษร ก.. (๒๕๕๙). แก้วเจ้าจอม. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.rspg.org/palace/chitralada/cld6-2_112.htm. (วันที่สืบค้น ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙).
mamnaka11. (๒๐๑๒). ไม้ดอก : แก้วเจ้าจอม. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://panmainaiban.blogspot.com/2012/11/blog-post.html. (วันที่สืบค้น ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๙).
Royal Archives of OHM. (๒๐๑๓). หนังสือ “ต้นไม้ทรงปลูก”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/RoyalArchivesofOHM/photos/?tab=album&album_id=533524673390682. (วันที่สืบค้น ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙).
ช่างภาพ
นายธนกฤต ทองบริสุทธิ์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MU GUIDE รุ่นที่ ๕)
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.