จดหมายเหตุ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดฃ
การขอพระราชทานที่ดิน ณ ศาลายา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขายที่ดิน ที่ตำบลศาลายาให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล
“... ศ.นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน ได้ทราบจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ว่ามีที่ว่างอยู่ที่ศาลายา ประมาณ ๑,๒๔๑ ไร่เศษ เป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะขายตารางวาละ ๓๐,๐๐๐ บาท ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าเหมาะ สำหรับจะขยายกิจการของมหาวิทยาลัยออกไปในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้า แต่เพื่อประโยชน์ของการศึกษา น่าจะลดลง เหลือไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาทได้
ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พร้อมกับรองอธิการบดี และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เพื่ออัญเชิญพระองค์ท่านเป็นประธานกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล มี ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ และ ฯพณฯ พจน์ สารสิน เป็นรองประธาน พร้อมด้วยกรรมการประมาณ ๓๕ คน กรรมการท่านหนึ่ง คือ หม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
พระองค์ได้พระราชทานพระมหากรุณา จัดให้มีการประชุมครั้งแรกที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ และจัดให้หม่อมทวีวงศ์ฯ นั่งชิดพระองค์ท่านทางด้านซ้าย ในระหว่างเจรจากันถึงเรื่องมหาวิทยาลัยมหิดลอยากได้ที่ชิ้นนี้เพื่อขยายกิจการออกไป ฯลฯ หม่อมทวีวงศ์ฯ ก็กราบทูลว่าทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ตั้งราคาไว้ ไร่ละ ๓๐,๐๐๐ บาท พระองค์ท่านก็เอาพระหัตถ์โอบที่ไหล่ แล้วค่อยๆ ต่อราคาลดลงจนเหลือ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ก็อ้างว่ายังจะต้องนำเข้าเสนอกรรมการทรัพย์สินฯ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอีกด้วย พระองค์ท่านรับสั่งว่า เรื่องนี้ไม่เป็นไร หมอชัชวาลคงจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยได้
ตกลงมหาวิทยาลัย จะต้องจ่ายทั้งหมด ๑๒,๔๒๐,๔๗๕ บาท เมื่อจ่ายครึ่งหนึ่งของราคาแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้โอนให้ได้ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ให้ชำระให้หมดภายใน ๕ ปี คิดดอกเบี้ย ๗% ในปีต่อมาทางสำนักงบประมาณก็กรุณาจัดสรรเงินให้ทั้งหมด โดยมิต้องเสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด ...”
มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา : ปฐมบท และปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนามาจากโรงศิริราชพยาบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๒๙) โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาราษฎร์ อาศัยพื้นที่บริเวณวังหลังเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาล ดำเนินการดูแลรักษาประชาราษฎร์เรื่อยมา จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๓๒ โรงศิริราชพยาบาลกลายมาเป็น โรงเรียนแพทยากร เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถในการรักษาผู้ป่วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่แก่โรงเรียนแพทยากร ว่าโรงเรียนราชแพทยาลัย การผลิตแพทย์ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จนต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงมีการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งมีการพัฒนา และดำเนินกิจการเรื่อยมาจนได้รับพระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
...มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายที่จะดำเนินการพัฒนางานต่าง ๆ อันเป็นภารกิจ ของมหาวิทยาลัยซึ่งได้แก่ การผลิตบุคลากรที่จะไปประกอบวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ การให้บริการทางวิชาการและสุขภาพต่อสังคม การวิจัยและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยสรรสร้างสังคมไทยให้ เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป...”
พ.ศ. ๒๕๑๓ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ขยายพื้นที่การศึกษา โดยขอซื้อที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ติดกับทางรถไฟสายใต้ ตรงข้ามกับสถานีรถไฟศาลายา เนื้อที่ ๑,๒๔๐ ไร่ ๓ งาน ๖๙ ตารางวา เพื่อรองรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และ ๒ ของมหาวิทยาลัย และนักศึกษาชั้นปีดังกล่าวจะถูกกำหนดให้เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ส่งผลให้สถานที่เรียนเดิมจะมีพื้นที่ว่างมากพอสำหรับรองรับนักศึกษาปีที่ ๓ ปีที่ ๔ และนักศึกษาปริญญาโทเอก นอกจากนี้ยังปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการเพิ่มเติมสาขาที่จำเป็น โดยทางมหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการเปิดการเรียนการสอนวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และ ๒ เพิ่มเติม จากวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย สำหรับในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ศาลายา การวางแผนก่อสร้างอาคารยึดถือเป้าหมายของการจัดการศึกษา และวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดย การออกแบบอาคารจึงเป็นแบบที่มีระเบียบเดียวกัน และสามารถดัดแปลงได้เต็มที่เหมาะสมกับประโยชน์ของการศึกษา ตัวอาคารที่สร้างไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับนักศึกษาจำนวน ๓,๐๐๐ คน ในระยะแรกเท่านั้น แต่สามารถจุนักศึกษาได้ถึง ๑๕,๐๐๐ คน หากมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นในระยะเวลาต่อไป
การขอพระราชทานตราและสีประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ ดร.สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ภายหลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยได้สร้างอาคารอื่น ๆ ตามมา ประกอบด้วย อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ อาคารเรียนสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยโภชนาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ อาคารพลศึกษา หอพักนักศึกษา หอพักอาจารย์ อาคารกิจกรรมกลางและโรงอาหาร อาคารหอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาจึงเริ่มรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๕ จำนวน ๑,๐๐๐ คน เข้าเรียนและพักอาศัยภายในหอพักนักศึกษา นับเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่ได้เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ประกอบด้วยหน่วยงาน ๒๘ หน่วยงาน
(ข้อมูล ณ มีนาคม ๒๕๕๙)
“มหาวิทยาลัยมหิดล” ดำเนินกิจการมากว่า ๑๐๐ ปี มอบวิชาความรู้และให้บริการทางการแพทย์ต่อสังคมมาตั้งแต่ยุคโรงศิริราชพยาบาล จนกระทั่งกลายมาเป็น หาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นทั้งสถานศึกษาที่ผลิตบัณฑิต งานวิจัยต่าง ๆ และเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการแก่สังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยพัฒนาและปรับปรุงสิ่งเหล่านี้อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้สมดั่ง พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมชนกนาถให้เป็นนามของมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ความว่า
“...ให้พัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ตามความหมายและเพิ่มเติมขอบเขตของวิชาการให้กว้างขวางออกไปจากวิชาแพทยศาสตร์อีกด้วย...”
อาคารวิทยาศาสตร์
อาคารอำนวยการ
อาคารบรรยายรวม
อาคารหอสมุด
อาคารเรียนสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
เปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา วันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินถึงมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น.
ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
จากวันสถาปนาสู่วันพระราชทานนาม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กราบบังคมทูลรายงานและขอพระราชทานเชิญเสด็จ ฯ ทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา
มหาวิทยาลัยมหิดลขยายพื้นที่มา ณ ศาลายา ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มหาวิทยาลัยดำเนินการเรื่อยมา แม้จะพบปัญหาหลายประการระหว่างการดำเนินงาน แต่ด้วยความสำนึกในประวัติศาสตร์ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่มีมากว่า ๑๐๐ ปี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับผิดชอบในกิจการของมหาวิทยาลัยทุกระดับ และทุกสมัยพยายามเอาชนะอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้การก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง และเรียบร้อย
กระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๕.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา นับเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างยิ่งและในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงร่วมงานฉลองเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และทรงดนตรี ณ อาคารพลศึกษา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยังความปลื้มปิติโสมนัสอันหาที่สุดมิได้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดผ้าแพรคลุมป้ายมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานฉลองเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ อาคารพลศึกษา โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานฉลองเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ อาคารพลศึกษา โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาชน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
นักศึกษา และประชาชนถวายการแสดง ต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีเพลง “เต่าเห่” (ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อง พ.ศ. ๒๕๑๙)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “แก้วเจ้าจอม” บริเวณด้านหน้าอาคารพลศึกษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้น “แก้วเจ้าจอม” บริเวณด้านหน้าอาคารพลศึกษา
อ้างอิง
มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๓๗). ๒๕ ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
มหาวิทยาลัยมหิดล. กองแผนงาน. งานวิจัยสถาบันและสารสนเทศ. (๒๕๓๔). มหาวิทยาลัยมหิดล...ศาลายา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
ลินดา วงศานุพันธ์. (๒๕๒๖). รายงานการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ระยะที่ ๑ พ.ศ ๒๕๑๘-๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
ลินดา วงศานุพันธ์ (๒๕๒๘). รายงานความก้าวหน้าการก่อสร้างศาลายา ภายหลังระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗). นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.
วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (บรรณาธิการ). (๒๕๕๒). เทิดพระนาม มหิดล. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (๒๕๑๕). แผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ ๓ (๒๕๑๕-๒๕๑๙). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๒๖, ๗ มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๓. หน้า ๖.
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.