พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

นิทรรศการพิเศษครบรอบ 1 ปี วันสวรรคต 13 ตุลาคม 2560 “ส่งเสด็จ ธ สู่ฟ้าสถิตย์สวรรค์”

จัดนิทรรศการ วันที่ 24 เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล

บอร์ดนิทรรศการ

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

  ไฟล์สูจิบัตรนิทรรศการ

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช ในเย็นวันนั้นประชาชนที่อาศัยในเขตใกล้เคียง ได้รวมตัวกันเพื่อสวดมนต์ถวายพระพรให้ทรงหายจากพระอาการประชวร ภายหลังจากได้รับทราบประกาศสำนักพระราชวังดังกล่าวแล้ว บ้างก็สงบนิ่งทำอะไรไม่ถูก บ้างก็ร้องไห้ออกมาในที่สาธารณะอย่างไม่อายกัน บ้างก็ถึงกับเป็นลมล้มพับไปก็มีมาก หลังจากได้สติประชาชนในที่นั้นได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกัน เป็นการส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย

  • หน้าที่ 1
  • หน้าที่ 2
  • หน้าที่3
  • หน้าที่4
หน้าที่ 1

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระนามเมื่อแรกประสูติตามพระสูติบัตรคือ “เบบี้ สงขลา” ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

นิวัติประเทศไทย

ปีพุทธศักราช 2471 ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระบรมราชชนกและครอบครัวราชสกุลมหิดล ประทับ ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุเพียง 1 พรรษา กับ 8 เดือน หลังจากนั้นครอบครัวราชสกุลมหิดลจึงได้ประทับอยู่ ณ วังสระปทุมกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าต่อไป

ปีพุทธศักราช 2476 สมเด็จพระบรมราชชนนีพร้อมด้วยพระธิดาและพระโอรส ทั้ง 3 พระองค์ เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปีพุทธศักราช 2477 สมเด็จบรมพระเชษฐาธิราชได้รับการถวายราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชในขณะนั้น จึงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช" และปีพุทธศักราช 2481 ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชนิวัติประเทศไทย ประทับอยู่ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยอีกหนหนึ่งในปีพุทธศักราช 2488 โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระอนุชาได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย

สืบราชสันตติวงศ์

วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง รัฐสภาในขณะนั้นมีมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเสวยราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ หลังจากจัดการพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเรียบร้อยแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ และการเสด็จกลับไปศึกษาต่อในครั้งนี้ ทรงเปลี่ยนแผนการศึกษาจาก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เป็นสาขาวิชารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์ต่อไป

ทรงประสบอุบัติเหตุ

ปีพุทธศักราช 2491 หลังจากทรงจบการศึกษาแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูต และครอบครัวจึงได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ และเป็นครั้งแรกที่ได้ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (ธิดาคนโตในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล) เป็นครั้งแรก ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลเมืองโลซานน์ ทรงมีรับสั่งให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เข้าเฝ้า หลังจากนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เยี่ยมพระอาการและถวายการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นการภายใน ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ราชาภิเษกสมรส

ปีพุทธศักราช 2493 เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยและประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันที่ 28 เมษายน ปีเดียวกันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม และในการพระราชพิธีนั้นได้มีการสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีด้วย

บรมราชาภิเษก

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ หมู่พระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงสรงพระมูรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน ด้านข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เสร็จสิ้นแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับน้ำอภิเษก และทรงรับพระมหาเศวตรฉัตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พราหมณ์ร่ายพระเวทย์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ถวายพระสุพรรณบัฏ จารึกพระปรมาภิไธย

ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” เมื่อทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เสร็จสิ้นแล้ว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” จากนั้นเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยมี คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายชัยมงคล จากนั้นประทับเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี ให้ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชโอรสพระราชธิดา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ คือ

1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

    ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2494

    ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

2. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

    เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495

    ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498

    ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

    ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2500

    ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่ก่อนจะทรงครองสิริราชสมบัติจวบจนเสด็จสวรรคต ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมพิธีการสำคัญของมหาวิทยาลัยอย่างเนืองนิจ ดังเช่น

เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในปีพุทธศักราช 2489 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงร่วมพิธีในครั้งนั้น และตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2493 เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อทรงเป็นองค์ประธานพิธีประสาทปริญญาและอนุปริญญาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (นามเดิมของมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นครั้งแรกในรัชสมัย จนถึงปีพุทธศักราช 2541 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเป็นครั้งสุดท้าย และหลังจากนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดลเสมอมาจนสิ้นรัชกาล

วันมหิดล

เสด็จพระราชดำเนินเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2496 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลศิริราช ทรงวางพวงมาลา ถวายสักการะ ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก โดยเรียกวันนี้ว่า “วันมหิดล” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ หากปีใดทรงมีพระราชกรณียกิจหรือพระสุขภาพไม่อำนวย ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์เป็นประจำทุกปี โดยได้เสด็จพระราชดำเนินในงานวันมหิดลด้วยพระองค์เองเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2520

วันทรงดนตรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยมหิดล ในการทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญมาทรงดนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดงานทรงดนตรีในครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พุทธศักราช 2513 ณ สวนอัมพร โดยมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีด้วย ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่ง ที่ตราตรึงใจต่อที่ประชุมในครั้งนั้นความตอนหนึ่งว่า “...มหาวิทยาลัยมหิดล และโดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ ก็ถือว่าต่างเป็นลูกของท่าน ก็นับว่าเรามีสิ่งที่ใกล้เคียงกันเพราะว่าเราเป็นลูกของท่านเหมือนกัน และนับได้ด้วยว่ามีพี่น้องจำนวนมากน่าชื่นใจ คนที่เป็นพี่น้องควรจะช่วยกันเสมอ มีความสามัคคีกันเพื่อที่จะให้วงศ์ตระกูลชื่อเสียงของตนดี สร้างสรรค์ให้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้า...”

ลังจากการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนั้นแล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาอีก 3 ครั้ง ในวันที่ 24 กรกฎาคม พุทธศักราช 2514 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ วันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2515 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ และวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2516 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ต่อมาหลังจากการทรงดนตรีพระราชทานในปีพุทธศักราช 2516 เนื่องจากทรงมีพระราชกรณียกิจที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้การทรงดนตรีต้องเว้นว่างไปหลังจากนั้น

วันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ไปทรงทอดพระเนตร "ศิริราชคอนเสิร์ต เทิดไท้องค์อัครศิลปิน" ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ภายในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดถวายเพื่อให้ทรงพระเกษมสำราญ และเพื่อรำลึกถึง วันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2516 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ที่หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คอนเสิร์ตครั้งนี้บรรเลงเพลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย(TPO) มี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นผู้อำนวยการดนตรี นายกุดนี่ เอมิลสัน และ พันตรีประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นวาทยกร โดยบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 19 เพลง

หน้าที่ 2

พิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดอาคารต่าง ๆ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และเปิดอาคารสถานที่หลายแห่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในพื้นที่โรงพยาบาลศิริราชและในพื้นที่อื่น ๆ ในวาระต่าง ๆ เช่น

1. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ในวันที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2493 เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิด “พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อประดิษฐาน ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระเกียรติยศ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยทั้งปวง

2. หอประชุมราชแพทยาลัย

วันที่ 19 มิถุนายน พุทธศักราช 2495 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอประชุมราชแพทยาลัย ซึ่งได้ก่อสร้างขึ้นจากเงินบริจาคที่ประชาชน และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกันบริจาคในงานฉลอง 60 ปี โรงพยาบาลศิริราช

3. ตึกอานันทมหิดล

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2499 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาก่อพระฤกษ์ ตึก “อานันทมหิดล” ณ โรงพยาบาลศิริราช ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 1 ปี

วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2500 ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึก “อานันทมหิดล” ซึ่งสร้างขึ้นด้วยราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และมีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล และรายได้จากการฉายภาพยนต์ส่วนพระองค์ สมทบทุนในการสร้างตึกเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โดยใช้เป็นตึกรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ

และในวันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2531 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานฉลองครบ 100 ปี ศิริราช และในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงเปิดตึก “อานันทมหิดล” ซึ่งสร้างขึ้นแทนตึกหลังเดิมที่ใช้งานมานาน และไม่พอเพียงต่อการเรียนการสอนที่ต้องพัฒนาขึ้น และการให้บริการต่อผู้ป่วยเด็กที่เพิ่มมากขึ้น

4. ตึกทดลองวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์

วันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2508 เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกทดลองวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์

5. ตึก “หริศจันทร์” และตึก “ปาวา”

วันที่ 10 กันยายน พุทธศักราช 2511 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยศในขณะนั้นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ) มาทรงประกอบพิธีเปิดตึก “พระยาและคุณหญิง หริศจันทร์ สุวิท” และตึก “ยากัตตราม วิตตา วันดี ปาวา” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ตึก “หริศจันทร์” และตึก “ปาวา”

6. อาคารคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

วันที่ 30 ธันวาคม พุทธศักราช 2508 เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

วันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2512 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

7. พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ “สุด แสงวิเชียร”

วันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2515 เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ “สุด แสงวิเชียร”

8. ตึกผู้ป่วยนอก (อาคารใหม่)

วันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2519 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงประกอบพิธีเปิดงานฉลอง 84 ปี ศิริราช ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระบรมราชินูปถัมภ์ และทรงเปิดอาคารใหม่ของตึกผู้ป่วยนอก

9. ตึกสยามินทร์

วันที่ 17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2530 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทรงวางศิลาฤกษ์ “ตึกสยามินทร์” ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2535 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทรงเปิดตึก “สยามินทร์” ที่สร้างขึ้นในวาระศิริราชครบ 100 ปี เพื่อใช้เป็นตึกศูนย์กลางการผ่าตัดและสำนักงานภาควิชาต่างๆ

10. อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดอาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัยมหิดล และทรงเปิดพระราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ อาคารสำนักงาน เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี

นอกจากนั้นยังได้เสด็จพระราขดำเนินมาในโอกาสต่าง ๆ อีกหลายครั้ง เพื่อทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลศิริราช และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมพระอาการพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับรักษาพระอาการ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมถึงการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราชอีกหลายวาระด้วย

ขณะประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ วันที่ 4 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 จากการทรงมีพระปรอทสูง (เป็นไข้) (แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 1) คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ถวายการตรวจแล้วพบว่าถุงพระปิตตะ (ถุงน้ำดี) อักเสบบวมมาก และได้รับพระราชทานให้ถวายการรักษาโดยการตัดเอาถุงพระปิตตะ (ถุงน้ำดี) ออก (แถลงการณ์ฯ ฉบับที่ 2) หลังจากนั้นพระอาการก็ดีขึ้นตามลำดับ

ฉบับที่ 13

วันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากโรงพยาบาลศิริราช ไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ และได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมารับการถวายตรวจพระอาการ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 (แถลงการณ์ฯ ฉบับที่ 13) หลังจากนั้นก็มีพระอาการพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบ และพระอาการภาวะน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมองเป็นระยะ ๆ ซึ่ง คณะแพทย์ฯ ได้ถวายการรักษาตามพระอาการอย่างต่อเนื่อง

ฉบับที่ 37

วันที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2559 คณะแพทย์ฯ ตรวจพบว่าการทำงานของพระวักกะ (ไต) ลดลง ผลเอกซเรย์พระปัปผาสะ (ปอด) พบเริ่มมีน้ำคั่งในพระปัปผาสะ (ปอด) คณะแพทย์ฯ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายการรักษาด้วยการดึงน้ำออกจากพระโลหิตด้วยวิธี Continuous renal replacement therapy (CRRT) เพื่อนำปริมาณน้ำส่วนเกินออก (แถลงการณ์ฯ ฉบับที่ 32) วันที่ 8 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 คณะแพทย์ฯ ถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) เพื่อทำให้ความดันพระโลหิตกลับสู่ระดับปรกติ พระอาการเริ่มไม่คงที่ (แถลงการณ์ฯ ฉบับที่ 37)

ฉบับที่ 38

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 คณะแพทย์ฯ ได้รายงานว่า ความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่า มีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปรกติ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะและแก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด (แถลงการณ์ฯ ฉบับที่ 38) และแถลงการณ์ฯ ฉบับนี้เอง เป็นแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับสุดท้าย

 อนึ่งในขณะที่ประทับรักษาพระอาการประชวรอยู่นั้น หากช่วงใดที่พระอาการดีขึ้น ก็จะเสด็จพระราชดำเนินลงจากอาคารที่ประทับ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถและทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลศิริราช ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตโรงพยาบาลและพื้นที่ใกล้เคียงได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทชมพระบารมีอยู่อย่างเสมอ เช่น

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เป็นครั้งสุดท้าย

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เป็นครั้งสุดท้าย

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เป็นครั้งสุดท้าย

หน้าที่3

เหตุการณ์วันสวรรคตและการเชิญพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวัง

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลาใกล้ 19.00 น. มีประกาศสำนักพระราชวังความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี” ยังความเศร้าโศกให้กับปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช ในเย็นวันนั้นประชาชนที่อาศัยในเขตใกล้เคียง ได้รวมตัวกันเพื่อสวดมนต์ถวายพระพรให้ทรงหายจากพระอาการประชวร ภายหลังจากได้รับทราบประกาศสำนักพระราชวังดังกล่าวแล้ว บ้างก็สงบนิ่งทำอะไรไม่ถูก บ้างก็ร้องไห้ออกมาในที่สาธารณะอย่างไม่อายกัน บ้างก็ถึงกับเป็นลมล้มพับไปก็มีมาก หลังจากได้สติประชาชนในที่นั้นได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกัน เป็นการส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 ประชาชนจากทั่วสารทิศพร้อมกันแต่งกายไว้ทุกข์ บางส่วนเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และส่วนมากได้มาจับจองพื้นที่ริมถนนที่ขบวนอัญเชิญพระบรมศพผ่านอย่างแน่นขนัด ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลศิริราช ถนนอรุณอมรินทร์ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน และถนนมหาราช ซึ่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอกับประชาชนที่มารอส่งเสด็จ ทำให้ประชาชนล้นไปถึงถนนราชดำเนินกลาง ถนนสนามไชย รวมถึงตรอกซอกซอยในบริเวณนั้นด้วย

เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ถึงโรงพยาบาลศิริราช ในการเคลื่อนพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร นำขบวนเชิญพระบรมศพลงจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 16 โดยมีคณะนายแพทย์ และพยาบาลที่ถวายการรักษาพยาบาลเลื่อนพระแท่นพยาบาล และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพ จากนั้นขบวนรถเชิญพระบรมศพเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลศิริราช โดยมีรถสมเด็จพระวันรัตนำ ตามด้วยรถเชิญพระบรมศพ และรถยนต์พระที่นั่งของพระบรมวงศานุวงศ์ ระหว่างทางที่ขบวนเชิญพระบรมศพเคลื่อนผ่าน จากโรงพยาบาลศิริราชจนถึงพระบรมมหาราชวัง สองข้างทางเนืองแน่นไปด้วยประชาชนในชุดไว้ทุกข์ที่รอเฝ้าส่งเสด็จด้วยความเศร้าโศกอย่างหาที่สุดมิได้

กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยถวาย

วันที่ 14 ตุลาคม 2559 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดี พร้อมทีมผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ บริเวณโถงอาคาร ชั้น 1 สำนักงานอธิกาบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

วันที่ 27 ตุลาคม 2559 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีบำเพ็ญกุศลปัณรสมวาร หรือการทำบุญ 15 วัน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ สามเณร จำนวน 89 รูป ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี และมีพิธีบำเพ็ญกุศล ณ บริเวณโถงอาคาร ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน นักศึกษาและแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี กล่าวแสดงความไว้อาลัย ถวายตั้งปณิธาน ทำความดี พร้อมยืนแสดงความไว้อาลัยเป็นเวลา 3 นาที ร่วมร้องเพลงสรรสริญพระบารมีและเพลงของขวัญจากก้อนดิน หลังเสร็จสิ้นพิธีการ อธิการบดีเปิดนิทรรศการ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์” และนิทรรศการเขียนคำปณิธานความดี “มหิดลเพื่อเพื่อนมนุษย์”

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปจากชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย กว่า 5,000 คน พร้อมใจกันแสดงพลังแห่งความสามัคคี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการจัดกิจกรรม “ธ สถิต ในใจชาวมหิดล จักมุ่งผลเป็นพลังแห่งแผ่นดิน” ในกิจกรรมมีการบรรเลงเพลงชาติ เพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงเทิดพระนามมหิดล โดยวงออร์เคสตร้า จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงพิธีการ อธิการบดีกล่าวแสดงความอาลัยถวาย และร่วมกันยืนสงบนิ่งไว้อาลัยเป็นเวลา 89 วินาที หลังจากนั้นจุดโคมเทียนเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. และตรามหาวิทยาลัย พร้อมร้องเพลงเทิดพระเกียรติและเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกันดังกึกก้องบริเวณมหิดลสิทธาคาร

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกองทัพเรือจัดงาน "น้อมดวงใจชาวศิริราช... ตามรอยพระราชปณิธานพระภูมิพล" ณ ลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช กิจกรรมในงานมีการถวายราชสักการะ การบรรเลงเพลงโดยวงดนตรีกองดุริยางค์ทหารเรือ การแปร “อักษรเลข ๙” โดยกำลังพลกองทัพเรือ จำนวน 389 นาย การกล่าวแสดงความอาลัย การยืนสงบนิ่ง 89 วินาที จากนั้นร่วมกันจุดเทียน ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงความฝันอันสูงสุด

วันที่ 1 ธันวาคม 2559 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร 50 วัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร จำนวน 50 รูป ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี จากนั้นมีพิธีบำเพ็ญกุศล พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเพื่อสืบสานพระราชปณิธานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้อธิการบดีพร้อมผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน นักศึกษาและแขกผู้มีเกียรติ ที่มาร่วมในพิธียืนสงบนิ่ง เป็นเวลา 89 วินาที ร่วมร้องเพลงสรรสริญพระบารมีและเพลงพระราชาผู้ทรงธรรม ณ บริเวณโถงอาคาร ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

วันที่ 20 มกราคม 2560 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีบำเพ็ญกุศลสตมวาร 100 วัน ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร ถวายเป็นพระราชกุศล จำนวน 100 รูป ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี จากนั้นมีพิธีบำเพ็ญกุศล พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายพระเกียรติพระอัจฉริยะราชาผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ทั้งนี้อธิการบดีพร้อมผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน นักศึกษาและแขกผู้มีเกียรติ ที่มาร่วมในพิธียืนสงบนิ่ง เป็นเวลา 89 วินาที ร่วมร้องเพลงสรรสริญพระบารมีและเพลงในหลวงของแผ่นดิน ณ บริเวณโถงอาคาร ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

หน้าที่4

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 โดยมีหมายกำหนดการ และรายละเอียดตามโบราณราชประเพณีดังนี้

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ จัดขึ้นในช่วงเวลาเย็น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ช่วงเช้าจะเป็นขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง โดยมี 3 ริ้วขบวน คือ

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระบรมโกศโดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ออกจากประตูเทวาภิรมย์ เคลื่อนขบวนไปตามถนนมหาราช ถนนท้ายวัง และถนนสนามชัย เพื่อเทียบพระมหาพิไชยราชรถที่จอดรออยู่บริเวณหน้าหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง เจ้าพนักงานเชิญพระบรมโกศเทียบเกรินบันไดนาค กางกั้นพระมหาเศวตรฉัตรคันดานเหนือพระบรมโกศ เชิญพระบรมโกศขึ้นสู่พระมหาพิไชยราชรถ โดยเกรินบันไดนาค เจ้าพนักงานคุมขบวนรัวกรับเตรียมเคลื่อนริ้วขบวนที่ 2

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิไชยราชรถ เคลื่อนไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน ผ่านกระทรวงกลาโหม เข้าสู่ท้องสนามหลวง และเคลื่อนเข้ามณฑลพระราชพิธี เมื่อเคลื่อนพระมหาพิไชยราชรถถึงท้องสนามหลวงแล้ว เจ้าพนักงานเทียบเกรินเพื่อเชิญพระบรมโกศสู่ราชรถรางปืน เจ้าพนักงานคุมขบวนรัวกรับเตรียมเคลื่อนริ้วขบวนที่ 3

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระบรมโกศโดยรางรถรางปืน เวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ พระราชาคณะนั่งเสลี่ยงกลีบบัวพระสวดพระอภิธรรมนำขบวน ตามด้วยราชรถทรงพระบรมโกศ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินตาม เมื่อเวียนพระเมรุมาศครบ 3 รอบแล้ว เชิญราชรถรางปืนเทียบเกรินด้านทิศใต้ จากนั้นกางกั้นพระมหาเศวตรฉัตรคันดานเหนือพระบรมโกศ เชิญพระบรมโกศสู่พระจิตกาธานภายในพระเมรุมาศโดยเกรินบันไดนาค เมื่อเชิญพระบรมโกศถึงพระเมรุมาศแล้ว เจ้าพนักงานเปลื้งพระโกศทองใหญ่และประกอบพระโกศไม้จันทน์

ในช่วงเย็นเป็นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายพระเพลิงพระบรมศพและถวายบังคมพระบรมศพ จากนั้น พระสงฆ์ สมาชิกราชสกุล และข้าราชการ ขึ้นถวายดอกไม้จันทน์บนพระเมรุมาศ

จากนั้นในช่วงค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินยังพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานพระราชพิธีทูลเกล้าฯ ถวายมะพร้าวห่อผ้าขาว แล้วทรงสรงน้ำมะพร้าวแก้วที่พระบรมโกศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ในคืนนี้มีการแสดงมหรสพสมโภช ตั้งแต่เวลา 18.00น. จนถึง 6.00น. ของวันที่ 27 ตุลาคม โดยมีการแสดง ณ สนามหลวงด้านทิศเหนือ มี 3 เวที ประกอบด้วย 1.เวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และโขน เรื่องรามเกียรติ์ 2.เวทีการแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละคร เรื่องพระมหาชนก 3. เวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ และบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัย

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในเวลาเช้า เป็นการเก็บพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรงพระอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ทรงเก็บพระบรมอัฐิ สรงพระบรมอัฐิน้ำพระสุคนธ์ในขันทองคำลงยา ประมวลพระบรมอัฐิลงในถ้ำศิลา และเชิญถ้ำศิลาลงในพระโกศพระบรมอัฐิ จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้า ณ พระที่นั่งทรงธรรม ถวายภัตตาหารสามหาบแด่พระสงฆ์ 6 รูป เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ แล้วถวายเครื่องสังเค็ตงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จากนั้นเป็นการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวังในริ้วขบวนที่ 4

ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง โดยตั้งขบวนที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม เคลื่อนขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง จากมณฑลพระราชพิธี ถนนกลางท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยเชิญพระบรมราชสรีรางคารแยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งราเชนทรยานเคลื่อนขบวนไปเทียบที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จ จากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การพระราชพิธีนี้จะมีการเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิ และพระโกศพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี บนพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระบรมราชบุพการี บนพระแท่นมณฑลประดับมุก ในเย็นวันนั้นทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พระราชพิธีเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหารในช่วงเช้าเป็นการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชทานฉันเช้าแด่พระสงฆ์ที่สวดบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิเมื่อวันก่อน พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ จากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิไปยังริ้วขบวนที่ 5

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากเกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทางอัฒจันทร์มุขหน้าด้านตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน ชั้น 3 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จ

ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีกองทหารม้ารักษาพระองค์นำขบวน เมื่อบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เคลื่อนขบวนต่อไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อบรรจุพระบรมราชสรีรางคารอีกแห่งหนึ่ง


บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. กองวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์. เครื่องประกอบพระอิสริยยศราชยาน ราชรถ พระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2539. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539

กรมศิลปากร. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ, 2541.

กระทรงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร. คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉบับปรับปรุง. นครปฐม : บริษัท สุวรรณภูมิ เฮอริเทจ จำกัด, 2559.

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ, 2559.

นนทพร อยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559

มหาวิทยาลัยมหิดล. หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. (2556). ความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล. นครปฐม : ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์.

สำนักพระราชวัง. แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 1- 38 (ระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2557 ถึง วันที่ 12 ตุลาคม 2559)

สำนักพระราชวัง. ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต (วันที่ 13 ตุลาคม 2559)

สำนักพระราชวัง. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2533.

อนันต์พัฒน์ อิ่มพูลทรัพย์ และสุรางค์ วิเศษมณี (บรรณาธิการ). 50 ปี ในหลวงกับศิริราช. (2539). กรุงเทพฯ : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช https://www.facebook.com/informationcenter.for.kingrama9/

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.