พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “กันภัยมหิดล”
จัดนิทรรศการ วันที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บอร์ดนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
ไฟล์สูจิบัตร
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
ข้อมูลเพิ่มเติมต้นกันภัยมหิดล
Kan Phai Mahidol, the Symbolic Plant of Mahidol University
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ต้นกันภัยมหิดล
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกให้เป็นนามใหม่ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยขยายขอบข่ายวิชาการให้กว้างขวางและพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัย ที่สมบูรณ์แบบ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ทุกปี เพื่อแสดงถึงความสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณ
กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในโอกาสครบรอบวันพระราชทานนามฯ ในปี พ.ศ. 2542 คือ การจัดประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัย แต่เดิมคณะวิทยาศาสตร์เป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัยที่มีการปลูกต้นศรีตรังไว้หน้าคณะ จึงเข้าใจกันว่า “ศรีตรัง” เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย และต่อมายังมีเพลง “ศรีตรัง” “ศักดิ์ศรีตรัง” เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าต้นศรีตรังเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ ต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ประกาศให้ต้นศรีตรังเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในสมัยที่ ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข (อดีตคณบดีท่านแรก ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์) ได้ย้ายไปเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยมหิดลไม่มีการยืนยันดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารดำริที่จะหา ต้นไม้ต้นใหม่เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ และไม่ซ้ำกับมหาวิทยาลัยอื่น เนื่องในโอกาส ครบรอบ 30 ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2542 ได้มี การประกวดต้นไม้ สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้น
“กันภัยมหิดล” ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อภาษาไทย กันภัยมหิดล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Afgekia mahidoliae B. L. Burtt & Chermsir.
ชื่อวงศ์ FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE ชื่อวงศ์ย่อย Papilionoideae
ถิ่นกำเนิด กันภัยมหิดลมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นพรรณไม้หายาก พบตามป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศไทย สามารถนำมาปลูกได้ทั่วไป พืชชนิดนี้ออกดอก ในช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายนลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กันภัยมหิดลเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ขนาดกลาง มีอายุหลายปี กิ่งอ่อนมีสีเขียว และมีขนนุ่มปกคลุม
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด
สภาวะเหมาะสม แสงแดด
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ
ใบ ออกสลับ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ใบย่อย รูปรีแกมขอบขนาน ขนาด 2.2 - 3.5 x 5 - 6.5 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ใต้ใบมีขนหนาแน่นกว่า ด้านบนใบ
ดอก ออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อยาว 12 - 25 เซนติเมตร ดอกทยอยบานจากโคนช่อมาปลายช่อ 4 - 6 ดอก กลีบประดับ สีม่วงอมเขียว รูปเรียว กลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยก 5 แฉก ดอกรูปดอกถั่ว มี 5 กลีบ กลีบกลางสีม่วง โคนกลีบมีแถบสีเหลือง รูปสามเหลี่ยม กลีบคู่ข้างสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่างสีเหลืองอ่อน มีขนปกคลุม ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน
ผล เป็นฝักรูปแถบสั้น ขนาด 2 - 4 x 7 - 9 เซนติเมตร สีน้ำตาล มีขนปกคลุม เมื่อแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ด รูปกลม 2 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร สีดำเป็นมัน
องค์ประกอบหลักของดอกกันภัยมหิดล ประกอบด้วย
โครงสร้างของดอกกันภัยมหิดล ประกอบด้วย
30 ปี วันพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล
2 มีนาคม พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยมหิดลครบรอบ “30 ปี แห่งวันพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล” ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ระหว่างวันที่ 1 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2542 โดยมีรายการกิจกรรมดังนี้
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมายังมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทรงแสดงปาฐกถา เรื่อง “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” และทรงปลูก “ต้นกันภัยมหิดล” ต้นไม้สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งมอบรางวัลมหิดลทยากร แก่อาจารย์ตัวอย่าง และข้าราชการ ลูกจ้างดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2541 มีกิจกรรมการบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับ การชี้นำสังคม” โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์์ การอภิปรายเรื่อง “มหาวิทยาลัยมหิดลอดีต ปัจจุบันและอนาคต” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เกษม สุวรรณกุล และการนำเสนอผลงานทางวิชาการหลากหลายสาขา อาทิ สาขาการแพทย์ และสาธารณสุข สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาภาษา เป็นต้น
การประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
การประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ฯ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ปรากฏว่า มีชื่อต้นไม้จำนวน 123 ชื่อ ถูกเสนอเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้
รายนามคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ฯ ประกอบด้วย
1.รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน ประธานอนุกรรมการ
2. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา รองประธานอนุกรรมการ
3. หัวหน้าสำนักงานอธิการบดี อนุกรรมการ
4. ศาสตราจารย์มาลียา เครือตราชู อนุกรรมการ
5. รองศาสตราจารย์นันทวัน บุณยะประภัศร อนุกรรมการ
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุระ พัฒนเกียรติ อนุกรรมการ
7. ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลหรือผู้แทน อนุกรรมการ
8. นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล อนุกรรมการ
9.นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อนุกรรมการ
10.นายนิพนธ์ ครุฑเครือศรี อนุกรรมการและเลขานุการ
11.นายสมพล ศรีจันทรา อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ฯ ได้กำหนดเกณฑ์ การพิจารณาต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล และพิจารณาเห็นว่า “ต้นกันภัยมหิดล”“ต้นพญายา” และ “ต้นพญาสัตบรรณ” มีเหตุผล สมควรจะเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย และนำเสนอให้ที่ประชุมคณบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้พิจารณาความเหมาะสม ในที่ประชุมไม่สามารถ ตัดสินชี้ขาดได้ว่าต้นไม้ใดเหมาะสมที่จะเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำ มหาวิทยาลัยมหิดล
รูปที่ 1 ต้นพญายา
รูปที่ 2 ต้นพญาสัตบรรณ
รูปที่ 3 ต้นกันภัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเห็นสมควรเสนอขอประทานพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ทรงมีพระวินิจฉัยตัดสินชี้ขาด เพื่อความเป็นสิริมงคลและมิ่งขวัญแก่ คณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล สืบต่อไป
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงมีพระวินิจฉัย และ ทรงเห็นว่าต้นกันภัยมหิดลเหมาะสมที่จะเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เสนอชื่อต้นกันภัยมหิดล คือ คณาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศาสตราจารย์วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล ภาควิชา เภสัชพฤกษศาสตร์และรองศาสตราจารย์นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือจากมหาวิทยาลัยมหิดล ถึง สำนักงานเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หนังสือจากสำนักงานเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ถึง มหาวิทยาลัยมหิดล
ประมวลภาพถ่าย“ดอกกันภัยมหิดล” ในมหาวิทยาลัยมหิดล
บทเพลง เกี่ยวกับกันภัยมหิดล
หนังสือ วันมหิดล 2546
เจ้าของ : กองกิจการนักศึกษา และสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้จัดพิมพ์ : ชมรมเว็ทไลฟ์ สโมสรนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เพลง กันภัยมหิดล
กันภัย มหิดล ทั่วสกลนามมงคลประดับฟ้า เอกมณีหนึ่งเดียวในโลกา ม่วงอร่าม งามสง่า ตระการไกล กันภัย มหิดล แหล่งสร้างคน ให้เป็นคน ให้เป็นไทย เพื่อก้าวสู่ ความฝัน อันยิ่งใหญ่ พร้อมรวมใจ เป็นหนึ่งใน มวลประชา ปณิธาน ในพระราชบิดา ปลุกศรัทธา พี่น้องดังทรงฝันใฝ่ กระแสสามัคคี พร้อมยอมพลี เพื่อประชาไทย ประกาศเกรียงไกรตลอดกาล กันภัย มหิดล หลั่งเลือดข้น น้ำเงินเข้มสมัครสมาน จะไหลนอง ป้องไทย พ้นภัยพาล คำสาบาน กังวานก้อง เพื่อผองไทย กันภัย มหิดล จะแตกต้น และชูช่อ สว่างไสว บนดินแดน มนุษยธรรม และน้ำใจ คงบานอยู่ ในใจ เต็มภาคภูมิ “ดินแดน มนุษยธรรม และน้ำใจ แห่งมหาวิทยาลัย เพื่อปวงชน”
เพลง ณ ศาลายา
ฝากใจเอาไว้ตรงนี้ ช่วยกันดูแลให้ดี ต่อเติมความฝันที่มี กี่ปี ไม่ลืม ไม่เลือน เก็บความ ผูกพัน เอาไว้ ชีวิตงอกงามเสมอ ความรักหล่อเลี้ยงฉันเธอ ไม่เจอก็ยังห่วงใย
*ถิ่นเคยเรียนเคยพากเพียร เคยเหนื่อย เคยล้า คำบิดา ทรงสอนรู้ค่า ปลูกภูมิ ปัญญา แผ่นดิน ดอกกันภัย มหิดล จึงสื่อความหมาย แทนความงาม เรียบง่าย ดอกใบ เป็นซุ้ม พุ่มสวย
**ศาลายา เป็นยิ่งกว่าที่พักใจ เป็นเหมือนบ้านคนห่างไกล เป็นศูนย์รวมใจ ลูกมหิดล
เนื้อร้อง,ทำนอง : ศุ บุญเลี้ยง กีตาร์ : ประภาคาร ศรีช่วย
คำร้อง : ศุ บุญเลี้ยง เจนจิฬา โชติประทุม ตรลา คารวะวัฒนา เพชรดา วุฒิพาณิชย์กุล
ประสานเสียง : พัลลภ สินธุ์เจริญ
บทเพลงพิเศษประพันธ์ในโอกาส สร้างประติมากรรมดอกกันภัยมหิดล
ประติมากรรมจากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประติมากรรม “จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ประติมากรรมดังกล่าว ออกแบบโดย อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร เป็นการจำลองโครง “ดอกกันภัยมหิดล” ที่พร้อมจะผลิบาน ประกอบด้วยกลีบดอกเรียงสลับกัน ลายเส้นกลีบภายในกลวงคล้ายการฉลุ ประติมากรรมมีรูปทรง งดงามคล้ายพานพุ่มสักการะ สื่อถึงความจงรักภักดีและความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่อดอกนั้นรวมเอาดอกเล็กๆ ไว้ เมื่อผลิบานก็ค่อยๆ คลี่บานทีละชุด จากดอกล่างขึ้นสู่เบื้องบน สื่อถึงความเจริญเติบโต อย่างเข้มแข็งและเป็นระบบตามลำดับชั้นอย่างสวยงามตามธรรมชาติ ภายในบรรจุดวงใจมหิดลสีทอง โดยมีความหมายถึง การพัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกับหัวใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา ซึ่งจะได้รับการปกป้องคุ้มภัย
นอกจากนี้รูปทรงของประติมากรรม สามารถมองได้หลากหลายมิติ ทั้งมุมมองจากระดับต่ำถึงระดับสูง โดยเฉพาะมุมมองด้านสูงทำให้เห็น การซ้อนกันของกลีบดอกกันภัย ที่แสดงความรู้สึกถึงความสามัคคีกลมเกลียว ประติมากรรมดังกล่าวผลิตขึ้นจากวัสดุ “ทองสัมฤทธิ์” ที่มีความหมายถึง ความสำเร็จ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทรงคุณค่าและมีความคงทนถาวร ดั่งจะเห็นได้ จากหลักฐานเครื่องมือสัมฤทธิ์ ในประวัติศาสตร์ที่มีอายุยืนยาว
ปรากฏมาถึงปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกับประติมากรรม กันภัยมหิดลสัมฤทธิ์ และจะตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ แห่งการระลึกถึงพระเมตตาแห่งราชนิกุลทุกพระองค์ ที่มีต่อมหาวิทยาลัยมหิดล จากอุดมการณ์ในการเป็น ภูมิปัญญาของแผ่นดินที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม อันจะยั่งยืนจนกลายเป็นความทรงจำอันงดงาม ไปตลอดกาล ประติมากรรม “จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน” เป็นเครื่องหมายเตือนใจให้ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตอกย้ำจิตวิญญาณ แห่งความเป็นมหิดลที่คำนึงถึงสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้บรรลุถึงพร้อมความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
ภาพสีน้ำฝีพระหัตถ์ “รูปดอกกันภัยมหิดล”
ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ 2554 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาทอดพระเนตร นิทรรศการของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมพระราชทานภาพสีน้ำฝีพระหัตถรูปดอกกันภัยมหิดลด้วย
ปัจจุบันภาพฝีพระหัตถ์จัดแสดง ณ บริเวณหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก พร้อมด้วยอุปกรณ์ทรงใช้ ในการวาดภาพ นับเป็นภาพที่งดงามและมีคุณค่า เป็นสื่อสัญลักษณ์ให้ชาวมหิดลและประชาชนทั่วไปที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการ ได้ร่วมกันภูมิใจและน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในทุกพระองค์ ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยมหิดลและปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน
บรรณานุกรม
วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และคณะ (บรรณาธิการ). (2539). สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. กรุงเทพฯ : คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
วันมหิดล 2546. (2546). นครปฐม : ชมรมเว็ทไลฟ์ สโมสรนักศึกษาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหิดล.
หาวิทยาลัยมหิดล. หอสมุดและคลังความรู้. (2556). ความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ : ฝ่ายจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล.
วารสาร
พระพี่นางฯเสด็จงาน 30 ปี แห่งวันพระราชทานนาม (2542). สารมหาวิทยาลัยมหิดล, 24 (4), หน้า 1.
‘กันภัยมหิดล’ ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล (2542). สารมหาวิทยาลัยมหิดล, 24 (5), หน้า 1,3.
30 ปีแห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดลกับกิจกรรมที่มีคุณค่าเพื่อสังคม (2542). สารมหาวิทยาลัยมหิดล, 24 (5), หน้า 10.
สูจิบัตร
มหาวิทยาลัยมหิดล. สำนักงานอธิการบดี. (2554). พิธีเปิดอาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และประติมากรรม “จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน”. (สูจิบัตร). นครปฐม : สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
สารสนเทศที่สืบค้นจากเว็บไซต์
เกษม จันทรประสงค์ และดร.จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์). (2559). ชมสวน : แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ดูชีวิต. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://learn2be.wordpress.com/2009/03/16/ชมสวน/. (วันที่สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2559).ติดต่อ -การเดินทาง- แผนที่ แดนมหามงคล จ.กาญจนบุรี. (2557). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id= jullaa&date=29-01-2014&group=17&gblog=3. (วันที่สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2559).น้อมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคต ‘สมเด็จย่า.’ (2559). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.maefahluang-police.com/Today's%20Mass%20HRH%20The%20 Princess%20Mother's.htm. (วันที่สืบค้น 14 มกราคม 2559).
ประติมากรรม "กันภัยมหิดล." (2554). "ศุ บุญเลี้ยง - บทเพลงพิเศษ ณ ศาลายา (2554)." [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=140351212713301&id=114466988608686. (วันที่สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2559).
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. คณะเภสัชศาสตร์. ฐานข้อมูลสมุนไพร. (2559). กระแจะ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.phargarden.com/ main.php?action=viewpage&pid=6. (วันที่สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2559).
สุขสันต์วันพุธ...จากทีมงานฯ ก๋งแก่โปรโมชั่น (แผนกบันเทิงฯ). (2550). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://topicstock.pantip.com/jatujak/ topicstock/2007/04/J5328236/J5328236.html. (วันที่สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2559).
ศศิวิมล แสวงผล และ ทยา เจนจิตติกุล. (2559). กันภัยมหิดล: พรรณไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.mahidol.ac.th/th/kanphai_mu.htm. (วันที่สืบค้น 5 มกราคม 2559).
องค์การสวนพฤกษศาสตร์. ฐานข้อมูลพรรณไม้. (2559). กันภัยมหิดล. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.qsbg.org/database/ botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=882. (วันที่สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2559).
Naringi crenulata 10. (2013). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/80/ Naringi_crenulata_10.JPG . (วันที่สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2559).
Book Thanthip. (2554). กันภัยมหิดล โดย นศพ. PI'03. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.youtube.com/ watch?v=J0OiAQ_Kmgw. (วันที่สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2559).
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.