พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการครบรอบ ๓๐ ปี หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลเนื่องในโอกาสหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลครบ ๓๐ ปี ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙จัดนิทรรศการ วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ ชั้น ๒ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
บอร์ดนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
พุทธศักราช 2514
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โอนขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 8606 เนื้อที่ 1,242 ไร่ 3 งาน69 ตารางวา ณ ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี (ปัจจุบัน คือ อำเภอพุทธมณฑล)จังหวัดนครปฐม แก่มหาวิทยาลัย “มหิดล” เพื่อขยายการศึกษา ดังพระบรมราชโองการตอนหนึ่ง ว่า “...โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ...” (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 86 ตอนที่ 17 หน้าที่ 4 ณ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2512)
ในการนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นสหวิทยาการ ตามเป้าประสงค์ในการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์พร้อมในกิจการการศึกษารวมทั้งขยายขอบเขตวิชาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
รูปที่ 1 โฉนดที่ดินมหาวิทยาลัยมหิดล
รูปที่ 2 ราชกิจจานุเบกษาพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512
รูปที่ 3 ผังแม่บท (Master Plan) พ.ศ. 2518-2525
พุทธศักราช 2515
ภายหลังได้รับพระราชทานที่ดิน มหาวิทยาลัยได้กำหนดผังแม่บท (Master Plan) และวางแผนการพัฒนาที่ดินศาลายา โดยริเริ่ม “โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ระยะที่ 1 พ.ศ. 2518-2525” โดย Master Plan ระยะแรก ประกอบด้วยกลุ่มภารกิจงานที่มีส่วนสนับสนุนการศึกษาและบริการนักศึกษาโดยตรง ได้แก่ งานอาคารเรียน งานที่พักอาศัย งานอาคารและสิ่งก่อสร้างประกอบการเรียน และงานสาธารณูปโภค
พ.ศ. 2518 เริ่มดำเนินการก่อสร้างครั้งแรกด้วยการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 สะพาน เป็นทางเข้า-ออก เชื่อมถนนพุทธมณฑล สาย 4 กับมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2519 ในเดือนธันวาคม ได้ก่อสร้างอาคารชุดแรก คือ อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ และอาคารสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์
พ.ศ. 2520 ก่อสร้างอาคารอำนวยการ อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ 2 และหอพักนักศึกษา
พ.ศ. 2521 ก่อสร้างหอพักอาจารย์ อาคารกิจกรรมกลาง และโรงอาหาร
พ.ศ. 2522 ก่อสร้างอาคารบรรยายรวม 2 หลัง อาคารหอสมุดทางเดินเชื่อมอาคาร และระบบประปา
พ.ศ. 2523 ก่อสร้างอาคารพลศึกษาและนันทนาการ และถนนคอนกรีต
พ.ศ. 2524-2525 ดำเนินการก่อสร้างระบบไฟฟ้า และสาธารณูปโภคต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอาคารศูนย์สัตว์ทดลอง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันวิจัยโภชนาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่นอกเหนือ โครงการศูนย์ศาลายา ระยะที่ 1
คัดจากคำกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ รายงานกิจการของ มหาวิทยาลัยมหิดล และความเป็นมาของมหาวิทยาลัย มหิดล ณ ศาลายา ในพิธีทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา และทรงวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ฝึกอบรม และพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานแห่งอาเซียน วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2526
อาคารหอสมุดนับว่าเป็นส่วนงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการศึกษา ณ ศาลายา ดังจะเห็นได้จากที่ มหาวิทยาลัยมีนโยบายพัฒนาระบบงานหอสมุดสู่มาตราฐานสากล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 จนปัจจุบัน อาคารหอสมุดศาลายาได้กลายมาเป็นที่ตั้งของสำนักหอสมุด และหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลตามลำดับ อันมีรากฐานและพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้
แรกเริ่มจากห้องอ่านหนังสือ โรงเรียนราชแพทยาลัย
ตามหลักฐานที่สามารถสืบค้นได้ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าห้องสมุดแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบห้องสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล คือ “ห้องสมุดแพทย์ โรงเรียนราชแพทยาลัย” ดังข้อความในร่างหนังสือกราบบังคมทูลเมื่อสร้างตึกโรงเรียน ราชแพทยาลัย ปี พ.ศ. 2443 ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการคนแรก (ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ) ความว่า
รูปที่ 1 โรงเรียนราชแพทยาลัย
“...จึงได้รื้อตึกและเรือนที่โรงยานั้น มาเหมาทำขึ้นในบริเวณ ศิริราชพยาบาลเป็นโรงเรียน 1 หลัง เป็นห้องสมุด 1 หลัง ...”
“...ตึกหอสมุดห้องอ่านหนังสือกว้าง 20 ฟิศ ยาว 80 ฟิศ สูง 23 ฟิศ หลังคามุงกระเบื้องไทย์ ปูอิฐพื้นรอบตึก 1 หลัง ...”
ห้องอ่านหนังสือของห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ณ ชั้น 2 ของตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล
ห้องอ่านหนังสือของห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ณ ชั้น 2 ของตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล
ภายหลังได้มีการปรับปรุงอาคารต่างๆ จึงย้ายห้องสมุดมาอยู่ชั้นล่างของเรือนริมน้ำ (บริเวณตึกผู้ป่วยนอกเก่าในปัจจุบัน) ที่พระอาจ วิทยาคม (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์/Dr. George B. McFarland) เคยอยู่และเรียกว่า “ห้องสมุดสำหรับนิสิตแพทย์”
พ.ศ. 2446 พระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ให้รวมโรงพยาบาลศิริราชเข้าเป็นสาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย
พ.ศ. 2460 โรงเรียนราชแพทยาลัยเปลี่ยนเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปี พ.ศ. 2461 เปลี่ยนเป็นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล
พ.ศ. 2468 เมื่อตึกอำนวยการคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลสร้างแล้วเสร็จ ศาสตราจารย์เอ.จี.เอลลิส คณบดีในขณะนั้นได้จัดให้พื้นที่ชั้น 2 ทางทิศเหนือของตึกเป็น “ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์”
รูปที่ 1 หม่อมหลวงรสคนธ์ อิศรเสนา
พ.ศ. 2485 เมื่อสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์จึงกลายมาเป็น “ห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล” โดยใน พ.ศ. 2488 หม่อมหลวงรสคนธ์ อิศรเสนา เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปริญญา คนแรกที่เข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์
รูปที่ 1 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70 ตอนที่ 16 ณ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2496
พ.ศ. 2496 พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์ ในกระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานเลขานุการกรมฯ มี “แผนกห้องสมุด” นับเป็นจุดเริ่มต้นการมีห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70 ตอนที่ 16 ณ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2496)
พ.ศ. 2500 นางสาวอุทัย ทุติยะโพธิ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าแผนกห้องสมุดคนแรกของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
แผนกห้องสมุดเป็นกองห้องสมุด ณ อาคารหอสมุดศิริราช
หอสมุดศาลายา สังกัดโครงการศูนย์ศาลายา
พุทธศักราช 2509 ย้ายที่ทำการแผนกห้องสมุดจากตึกอำนวยการไปยังอาคาร หอสมุดศิริราช ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนการก่อสร้างจาก China Medical Board of New York และเงินงบประมาณแผ่นดินอีกส่วนหนึ่ง
พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนามเป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล” พ.ศ. 2520 แผนกห้องสมุดเดิมในสำนักงานเลขานุการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับ การยกฐานะขึ้นเป็น “กองห้องสมุด” สังกัดสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 94 ตอนที่ 71 หน้า 15 ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2520) มีนางสาวอุทัย ทุติยะโพธิ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองห้องสมุด กองห้องสมุดจึงมีหน้าที่ เป็นทั้งห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลควบคู่กัน
รูปที่ 1 ดร.อุทัย ทุติยะโพธิ
รูปที่ 2 นางวิภาวรรณ มนุญปิจุ
รูปที่ 3 Dr. Albert Kuperman
เริ่มก่อสร้างในปีพุทธศักราช 2522 ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการอาจารย์ นักศึกษา โดยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา มีนางวิภาวรรณ มนุญปิจุ หัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น รับผิดชอบการดำเนินงานหอสมุดศาลายา มีการขนย้ายหนังสือบางส่วนจากห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มายังหอสมุดศาลายา สำหรับให้บริการนักศึกษาชั้นปีที่ 1
อาคารหอสมุดศาลายา ได้รับการออกแบบโดยกรมโยธาธิการ มีคณะ ผู้ให้คำปรึกษาและข้อมูลในการออกแบบ คือ ดร.อุทัย ทุติยะโพธิ หัวหน้าแผนก ห้องสมุด และผู้อำนวยการกองห้องสมุดคนแรกมหาวิทยาลัยมหิดล นางวิภาวรรณ มนุญปิจุ หัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และ Dr. Albert Kuperman ที่ปรึกษาจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
โครงการจัดตั้งสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล
พุทธศักราช 2523
พุทธศักราช 2523 มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบห้องสมุดให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้บริการได้ อย่างกว้างขวางและเหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางจัดตั้งสำนักหอสมุด ประกอบด้วย คณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการระดับนโยบาย มีอธิการบดีเป็นประธาน และคณะกรรมการอำนวยการ มีผู้อำนวยการ กองห้องสมุด สำนักงานอธิการบดีเป็นประธาน และหัวหน้าห้องสมุดคณะต่าง ๆ เป็นคณะกรรมการ
ห้องสมุดคณะและสถาบันต่าง ๆ มีการบริหารงานแยกส่วนจากกัน เนื่องจากพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่แบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ พญาไท บางกอกน้อย และศาลายา ประกอบด้วยห้องสมุดต่าง ๆ ดังนี้
ห้องสมุดคณะทัตแพทยศาสตร์
ห้องสมุดคณะเทคนิคการแพทย์
ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์
ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี
ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ห้องสมุดคณะเภสัชศาสตร์
ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์
ห้องสมุดคณะเวชศาสตร์เขตร้อน
ห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ห้องสมุดคณะสาธารณสุขศาสตร์
ห้องสมุดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
ห้องสมุดสถาบันวิจัยโภชนาการ
ห้องสมุดสถาบันวิจัยประชากรและสังคม
ห้องสมุดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
หอสมุดศาลายา
ดังนั้น ระบบการบริหารงานห้องสมุดภายในมหาวิทยาลัยจึงไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งโครงการพัฒนา ห้องสมุดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เพื่อดำเนินการจัดตั้ง “สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล” และในปี พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัย ได้ข้อสรุปให้มีการจัดตั้งสำนักหอสมุดขึ้น โดยยกฐานะกองห้องสมุด ขึ้นเป็นสำนักหอสมุดมีฐานะเทียบเท่าคณะ และให้ห้องสมุด คณะต่าง ๆ มาสังกัดสำนักหอสมุด ใช้พื้นที่ของหอสมุดศาลายาเป็นฐานที่ตั้งของสำนักหอสมุด และได้ส่งมอบพื้นที่ของกองห้องสมุด เดิมคืนให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล
พุทธศักราช 2529
พุทธศักราช 2529 กองห้องสมุดได้รับการสถาปนาเป็น สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 140 ณ วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529 นางวิภา โกยสุขโข เป็นผู้อำนวยการคนแรก และได้ใช้อาคาร หอสมุดศาลายา เป็นที่ตั้งสำนักหอสมุด ห้องสมุดคณะและสถาบันต่าง ๆ ได้โอนย้ายมาสังกัดสำนักหอสมุด เพื่อการบริหารและพัฒนาห้องสมุด ในระบบเดียวกัน ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากรและการบริการวิชาการ
สำนักหอสมุด เป็นอาคาร 3 ชั้น เดิม มีเนื้อที่ประมาณ 5,400 ตารางเมตร ตาม Master Plan การก่อสร้างมหาวิทยาลัย มหิดล ณ ศาลายา ระยะที่ 1 จะเห็นว่ามี การออกแบบอาคารหอสมุดเป็นอาคารที่ เรียกกันติดปากว่า “อาคารปีกผีเสื้อ” โดย ระยะแรกมีการสร้างเพียงปีกเดียว
ต่อมา ปี พ.ศ. 2538 สำนักหอสมุดได้รับอนุมัติงบประมาณดำเนินงานในโครงการพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนกลาง ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2538-2540) สำนักหอสมุดจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่ติดกับอาคารเดิมในลักษณะสมดุลย์ และสร้าง อาคารเพิ่มด้านหน้าทางทิศตะวันออกขนานกับอาคารเดิมอีกหนึ่งอาคาร เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการ และพื้นที่เก็บหนังสือวารสาร ย้อนหลัง ตลอดจนเอกสารจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย
รูปที่ 1-8 ภาพอาคารสำนักหอสมุด ส่วนที่สร้างปรับปรุงเพิ่มเติมจากอาคารหอสมุดศาลายาเดิม
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน เป็นยุคที่สังคมอุดมไปด้วยข้อมูลข่าวสาร และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีผลให้ประชาชน มีความต้องการบริโภคสารสนเทศในชีวิตประจำวันมากขึ้น ห้องสมุดและบรรณารักษ์จึงต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันยุคทัน เหตุการณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสม ทั้งนี้ นับจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปรับระบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล จึงปรับโครงสร้าง การบริหารงาน ตามประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงานของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และช่วยส่งเสริมประยุกต์ใช้ข้อมูลข่าวสารกับ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการเผยแพร่ เพื่อให้บริการได้อย่างเหมาะสมกับผู้ใช้ ที่มีพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงให้ความสำคัญกับการบริการ ฐานข้อมูลทางวิชาการ โดยพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศให้มีคุณภาพและทันสมัยยิ่งขึ้น
ผู้บริหารหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์
รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2529– 24 ธ.ค. 2529
2. นางวิภา โกยสุขโข
ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2529 – 30 ก.ย. 2541
3. นางกรรณิการ์ ชลลัมพี
ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2541 – 30 ก.ย. 2545
4. ศาสตราจารย์ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ
รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2545 – 19 ม.ค. 2547
5. รองศาสตราจารย์ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์
รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2547– 19 ก.ค. 2547
6. รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศัลยวิวรรธน์
รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2547 – 19 ม.ค. 2548
7. นางสาวอุไรวรรณ วิพุทธิกุล
รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2548 – 23 เม.ย. 2551
8. นางสาวฉวีวรรณ สวัสดี
ผู้อำนวยหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2551 – 23 เม.ย. 2559
9. ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล
ผู้อำนวยหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2559 – ปัจจุบัน
ภาพมงคลรำลึก 30 ปี หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
รวมภาพผู้อำนวยการ
รวมภาพกิจกรรมชาวเรา
รวมภาพการจัดการให้บริการ
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.