โซลาร์เซลล์บนผืนน้ำ : ภาพทัศน์ใหม่ของ ม.มหิดล

หลายคนที่เข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ อาจจะได้เห็นทิวทัศน์ที่แปลกตาไปกว่าเคย นั่นคือมหาวิทยาลัยมหิดลมีการติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ในแหล่งน้ำหลายแหล่งภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ บริเวณสระน้ำหน้าคณะกายภาพบำบัด และบริเวณ MU Lake ซึ่งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผืนน้ำนี้ เป็นนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติมจากแผงโซลาร์เซลล์ของมหาวิทยาลัยแบบเดิม

อย่างที่เราทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน กิจกรรม การให้บริการด้านการแพทย์ และบริการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ในแต่ละเดือน มหาวิทยาลัยมหิดลมีค่าไฟที่สูงมาก การหาพลังงานทดแทน อย่างการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์จึงเป็นอีกทางเลือกของมหาวิทยาลัยในการลดค่าไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Mahidol Eco University and Sustainability Policy) เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และเป้าหมายการพัฒนาที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) อีกด้วย

สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลก่อนหน้านี้ มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 2 ระบบ คือ 1) ระบบ Off-grid (Off-grid Solar Energy System) ระบบนี้จะติดตั้งคู่กับแผงโซลาร์เซลล์แบบ Polycrystalline จำนวน 4 แผง มีกำลังในการผลิตแผงละ 310 วัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าออกมาได้ถึงจะมีแสงน้อย โดยถูกติดตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล และสถานีพักคอยรถบัส พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อสำรองพลังงานไว้ให้บุคลากรและนักศึกษาสามารถชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าที่พกพาได้ เช่น เพาเวอร์แบงค์ โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป เป็นต้น


2) ระบบ On-grid (On-grid Solar Energy System) ระบบนี้จะติดตั้งคู่กับแผงโซลาร์เซลล์แบบ Monocrystalline จำนวน 66 แผง มีกำลังในการผลิตแผงละ 330 วัตต์ ซึ่งจะถูกติดตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานระบบบำบัดน้ำเสียรวม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีขนาดพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งภายในพื้นที่มีทั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ อาคารสำนักงาน อาคารจ่ายบ่อปรับสมดุลน้ำเสีย บ่อเติมอากาศ บ่อตกตะกอน และบ่อสัมผัสคลอรีนส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าต่อเดือนนั้นอยู่ที่ประมาณ 28,000 หน่วย หรือประมาณ 112,000 บาท


Solar Rooftop ที่ถูกติดตั้งบริเวณอาคารสำนักงานระบบบำบัดน้ำเสียรวมนั้นได้เริ่มจ่ายไฟฟ้ามาตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 80-100 หน่วยต่อวัน ซึ่งในปัจจุบันระบบโซลาร์เซลล์นี้ผลิตไฟฟ้าไป 9.69 เมกะวัตต์/ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วจะเท่ากับ 3,798.67 กิโลกรัม หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ทดแทนประมาณ 113 ต้น อีกทั้งการที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บริเวณพื้นที่นี้ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แผงโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) เป็นอีกนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยถูกนำมาใช้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งน้ำค่อนข้างมาก ทั้งยังมีข้อดีอีกประการคือการระเหยของน้ำสามารถช่วยระบายความร้อน ลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลในระหว่างกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น


การติดตั้งแผงโซลาร์เซลบนผืนน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของมหาวิทยาลัยด้วยข้อดีอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งยังเป็นภาพทัศน์ใหม่ที่ขยายวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยสีเขียวให้เห็นชัดยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

Mahidol University Sustainability. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://sustainability.mahidol.ac.th/th/campus/circular-economy. (วันที่สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2566)

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

งานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ ห้อง 301 ชั้น 3 อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-2

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.