พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการวันมหิดล เรื่อง พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล
จัดนิทรรศการ วันที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
นับแต่ปีพุทธศักราช 2512 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนาม “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล” และพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2512 เป็นต้นมา
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับวันที่ 2 มีนาคมของทุกปี โดยในปีพุทธศักราช 2557 ปีนี้ชาวมหิดลจะได้ร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จ ในการสร้างหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ ศาลายา บนเนื้อที่ 45 ไร่
“มหิดลสิทธาคาร” ได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยความพยายามของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทุกยุคทุกสมัย และคณะทำงานทุกฝ่ายที่บรรจงสร้างหอประชุมแห่งนี้อย่างประณีตด้วยความ ตั้งใจจะให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมของ มหาวิทยาลัยด้วยความภาคภูมิใจ เป็นการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า มหาวิทยาลัย มหิดลได้หอประชุมที่มีความสวยงาม สะท้อนคุณค่าความเป็นมหิดล มากด้วยประโยชน์ ใช้สอยเพื่อการเรียนรู้และปฏิบัติการด้านดนตรี ทั้งเป็นสถานที่รองรับการจัดประชุม สัมมนาระดับชาติและระดับนานาชาติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามว่า “มหิดลสิทธาคาร” (Prince Mahidol Hall) อันมีความหมายว่า “อาคารที่มีความสำเร็จ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคาร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552
นิทรรศการนี้จัดเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาส ครบรอบ 45 ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นปีแรกที่บัณฑิตของมหาวิทยาลัย มหิดล จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2556 ณ อาคารมหิดลสิทธาคาร
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล
17 มีนาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิด “โรงเรียนแพทยากร” ณ โรงศิริราชพยาบาล ได้เปิดรับ นักศึกษา รุ่นที่ 1 เข้าศึกษาครั้งแรก ในระดับประกาศนียบัตรแพทย์ หลักสูตร 3 ปี
3 มกราคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกโรงเรียนแพทย์ และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย”
6 เมษายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ โรงเรียนราชแพทยาลัย เป็น "คณะแพทยศาสตร์แห่ง จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2477)
25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ของประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทาน ปริญญาเวชชบัณฑิตชั้นตรี (แพทยศาสตรบัณฑิต) ให้แก่แพทย์ปริญญารุ่นที่ 1 จำนวน 14 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 15 คน มีศาสตราจารย์ เอ จี เอลลิส ได้รับพระราชทานปริญญาเวชชบัณฑิตชั้นเอก (แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต) กิตติมศักดิ์ ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ (ตึกอักษรศาสตร์ 1) ภายใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี ให้ผู้ได้คะแนนเป็นเยี่ยม พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ วรพินิต เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาพระราชทาน ประกาศนียบัตรเภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฏฐประศาสนศาสตร์ ฝึกหัดครูอักษรศาสตร์ และประกาศนียบัตรพยาบาลและผดุงครรภ์
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้พระราชทานปริญญา เป็นผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ บางครั้งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มอบปริญญาให้บัณฑิตใหม่ ที่ห้องประชุมบริเวณชั้น 2 ตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (2 มีนาคม พ.ศ. 2477 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ได้สถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยมี คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล พร้อมทั้งแผนกอิสระ 3 แผนก คือ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อยู่ในสังกัดกระทรวง การสาธารณสุข
23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จมาเป็นองค์ประธานพร้อมด้วยพระอนุชา ในงานพิธีประสาทปริญญา และอนุปริญญาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ ปะรำพิธี ที่สนามหน้าตึก รังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก และครั้งเดียวในรัชกาล
3 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชกาล ณ ปะรำพิธี ที่สนามหน้าตึกรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช
19 มิถุนายน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย นับเป็นวาระแรกที่หอประชุมแห่งนี้ ได้เป็นสถานที่จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ซึ่งใช้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี จนถึงปีพุทธศักราช 2520
6 เมษายน พ.ศ. 2506 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุม ราชแพทยาลัย ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้บัณฑิตยืนรับพระราชทาน ปริญญาบัตรแทนการนั่งเป็นครั้งแรก
2 มีนาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนาม ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แทนชื่อ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล”
24 กันยายน พ.ศ. 2520 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2519 ณ หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช เป็นปีการศึกษาสุดท้าย เนื่องจากบัณฑิตมีจำนวนมากขึ้นและสถานที่ไม่เพียงพอ ต่อการรองรับกิจกรรม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดพิธี พระราชทานปริญญาบัตรครั้งต่อไปที่อาคารใหม่ สวนอัมพร
28 กันยายน พ.ศ. 2521 มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2520 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เป็นครั้งแรก
11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษา เข้ารับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2528 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
มหาวิทยาลัยมหิดลนำแนวคิดเรื่องการจัดสร้างหอประชุมใหญ่ เพื่อใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและกิจกรรมอื่นๆ ไว้ในผังแม่บท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา (Master Plan) พ.ศ. 2535 ต่อมาคณะผู้บริหาร ทุกยุคทุกสมัยได้ดำเนินการสานต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
17-18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2537 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
14 ตุลาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทาน ปริญญาบัตรต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
15-16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550 ณ อาคารชุมพร เขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ เป็นครั้งแรก
26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารหอประชุมใหญ่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารหอประชุมใหญ่ว่า “มหิดลสิทธาคาร” หมายถึง อาคาร ที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโอนย้ายหน่วยกิตจากสถาบันศิลปะแห่งแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทรงศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ พ.ศ. 2552–2553 และทรงเข้ารับพระราชทาน ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2554
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2556 ณ มหิดลสิทธาคาร เป็นครั้งแรก
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.