รู้จักเรา
About us
รู้จักเรา
ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เดิมชื่อ ฝ่ายจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะดูแลรักษาเอกสารของกองกลาง และเอกสารส่วนบุคคล ของอดีตอธิการบดี ศ.นพ.ดร. ณัฐ ภมรประวัติ ซึ่งขณะนั้นมีคุณวิภา โกยสุโข เป็นผู้อำนวยการหอสมุด และมีคุณชัยยุทธ บุญญานิตย์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ซึ่งดูแลกองกลาง (กองบริหารงานทั่วไป) ได้ปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุ เพื่อดูแลรักษาเอกสาร ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ดังกล่าว กอรปกับได้ผู้มีความรู้ด้านจดหมายเหตุเข้ามาร่วมงานใหม่ คือ คุณสวนีย์ วิเศษสินธุ์ จึงมีแนวคิดที่จะริเริ่มบุกเบิกงานจดหมายเหตุให้แก่ม.มหิดลขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2534
จากนั้นจึงได้เริ่มจัดทำ “โครงการหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย” ในปีงบประมาณ 2535 โดยใช้พื้นที่่ชั้น 3 ของอาคารหอสมุด เป็นสถานที่ดำเนินงาน
วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานจดหมายเหตุช่วงแรก คือ การดำรงรักษาเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นหลักฐานการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันให้คงอยู่อย่างครบถ้วน ถาวร และเป็นระบบตามหลักวิชาการจดหมายเหตุ เพื่อสนับสนุนภารกิจของหอสมุดในการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย แก่คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรทุกระดับในมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
จากประวัติอันยาวนานกว่า 123 ปี มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีข้อมูลด้านเกียรติยศและความภาคภูมิใจอันเป็นมรดกความทรงจำในรูปแบบเอกสารและวัสดุจำนวนมาก ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สมควรแก่การรวบรวม จัดเก็บรักษา อย่างเป็นระบบ ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2552 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดี ซึ่งมีโอกาสได้เยี่ยมชมกิจการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ทราบว่า หอสมุดมีฝ่ายจดหมายเหตุเกิดขึ้นมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่การดำเนินงาน ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากขาดการสนับสนุนและขาดแคลนบุคลากร จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงกับหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดโครงการพัฒนาจดหมายเหตุขึ้นใหม่ โดยมีแนวคิดว่า
1. พัฒนางานจดหมายเหตุควบคู่กับการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์
2. มีความโดดเด่นเฉพาะทาง ถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
3. นำเสนอองค์ความรู้ที่แสดงถึงเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” อย่างหลากหลาย
4. เชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์จากทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัย
จากเดิมที่ชื่อ “ฝ่ายจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย” จึงเปลี่ยนมาเป็น “ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์” โดยมีคณะกรรมการอำนวยการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงาน และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ ขึ้น เพื่อกำกับ ดูแล และให้คำปรึกษาแก่ทีมผู้ปฏิบัติงานและเครือข่าย โดยมีนโยบายในการดำเนินงาน ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ทั้งใน ระดับมหาวิทยาลัยและส่วนงาน ให้มีการพัฒนาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และยั่งยืน
2. การดำเนินงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและส่วนงานนั้นให้เชื่อมโยงเป็น เครือข่าย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในด้านระบบสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนามาตรฐานการรวบรวม การประเมินคุณค่า การจัดเก็บ การจัดทำเครื่องมือช่วยค้น การบริการ และการเผยแพร่ เพื่อให้สาธารณชนรู้จักตัวตนและกิจกรรมของ จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งของส่วนกลางและส่วนงานอย่างสม่ำเสมอ
จากนโยบายดังกล่าว หอจดหมายเหตุฯ จึงจัดทำโครงการต่างๆ ทั้งโครงการจัดสัมมนาเครือข่ายงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ โครงการจดหมายเหตุสัญจร โครงการฝึกอบรม เป็นต้น โดยประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายและส่วนงานภายนอกได้ทราบความเคลื่อนไหว อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งจัดกิจกรรมนิทรรศการหมุนเวียน และให้บริการเพิ่มขึ้น โดยมีพื้นที่หลักในการจัดกิจกรรม คือ
1. หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก (ชั้น 3 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล)
2. หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล)
ทั้ง 2 แห่ง จะเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนก และประวัติพัฒนาการของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในอนาคตข้างหน้า หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล ยังจะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในสังคม ให้ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อันมีคุณค่า เพื่อให้นักศึกษาและคนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสเรียนรู้เพื่อนำไปสู่แรงบันดาลใจให้เขาได้สร้างสรรค์สังคมต่อไปในอนาคตอีกด้วย
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.