พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museum & Exhibitions

โซนที่ 2: เจ้าฟ้าของแผ่นดิน

แสดงพระราชประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงสิ้นพระชนม์

เพื่อปูพื้นให้ทราบว่าเจ้านายพระองค์นี้เป็นใคร นอกจากนี้ยังแสดงบริบททางสังคมในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมในช่วงเวลานั้นส่งผลอย่างไรต่อความคิดและตัวตนของพระองค์

แสดงพระราชประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ (นับตามปีปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๔๓๕) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ได้ทรงกรมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๘ มีประกาศขนามพระนามเป็นสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทรและในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงเจริญพระชนม์ชีพในยุคที่สังคมไทยเริ่มก้าวสู่ความทันสมัย ทรงศึกษาในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทรงมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ากว้างไกล ทรงสนพระทัยใฝ่เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ ทรงคำนึงถึงประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม พระราชกรณียกิจทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกรรม ทันตกรรม วิศวกรรมและอุดมศึกษา ก่อเกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมไทยจนถึงทุกวันนี้

ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (นางสาว สังวาลย์ ตะละภัฏ) มีพระราชโอรสธิดา ๓ พระองค์ ได้แก่

1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8


3. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์ ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 พระชนมายุ 37 พรรษา 9 เดือน 23 วัน

บริบทสังคมโลกและสังคมไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ประเทศที่ได้เปรียบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายังคงขยายอำนาจลัทธิจักรวรรดินิยมคุกคามภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลก สยามจำเป็นต้องปรับตัวและตั้งมั่นให้อยู่รอด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้ทันยุคทันสมัย เสด็จฯ ประพาสยุโรปเพื่อความร่วมมือและคลี่คลายปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และส่งพระบรมวงศานุวงศและสามัญชนไปศึกษาต่างประเทศ

ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศได้ก่อตัวเป็นสงครามโลกครั้งแรก ระหว่างพ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผสานกับกระแสทุนนิยมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เพิ่มขึ้น สังคมไทยต้องการบุคลากรที่มีความรู้สำหรับสาขาอาชีพใหม่ๆ จึงมีการขยายตัวทางการศึกษาทั้งในประเทศ และการส่งนักเรียนไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นักเรียนนอกเหล่านี้ได้เรียนรู้วิทยาการได้รับแนวคิดและโลกทัศน์แบบใหมรวมทั้งรสนิยมตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตกด้วย

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.