“การพัฒนาพิพิธภัณฑ์สู่ Digital Museum”
นางวิรยาร์ ชำนาญพล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ
ผู้อำนวยการกลุ่มระบบสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร
ท่านวิทยากรได้อธิบายภารกิจของกรมศิลปากร ว่าเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา อนุรักษ์ เพื่อให้มูลค่าของมรดกทางวัฒนาธรรมส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และการเผยแพร่ด้วย โดยกรมศิลปากรจะแบ่งงานหลัก ๆ ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) งานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ เช่น โบราณสถานใต้น้ำ แหล่งเรือจม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2) งานภาษาหนังสือ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ 3) งานศิลปกรรม เช่น สถาปัตยกรรม ช่างสิบหมู่ และ 4) งานนาฏศิลป์ และดนตรี เช่น โรงละครแห่งชาติ สำนักสังคีต ฯลฯ
ท่านวิทยากรอธิบายตัวอย่างเรื่องระบบทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกรมศิลปากรซึ่งระบบดังกล่าวได้นำทะเบียนของบัญชีเดินทุ่งนำมาพัฒนาขึ้นสำหรับเก็บข้อมูล อีกทั้งยังแนะนำว่ามหาวิทยาลัยมหิดลควรมีระบบทะเบียนเดียวกันเพื่อง่ายต่อการยืมวัตถุพิพิธภัณฑ์ หรือเพื่อประโยชน์ในการคิดสร้างนิทรรศการ
ท่านวิทยากรได้กล่าวว่า Augmented Reality (AR) เริ่มเข้ามามีบทบาทกับโลกมากขึ้น ทางกรมศิลปากรจึงค่อย ๆ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในงานพิพิธภัณฑ์ ประจวบเหมาะกับช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้น ทำให้ต้องเร่งพัฒนาพิพิธภัณฑ์สู่ระบบออนไลน์ เพื่อให้คนที่ไม่สามารถมาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ได้ช่วงเวลาปกติได้ สามารถเข้ามาเยี่ยมชมผ่านทางออนไลน์ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนวัตถุมีความเสมือนจริงยิ่งขึ้น อย่างเช่นการนำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาทำหน้าที่จำลองความเสมือนของสภาพแวดล้อม
โดยท่านวิทยากรได้แนะนำพิพิธภัณฑ์ Smart Museums ของกรมศิลปากรผ่านทาง https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/ โดยการนำเอาฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาข้อมูลและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง Digital Museum ท่านวิทยากรกล่าวว่าข้อดีของการทำพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ที่ดีคือนิทรรศการที่จัดชั่วคราวในระยะเวลาที่จำกัด เมื่อมีการยกเลิกในสถานที่จริงไปแล้ว แต่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลและรับชมนิทรรศการได้เสมอ วัตถุที่ผ่านการสแกนก็สามารถซูมขยายได้หลายเท่าจนเห็นรายละเอียดโดยรอบ ต่างกับของจริงที่อาจจะเข้าใกล้ได้ไม่มากนัก นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ยังสามารถเก็บสถิติการเข้าชมเพื่อวิเคราะห์และตอบสนองต่อความสนใจของประชาชนได้อีกด้วย
สำหรับระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ National Museum For New Experience ท่านวิทยากรกล่าวว่าทางกรมศิลปากรจะมีการใช้แท็กบลูทูธส่งสัญญาณระยะใกล้สำหรับเก็บข้อมูลการเดินเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นสนใจเรื่องราวอะไรมากที่สุด สนใจวัตถุชิ้นไหนบ้าง ใช้เวลาในการเดินชมนานเท่าไหร่ และนำข้อมูลส่วนนี้มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ต่อไป
ท่านวิทยากรได้อธิบายอีกว่า ระบบ AR สามารถเชื่อมโยงโบราณสถานและโบราณวัตถุเข้าไว้ด้วยกันได้ และสามารถทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมมากขึ้น
ตัวอย่างป้าย AR Smart Heritage ที่ระบุ QR Code สำหรับเป็นข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้ลองใช้งานในสถานที่จริง
นอกจากนี้ท่านวิทยากรได้พูดถึง VR Unseen Heritage ซึ่งเป็นการจัดทำโบราณสถานหรือพิพิธภัณฑ์จำลองที่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมชมได้แล้วนำมาให้ชมผ่านการใช้เทคโนโลยี VR ได้แก่ อุโมงค์วัดศรีชุม และพระปรางค์วัดราชบูรณะ เป็นต้น
สำหรับคลังข้อมูลและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ทางกรมศิลปากรมีระบบที่รองรับหนังสือไม่เพียงแค่หนังสือในรูปแบบ PDF แต่ยังมีการผสมผสานสื่อดิจิทัลอื่น ๆ ด้วย เช่นสื่อเสียง หรือแม้กระทั่งสื่อที่สามารถสั่งพริ้นต์ผ่าน 3D Model ได้อีกด้วย ซึ่งเข้าถึงได้ผ่านทางเว็ปไซต์ www.digitalcenter.finearts.go.th
ต่อมาท่านวิทยากรได้แนะนำระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งมีเอกสารจดหมายเหตุให้สืบค้นกว่า 3 แสนรายการ ซึ่งนอกจากระบบสืบค้นแล้ว ยังมีระบบหอจดหมายเหตุแบบจำลองนิทรรศการเสมือนจริง สามารถเข้าเยี่ยมขมได้ผ่านทางผ่าน https://virtualarchives.nat.go.th โดยระบบนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลของงานหอจดหมายเหตุประเทศไทย และความสำคัญของการจัดการและการใช้ข้อมูลจดหมายเหตุ ที่นอกจากงานวิชาการแล้วยังนำมาช่วยในการประมวลผล วิเคราะห์ และวางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต
ท่านวิทยากรแนะนำว่าหากมหาวิทยาลัยมี Collections ที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปจัดแสดงที่ไหนสามารถนำเทคโนโลยี VR มาจัดทำเพื่อจัดแสดงได้
ระบบ d Library ห้องสมุด digital http://digital.nlt.go.th/ ซึ่งเป็นระบบสืบค้นหนังสือเก่า จารึก หนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลาน ฯลฯ โดยมีระบบหลังบ้านที่เชื่อมโยงกับระบบคลังอื่น ๆ เพื่อทำให้ข้อมูลทางมรดกวัฒนธรรมเข้าถึงการสืบค้นของประชาชน เช่นระบบบริหารทรัพยากรเอกสารโบราณและจารึก ระบบให้บริการจดแจ้งการพิมพ์ ระบบให้บริการข้อมูลช่างสิบหมู่ ระบบจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงสำนักการสังคีต ระบบจำหน่ายหนังสือกรมศิลปากร ระบบนำเข้าส่งออกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นอกจากเทคโนโลยีที่กล่าวไปข้างต้นทางกรมศิลปากรยังได้นำเทคโนโลยี 3D Scan 3D Printing มาใช้จำลองศิลปวัตถุ และโบราณสถานต่าง ๆ อีกด้วย
ท่านวิทยากรได้อธิบายเทคโนโลยีในอนาคต โดยกล่าวว่าเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ทางกรมศิลปากรจึงเตรียมความพร้อมโดยการศึกษาข้อมูลน่ะ นำข้อมูลที่มีทั้งหมดของกรมฯ ไปพัฒนาให้เป็นระบบประมวลผลโดยอาศัยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ (Robotics) เข้ามาพัฒนาเพื่อการบริการและการจัดการในอนาคต
ท่านวิทยากรได้แจ้งกับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ ว่าทางกรมศิลปากรฯ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้าไปจัดทำพิพิธภัณฑ์ Digital Museum เพื่อให้พัฒนาไปสู่มาตรฐานเดียวกันได้
สำหรับประเด็นคำถามที่น่าสนใจที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาสอบถามมายังท่านวิทยากร ได้แก่ หากจะเริ่มทำ Virtual Museum ควรเริ่มจากอะไร
ท่านวิทยากรอธิบายว่า ควรกำหนดพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการสร้างก่อนว่าจะทำที่ไหน และต้องดู Content ของตนเองว่ามีอะไรพอที่จะสามารถสร้าง Story ได้หรือไม่ อย่างเช่น Virtual Museum ของกรมศิลปากรจะนำภาพจิตรกรรมมาใส่สื่อผสมผสานให้มีความตื่นตาตื่นใจมากกว่าของจริง แต่ต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งอาจกลายไปของแปลกและไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.