พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museum & Exhibitions

โซนที่ 5: รักษ์คนไข้ด้วยความรัก

แสดงแนวคิดร่วมสมัย

ในยุคสมัยที่สถาบันที่ทรงศึกษาคือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกำลังให้ความสนใจปรัชญาตะวันออก และการเน้นย้ำหลักการดูแลผู้ป่วยด้วยความเอาใจใส่ ทรงเชื่อมโยงกับหลักการทางพุทธศาสนา และสุภาษิตไทย “ใจเขาใจเรา”

ทรงทุ่มเทศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงให้ความสำคัญเรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า”  ทรงนำความรู้ทางการแพทย์มารักษาคนใกล้ชิดและประชาชน ชี้ให้เห็นความเป็นหมอเจ้าฟ้าที่ทรงเสียสละเพื่อส่วนรวมและมุ่งมั่นเอาใจใส่รักษาคนไข้อย่างแท้จริง

นักเรียนแพทย์แนวปรัชญาตะวันออก

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 – 2461 ทรงศึกษาวิชาเตรียมแพทย์ และวิชาอื่นๆ เมื่อผ่านการศึกษาขั้นนี้แล้ว ทรงเลือกเรียนในโรงเรียนสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสสาชูเซตต์ (เอ็มไอที) ตั้งขึ้น ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิชาสาธารณสุข ใน พ.ศ.2464

พ.ศ. 2469 - 2471 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชเสด็จกลับไปทรงเรียนวิชาแพทย์ชั้นคลินิกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทรงศึกษากับศาสตราจารย์หลายท่านที่เป็นผู้นำทั้งแนวคิดและวิชาการ ในยุคสมัยที่ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศก่อเกิดความเข้าใจด้านปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออก ที่เน้นด้านจิตใจควบคู่กับการดูแลรักษาร่างกาย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว ในฐานะแพทย์ทรงแสดงให้เห็นว่าการรักษาทางใจมีผลที่ดีต่อการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

หมอเจ้าฟ้า

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชมีพระดำริจะทรงเรียนแพทย์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงศึกษาวิชาแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บางครั้งทรงดูแลนักเรียนทุนที่เจ็บป่วยด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพระกรุณามิได้ถือพระองค์

เมื่อทรงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับเมืองไทยในเดือนธันวาคมปีนั้น ทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์เป็นการส่วนพระองค์บ้าง ปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ทรงทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่แพทย์เต็มเวลา 24 ชั่วโมง ทรงปฏิบัติงานทั้งทางศัลยกรรมและอายุรกรรม ทรงเรียนภาษาชาวเมือง เพื่อให้ทรงดูแลผู้ป่วยด้วยหลักการ “ความลับของการรักษาคนไข้นั้นคือความรักคนไข้” ได้ผลอย่างแท้จริง

แม้จะเป็นระยะสั้นๆ แต่พระจริยาวัตรในฐานะ “หมอเจ้าฟ้า” นั้นเป็นที่ประทับใจและอยู่ในความทรงจำของชาวเชียงใหม่ต่อมาอย่างยาวนาน

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.