พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร "มหิดลร่วมใจเทิดไท้มหาวชิราลงกรณ์" 

จัดนิทรรศการ วันที่ ๒๗ เดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บอร์ดนิทรรศการ

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

สูจิบัตร

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.

  • หน้าที่ 1
  • หน้าที่ 2
  • หน้าที่ 3
  • หน้าที่ 4
หน้าที่ 1

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันที่ ๑๔ และ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

เมื่อทรงพระชนมายุได้ ๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นผู้ตั้งถวายตามดวงพระชะตา ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

ด้านการศึกษา

กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต

มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ทรงเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงสมีด (King's Mead School) เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ

กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ (Millfield School) เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ

สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ - พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ (The King's School) เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ. ๒๕๑๕ ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน (Royal Military College, Duntroon) กรุงเคนเบอร์รา และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) คณะการศึกษาด้านการทหาร มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๙

พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑ ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรประจำชุดที่ ๕๖

พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๓๐ ทรงศึกษาด้านกฏหมาย และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. ๒๕๓๓ ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร (Defence Academy of the United Kingdom) นอกจากนี้พระองค์ท่านทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบิน

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย

วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณให้ดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ปรากฏพระนามตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร"

พระราชพิธีทรงผนวช

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงผนวชเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) เป็นพระราชอุปธยาจารย์ ทรงได้รับการถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงกรโณ” ประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน

กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์

วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์


บรรณานุกรม

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๘). จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้า มหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร. นครปฐม : กรม. (เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕).

กัลยา แสงเรือง และคนอื่นๆ. (๒๕๔๕). ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ. พระนครศรีอยุธยา : สถาบันราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา.

สถาบันพระปกเกล้าและสถาบันราชภัฏธนบุรี. (๒๕๔๕). หนังสือที่ระลึกเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราช สมภพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครบ ๕๐ พรรษา. กรุงเทพฯ : จัดพิมพ์เผยแพร่ โดยสถาบันพระปกเกล้าและสถาบันราชภัฏธนบุรี

สุขใจ พนิชศักดิ์พัฒนา และคนอื่นๆ. (๒๕๔๕). ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : มูลนิธิกาญจนบารมี.

หน้าที่ 2

พระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสทางด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และการพัฒนาการศึกษาของเยาวชน มีพระราชประสงค์ที่จะกระจายการจัดการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นธุรกันดารห่างไกล ด้วยทรงมั่นพระทัยว่าการศึกษาระดับนี้ จะมีส่วนส่งเสริมให้เยาวชนของชาติมีพื้นฐานความรู้เหมาะสมที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๗ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๒ เพื่อเป็นทุนก่อสร้างโรงเรียนกรมสามัญศึกษา และสำนักงบประมาณได้จัดงบประมาณสมทบในการก่อสร้าง โรงเรียนทั้ง ๖ โรงเรียน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ยังได้พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. อัญเชิญขึ้นประดับ ณ อาคารเรียนทั้ง ๖ โรงเรียน ตามที่ได้พระราชทานชื่อไว้คือ

๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา  นครพนม

๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา  กำแพงเพชร

๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา  สุราฎร์ธานี

๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณณวรี  อุดรธานี

๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณณวรี  สงขลา

๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณณวรี  ฉะเชิงเทรา

และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พร้อมทั้งพระราชทานเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายในวันนั้น ๆ ให้กับโรงเรียนแต่ละแห่งด้วย ทั้งยังเสด็จเยี่ยมและพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติมให้กับโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นอกจากโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ทั้ง ๖ แห่งนั้นแล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนต่าง ๆ ไว้เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์อีก ๓ ได้แก่

๑. โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเดิมคือโรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภสำหรับจัดการศึกษาให้บุตรหลานมหาดเล็กและบรรดาข้าราชบริพาร

๒. โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง จัดตั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๔๒ พรรษา

๓. โรงเรียนราชปิโยรสา ยุพราชานุสรณ์ จังหวัดน่าน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนริม-ป่าคาประชานุเคราะห์น้อมเกล้าฯถวายโรงเรียนริม-ป่าคาประชานุเคราะห์เข้าอยู่ในพระราชูปถัมภ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๔ พรรษา

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ โดยได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่อีก ๕ โรงเรียน ได้แก่

๑. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์)ฯ

๒. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน)ฯ

๓. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา)ฯ

๔. ทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่)ฯ

๕. ทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร)ฯ

นอกจากนั้นยังมีโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน (พ.ศ. ๒๕๕๒) ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริเพื่อมุ่งเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม และฐานะยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงโดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ให้มีโอกาศศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถและความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืนและเมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ม.ท.ศ. ด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานหลักการ ให้กระจายทุนครบในทุกจังหวัด และดำเนินการด้วยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับพระราชทานทุน และทรงเน้นย้ำว่า “เมื่อทำโครงการมาแล้ว จำเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทำงานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทำงานต่อเนื่อง…”

นอกจากทุนการศึกษาที่พระราชทานให้กับโรงเรียนต่าง ๆ แล้ว พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ การพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันในระดับอุดมศึกษาต่าง ๆ เป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี ทั้งยังทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อให้ข้อคิดแก่บัณฑิตผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในรอบนั้น ๆ เป็นที่ปราบปลื้มใจแก่ผู้ที่ได้สดับรับฟัง และต่างน้อมนำพระบรมราโชวาทที่ทรงพระกรุณาพระราชทานไว้นั้น ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ดังพระบรมราชโชวาทที่อัญเชิญมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

“...การให้การศึกษา คือการแนะนำและส่งเสริมบุคคลให้มีความเจริญงอกงามตามอัตภาวะ ในการเรียน การคิดอ่าน และการกระทำ โดยจุดประสงค์ก็คือทำให้บุคคลสามารถนำเอาศักยภาพที่มีในตัว ออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลตนเกื้อกูลผู้อื่นได้เต็มที่ โดยไม่ขัดแย้งเบียดเบียนแก่งแย่งกัน และให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศชาติได้...”

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยครู

วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

“...บัณฑิตแม้จะสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เพราะวิทยาการในโลกมีมากมาย ทั้งยังพัฒนาต่อเนื่องไม่ขาดสาย การสร้างเสริมความรู้ความสามารถให้เพิ่มพูนทันสมัยอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับบุคคลผู้ปรารถนาความสำเร็จและความเจริญ...”

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตสถาบันราชภัฏ

วันพฤหัสบดีที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ภาคเช้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

“…บัณฑิตได้ชื่อว่าเป็นผู้มีการศึกษาดี มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเพราะได้ศึกษาเรียนรู้มามาก ดังนั้น เมื่อจะคิดอ่านทำการใด ๆ จะต้องประกอบพร้อมด้วยหลักวิชา ด้วยคุณธรรมความสุจริต ด้วยสติปัญญา และด้วยความรับผิดชอบที่หนักแน่นเที่ยงตรง ทั้งจะต้องให้สำเร็จผลที่เป็นประโยชน์แท้ แก่ตน แก่สังคม และประเทศชาติด้วย จึงจะได้รับการนิยมยกย่องว่าปฏิบัติตน ปฏิบัติงานสมกับความเป็นบัณฑิต...”

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วันพุธที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๙ ภาคเช้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

“…บัณฑิตได้ชื่อว่าเป็นผู้มีการศึกษาดี มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเพราะได้ศึกษาเรียนรู้มามาก ดังนั้น เมื่อจะคิดอ่านทำการใด ๆ จะต้องประกอบพร้อมด้วยหลักวิชา ด้วยคุณธรรมความสุจริต ด้วยสติปัญญา และด้วยความรับผิดชอบที่หนักแน่นเที่ยงตรง ทั้งจะต้องให้สำเร็จผลที่เป็นประโยชน์แท้ แก่ตน แก่สังคม และประเทศชาติด้วย จึงจะได้รับการนิยมยกย่องว่าปฏิบัติตน ปฏิบัติงานสมกับความเป็นบัณฑิต...”


บรรณานุกรม

กาญจนบารมี, มูลนิธิ. (๒๕๔๕). ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ. กรุงเทพฯ: บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด

สถาบันพระปกเกล้า, และ สถาบันราชภัฏธนบุรี. (๒๕๔๕). หนังสือที่ระลึกเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธอราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครบ ๕๐ พรรษา. กรุงเทพฯ: บริษัท โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.

สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. (๒๕๔๕). ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ. พระนครศรีอยุธยา: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

http://web.anuraj.ac.th/

http://www.tp-school.ac.th/

http://data.bopp-obec.info/web/?School_ID=1021470232

http://www.tsdf.or.th/th/royally-initiated-projects/10567-โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน-พศ-2552/

หน้าที่ 3

เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดอาคาร ณ มหาวิทยาลัยมหิดล

๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) มาทรงประกอบพิธีเปิดตึก “พระยาและคุณหญิง หริศจันทร์ สุวิท” และตึก “ยากัตตราม วิตตา วันดี ปาวา” ณ โรงพยาบาลศิริราช สร้างขึ้นเพื่อให้บริการผู้ป่วยอายุรศาสตร์โดยเงินบริจาคของพระยาและคุณหญิง หริศจันทร์ สุวิท และ นายยากัตตราม วิตตาวันดีปาวา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ก่อสร้างตึก “จุฑาธุช” แทนพื้นที่เดิม ด้วยเงินสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวน ๒๖,๓๖๐,๐๐๐ บาท และสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน ๘,๖๔๐,๐๐๐ บาท โดยมีหอผู้ป่วยหริศจันทร์ และหอผู้ป่วยปาวา ให้บริการอยู่ภายใน

๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘

สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล”

ปัจจุบันอาคารดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นสถาบันวิชาการที่มีภารกิจในการจัดฝึกอบรมและวิจัยทางด้านสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้แก่บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้น ยังมีภารกิจในการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน ๒ หลักสูตร คือ หลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต เพื่อผลิตบัณฑิตนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการเสพติด

๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์กลุ่มอาคารอำนวยการ (อาคาร ๑) อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (อาคาร ๒) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบันอาคารอำนวยการ (อาคาร ๑) เป็นห้องปรฏิบัติงานของบุคลากรและนักศึกษา ประกอบด้วยห้องสำนักงานคณบดี ห้องทำงานคณบดีและรองคณบดี ห้องสำนักงานภาควิชา ห้องพักอาจารย์ ห้องประชุม ห้องบรรยาย ห้องสัมมนา ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องอ่านหนังสือและห้องกิจกรรมนักศึกษา

อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (อาคาร ๒) ใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมเคมี

๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “อาคารศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ” ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยการจัดสร้างอาคารฯ ดังกล่าว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์ประธานอำนวยการคณะกรรมการสร้างอาคาร

ปัจจุบัน อาคารดังกล่าวได้เปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ถูกต้อง เกิดความประทับใจ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการเรียนการสอน และการวิจัย เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มุ่งสู่การเป็นศูนย์โรคหัวใจระดับชาติและทันสมัยที่สุดในประเทศไทยและในเอเชียอาคเนย์

๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาในพิธีเปิดตึกหอพักนักศึกษาแพทย์ชาย “มหิตลาคารสมเด็จพระราชปิตุจฉา” ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นอาคารหอพัก ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อทดแทนอาคารเดิมที่ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทั้งสองพระองค์ ได้ประทานที่ดิน เพื่อจัดสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ (หอชาย ๑) ไว้ก่อนหน้านี้ แต่มีขนาดไม่เพียงพอ คือ เป็นตึก ๓ ชั้น มีมุขสามมุขทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีห้องพักจำนวน ๑๐๐ ห้อง

ชื่ออาคาร “มหิตลาคารสมเด็จพระราชปิตุจฉา” นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่ทั้งสองพระองค์ เป็นตึก ๑๒ ชั้น ห้องพัก ๑๖๐ ห้อง คงเหลือสิ่งก่อสร้างเดิม คือ รั้วสามด้านและหอพระ

๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงวางศิลาฤกษ์ “มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี” ณ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี จำนวน ๔ หลักสูตร และ ๗ สาขาวิชา ประกอบด้วย


๑. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต มี ๔ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาธรณีศาสตร์ และสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์

๒. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ

๓. หลักสูตรบัญชีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี

๔. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ


บรรณานุกรม

มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๔๑). สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทน พระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). (หนังสือที่ระลึกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราช ดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี)

ขอบคุณภาพและข้อมูล

ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชีนีนาถ

งานสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

นายจักรีนนท์ หรือโอภาศ

นายแดง ลมสูงเนิน

นายธนกฤต ทองบริสุทธิ์

นางสาวนฤมล จันทรเจิด

นายโจนัส สุขกุล

นายพิชย ณ สงขลา

นาย วิศิษฏ สมบัติถาวรกุล

หน้าที่ 4

ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการแก่ปวงชนชาวไทย ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชการ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทั้งสิ้น ๓ วาระ ได้แก่

๑. ปีการศึกษา ๒๕๒๓ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาสังคมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

๒. ปีการศึกษา ๒๕๔๓ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

๓. ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การบริหารสาธารณสุข)

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณในพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่าง ๆ ตามคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณที่จะปรากฎต่อไป

เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๐

เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗

เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๐

เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗


ขอบคุณภาพจาก

สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

นายศักดา สุขรื่น

นายสุรชัย อมรเฉลิมวิทย์

นายวิศิษฏ์ สมบัติถาวรกุล

นายเอกชัย รักประยูร

นายณัฐวัฒน์ ชาครียนันท์

นายมนตรี เล้าหะชัย

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.