พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการพระราชมารดาเกื้อการุณย์หนุนนำคุณภาพชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ เนื่องในงานมหิดล วันแม่ ๒๕๕๙
จัดนิทรรศการ วันที่ ๑๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บอร์ดนิทรรศการ
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
พระราชประวัติ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
พระชนม์ชีพเมื่อทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา มีพระนามแรกประสูติในสูติบัตรว่า “เบบี สงขลา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้พระราชทานนามว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” และมีพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า “เล็ก” ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชร่วมพระชนกชนนี ๒ พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
พ.ศ. ๒๔๗๑ : เดือนธันวาคม สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงพาครอบครัวเสด็จกลับสู่ประเทศไทย โดยประทับ ณ วังสระปทุม ในเวลาต่อมาสมเด็จพระบรมราชชนกทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะพิการ กระทั่งวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต มีพระชนมายุ ๓๗ ปี ขณะนั้นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชมีพระชันษาเพียง ๑ พรรษา กับ ๘ เดือน ส่งผลให้ทุกพระองค์ยังทรงประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จพระศรีสวรินทราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุมต่อไป เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
สมเด็จพระบรมราชชนก และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
พ.ศ. ๒๔๗๖ : สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พาพระธิดาและพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงส่งทั้ง ๓ พระองค์ เข้าสถานเลี้ยงเด็กวองโซเลย์ (Champ Soleil) ต่อมาทรงเข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (Ecole Miremont) ส่วนในช่วงเวลาหยุดฤดูร้อนได้ส่งพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์เข้าเรียน ณ โรงเรียนฟัวเย่ (Ecole Foyer, Les Pleiades)
พระชนม์ชีพเมื่อทรงพระเยาว์
พ.ศ. ๒๔๗๘ : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออิส โรมองด์ เมืองแซลลี ซูร โลซานน์ โดยทรงเลือกเรียนทางด้านภาษา คือ สายศิลป์ ภาษาละตินและภาษาอังกฤษ
พระชนม์ชีพเมื่อทรงพระเยาว์
พ.ศ. ๒๔๘๘ : ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากโรงเรียนยิมนาส กลาซีค กังโตนาล และทรงเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชชนนี
เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๘๘ : วันที่ ๕ ธันวาคม เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พ.ศ. ๒๔๘๙ : วันที่ ๙ มิถุนายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ในวันเดียวกัน
พ.ศ. ๒๔๘๙ : วันที่ ๑๙ สิงหาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และการเสด็จกลับไปศึกษาต่อในครั้งนี้ทรงเปลี่ยนแผนการศึกษาจาก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เป็นสาขาวิชารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพระราชภารกิจในภายหน้า
เสด็จขึ้นครองราชย์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
พ.ศ. ๒๔๙๑ : เดือนตุลาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลเมืองโลซานน์ ทรงมีรับสั่งให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร) เข้าเฝ้าและถวายการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ต่อมาในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นการภายใน ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. ๒๔๙๓ : เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยภายหลังสำเร็จการศึกษา และเสด็จฯ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
วันที่ ๒๘ เมษายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมราชินี”
การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง และทรงรับการเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และในโอกาสนี้ทรงกล่าวพระวาจาเป็นพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ทรงเสด็จฯ ไปรักษาพระสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชธิดาและพระราชโอรส ๔ พระองค์ ได้แก่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชธิดาและพระราชโอรส
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนพรรณวดี (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนพรรณวดี : ประสูติเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔)
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร : ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕)
๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี : ประสูติเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘)
๔.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี : ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐)
พ.ศ. ๒๔๙๙ : วันที่ ๒๒ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กำหนด ๑๕ วัน โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงได้รับพระฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนของพระองค์ ทรงเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนทั่วประเทศ จนมีคำกล่าวว่า “ไม่มีพื้นที่แห่งใดในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง” ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย มีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ทรงเป็นองค์พระประมุขที่นำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าตลอดมา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
พ.ศ. ๒๕๓๐ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอาการประชวรเรื้อรังในส่วนของพระหทัยเต้นผิดปกติ สาเหตุมาจากการได้รับเชื้อไมโครพลาสมา ครั้งเสด็จฯ เยี่ยมประชาชน ณ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ทางคณะแพทย์ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ จนกระทั่งทรงรับการผ่าตัดใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘
พ.ศ. ๒๕๕๐ : เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มมีพระอาการประชวรต่าง ๆ เรื่อยมา และเริ่มมีการแปรพระราชฐานไปยังโรงพยาบาลศิริราชอยู่บ่อยครั้ง
พ.ศ. ๒๕๕๙ : วันที่ ๒๘ กันยายน สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ประชวรว่า “...มีพระปรอทต่ำ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะ พระปับผาสะซ้ายอักเสบ มีพระโลหิตเป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อยคณะแพทย์จึงทำการรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิตระยะยาว แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย และมีการฟอกไต พระอาการไม่คงที่ก่อนที่พระอาการจะทรุดลงไปอีก มีการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต...”
จนกระทั่งวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีประกาศจากสำนักพระราชวัง เมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อเวลา ๑๕.๕๒ น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ ทรงครองราชย์สมบัติ ๗๐ ปี
บรรณานุกรม
ชุลีพร สุสุวรรณ. (๒๕๔๘). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙. กรุงเทพฯ : อักษราพิพัฒน์.
ภาณุมาศ ทักษณา. (บรรณาธิการ). (๒๕๕๓) รอยยิ้มของในหลวง. ลำพูน : สำนักข่าวเจ้าพระยา.
กรมศิลปากร, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๒๕๕๙). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.finearts.go.th/nat/2016-10-16-08-15-35/item/พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช-2.html?category_id=79. (วันที่สืบค้น ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙).
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. (๒๕๕๙). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. (วันที่สืบค้น ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙).
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมถึงการแปลบทความและหนังสือทั้งจากภาษาอังกฤษเป็นไทย และแปลจากภาษาไทยเป็นอังกฤษ แม้พระองค์จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ก็มีพระวิริยอุตสาหะในการทรงงานแปลบทความ หนังสือ และพระราชนิพนธ์หนังสือ ทรงอาศัยภาษาในงานพระราชนิพนธ์ ถ่ายทอดเรื่องราวที่แฝงไปด้วยข้อคิดที่ดี เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของประชาชนอีกทางหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยมีพระราชดำรัส ที่แสดงถึงจรรยาบรรณในการเขียนหนังสือไว้ ดังนี้
“...นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม...”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕)
บทความทรงแปลและเรียบเรียง อาทิ
หนังสือพระราชนิพนธ์ อาทิ
รูปที่ ๑ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (๒๕๓๗)
รูปที่ ๒ ติโต (๒๕๓๗)
รูปที่ ๓ พระมหาชนก (๒๕๓๙)
รูปที่ ๔ พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน
รูปที่ ๓ เรื่อง ทองแดง (๒๕๔๕)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยเกี่ยวกับดนตรี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ ทรงได้รับการฝึกฝนในการเขียนโน้ตและบรรเลงแบบคลาสสิก ต่อมาทรงหันมาสนพระทัยการทรงดนตรีในแนวแจ๊ส นอกจากนี้ยังทรงโปรดการพระราชนิพนธ์เพลง ทั้งทำนอง และคำร้อง พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงทั้งสิ้น ๔๘ บทเพลง
ทรงดนตรี
พ.ศ. ๒๔๘๙ : ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแรก คือ เพลงแสงเทียน เป็นเพลงจังหวะบูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นผู้แต่งคำร้องถวาย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขคำร้องให้ดีขึ้น จึงยังไม่ได้พระราชทานเพลงแสงเทียนออกมา แต่ได้พระราชทานเพลงยามเย็น และสายฝนออกมาก่อน จึงทำให้ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเพลงยามเย็น เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกของพระองค์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงทำเฉพาะทำนองเพลงมีเพลง เช่น แสงเทียน ยามเย็น สายฝน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ดวงใจกับความรัก มาร์ชราชวัลลภ อาทิตย์อับแสง เทวาพาคู่ฝัน คำหวาน มหาจุฬาลงกรณ์ แก้วตาขวัญใจ พรปีใหม่ รักคืนเรือน ยามค่ำ ยิ้มสู้ ลมหนาว ค่ำแล้ว สายลม ไกลกังวล แสงเดือน ฝัน ภิรมย์รัก แผ่นดินของเรา ยูงทอง ความฝันอันสูงสุด เมนูไข่ เป็นต้น ส่วนเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและคำร้อง ได้แก่ แว่ว ในดวงใจนิรันดร์ เตือนใจ ไร้เดือน ไร้จันทร์ และเกาะในฝัน
รูปที่ ๑ เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน
รูปที่ ๒ เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด
รูปที่ ๓ เพลงพระราชนิพนธ์ เมนูไข่
บรรณานุกรม
ที่มา : เศรษฐกิจพอเพียง. (๒๕๕๙). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : เศรษฐกิจพอเพียง. (วันที่สืบค้น ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙).
surin fc. (๒๕๕๘). Lecture by Dr. Surin Pitsuwan on The Sufficiency Economy Philosophy. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.youtube.com/watch?v = 1FfuQlSCbhI. (วันที่สืบค้น ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙).
ประมวลภาพเอกลักษณ์ 2550. (๒๕๕๙). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://oldwebsite.ohm.go.th/searchresult_document_ en.php?width=410&di_ key=T0024_0008&dc_key=BB2550901&di_sub=0. (วันที่สืบค้น ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙).
Tanakorn Korom. (๒๕๕๕). เศรษฐกิจพอเพียง. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://thn23257. blogspot.com/. (วันที่สืบค้น ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙).
สมพร เทพสิทธา. (๒๕๔๙). การเดินตามรอยพระยุคลบาท : เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและการทุจริต ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : กองทุนอริยมรรค.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (๒๕๕๓). แนวคิดและทฤษฎีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.rdpb.go.th/RDPB /front/king.aspx?p=3. (วันที่สืบค้น ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙).
พระผู้เสด็จเสวยสวรรค์
“ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๓๗๘ ฝูงชนแต่งกายไว้ทุกข์มาแต่ทิศทั้งสี่ประชุมกันมากประมาณมิได้ ณ กลางพระมหานครแต่โรงศิริราชพยาบาลเท้าถึงท้องสนามหลวงทุ่งพระเมรุแลรอบพระบรมมหาราชวัง เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ เชิญพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแต่โรงศิริราชพยาบาลสู่พระบรมมหาราชวัง ฝูงชนต่างร่ำไห้ เพลาย่ำค่ำแล้ว เชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีกำหนด ๑๐๐ วัน”
ผู้ประพันธ์ นายโกศล ตี่นาสวน นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ ศูนย์สารสนเทศสำนักราชเลขาธิการ
ขอบคุณภาพจาก
สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นายศักดา สุขรื่น
นายสุรชัย อมรเฉลิมวิทย์
นายวิศิษฏ์ สมบัติถาวรกุล
นายเอกชัย รักประยูร
นายณัฐวัฒน์ ชาครียนันท์
นายมนตรี เล้าหะชัย
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.