พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศการ “ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล”
จัดนิทรรศการ วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
บอร์ดนิทรรศการ
ไฟล์สูจิบัตรนิทรรศการ
มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถานศึกษาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิดโรงศิริราชพยาบาล เพื่อที่จะ “รักษาคนป่วยไข้ เป็นทานแก่อาณาประชาราษฎร ไม่เลือกหน้าว่าผู้ใด จะรักษาโรคให้ทั่วกัน” โดยอาศัยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ในการเป็นคณะกรรมการก่อตั้งโรงพยาบาล มีมติให้ใช้พื้นที่ วังกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) เป็นสถานที่ก่อตั้งโรงพยาบาล และได้ขนานนามต่อไปว่า “โรงศิริราชพยาบาล” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ และพระกรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรี มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งเป็นโรงศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทยากร ราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จวบจนเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระนาม “มหิดล” ให้เป็นนามของ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ที่จะถึงนี้ จะเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี ที่ได้รับพระราชทานพระนามอันเป็นมงคลสูงสุด มาเป็นนามของมหาวิทยาลัยนั้น ยิ่งทำให้ต้องระลึกถึงพระกรุณาธิคุณแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงทุ่มเทพระสติปัญญาและพระวรกายเพื่อพัฒนาการแพทย์ การสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศตามพระราชดำริด้วย
ในโอกาส วันมหิดล 24 กันยายน พ.ศ. 2561 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดนิทรรศการ “ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งรวบรวมประติมากรรมสำคัญที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ในพระราชวงศ์จักรี ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระราชวงศ์ผู้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และประทานพระกรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย
ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : เป็นพระรูปหล่อลอยตัว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์รมดำ ขนาดเท่าพระองค์จริง ประทับยืน ทรงฉลองพระองค์ครุย พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระมาลาแนบพระอุระ พระกรขวาปล่อยตรง พระหัตถ์ขวาทรงถือม้วนปริญญาบัตร ประดิษฐานบนแท่น
ประวัติ : เดิมประดิษฐานอยู่ ณ อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดลเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ต่อมาเมื่อย้ายที่ทำการมหาวิทยาลัยมาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จึงได้อัญเชิญพระราชานุสาวรีย์องค์นี้ มาประดิษฐาน ณ โถงชั้น 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และมีพิธีบวงสรวงติดตั้งพระราชานุสาวรีย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
ประติมากร : ไข่มุกด์ ชูโต
ประติมากรรมพระราชประวัติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 2 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : พระรูปปั้นนูนต่ำกึ่งนูนสูง หล่อด้วยหินอ่อนเทียม แสดงพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนกในช่วงต่าง ๆ ของพระชนม์ชีพ ประกอบด้วยพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนกทรงฉลองพระองค์ราชนาวี ประทับยืนร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยทั้งสองพระองค์ประทับพระเก้าอี้ กลางประติมากรรมเป็นพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนกในพระราชพิธีโสกันต์ ต่อมาเป็นพระรูปที่แสดงถึงการที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านล่างเป็นพระรูปขณะประทับกับพระชายา พระธิดาและพระโอรส ทั้ง 3 พระองค์
ประวัติ : เดิมประดิษฐานอยู่กับพระราชานุสาวรีย์และประติมากรรมแสดงวิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อย้ายที่ทำการมหาวิทยาลัยมาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จึงได้ย้ายประติมากรรมพระราชประวัตินี้มาประดิษฐาน ณ หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 2 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ประติมากร : ไข่มุกด์ ชูโต
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : ลานพระราชานุสาวรีย์ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : เป็นพระรูปหล่อลอยตัว ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง (สูงประมาณ 2.80 เมตร) หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ทรงฉลองพระองค์ครุยประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระมาลาแนบพระอุระ พระกรขวาปล่อยตรง พระหัตถ์ขวาทรงถือม้วนปริญญาบัตร มีแท่นประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สูง 2.5 เมตร
ประวัติ : ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสดุาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเปิดโอกาสให้ นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป มีโอกาสได้น้อมถวายสักการะ โดยมีพระรูปต้นแบบที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ อาคารศาลายา กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล
ประติมากร : มานพ สุวรรณปินฑะ
พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : ลานพระราชบิดา ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : เป็นพระรูปหล่อครึ่งพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ความสูงของพระรูปรวมฐาน 60 เซนติเมตร
ประวัติ : จัดสร้างโดยมูลนิธิกรมหลวงสงขลานครินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีพิธีประดิษฐานพระรูป ณ ลานพระราชบิดา ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นที่สักการะของบุคลากรและผู้ที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สถานที่ตั้ง : ลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หน้าโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : เป็นพระรูปหล่อด้วยโลหะ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ประดิษฐานบนฐานวงกลม มีอักษรพระนามาภิไธยย่อ สว. ประดับที่ฐาน
ประวัติ : คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขึ้นประดิษฐาน ณ บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (เทวดาเป่าแซก)
สถานที่ตั้ง : ฝาผนังอาคารภูมิพลสังคีต ด้านตะวันตก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : ประติมากรรมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบาริโทนแซกโซโฟนองค์นี้ เป็นพระบรมรูปนูนต่ำ มีขนาดสูง 10 เมตร กว้าง 4.5 เมตร หนา 12 เซนติเมตร และหนัก 4.2 ตัน
ประวัติ : การจัดสร้างพระบรมรูปนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 แล้วเสร็จและติดตั้งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 4.5 ล้านบาท เพื่อให้บุคลากร นักศึกษา อาจารย์ คนทำงาน และผู้ที่ได้พบเห็น เกิดพลังที่ดี มีพลังในการสร้างสรรค์งานดนตรีต่อไป
ประติมากร : ออกแบบโดย โสพิศ พุทธรักษ์ จากกรมศิลปากร หล่อโดย Armando Benato นายช่างอิตาเลียน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงอุ้มพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พ่ออุ้มลูก)
สถานที่ตั้ง : สวนด้านทิศตะวันออกของมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : เป็นพระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ขนาด 2 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ฉลองพระองค์สูทสากล ประทับนั่งบนท่อนไม้ และทรงอุ้มพระโอรสพระองค์เล็ก คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะทรงพระเยาว์
ประวัติ : พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ ณ อาคารมหิดลสิทธาคาร แสดงถึงการเป็น “เจ้าของบ้าน” ของมหิดลสิทธาคาร ซึ่งใช้พระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก เป็นชื่อของอาคาร และยังสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสทรงครองราชย์ 70 ปี อีกประการหนึ่ง โดยได้รับงบประมาณในการก่อสร้างจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย
ประติมากร : วัชระ ประยูรคำ (ผู้ปั้นหุ่นต้นแบบ) ช่างหล่อคือ Armando Beneto ช่างหล่อชาวอิตาเลียนที่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศไทย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (เจ้าหญิงสีซอ)
สถานที่ตั้ง : อาคารโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี (Pre College) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : ประติมากรรมเจ้าหญิงสีซอ เป็นพระรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีประทับราบทรงซอสามสาย แกะสลักด้วยหินอ่อนจากเมืองคาราร่า ประเทศอิตาลี ส่วนซอสามสายหล่อด้วยสัมฤทธิ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญและองค์อุปถัมภ์ในการดนตรีไทย
ประติมากร : วัชระ ประยูรคำ (ผู้ปั้นหุ่นต้นแบบ)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สถานที่ตั้ง : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ลักษณะ : ประติมากรรม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระรูปสลักจากหินอ่อนจากเมืองคาราร่า ประเทศอิตาลี ใช้หินอ่อนหนัก 38 ตัน ประทับนั่งไขว้พระชงฆ์ ทรงฟังดนตรีด้วยพระอิริยาบถผ่อนคลาย พระหัตถ์ซ้ายเชยพระหนุ พระหัตถ์ขวาทรงจับหัวสุนัขทรงเลี้ยง
ประวัติ : แกะโดยช่างชาวอิตาเลียน และคณะ โดยมี รองศาสตราจารย์สุกรี เจริญสุข และนายช่างเอกโสพิศ พุทธรักษ์ เป็นผู้ตรวจโครงร่างในหนแรก ซึ่งช่างนั้นแกะออกมาได้ไม่เหมือน จึงได้ให้ช่างแกะใหม่ จนปรากฏเป็นประติมากรรมที่มีชีวิตชีวาน่าชม จัดสร้างขึ้นเพื่อระลึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งวงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทย แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ประดิษฐานอยู่ริมบ่อปลาคราฟ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และประติมากรรมที่แกะไม่เหมือนก็ได้นำกลับมาด้วย และตั้งอยู่ไม่ไกลกับประติมากรรมที่แกะสมบูรณ์แล้วทางเบื้องซ้าย
ประติมากร : Matteo Peducci
ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถานที่ตั้ง : ชั้น 2 ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : เป็นพระบรมรูปโลหะหล่อประทับยืน ทรงฉลองพระองค์ครุยดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดช์ ความสูง 2 เมตร น้ำหนัก 400 กิโลกรัมเศษ แล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นของการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยอย่างจริงจัง และปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นจน ทัดเทียมนานาอารยประเทศ คณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงมีมติเห็นพ้องให้สร้างพระบรมรูป ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2535 มีการเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐาน ณ ชั้น 2 ภายในตึกสยามินทร์ และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิด “ตึกสยามินทร์” และ “อัษฎางค์” ณ โรงพยาบาลศิริราช ในการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมพระบรมรูปองค์นี้ด้วย
ประติมากร : ประเทือง ธรรมรักษ์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
สถานที่ตั้ง : พลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาทรงไทยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ โดย พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งต่อมาพระราชทานนามว่า “พลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเททองหล่อพระบรมรูป เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 และมีพิธีบวงสรวงประดิษฐานพระบรมรูปในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ประติมากร : ภราดร เชิดชู และ นพรัตน์ บุญมี นาวิน สุวัณณปุระ (ช่างหล่อ)
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถานที่ตั้ง : อาคารสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : เป็นพระบรมรูปนูนต่ำครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ไปทางด้านขวา ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ทาสีขาวทั้งองค์ ด้านล่างพระบรมรูปประดับลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธย “สยามินทร์”
ประวัติ : สร้างขึ้นพร้อมกับอาคารสยามินทร์ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ให้คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช ในโอกาสฉลองการสถาปนาศิริราชครบ 100 ปี
ประติมากร : สุกิจ ลายเดช
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สถานที่ตั้ง : อาคารสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : เป็นพระบรมรูปนูนต่ำครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ไปทางด้านขวา อยู่บนพื้นหลังวงกลม
ประวัติ : สร้างขึ้นพร้อมกับอาคารสยามินทร์ ในโอกาสฉลองการสถาปนาศิริราชครบ 100 ปี และเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 พิธีอัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
ประติมากร : สุกิจ ลายเดช
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : ลานหน้าศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : เป็นพระรูปหล่อจากโลหะสัมฤทธิ์ ขนาดสูงกว่าพระองค์จริงเล็กน้อย โดยสูงประมาณ 2 เมตร ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์วางบนตำราแพทย์ซึ่งตั้งบนพระเพลา ประดิษฐานบนแท่นมีพุ่ม โลหะประดับทั้งสองข้าง ด้านหน้าแท่นที่ประดิษฐานมีโลหะหล่อเป็นแผ่นผ้าทิพย์ลายผ้าตาด ตรงกลางผ้าทิพย์เป็นอักษรพระนามาภิไธย ด้านหลังแท่นที่ประดิษฐานเป็นแผ่นโลหะจารึกพระราชประวัติ และประวัติการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ ลานที่ประดิษฐานนั้นเป็นลานรูปวงกลมลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 ในโอกาสงานฉลอง 60 ปี ศิริราช และเสด็จพระราชดำเนินหรือโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะเนื่องในวันมหิดล วันที่ 24 กันยายนของทุกปี
ผู้ออกแบบ : ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ประติมากร : สนั่น ศิลากรณ์
พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : เก็บรักษาโดยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : พระรูปประทับยืน ทำจากปูนปลาสเตอร์ สูง 33 เซนติเมตร ฉลองพระองค์ครุย พระหัตถ์ซ้ายทรงหนังสือ พระหัตถ์ขวาทรงยกขึ้นใกล้เคียงกับพระหัตถ์ซ้าย
ประวัติ : ในปี พ.ศ. 2502 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระรูปต้นแบบแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทรงพิจารณา และทรงตกแต่งปรับแก้ด้วยพระองค์เอง พระรูปต้นแบบนี้ ต่อมาได้นำมาเป็นแบบหล่อพระรูปเพื่อเป็นของที่ระลึก ในโอกาสที่โรงพยาบาลศิริราชอายุครบ 72 ปี และ 84 ปี
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สถานที่ตั้ง : ศาลา 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : พระรูปหล่อโลหะ ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อน มีพุ่มโลหะตั้งอยู่สองข้างพระเก้าอี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานคำแนะนำในการปั้นแบบ
ประวัติ : สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ และทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์
พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงอุ้มพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สถานที่ตั้ง : ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
ลักษณะ : พระรูปหล่อโลหะสัมฤทธิ์สมเด็จพระบรมราชชนก ครึ่งพระองค์ ความสูงประมาณ 1.15 เมตร ทรงฉลองพระองค์สูทสากล ทรงอุ้มพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะทรงพระเยาว์ ประดิษฐานบนฐานกลม ด้านซ้ายแกะสลักหิน พระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” และภาษาอังกฤษด้านขวา “True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind.”
ประวัติ : เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระรูปนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
ประติมากร : อาจารย์สุดสาคร ชายเสม
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
สถานที่ตั้ง : ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารพระศรีพัชรินทร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย
ลักษณะ : พระรูปโลหะของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ขนาด 1 ⅛ เท่าของพระองค์จริง ประทับรวมพระราชอาสน์
ประวัติ : ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสครบรอบ 150 ปี พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 และครบรอบ 150 ปี พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิชาชีพการพยาบาลไทย เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระราชานุสาวรีย์ ณ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ถนนพุทธมณฑลสาย 5 อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ และ“พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” เพื่อเป็นการฉลอง 120 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกวาระหนึ่งด้วย
ร่างแบบ : อาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร
ประติมากร : สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
พระบรมรูปพระมหากษัตริย์และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ 9 องค์
สถานที่ตั้ง : พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย
ลักษณะ : พระบรมรูปพระมหากษัตริย์และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ 9 พระองค์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประติมากรรมลอยตัวครึ่งพระองค์ 9 องค์ ประกอบด้วย
1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
3. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
4. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
5. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
7. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
8. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
9. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
ประวัติ : จัดสร้างพระบรมรูปและพระรูปขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เพื่อฉลองวันครบรอบ 115 ปี ของคณะพยาบาลศาสตร์ และได้อัญเชิญออกตั้งในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในโอกาสวันพระราชทานก่อตั้งโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ วันที่ 12 มกราคม ของทุกปี
พระบรมรูปพระมหากษัตริย์และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ 18 องค์
สถานที่ตั้ง : อัญเชิญออกมาประดิษฐานในการประกอบพิธีในวาระสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวม 15 พระองค์ เป็นประติมากรรมลอยตัวครึ่งพระองค์ 15 องค์ และพระรูปประทับนั่งบนพระเก้าอี้ขนาดใกล้เคียงกัน 3 องค์ ประกอบด้วย
1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
4. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
5. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
6. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
7. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 2 องค์ (พระรูปครึ่งพระองค์ และพระรูปประทับนั่งบนพระเก้าอี้)
8. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 2 องค์ (พระรูปครึ่งพระองค์ และพระรูปประทับนั่งบนพระเก้าอี้)
9. กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
10. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
11. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ 2 องค์
(พระรูปครึ่งพระองค์ และพระรูปประทับนั่งบนพระเก้าอี้)
12. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
13. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
14. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
15. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
ประวัติ : เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (ปัจจุบัน - สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ภายหลังพิธีสมโภชแล้ว จะอัญเชิญพระบรมรูปและพระรูปนี้ในการประกอบพิธีในวาระสำคัญต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เช่น พิธีบำเพ็ญกุศลถวายเนื่องในวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 26 เมษายน ของทุกปี
ประติมากร : สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สถานที่ตั้ง : หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : เป็นพระรูปประติมากรรมนูนต่ำ ที่ได้แบบมาจากพระฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ และมีลายพระหัตถ์ “True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind” ของสมเด็จพระบรมราชชนก ประดิษฐานไว้ใต้พระรูป
ประวัติ : สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงพระกรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของทั้งสองพระองค์ โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555
ประติมากร : ตรวจและปรับแก้โดย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ : พระรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดประมาณ 2 เมตร ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือตำรา
ประติมากร : ภราดร เชิดชู และ นพรัตน์ บุญมี นาวิน สุวัณณปุระ (ช่างหล่อ)
ประติมากร : กรมศิลปากร
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ลักษณะ : เป็นพระรูปปั้นลอยตัว หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ สูง 2.87 เมตร ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระมาลาแนบพระอุระ พระกรขวาปล่อยตรง พระหัตถ์ขวาทรงถือม้วนปริญญาบัตร มีแท่นประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์จารึกพระราชปณิธานเป็นภาษาไทยและอังกฤษ
ประวัติ : เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ พระราชดำเนิน ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนวิภาวดีรังสิต ทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ และเป็นศูนย์รวมจิตใจสำหรับนักศึกษา คณาจารย์ พนักงานของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ประติมากร : มานพ สุวรรณปินฑะ
ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : ลานพระราชานุสาวรีย์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ลักษณะ : เป็นพระรูปปั้นลอยตัว หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระมาลาแนบพระอุระ พระกรขวาปล่อยตรง พระหัตถ์ขวาทรงถือม้วนปริญญาบัตร
ประวัติ : จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานทางการศึกษาในการปลูกจิตสำนึก ให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ระลึกถึงพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นศูนย์กลาง เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นที่ทำกิจกรรมและพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนโดยรอบ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ฯ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี แล้วทรงปลูกต้นจำปีสิรินธร ข้างพระราชานุสาวรีย์ และในโอกาสนั้นได้ทอดพระเนตรนิทรรศการพันธุ์พืชและภูมิภาคตะวันตก พิพิธภัณฑ์ธรณีศาสตร์ นิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างพระราชานุสาวรีย์ และนิทรรศการอุทยานธรณีวิทยา
ประติมากร : อาจารย์ฐานิตพัฒน์ สงเคราะห์
ประติมากรรมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สถานที่ตั้ง : ลานพระราชานุสาวรีย์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์
ลักษณะ : เป็นพระรูปครึ่งพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ครุย แกะสลักจากหินหยกขาว ความสูงของพระรูปรวมฐาน 90 เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานสูง 120 เซนติเมตร อยู่กลางบ่อน้ำพุ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของอาคารศูนย์การแพทย์มหิดลนครสวรรค์
ประวัติ : เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีถวายราชสักการะและพิธีบวงสรวงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยมีแพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อกิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย และเป็นศูนย์รวมจิตใจสำหรับ คณาจารย์ พนักงาน นักศึกษาของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้สร้างตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล แกะสลักจากหินหยกขาวเช่นเดียวกับพระราชานุสาวรีย์
บรรณานุกรม ขอบคุณ คณะทำงาน
บรรณานุกรม
มหาวิทยาลัยมหิดล. (2531). เผยแพร่เป็นที่ระลึกเนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย และพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนก 18 กรกฎาคม 2531. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.
มหาวิทยาลัยมหิดล. (2552). เทิดพระนามมหิดล. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะพยาบาลศาสตร์. (2560). สายธารแห่งการให้. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะพยาบาลศาสตร์. (2560). จากสายธารแห่งพระการุณย์ สู่ 120 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี. (2559). โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีประกอบพิธีประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://med.mahidol.ac.th/nursing/th/Event/other/12042016-1306-th (วันที่สืบค้นข้อมูล: 31 สิงหาคม 2561)
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2551). 120 ชิ้นเอกของศิริราช. กรุงเทพฯ: บริษัท แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด.
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2551). 120 ปี ศิริราช. กรุงเทพฯ: บริษัท แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด.
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.(2552). 120 Memorabilia of Siriraj. กรุงเทพฯ: บริษัท แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด.
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2561). อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.en.mahidol.ac.th/thai/about/puttanadol.html (วันที่สืบค้นข้อมูล : 31 มกราคม 2561)
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2535). หนังสือที่ระลึกเนื่องในพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ตึกสยามินทร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด.
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2560). พิธีทำบุญตักบาตรและบวงสรวงใหญ่ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิด รพ.ศิริราช ครบ 129 ปี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2087 (วันที่สืบค้นข้อมูล: 27 สิงหาคม 2561)
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2554). ศิริราชจัดพิธีสมโภชพระบรมรูปและพระรูปหล่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.si.mahidol.ac.th/th/sirirajnewsite/hotnewsdetail.asp?hn_id=869 (วันที่สืบค้นข้อมูล: 27 สิงหาคม 2561)
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก. (2559). พิธีอัญเชิญพระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/pg/gj.mahidol/photos/?tab=album&album_id=1077999992289416 (วันที่สืบค้นข้อมูล: 28 สิงหาคม 2561)
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. (2558). 20 ปี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. นนทบุรี: หยิน หยาง การพิมพ์.
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. แผนที่นำชมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานอธิการบดี. (2554). พิธีเปิด อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และประติมากรรม “จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน” .
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. (2556). โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
สุกรี เจริญสุข. (2559). มหิดลสิทธาคาร แค่สร้างอาคารไม่พอเพียง. วารสารเพลงดนตรี, 21, 4-7
สุกรี เจริญสุข. (2559). พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี. วารสารเพลงดนตรี, 22, 4-15.
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์. (2554). ความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: บริษัท แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด.
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
รศ.ดร.รุ่งทิวา วัจฉละฐิติ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.พิเศษ นพ. สรรใจ แสงวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นายจักรีนนท์ หรือโอภาศ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
นางสาวนิสากร แข็งงาน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
นายจรูญ กะการดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวอัญชลี เพลินมาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวปริชาติ แก้วสำราญ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
หอจดหมายเหตุศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
พิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะทำงานจัดทำนิทรรศการ “ต้นไม้ทรงปลูก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล”
นายโกมล คงมั่นกตเวที ที่ปรึกษา
นางสาวเพชรดา ฐิติยาภรณ์ ประธานคณะทำงาน
นางสาวนวลปรางค์ ศรัทธาบุญ คณะทำงาน
นายพงศกร ระวิเพียรทรัพย์ คณะทำงาน
นายคมสันต์ เดือนฉาย คณะทำงาน
นายพิชย ณ สงขลา คณะทำงาน
นายธนกฤต ทองบริสุทธิ์ คณะทำงาน
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.