พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
Museums & Exhibitions
นิทรรศวันมหิดล เรื่อง พระผู้การุณย์ต่อการอุดมศึกษาไทย (นิทรรศการพิเศษ)
จัดนิทรรศการ วันที่ 11 เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to dFlip 3D Flipbook Wordpress Help documentation.
“ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจน และคนมั่งมี และเจ้านายต่างๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี.....
เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้าง เขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำงานอะไรกัน” ิ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รับสั่งกับพลตรี พระศักดาพลรักษ์ เกี่ยวกับการตัดสินพระทัยเรียนด้านการแพทย์
คณาจารย์และผู้เข้าอบรมแพทย์สาธารณสุขในปี พ.ศ. ๒๔๖๗
ท่าน้ำศิริราชที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทอดพระเนตร โรงศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๔๕๙
นาวาสู่วิถีการแพทย์และสาธารณสุขไทย
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงมีความสนิทสนมกลมเกลียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการราชแพทยาลัยพร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี อาจารย์ ทางวิทยาศาสตร์
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์ทรงรับคำกราบทูลเชิญเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ และทรงแวะที่ท่าเรือโรงศิริราช พยาบาลเพื่อทอดพระเนตร ภาพที่ปรากฏต่อสายพระเนตรคือ คนไข้นั่งรอนอนรออยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ เพื่อคอยรับการรักษา พยาบาล แต่ไม่มีที่พัก เมื่อเสด็จเข้าไปในเรือนคนไข้ ห้องยา และห้องคลอดบุตรอยู่ในสภาพเรือนไม้ พื้นปูไม้กระดานห่าง ๆ เป็นร่องโตไม่สม่ำเสมอกัน คนไข้นอนเรียงกันแออัด จนทำให้พระองค์ทรงปรารภว่า เหมือนโรงม้า เป็นเหตุให้พระองค์ทรงสลด พระทัยอย่างยิ่ง เสด็จในกรมฯ และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษมจึงได้กราบทูลถึงอุปสรรคนานัปการของโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้งทรงชักชวนให้พระองค์ทรงช่วยเหลือในกิจการด้านการแพทย์
ต่อมาอีกหลายวันพระองค์ทรงตัดสินพระทัยลาออกจากราชการกองทัพเรือ แม้พระองค์ทรงมีพระนิสัยฝักใฝ่ในงานทหารเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสอนนักเรียนนายเรือควบคู่เรื่องเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง ตลอดจนการร่างโครงการสร้าง กำลังทางเรือ ทว่าพระองค์ทรงตกลงพระทัยจะมาช่วยงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากแต่พระองค์ทรงเห็นว่า ต้องเสด็จไปศึกษาวิชาเฉพาะให้รู้อย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงสามารถกลับมาช่วยเหลือได้ โดยรับสั่งว่า “เราก็ต้องทำกันจริงๆ ทำอย่างไม่มีหลักก็เป็นการสนุกชั่วคราว ไร้ประโยชน์”
น้ำพระทัยสู่ปัญญาของแผ่นดิน
ในเบื้องต้นพระองค์เสด็จไปศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงที่พระองค์ ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงตั้งพระทัยศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังด้วยความมุ่งมั่นว่า การสาธารณสุขจะได้ผลดีต้องมีแพทย์คุณภาพสูง ในการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นั้นสมควรมีครูของเราเอง ดังนั้นทรงมีพระราชประสงค์ให้นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริกา โดยพระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้แก่ นักเรียนแพทย์ ๒ คน คือ นายลิ ศรีพยัตต์ (หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์) และนายนิตย์ เปาเวทย์ (หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์) กับนักเรียนพยาบาล ๒ คน ทุนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และนางสาวอุบล ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา (นางอุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) ทั้งนี้ พระองค์ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนในความปกครอง โดยการแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมต่างชาติ พร้อมทั้งทรงอบรมให้รู้จักมัธยัสถ์ โดยรับสั่งเตือนสติว่า
“เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินทองฉันแต่เป็นเงินของราษฎร เขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ ให้แก่ประเทศชาติและขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเก็บไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”
นับเป็นพระราชกรณียกิจประการแรกสำหรับการช่วยเหลือในกิจการวิชาแพทย์ ดั่งความมุ่งมั่นพระทัยคือ การพระราชทานทุน ส่วนพระองค์ การสนับสนุนการสร้างครู ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการพยาบาล ให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งทรง ทำต่อเนื่องเรื่อยมา และทุนดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
พระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่ง คือ การรับเป็นองค์ผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จนสามารถ จัดให้มีการร่างข้อตกลงขั้นสุดท้ายเป็นการบันทึกข้อตกลง (Memorandum) ซึ่งได้รับการรับรองจากทั้งทางมูลนิธิ และได้รับ พระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปลาย พ.ศ. ๒๔๖๕ กล่าวโดยสรุปคือ มูลนิธิจะส่งศาสตราจารย์ ต่างประเทศเข้ามาช่วยจัดทำหลักสูตรวิชาแพทย์ ช่วยสอนด้านวิทยาศาสตร์ (เตรียมแพทย์) และด้านแพทยศาสตร์ (ปรีคลินิก และคลินิก) มูลนิธิกับรัฐบาลไทยจะช่วยสร้างอาคารสถานที่ และมูลนิธิจะให้ทุนแพทย์ไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยสมเด็จพระบรมราชชนกทรงคัดเลือกนักเรียนไทยที่กำลังเรียนวิชาแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ได้รับทุน
ทุนที่สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระราชทานประกอบด้วย ทุนส่วนพระองค์ ทุนวิทยาศาสตร์แห่งการแพทย์ ทุนพระราชมรดก โดยได้นำมาพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ การพยาบาล วิทยาศาสตร์ และการอุดมศึกษา ฯลฯ
ด้วยพระการุณย์ของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงมุ่งมั่นจะปรับปรุงการแพทย์และการสาธารณสุขไทยให้เจริญยิ่งขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอดพระชนม์ชีพ จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย”
เอกสารลายพระหัตถ์และเอกสารจดหมายเหตุ
รูปที่ ๑ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องประทานเงินทุนบำรุงนักเรียนในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนนี้ต่อมาเรียกว่า “ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์”
รูปที่ ๒ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ประกาศเรื่องการให้เงินบำรุงนักเรียนสำหรับวิชาแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทุนอุดหนุน จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
รูปที่ ๓-๔ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเจรจากับ Dr. R. M. Pearce ประธานแผนกแพทยศาสตรศึกษา ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ว่าทรงเจรจาต่อรองได้ข้อยุติแล้วว่า จะปรับปรุงการศึกษาแพทย์อย่างไร และทรงเสนอรายละเอียดต่างๆ (ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มี ๘ หน้า จัดแสดงเฉพาะหน้าแรกและหน้าสุดท้าย)
รูปที่ ๕ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง Dr. R. M. Pearce เรื่องทรงร่างข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยาม และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มาให้รับรองก่อนการลงนามรับรองทั้ง ๒ ฝ่าย และทรงปรึกษา เรื่องที่จะปฏิบัติต่อไป เช่น การหาผู้ทรงคุณวุฒิ มาเป็นศาสตราจารย์ การหาผู้รับทุนไปเรียนต่อ การรับนิสิตที่จะเรียนแพทย์ ฯลฯ (ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มี ๖ หน้า จัดแสดงเฉพาะหน้าแรก)
รูปที่ ๖ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงตัดสินเรื่องการให้ทุนอาจารย์ ในกรณีการให้ทุนแก่ขุนกายวิภาคบรรยาย (แถม ประภาสวัต) ป.พ. ซึ่งเป็นอาจารย์กายวิภาค มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ กรรมการฝ่ายไทยจะไม่ให้ทุนเพราะเห็นว่าภาษาอังกฤษไม่ดีพอ ทรงแย้งว่าขุนกายฯ ต้องค้นตำราภาษาอังกฤษมาสอนนักเรียนอยู่เสมอ และทำงานในวิชาที่ไม่มีใครอยากเรียน จึงทรงตัดสินให้ทุนแก่ขุนกายวิภาคบรรยาย
รูปที่ ๗-๘ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนคณะวิทยาศาสตร์ และกล่าวถึงการจัดหาทุนอุดหนุน ศาสตราจารย์ จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (พ.ศ. ๒๔๖๖)
รูปที่ ๙ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เรื่องประทานเงินอุดหนุน นายแพทย์แดง กาญจนารัณย์ (พ.ศ. ๒๔๗๑)
รูปที่ ๑๐ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง นายสวัสดิ์ แดงสว่าง นักเรียนทุนพระราชทาน (พ.ศ. ๒๔๗๑)
รูปที่ ๑๑-๑๒ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง Dr. A. G. Ellis กล่าวถึงการให้ทุนเพื่อทำการสืบค้นคว้าและ การสอนในโรงพยาบาลศิริราช (พ.ศ. ๒๔๗๑)
รูปที่ ๑๓-๑๔ จดหมาย Dr. W. S. Carter ถึง Dr. A. G. Ellis คณบดี คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล บรรยายถึงการเริ่มต้น ที่มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ ของไทย บทบาทสำคัญของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ในการเจรจากับมูลนิธิฯ รายละเอียด เรื่องการติดต่อ การต่อรองการหาศาสตราจารย์ การหาเงินบริจาค มาสร้างตึกผู้ป่วย และจำนวนเงินที่พระองค์ประทานให้แก่ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๗๒) (ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มี ๕ หน้า จัดแสดงเฉพาะหน้าแรก และหน้าสุดท้าย)
ตัวอย่างผู้ได้รับทุนพระราชทาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์เติม บุนนาค
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี (พ.ศ. ๒๔๕๓)
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ที่สวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. ๒๔๖๒)
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ที่ยุโรป (พ.ศ. ๒๔๗๐)
ความสำคัญ
- ศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คนแรกของไทย
- อาจารย์ผู้ปกครองนักศึกษาแพทย์คนแรก
- กรรมการแพทย์ ถวายพระประสูติกาล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี
ดร.ตั้ว ลพานุกรม
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อวิชาสามัญ ที่เมืองฟัลเก็นแบร์ก แคว้นมาร์ค เยอรมนี (พ.ศ. ๒๔๕๓)
- รับทุนส่วนพระองค์ ศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น และมหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. ๒๔๖๒)
ความสำคัญ
- อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก (พ.ศ.๒๔๗๖)
- รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
- ริเริ่มให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมเพื่อผลิตยาใช้ภายในประเทศ (องค์การเภสัชกรรม)
พันโท หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ (นิตย์ เปาวเวทย์)
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๐)
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อที่ Albany Medical College, Union University ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๒)
ความสำคัญ
- ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลางคนแรก (พ.ศ. ๒๔๖๙)
- ทำยาฉีดเองครั้งแรกในเมืองไทย ที่โรงพยาบาลกลาง (พ.ศ. ๒๔๗๑)
- อธิบดีกรมการแพทย์คนแรก (พ.ศ. ๒๔๘๕)
- ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลของกรมการแพทย์ (พ.ศ. ๒๔๘๙)
- ผู้ก่อตั้งสมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๔๙๓)
ศาสตราจารย์ หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์)
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๐)
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อที่ Albany Medical College, Union University ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๒)
ความสำคัญ
- คนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสหรัฐอเมริกา
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๕)
- นายกสมาคมคนแรกของ The Siamese Alliance in the United of America (สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส (หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์)
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๓)
ความสำคัญ
- ผู้ค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดครั้งแรกของโลก โดยร่วมทำวิจัยกับนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง (พ.ศ. ๒๔๘๐)
- อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พ.ศ. ๒๔๘๕)
- ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๘๘)
- ผู้ก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๙๑)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๕๐๐)
รองอำมาตย์เอก ขุนกายวิภาคพิศาล (เสงี่ยม หุตะสังกาศ)
- รับทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์ ไปศึกษาด้านสรีรวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๕)
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๐)
ความสำคัญ
- อาจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์ท่านแรกที่อุทิศร่างกายให้แผนกกายวิภาคศาสตร์ ปัจจุบันโครงกระดูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน
- นักกายวิภาคศาสตร์ชาวไทยคนแรกที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ
อำมาตย์เอก พระยาบริรักษ์เวชการ(บริรักษ์ ติตติรานนท์)
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา(พ.ศ. ๒๔๖๖)
ความสำคัญ
- อธิบดีกรมสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๔๗๗)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.๒๔๙๑)
- ผู้รวมแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามเข้ากับสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๗๖)
ศาสตราจารย์ หลวงไตรกิศยานุการ (แปลก ทัศนียะเวช)
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานบัคเตรีวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๗)
ความสำคัญ
- นักบัคเตรีคนแรกของประเทศไทย
- ผู้วางรากฐานการสอนวิชาจุลชีววิทยาในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิลเลียม ฮาร์วีย์ เพอร์กินส์
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานด้านแพทยศาสตรศึกษา
ความสำคัญ
- ผู้นำวิธีฉีดยารักษาศพเข้าหลอดเลือดแดงที่ต้นขามาใช้เป็นคนแรกในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ หลวงพิณพากย์พิทยาเภท(พิณ เมืองแมน)
- รับทุนมหิดล เข้าศึกษาและฝึกอบรมวิชาโดยเฉพาะรังสีวิทยา ที่โรงพยาบาล Peter Bent Brigham, Boston สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๙)
ความสำคัญ
- บิดาแห่งรังสีวิทยาของประเทศไทย
- หัวหน้าแผนกเอ็กซเรย์วิทยาคนแรก ของคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๗๑)
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๘)
- อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และปลัดกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๕๐๑)
- รางวัลเหรียญทองจากโรงพยาบาล Peter Bent Brigham มหาวิทยาลัย Harvard ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ
ศาสตราจารย์ พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร)
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานด้านอายุรศาสตร์ ณ สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๐)
ความสำคัญ
- นายกแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๕)
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๑)
- ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คนแรก (พ.ศ. ๒๔๘๖)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์มนตรี มงคลสมัย
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาโรคเด็ก ที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๒)
ความสำคัญ
- กุมารแพทย์คนแรกของประเทศไทย- หัวหน้าแผนกกุมารเวชศาสตร์คนแรกของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (พ.ศ. ๒๔๘๙)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์แดง กาญจนารัณย์
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาด้านจักษุ โสตฯ ที่อินเดีย (พ.ศ. ๒๔๗๒)
ความสำคัญ
- หัวหน้าแผนกจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาคนแรก (พ.ศ. ๒๔๘๘)
- มีชื่อเสียงด้านการผ่าตัดต้อกระจกอย่างรวดเร็วและได้ผลดีมาก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง
- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๒)
ความสำคัญ
- ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ค้นพบวงจรชีวิตของหนอนพยาธิตัวจี๊ด ครั้งแรกในโลก (พ.ศ. ๒๔๘๐)
- อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๘๘)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาด้านกายวิภาคศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Michigan สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๔)
ความสำคัญ
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๑๑)
- ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน (พ.ศ. ๒๔๙๑) พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย
- ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร (พ.ศ. ๒๕๑๕)
อาจารย์ ขุนอายุศศาสตร์วิลัย(อายุศ ณ สงขลา)
- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานที่ Peiping Union Medical College สาธารณรัฐประชาชนจีน (Peiping เป็นชื่อเดิมของเมืองปักกิ่ง) (พ.ศ. ๒๔๗๖)
ความสำคัญ
- อายุรแพทย์โรคหัวใจคนแรกของประเทศไทย
- ผู้นำเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E.K.G. หรือ E.C.G.) เครื่องแรกเข้ามาใช้ในเมืองไทย (พ.ศ. ๒๔๗๘)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนวย เสมรสุต
- รับทุนมหิดลไปศึกษาด้านรังสีวิทยา และได้รับ Diploma of Medical Radiology and Electrology, Fellow of International College of Surgeons (F.I.C.S.), Fellow of Royal Society of Medicine (F.R.S.M) ที่อังกฤษ (พ.ศ. ๒๔๘๐)
ความสำคัญ
- คนไทยคนแรกที่ได้ไปศึกษาวิชารังสีรักษาในต่างประเทศและเริ่มทำการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยรังสี ทั้งการฉายแสงและการใช้เรเดียม
- จัดตั้ง “สถาบันมะเร็ง” ของโรงพยาบาลศิริราช (พ.ศ. ๒๕๐๐)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิถี จึงเจริญ
- รับทุนสอนและค้นคว้าวิจัย เพื่อปฏิบัติงานในแผนกสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๑)
ความสำคัญ
- หัวหน้าแผนกสรีรวิทยาคนแรก (พ.ศ. ๒๕๐๙)
- ผู้บุกเบิกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ครั้งแรกในประเทศไทย
- นายกสรีรวิทยาสมาคมคนแรกของประเทศไทย
(พ.ศ. ๒๕๒๒)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน
- รับทุนมหิดลและทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาอบรมวิชาออร์โธปิดิกส์ ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๘๒)
ความสำคัญ บิดาแห่งวงการออร์โธปิดิกส์ไทย
- ผู้เขียนตำราออร์โธปิดิกส์เล่มแรกของประเทศไทยชื่อ “โรคและบาดเจ็บของกระดูกและข้อ” (พ.ศ. ๒๔๙๓)
- สร้างโรงงานทำเครื่องช่วยคนพิการแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๐๓)
“...การช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเปนการสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัวเพราะทรัพย์สินส่วนตัวก็มีพอจะเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เปนเจ้าฟ้าเอามาใช้เปนทุนทำการตามความคิดให้เปนประโยชน์แก่บ้านเมือง...”
พระองค์ทรงปรารภต่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับพระราชดำริว่า เมืองไทยยังขาดแคลนบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเงินทุนในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข
๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ วันประชุม Siamese Alliance ที่ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา
คณาจารย์ถ่ายภาพร่วมกันในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ครั้งนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอลลิส (คนกลางแถวบน)ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเวชชบัณฑิตเอกกิตติมศักดิ์
รูปที่ ๑ พระราชหัตถเลขา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ลงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓
พระราชทานแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)
รูปที่ ๒ ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ขณะดำรงพระยศหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา)
ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓
พระราชทานแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)
แหล่งข้อมูล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๑). สมเด็จฯ พระบรมราชชนกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.]. (ที่ระลึกในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ [ครบรอบ ๖๐ ปีนับแต่สวรรคต ๒๔ กันยายน ๒๕๓๑]).
มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๕๒). เทิดพระนาม มหิดล. โดย คณะกรรมการจัดทำหนังสือในโอกาส ๔๐ ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ; บรรณาธิการโดย วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (๒๕๐๘). ชุมนุมพระนิพนธ์และบทความเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย. กรุงเทพฯ : ไทยเขษม.
________. (๒๕๓๔). ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. โดย คณะกรรมการฝ่ายจัดพิมพ์หนังสืองานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ;
บรรณาธิการโดย วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งกรุ๊พ.
________. (๒๕๔๗). ทุนพระราชมรดก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ทุนสมเด็จฯ พระบรมราชชนก). กรุงเทพฯ : คุรุสภา.
________. (๒๕๕๔). ปูชนียาจารย์ ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช. โดย คณะกรรมการจัดทำหนังสือ “ปูชนียาจารย์ ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
________. (๒๕๕๕). ๑๒๐ ปี มหิดลอดุลเดช (120 years of Prince Mahidol). โดย คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือ ๑๒๐ ปี แห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ;
บรรณาธิการโดย สรรใจ แสงวิเชียร [และคนอื่นๆ ]. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.